xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” ดิ้นฟ้อง อสส.-อธิบดีอัยการ อ้างทำคดีจำนำข้าวมิชอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


“ยิ่งลักษณ์” ควง “สมชาย” ขึ้นศาลอาญา รัชดาฯ ยื่นฟ้องอัยการสูงสุด อธิบดีอัยการคดีพิเศษ อธิบดี-รองอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน ข้อหาปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามมาตรา 157, 200 กรณียื่นฟ้องคดีจำนำข้าว ศาลขอเวลา 7 วัน ก่อนนัดฟังคำสั่งจะรับฟ้องหรือไม่



ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เวลา 09.30 น.วันนี้ (29 ก.ย.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ทนายความ และผู้ติดตาม ได้เดินทางมาเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด (อสส.) นายชุติชัย สาขากร อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน และนายกิตินันท์ ธัชประมุข รองอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน ซึ่งเป็นคณะทำงานพิจารณาคดีโครงการจำนำข้าว และมีความเห็นสั่งฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี คดีโครงการจำนำข้าว ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และร่วมกันกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามมาตรา 200

โดยคำฟ้องบรรยายว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความ ดำเนินคดีต่อจำเลยทั้ง 4 แทนโจทก์จนกว่าคดีจะถึงที่สุด โดยเดือน ส.ค. 2557 และเมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2557 นายตระกูลจำเลยที่ 1 ขณะดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด ได้มีคำสั่งแต่งตั้งนายชุติชัย อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ จำเลยที่ 2 นายสุรศักดิ์ อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน จำเลยที่ 3 และนายกิตินันท์ รองอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวนจำเลยที่ 4 เป็นคณะทำงานพิจารณาสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช.กรณีการดำเนินคดีต่อโจทก์ในโครงการรับจำนำข้าว และเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2558 นายตระกูล อัยการสูงสุดจำเลยที่ 1 ยังมีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 ถึง 4 เป็นพนักงานอัยการดำเนินคดีที่ได้ฟ้องโจทก์ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

แต่เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2557 - 14 ส.ค. 2558 ในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยทั้งสี่ระหว่างดำรงตำแหน่งอัยการได้บังอาจร่วมกันลักษณะแบ่งหน้าที่กันด้วยการปฎิบัติหรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และยังร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่ง พนักงานอัยการกระทำการอย่างใดๆ เพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งต้องรับโทษโดยภายหลังจากที่นายตระกูลอัยการสูงสุดจำเลยที่ 1 ได้รับรายงานและเอกสารความเห็นการไต่สวนข้อเท็จจริงจาก ป.ป.ช.ในคดีอาญาที่กล่าวหาโจทก์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ พ.ร.บ. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 123/1 แล้วได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณารายงานดังกล่าวว่ามีข้อไม่สมบูรณ์หรือไม่ ซึ่งโจทก์ได้ร้องขอความเป็นธรรมจากจำเลยที่ 1 หลายครั้ง และชี้ให้เห็นว่ากระบวนการไต่สวนของ ป.ป.ช.ไม่ชอบด้วยกฏหมายกลั่นแกล้ง และมีการปฎิบัติหน้าที่โดยไม่เที่ยงธรรม ซึ่งวันที่ 3 ก.ย. 2557 จำเลยที่ 1 ได้มีความเห็นว่าการไต่สวนยังมีข้อไม่สมบูรณ์ใน 4 ประเด็นใหญ่ เรื่อง โครงการรับจำนำข้าว เรื่องละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เรื่องการทุจริต และการรวบรวมพยานเอกสารหรือพยานวัตถุ แต่ปรากฏข้อเท็จจริงในเวลาต่อมาว่ายังไม่มีการไต่สวนข้อเท็จจริงตามข้อไม่สมบูรณ์ และยังมีข้อถกเถียงเรื่องการนัดประชุมของคระทำงานร่วมระหว่างอัยการและ ป.ป.ช. ซึ่งวันที่ 21 ม.ค. 2558 มีการพาดหัวข่าวว่า “วุฒิพงศ์ วิบูลย์วงศ์ ประธานคณะกรรมการร่วมอัยการ งงข่าว ป.ป.ช.เห็นควรสั่งฟ้องอดีตนายกฯ ปู ชี้ขั้นตอนยังไม่สิ้นสุด ระบุนัดประชุมฝ่ายอัยการอีกครั้ง 26 ม.ค.นี้ ก่อนประชุมใหญ่ คณะทำงานร่วมอัยการ-ป.ป.ช.” ซึ่งรายละเอียดของข่าวส่วนหนึ่งได้ระบุว่า นายวุฒิพงศ์ไม่ได้เป็นผู้เสนอความเห็นไปยังอัยการสูงสุด ขณะที่ยังปรากฏด้วยว่า รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ออกมาแถลงข่าวด้วยว่า ขั้นตอนยังอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม แต่ต่อมาวันที่ 23 ม.ค.2558 กลับปรากฏว่า นายสุรศักดิ์ อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน จำเลยที่ 3 ได้แถลงข่าวว่านายตระกูลจำเลยที่ 1 มีความเห็นสมควรสั่งฟ้องโจทก์ซึ่งเป็นเวลากะทันหันเพียง 1 ชั่วโมงก่อนที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะลงมติถอดถอนโจทก์ ซึ่งน่าจะมีนัยสำคัญว่าเป็นวาระซ่อนเร้น โดยไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นเหตุบังเอิญ โดยจำเลยที่ 4 ในฐานะพนักงานอัยการต้องให้ความสำคัญในข้อไม่สมบูรณ์พอที่จะดำเนินคดีได้ และต้องปฏิบัติหน้าที่โดยอิสระ ถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม ซึ่งจะต้องพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ให้เสร็จสิ้นแล้วจึงมีความเห็น

การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่มีความเห็นสั่งฟ้องโจทก์ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่า การไต่สวนในข้อไม่สมบูรณ์ยังไม่แล้วเสร็จ เช่นเดียวกับจำเลยที่ 2-4 ในฐานะคณะทำงานร่วมกลับรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2558 คณะทำงานร่วมอัยการ-ป.ป.ช.พิจารณาหลักฐานร่วมกันแล้ว เห็นว่าการรวบรวมหลักฐานได้เสร็จสิ้นและเสนอให้อัยการสูงสุดพิจารณา การกระทำของจำเลยทั้ง 4 จึงไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 14 และระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2557 เรื่องการตรวจพิจารณาสำนวนและการใช้ดุลพินิจ นอกจากนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลฎีกาฯ แล้วยังได้บรรยายฟ้องบางตอนให้ผิดไปจากความจริงซึ่งการฟ้องคดีตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 ให้ยึดรายงาน ป.ป.ช.เป็นหลัก ซึ่งรายงาน ป.ป.ช.ระบุไว้ชัดเจนว่ายังไม่ปรากฏหลักฐานในชั้นนี้ว่าโจทก์ได้ทำการทุจริต หรือสมยอมให้มีการทุจริต แต่จำเลยทั้งสี่กลับบรรยายฟ้องแตกต่างจากรายงานของ ป.ป.ช.ว่าโจทก์รู้เห็นและรับทราบการทำทุจริต จึงเป็นการแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้

การกระทำของจำเลยในฐานะพนักงานอัยการเป็นการกระทำหรือไม่กระทำการใดเพื่อจะแกล้งให้บุคคลหนึ่งต้องรับโทษหนักขึ้น และเมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2558 จำเลยทั้ง 4 ยังร่วมกันยื่นบัญชีระบุพยาน พร้อมส่งพยานเอกสาร รวม 67,800 แผ่น เป็นเอกสารสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช.ในคดีระหว่างนายสมศักดิ์ โกศัยสุข กับพวกรวม 3 คน กล่าวหานายภูมิ สาระผล กับพวกรวม 111 คน และเอกสารสำนวนคดีอาญาที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายภูมิ สาระผล กับพวกรวม 21 คนเป็นจำเลยต่อศาลฎีกาฯ และพยานเอกสาร 148 แฟ้ม พยานเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารนอกสำนวนการสอบสวนที่ ป.ป.ช.ไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาและไม่ได้ไต่สวนไว้ในคดี การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์จึงได้นำคดีมายื่นฟ้องเพื่อขอให้ศาลพิพากษาลงโทษตามกฎหมาย

ภายหลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ได้ยื่นฟ้อง 3 ประเด็นด้วยกัน ประเด็นเเรกมีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง ป.ป.ช.กับอัยการในการสอบข้อไม่สมบูรณ์ซึ่งในชั้นนี้ไม่มีการส่งข้อไม่สมบูรณ์ในการสั่งฟ้อง และมีการสั่งฟ้องคดีก่อนที่ สนช.จะมีคำสั่งถอดถอนตนในชั้น ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาเดิมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 แต่คำฟ้องขอ อสส.กลับบรรยายว่าตนเห็นเห็นชอบและสมยอมให้เกิดการทุจริต และในชั้นพิจารณาของชั้นศาล อสส.ได้นำเอกสารที่ไม่มีการไต่สวนในชั้น ป.ป.ช. และคณะทำงานร่วมในคดีนี้เข้ามาอยู่ในสำนวน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทำไมมายื่นฟ้องในเวลานี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ระบุว่า การมายื่นฟ้องในวันนี้เป็นไปตามขั้นตอนและมีความพร้อมในด้านเนื้อหาเอกสาร และเป็นการขอใช้สิทธิตามกระบวนการมากกว่า ซึ่งตนได้รับเอกสารนอกสำนวนที่อัยการสูงสุดเสนอให้ศาลฎีกาฯ 60,000 แผ่นแล้วก็รู้สึกหนักใจ เพราะเราเตรียมการขึ้นศาลสู้คดี แต่กลับได้รับเอกสารเพิ่มเติมถึง 60,000 แผ่น ตัวเองในฐานะที่ถูกฟ้องก็อยากเตรียมตัวให้รอบคอบ

ผู้สื่อข่าวสอบถามว่า ก่อนหน้านี้ศาลอาญามีคำสั่งไม่รับฟ้อง คดีที่นายมานัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จำเลยร่วมกับนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ คดีระบายข้าวจีทูจี น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ตัวเองทำเต็มที่ มาใช้สิทธิตามกระบวนการ แต่คงก็ไม่กล้าที่จะคาดหวัง แล้วแต่ศาลจะพิจารณา

ด้านนายสมหมาย กู้ทรัพย์ ทนายความเปิดเผยว่า การฟ้องครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับที่นายตระกูล อัยการสูงสุด กำลังจะเกษียณจากตำแหน่งสิ้นเดือน ก.ย.นี้ เพราะในคำฟ้องระบุอยู่แล้วว่าอัยการสูงสุดและคณะอัยการทั้ง 4 คน ขณะดำรงตำแหน่งนั้นได้ปฏิบัติหน้าที่มิชอบในการพิจารณาสำนวนอย่างไร ขณะที่การฟ้องก็ไม่ได้คิดขนาดว่าคดีอาญานี้จะมีประโยชน์อย่างไรต่อการพิจารณาคดีในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกฯ ยื่นฟ้องคดีอาญาต่อคณะอัยการ เป็นการใช้สิทธิทางกฎหมายที่จะให้ได้รับความเป็นธรรม หากเราเห็นว่าอะไรกระทำโดยไม่ถูกต้อง ไม่ได้รับความเป็นธรรมจะใช้สิทธิตามกฎหมายทุกช่องทางต่อไป

สำหรับคดีนี้เบื้องต้นศาลได้รับไว้ในสารบบความ หมายเลขดำที่ อท.25/2558 โดยอีก 7 วัน ศาลนัดให้คำสั่งอีกครั้งว่าจะรับคดีไว้เพื่อไต่สวนมูลฟ้องหรือไม่













 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น