xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

คดีเลี่ยงภาษีบุหรี่2หมื่นล้าน “ฟิลลิป มอร์ริส” มีหนาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ายทรอย เจ ม้อดลิน (TROY J MODLIN) ผู้จัดการสาขาของฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด เดินทางมายังศาลอาญา รัชดา เพื่อให้ศาลไต่สวน คดีบริษัทฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด หลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรนำเข้าบุหรี่มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท ระหว่างปี 46-52
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เริ่มต้นสู้คดีกันยกแรกแล้วหลังจากอัยการยื่นฟ้อง บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด และพวก โดยอัยการโจทก์ จำเลยทั้ง 8 คน และทนายความจำเลย เดินทางมาขึ้นศาลนัดแรกเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2559ซึ่งจำเลยทั้งหมดแถลงให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาและขอต่อสู้คดี โดยศาลได้นัดตรวจความพร้อมคู่ความวันที่ 27 มิถุนายน 2559 เวลา 09.00 น.และเลื่อนนัดตรวจพยานฐานไปเป็นวันที่ 10 ตุลาคม 2559 เวลา 09.00 น.ระฆังยกแรกดังขึ้นแล้ว และจะยังมีอีกหลายยกจนกว่าจะรู้ผลแพ้ชนะ

การสู้กันยกนี้ ต้องบอกว่า “ฟิลลิป มอร์ริส” มีสิทธิ์หนาวหนักๆ เพราะคดีเลี่ยงภาษีบุหรี่นี้ นับเป็นคดีสำคัญ 1 ใน 12 คดี ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) สั่งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการสอบสวนคดีให้แล้วเสร็จโดยเร็ว กระทั่งนำมาสู่การฟ้องร้องคดีหลังจากยืดเยื้อมานานนับทศวรรษ และที่สำคัญนี่เป็นคดีประวัติศาสตร์ที่สังคมให้ความสนใจมาโดยตลอดว่าจะลงเอยเช่นใด ดังนั้น การต่อสู้คดีนี้ของอัยการในยุค คสช. คงต้องออกแรงแข็งขันเพื่อสร้างผลงานการปราบทุจริตคอร์รัปชันของรัฐบาลชุดนี้ให้เห็นเป็นรูปธรรม ล้างภาพสู้แล้วแพ้โดยเฉพาะการสู้คดีใหญ่ๆ กับเอกชนในอดีตซึ่งส่วนใหญ่มีแต่พ่ายแพ้

สำหรับคำฟ้องคดี ที่พนักงานอัยการคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องไปเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2559 สรุปได้ว่า เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2546 ถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2549นิติบุคคลดังกล่าวกับพวกจำเลยทั้งแปด และอีก 4 คน ที่หลบหนีอยู่ ร่วมกันนำสินค้าประเภทบุหรี่ยี่ห้อมาร์ลโบโร (MARLBORO) และยี่ห้อแอลแอนด์เอ็ม(L&M) เข้ามาในราชอาณาจักรไทย โดยร่วมกันแสดงราคาสินค้าอันเป็นเท็จ ฉ้อโกง และอุบาย ด้วยการยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและใบขนส่งสินค้าเลขที่อื่นๆ อีก ต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากร กรมศุลกากร เพื่อผ่านพิธีการศุลกากร โดยสำแดงราคาของบุหรี่ทั้งสองยี่ห้อไม่ตรงตามราคาที่แท้จริงและถูกต้องตามกฎหมายศุลกากร จำเลยร่วมกันสำแดงเท็จในราคาบุหรี่แต่ละยี่ห้อ เพื่อหลีกเลี่ยงการชำระค่าอากรให้ครบถ้วน จำเลยร่วมกันกระทำการดังกล่าวต่อเนื่องในรายการใบขนส่งสินค้ารวมทั้งสิ้น 272 ครั้ง เป็นความผิดรวม 272 กรรม โดยรวมราคาของสินค้าบุหรี่บวกกับภาษีอากรเป็นเงินทั้งสิ้น 20,210,209,582.50 บาท

คดีนี้ อัยการบรรยายฟ้องจำนวนทุนทรัพย์ 2 หมื่นล้านบาท ถ้าศาลรับฟังหลักฐานของโจทก์และมีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดจริง ศาลจะสั่งปรับจำเลยเป็นจำนวน 4 เท่าของอากร คิดเป็นเงิน 8 หมื่นล้านบาท โดยคดีมีอายุความ 15 ปี นับแต่เกิดเหตุปี 2546 มีผู้ต้องหาที่ทางอัยการสูงสุด มีความเห็นสั่งฟ้อง 14 ราย ซึ่งอัยการได้ฟ้องเป็นจำเลยแล้ว 8 ราย ส่วนผู้ต้องหาที่เหลือ 6 รายนั้น มีคดีขาดอายุความ 1 ราย เสียชีวิต 1 ราย และหลบหนีอีก 4 ราย โดยเป็นผู้บริหารชาวต่างชาติทั้งหมด ซึ่งผู้ต้องหาที่ยังหลบหนีแต่ละคนถูกกล่าวหาในความผิดต่างกัน ดังนั้นแต่ละคนจะมีอายุความเหลือตั้งแต่ 2-5 ปี หากติดตามตัวมาได้ต้องยื่นฟ้องภายในปี 2561

“.... ไม่มีการวิ่งเต้นในการสั่งหรือไม่สั่งฟ้องคดี ที่ฟ้องล่าช้า เนื่องจากภายหลังที่อัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้องเมื่อปี 2556แต่ผู้ต้องหาซึ่งเป็นนิติบุคคลได้ขอเลื่อนเข้ารายงานตัว ประกอบกับมีความคลาดเคลื่อนในเรื่องตัวเลข และมีเอกสารจำนวนมาก จึงต้องแก้ไขใหม่ ขณะที่ความผิดในส่วนของฝ่ายการเมืองยังไม่มีการแจ้งข้อมูลมาจากป.ป.ช.แต่อย่างใด”

“แต่เหตุที่ใช้เวลาดำเนินการถึง 3 ปี กว่าจะส่งฟ้องต่อศาลได้ เพราะต้องมีการปรับปรุงตัวเลขค่าปรับใหม่ ทำให้ตัวเลขเพิ่มขึ้นจากเดิม 6.8 หมื่นล้านบาท เป็น 8 หมื่นล้านบาท โดยเป้าหมายของคดีนี้คือการเรียกค่าปรับมากกว่าจำคุกจำเลย ซึ่งหากจำเลยต่อสู้ และศาลพบว่ามีความผิดจริง ก็จะปรับเต็มจำนวน แต่ถ้าจำเลยรับสารภาพหรือให้การเป็นประโยชน์ ก็อาจจะลดโทษลง เช่น ลดโทษหนึ่งในสาม” นายชาติพงษ์ จีระพันธุ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ เคยออกตัวปฏิเสธไม่มีการวิ่งเต้นล้มคดีในวันแถลงข่าวการยื่นฟ้องคดีบริษัทฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) หลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรนำเข้าบุหรี่ เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2559

ในการแถลงฟ้องคดี นายชาติพงษ์ ยังกล่าวว่า คดีนี้ นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ ขณะที่ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด (อสส.)ได้มีความเห็นสั่งฟ้องไปตั้งแต่ปี 2556 หลังจากพนักงานอัยการในสำนักคดีพิเศษ อสส.มีความเห็นไม่ส่งฟ้อง ซึ่งแย้งกับความเห็นกับพนักงานสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) จนนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ขณะนั้น ยื่นหนังสือคัดค้าน และนายจุลสิงห์ ต้องมาวินิจฉัยสั่งฟ้องคดีเพื่อยุติข้อขัดแย้ง

เป็นที่รับรู้กันดีว่า คดีเลี่ยงภาษีบุหรี่ฯ นี้เป็นมหากาพย์ที่เกิดขึ้นมายาวนานร่วมสิบกว่าปี กว่าจะมีการยื่นฟ้องบริษัทฟิลลิปฯ และพวก โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ได้เข้าไปทำคดีดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2549 หลังจากกรมสรรพากร ตรวจสอบพบว่าระหว่างปี2546-2552 บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส ฯ ซึ่งเป็นผู้นำเข้าบุหรี่หัวนอก 2 ยี่ห้อคือ มาร์ลโบโร และแอลแอนด์เอ็ม สำแดงการนำเข้าสินค้าบุรี่จากประเทศฟิลิปปินส์เป็นความเท็จ โดยระบุราคานำเข้าต่ำกว่าราคาที่แท้จริงเพื่อเลี่ยงภาษี หากเปรียบเทียบกับผู้นำเข้าอิสระเจ้าอื่น 3 รายคือ บริษัท สายการบินกรุงเทพ จำกัด บริษัท คิงส์เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และ บริษัทอลิส อินเตอร์ จำกัด พบว่าต้องนำเข้าราคาสูงกว่า กล่าวคือ ฟิลลิป มอร์ริส ฯ สำแดงราคานำเข้าบุหรี่ยี่ห้อมาร์ลโบโร 7.76 บาทต่อซอง และบุหรี่ยี่ห้อแอลแอนด์เอ็ม ราคา5.88 บาทต่อซอง แต่ในขณะที่ 3 บริษัท สำแดงนำเข้าบุหรี่ยี่ห้อมาร์ลโบโร 27.46บาทต่อซอง และบุหรี่ยี่ห้อแอลแอนด์เอ็ม ราคา16.81 บาทต่อซอง ซึ่งรวมทั้งหมดแล้ว ฟิลลิป มอร์ริส ฯ สำแดงราคานำเข้าต่ำไปประมาณ 68,881 ล้านบาท ทาง ดีเอสไอ จึงส่งสำนวนมาให้อัยการสูงสุดสั่งฟ้องคดี แต่สำนักคดีพิเศษ อัยการสูงสุด (อสส.)มีความเห็นไม่สั่งฟ้อง เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2554

เมื่ออัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี จึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้พรรคเพื่อไทย หยิบยกขึ้นมาเป็นหนึ่งในหัวข้อการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อเดือนมีนาคม 2554 โดยกล่าวหาว่า นายอภิสิทธิ์ ใช้อำนาจแทรกแซงกรมสรรพากรและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีกับบริษัทฟิลลิป มอร์ริส ฯ ซึ่งนำเข้าบุหรี่จากฟิลิปปินส์ และเลี่ยงภาษีอากร ทำให้รัฐเสียประโยชน์กว่า 68,000 ล้านบาท

หัวใจหลักที่พรรคเพื่อไทย หวังดิสเครดิตนายอภิสิทธิ์ คือการเปิดเผยข้อมูลที่อ้างว่านายอภิสิทธิ์ เข้าไปแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งพบมีการออกหนังสือเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างกรมศุลกากรกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต สำนักงานอัยการสูงสุด กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานผู้แทนการค้าไทย เข้าหารือที่ทำเนียบรัฐบาลอย่างน้อย 3-4 ฉบับ โดยทุกครั้งมีการลงชื่อโดยที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำคือ “นายพงศ์ศักดิ์ เสมสันต์”

ขณะเดียวกันยังมีความสัมพันธ์ของตัวละครที่เกี่ยวโยงกันไปถึงนายพงศ์ศักดิ์ เสมสันต์ ซึ่งเป็นผู้ลงนามในหนังสือเวียนในฐานะผู้ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยนายพงศ์ศักดิ์ เคยดำรงตำแหน่งปลัดกรุงเทพมหานคร ในยุคที่นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่าฯ กทม. ขณะที่ตัวละครผู้ถูกพาดพิงในเรื่องนี้อีกคนหนึ่งคือ นายเกียรติ สิทธิอมร ก็เคยเป็นที่ปรึกษานายอภิรักษ์ สมัยที่เป็นผู้ว่าฯ กทม.มาก่อนเช่นกัน

ในช่วงเวลานั้น นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.พรรคเพื่อไทย หัวหน้าทีมอภิปรายคดีดังกล่าว ได้แถลงข่าวและให้สัมภาษณ์หลายวาระหลายโอกาส แฉถึงความไม่ชอบมาพลโดยโยงใยถึง “เสี่ย ก.” เป็นผู้ล็อบบี้ให้มีการช่วยเหลือบริษัทฟิลลิปฯ ไม่ให้ถูกอัยการฟ้องร้อง และอาจได้รับผลประโยชน์จากต่างประเทศ กระทั่งลามมาเป็นคดีฟ้องร้องหมิ่นประมาทกันระหว่างนายเกียรติ สิทธิอมร ประธานผู้แทนการค้าไทย และคณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ซึ่งนายยุทธพงศ์ ทำให้สังคมอาจเข้าใจว่าเป็นนักล็อบบี้นาม “เสี่ย ก.” เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รองโฆษกพรรคเพื่อไทย เป็นจำเลย

ต่อมา ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้พิพากษายกฟ้อง เพราะจำเลยเป็นส.ส. มีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล แสดงความคิดเห็นไปโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท แต่พอถึงชั้นอุทธรณ์ ศาลได้ตัดสินเมื่อวันที่18 พฤษภาคม 2558 ให้จำเลยมีความผิดตามมาตรา 328แห่งประมวลกฎหมายอาญาในความผิดฐานหมิ่นประมาท ให้ทั้งจำ 3 เดือน และทั้งปรับ40,000 บาท โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ก่อน 2 ปี

การเปิดโปงของฝ่ายการเมืองจบไปแล้ว รอดูการสู้ศึกในกระบวนการยุติธรรม และวัดฝีมือ อสส.ในยุคนี้ที่ขึ้นตรงต่อ “คสช.”ดูว่าจะมีน้ำยาพอให้ฟิลลิป มอร์ริส หนาวถึงขั้วหัวใจไหม?



กำลังโหลดความคิดเห็น