xs
xsm
sm
md
lg

เก้าอี้ประมุข ป.ป.ช.บนเส้นด้าย “บิ๊กกุ้ย” ร่วง-รอดอยู่ที่ “สองพี่น้อง” ลิขิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวการเมือง


ป้อมพระสุเมรุ

     

ไม่ได้อยู่ในกระแส แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป สำหรับคำร้องขอถอนฟ้องคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ของจำเลยทั้ง 3 คน ประกอบด้วย “บิ๊กป๊อด” พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ที่ยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโจทก์ เอาไว้ตั้งแต่ต้นปี

แรกๆ “บิ๊กกุ้ย” พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. ขึงขังขีดเส้นว่า คณะทำงานเพื่อศึกษาเรื่องดังกล่าวที่มี สรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. จะต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน หรือภายในเดือนพฤษภาคมกลางปีที่ผ่านมา

แต่พอคณะทำงานเพื่อศึกษาเรื่องนี้สรุปออกมาว่า ไม่ควรถอนฟ้องและเสนอกลับไปยัง “บิ๊กกุ้ย” กลับปรากฏว่า เจอโรคเลื่อนไม่รู้เป็นเพราะอะไร ไม่สามารถนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้สักที โดยแรกๆ มีการอ้างว่า กรรมการ ป.ป.ช. เข้าร่วมประชุมไม่ครบ ติดนู่นติดนี่กันบ้าง

จนกระทั่งปัจจุบันล่วงเลยมาเกือบครึ่งปี ข้อสรุปของคณะทำงานที่ไม่ให้ถอนฟ้องก็ยังคงอยู่ในลิ้นชัก “บิ๊กกุ้ย” ยังไม่นำเข้าสู่ที่ประชุมสักที ไถ่ถามกี่ครั้งก็จะชักแม่น้ำทั้งห้าว่า ติดนู่นติดนี่ไปเรื่อย จนหลายคนชักสงสัยว่า เจตนาดองเอาไว้เพื่ออะไรกันแน่

ทางหนึ่งเล่าว่า สาเหตุที่ “บิ๊กกุ้ย” ไม่นำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพราะรับทราบผลจากคณะทำงานแล้วว่า ไม่ควรถอนฟ้อง จึงไม่รู้จะนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมทำไม เพราะกระบวนการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ยังเดินต่อไป ไม่ได้สะดุดอะไร โดยเลือกให้เรื่องจบอยู่เพียงเท่านั้น

กับอีกกระแสหนึ่งระบุว่า สาเหตุจริงๆ เพราะ “บิ๊กกุ้ย” ซาวเสียงที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้ง 8 คนแล้วว่า ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการถอนฟ้องมีมากกว่า เหมือนกับที่คณะทำงานสรุปมา เมื่อรู้อยู่แล้วว่า ข้างหน้าเป็นหน้าผาจึงไม่นำเข้าไป โดยเลือกที่จะปล่อยเงียบๆ
          
      อีกทั้งการนำเข้าไปแล้วมีมติออกมา จะทำให้เกิดประเด็นใหญ่โต เพราะรู้อยู่แล้วว่า สื่อจับจ้องเรื่องนี้อยู่ จึงเลือกเก็บใส่ลิ้นชักไม่เปิดออกมา ปล่อยให้เงียบหายกันไปเอง

แน่นอนไม่ว่าจะวิธีไหน ตราบใดที่ยังไม่เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. นั่นก็เท่ากับว่า กระบวนการในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็เดินหน้าไปเรื่อยๆ เหมือนเดิม จนกว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมีมติว่า ให้ถอนฟ้อง ถึงตอนนั้นอาจต้องสะดุดหยุดลงก่อน

มองในแง่ดีคือ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดนี้ หรือผู้มารบารมีเบื้องหลัง ยังไม่กล้าเดินลุยไฟที่มีเสียงคัดค้านระงมเมือง แต่ถ้ามองในแง่ลบ ต้องอย่าลืมว่า ตราบใดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่มีมติออกมาอย่างใดอย่างหนึ่งกับคำร้องดังกล่าว คำร้องดังกล่าวก็จะอยู่อย่างนั้น เพราะถือว่ายังไม่ได้ตกไป

กล่าวง่ายๆ คือ เมื่อใดที่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป วันดีคืนดีมีใครสักคนอยากจะหยิบเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมก็สามารถทำได้ เพราะคำร้องยังอยู่ ไม่มีหมดอายุ ประหนึ่งว่า แม้จะปิดประตูเอาไว้ แต่ไม่ได้ล็อกกุญแจไว้ ใครจะเดินเข้าเดินออก สามารถทำได้ตลอดเวลา

ดังนั้น ตราบใดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่หยิบเรื่องนี้มาออกเป็นมติให้จบๆ กันไป โอกาสที่จะมีมติว่า ถอนฟ้องมันก็เปิดอ้าอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะยุคที่มี “บิ๊กกุ้ย” อดีตผู้ใต้บังคับบัญชาของ “บิ๊กป๊อด” และ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม นั่งเป็นประธานใหญ่อยู่

แต่ก็ไม่รู้ว่า หลังจากส่ง “บิ๊กกุ้ย” มานั่งเป็นประธาน ป.ป.ช. แล้ว ผู้มากบารมีถูกอกถูกใจสไตล์การทำงานหรือไม่ เพราะคำร้องขอถอนฟ้องก็ยังนิ่ง ไม่กล้าลุยฝ่าเสียงคัดค้าน ทั้งที่ส่งมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ

งานนี้ถูกใจไม่ถูกใจเดี๋ยวได้รู้ ในวันที่คณะกรรมการสรรหาบุคคลในองค์กรอิสระชี้ขาดว่า ใครบ้างที่จะขัดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ล่าสุด หลังคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มีทีท่าว่าจะมีผลย้อนหลังถึงคณะกรรมการชุดปัจจุบันด้วย โดยเฉพาะในกรณีของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่กำลังฟาดฟันกันผ่านสื่อชนิดมันหยดติ๋งๆ

ซึ่งกรรมการ ป.ป.ช. บางคนส่อจะขัดเข้าเต็มเปา ชนิดมีสิทธิ์หลุดเก้าอี้แบบสายฟ้าฟาด โดยเมื่อกางรัฐธรรมนูญมาตรา 216 ที่ได้อ้างอิงคุณสมบัติต้องห้ามตามมาตรา 202 เอาไว้ มี 2 วรรคที่กระทบชิ่งโดนคนใน ป.ป.ช. เต็มเปา

โดยหนึ่งในข้อห้ามคือ “เป็นหรือเคยเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระใด” ตรงนี้โดนไปที่ “เดอะตี๋” วิทยา อาคมพิทักษ์ กรรมการ ป.ป.ช. ที่เพิ่งได้รับการสรรหาเข้าไปเป็นกรรมการพร้อมกับ “บิ๊กกุ้ย” เต็มเหนี่ยว เพราะก่อนจะมาสมัครเป็นกรรมการ ป.ป.ช. เพิ่งจะลาออกจาก คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ที่เป็นองค์กรอิสระไม่ถึงปี ถ้า กรธ. ยืนยันว่า ย้อนหลังก็ต้องเซย์ กู๊ดบาย ทำใจอย่างเดียว

อีกหนึ่งข้อห้ามคือ “เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการคัดเลือกหรือสรรหา” ข้อนี้โดนที่ตัวประธาน ป.ป.ช. อย่าง “บิ๊กกุ้ย” ชนิดไม่มีช่องให้แถหนีหเลย

เพราะก่อนจะเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการ ป.ป.ช. และได้รับเลือกจากที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้กุมบังเหียนเป็นประธานใหญ่ เพิ่งจะลาออกจากตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมืองของ “บิ๊กป้อม” ซึ่งเป็นตำแหน่งทางการเมืองตามกฎหมาย ซึ่งไม่ใช่แต่ว่าพ้นมาไม่ถึง 10 ปีเลย กรณี “บิ๊กกุ้ย” ลาออกมาไม่ถึง 1 เดือนด้วยซ้ำไป ถ้า กรธ. ยืนยันเหมือนเดิม กอดคอกับ “วิทยา” โบกมือลาค่ายสนามบินน้ำได้เลย

แต่นี่เป็นในทางกฎหมาย ก่อนอื่นต้องอย่าลืมว่า “บิ๊กกุ้ย” มีความสนิทสนมกับพี่น้องบ้าน “วงษ์สุวรรณ” การมานั่งอยู่ตรงนี้ได้ก็เพราะได้รับการเกื้อหนุน ดังนั้น เมื่อผู้มากบารมีเป็นคนส่งมาแบบตั้งใจ คงไม่ยอมปล่อยให้กระเด็นตกเก้าอี้ง่ายๆ คงให้ กรธ. หาทางช่วย

แต่เกิดพี่น้องบ้าน “วงษ์สุวรรณ” ไม่แฮปปี้กับผลงาน โดยเฉพาะการไม่กล้ามีมติให้ถอนฟ้องคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โอกาสที่จะปล่อยเลยตามเลย โดยเลือกเปลี่ยนม้ากลางศึกก็มีสูง เอาคนใจถึงๆ มาแทนที่ก็มีสูง

ชะตาชีวิตของ “บิ๊กกุ้ย” แท้จริงแล้วจึงไม่ได้อยู่ในมือ กรธ. แต่อยู่ในมือ “สองพี่น้อง” ต่างหาก !
กำลังโหลดความคิดเห็น