xs
xsm
sm
md
lg

อัยการสั่งฟ้อง “ฟิลลิป มอร์ริส” เลี่ยงภาษีนำเข้าบุหรี่ 2 หมื่นล้าน (มีคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - อัยการสั่งฟ้อง “ฟิลลิป มอร์ริส” พร้อมคนไทย 8 คนต่อศาลอาญา ฐานเลี่ยงภาษีนำเข้าบุหรี่มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท ระหว่างปี 46-52 ศาลฯ ประทับรับฟ้อง ให้ประกันตัวจำเลยทุกคน พร้อมนัดครั้งต่อไป 25 เม.ย.นี้ ขณะที่ 4 ผู้ต้องหาชาวต่างชาติที่ออกหมายจับไปก่อนหน้านี้ยังอยู่ระหว่างหลบหนี



วันนี้ (19 ม.ค.) ที่ห้องประชุมชั้น 3 สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.แจ้งวัฒนะ เรือโท สมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมด้วย นายชาติพงษ์ จีระพันธุ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ และนายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดร่วมกันแถลงข่าวการยื่นฟ้อง คดีบริษัทฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด หลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรนำเข้าบุหรี่

เรือโทสมนึก กล่าวว่า คดีนี้พนักงานอัยการคดีพิเศษได้ยื่นฟ้อง บริษัทฟิลลิป มอร์ริส ฯ ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่มี นายทรอย เจ ม้อดลิน (TROY J MODLIN) เป็นผู้แทน และพนักงานที่เป็นคนไทยอีก 7 คน ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1 -8 ต่อศาลอาญาแล้ว เมื่อวันที่ 18 ม.ค.59 ในความผิดฐานร่วมกันเกี่ยวข้องด้วยประการใดๆ ในการหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงค่าภาษีศุลกากร โดยเจตนาที่จะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาล ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 , 115 จัตวา ,พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 11 ) พ.ศ.2490 มาตรา 3 , พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 17 ) พ.ศ.2543 มาตรา 10 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 , 91 และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2526 มาตรา 4 , พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ.2489 มาตรา 4-9 ซึ่งคดีมีอัตราโทษ ตามกฎหมายศุลกากร ให้ปรับเป็นเงิน 4 เท่า ราคาที่รวมค่าอากร หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือ ทั้งปรับและจำคุก

สำหรับคำฟ้องของอัยการ สรุปว่า นิติบุคคลดังกล่าวกับพวก ได้ร่วมกันนำเข้าในราชอาณาจักรและสำแดง ราคาสินค้าประเภทบุหรี่ ยี่ห้อมาร์ลโบโร (MARLBORO) และยี่ห้อ แอลแอนด์เอ็ม (L&M) อันเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงค่าภาษีศุลกากร ซึ่งเหตุเกิดระหว่างเดือน ก.ค.2546 –เดือน มิ.ย.2549 ที่เป็นความผิดทั้งสิ้น 272 ครั้ง โดยรวมราคาของสินค้าบุหรี่บวกกับราคาภาษีอากร ที่หลีกเลี่ยงเป็นเงินทั้งสิ้น 20 , 210,209,582.50 บาท ซึ่งศาลอาญาได้ประทับรับฟ้องไว้แล้วเป็นคดีหมายเลขดำ อ.185/2559 โดยนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การจำเลยวันที่ 25 เม.ย.เวลา 09.00 น. สำหรับจำเลยศาลก็ได้อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวไป หลังจากจำเลยได้ยื่นหลักทรัพย์ขอประกันตัว

นายชาติพงศ์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 18 ม.ค.59 พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องจำเลย 8 ราย ซึ่งหลังจากยื่นฟ้องแล้วทราบว่าศาลได้อนุญาตให้จำเลยที่เป็นคนไทยประกันตัวไปโดยใช้หลักทรัพย์ 1 ล้านบาท ส่วนผู้ต้องหาชาวต่างชาติที่หลบหนีอยู่ ศาลได้ออกหมายจับไว้แล้ว หากได้ตัวมาก็จะนำตัวมาฟ้องภายในอายุความ ส่วนการขอส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนในคดีนี้มีหลักเกณฑ์รายละเอียดที่ซับซ้อน และต้องคำนึงถึงความคุ้มค่า หากตัวจำเลยพำนับอยู่ในประเทศบ้านเกิด หรืออยู่ในประเทศที่ไม่มีสนธิสัญญาขอส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนจะยิ่งมีความยากลำบาก อย่างไรก็ตาม หากศาลมีคำพิพากษาว่าจะเลยมีความผิดก็สามารถเรียกปรับค่าเสียหายจาก บริษัทฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ได้ และจากพฤติกรรมของจำเลยมีความเชื่อมโยงกัน หลักฐานที่มีอยู่สามารถเอาผิดได้

นายชาติพงศ์ กล่าวปฏิเสธไม่มีการวิ่งเต้นในการสั่งหรือไม่สั่งฟ้องคดี ที่ฟ้องล่าช้า เนื่องจากภายหลังที่อัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้องเมื่อปี 2556 แต่ผู้ต้องหาซึ่งเป็นนิติบุคคลได้ขอเลื่อนเข้ารายงานตัว ประกอบกับมีความคลาดเคลื่อนในเรื่องตัวเลข และมีเอกสารจำนวนมาก จึงต้องแก้ไขใหม่ ขณะที่ความผิดในส่วนของฝ่ายการเมืองยังไม่มีการแจ้งข้อมูลมาจากป.ป.ช.แต่อย่างใด

ด้านนายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า อัยการบรรยายฟ้องจำนวนทุนทรัพย์อยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาท ถ้าศาลรับฟังหลักฐานของโจทก์และมีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดจริง ศาลจะสั่งปรับจำเลยเป็นจำนวน 4 เท่าของอากร คิดเป็นเงิน 8 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ คดีนี้มีอายุความ 15 ปี นับแต่เกิดเหตุปี 2546 ซึ่งผู้ต้องหาที่ยังหลบนี้อยู่แต่ละคนถูกกล่าวหาในความผิดต่างกัน ดังนั้น แต่ละคนจะมีอายุความเหลือตั้งแต่ 2-5 ปี หากติดตามตัวมาได้ต้องยื่นฟ้องภายในปี 2561 ซึ่งมั่นใจว่าจะติดตามตัวมาฟ้องได้ภายในอายุความ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ต้องหาที่ทางอัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้องในคดีนี้มี 14 ราย ซึ่งอัยการได้ฟ้องเป็นจำเลยแล้ว 8 ราย ประกอบด้วย นิติบุคคล 1 ราย คือ บริษัทฟิลลิป มอร์ริส ฯ , เอกชนซึ่งเป็นคนไทย 7 ราย ได้แก่ 1.นายศิลาเอก สุนทราภัย 2.นางดาลัค วารณะวัฒน์ 3.น.ส.เสาวลักษณ์ อาภาเบิกบาน 4.น.ส.จรรยานี วิสุทธิกุลพาณิชย์ 5.น.ส.สุจินดา ไตรรัตน์เกยูร 6.นางทรรศสม ลาภประเสริฐ และ 7.น.ส.วราภรณ์ อภิเสถียรสุข ส่วนผู้ต้องหาที่เหลือ 6 รายนั้น มีคดีขาดอายุความ 1 ราย เสียชีวิต 1 ราย และหลบหนีอีก 4 ราย

สำหรับคดีดังกล่าวเป็น 1 ใน 12 คดีอาญา ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการสอบสวนคดีให้แล้วเสร็จ

อนึ่ง วานนี้ ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด ได้ออกเอกสารแถลงข่าว ยืนยันว่าข้อกล่าวหาที่อัยการได้ยื่นฟ้องบริษัทเกี่ยวกับคดีเลี่ยงภาษีศุลกากรนั้นเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูลความจริง ไม่ยุติธรรม อีกทั้งยังละเมิดต่อพันธกรณีที่ประเทศไทยมีต่อองค์การการค้าโลกในการปฏิบัติตามความตกลงว่าด้วยการประเมินราคาศุลกากร ข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นผลมาจากการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่ดำเนินมาเป็นเวลากว่า 10 ปีโดยดีเอสไอได้กล่าวหาว่าฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ดสำแดงราคานำเข้าบุหรี่จากฟิลิปปินส์ต่ำกว่าความเป็นจริงในช่วงระหว่างปี 2546 – 2550

นายทรอย ม้อดลิน ผู้จัดการสาขาของฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ดกล่าวว่า “บริษัทไม่ได้กระทำผิดแต่อย่างใด ไม่เพียงแต่ข้อกล่าวหาทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ปราศจากมูลความจริง และเป็นการละเมิดต่อพันธกรณีของประเทศไทยในการปฏิบัติตามหลักความตกลงว่าด้วยการประเมินราคาศุลกากรขององค์การการค้าโลก แต่ยังทำให้เกิดการตั้งคำถามกับประเทศไทยในเรื่องหลักการความยุติธรรม ความโปร่งใสและการเคารพหลักนิติธรรม การสั่งดำเนินคดีนี้ทำลายความพยายามของประเทศไทยในการฟื้นฟูภาพลักษณ์ของประเทศในเวทีประชาคมโลกและความพยายามทำให้ประเทศเป็นตลาดที่เปิดกว้างและเป็นมิตรกับนักลงทุน”

การตัดสินใจของอดีตอัยการสูงสุดนายจุลสิงห์ วสันต์สิงห์ในการสั่งฟ้องบริษัทฯ รวมถึงการสั่งดำเนินคดีกับอดีตพนักงานและพนักงานปัจจุบันของบริษัทนั้นขัดแย้งกับคำสั่งไม่ฟ้องของสำนักงานอัยการสูงสุดเองในข้อหาเดียวกันเมื่อสี่ปีก่อน นอกจากนี้ยังเป็นการขัดแย้งกับคำวินิจฉัยของกรมศุลกากร คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ สำนักตรวจสอบหลังการตรวจปล่อยสินค้า รวมถึงองค์การการค้าโลกก่อนหน้านี้ด้วย

แถลงการณ์ระบุอีกว่า ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ดได้ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องนับตั้งแต่ดีเอสไอได้เริ่มดำเนินการสอบสวนตั้งแต่ปีพ.ศ. 2549 ทั้งนี้ บริษัทฯ ยืนยันที่จะต่อสู้กับข้อกล่าวหาที่ปราศจากมูลความจริงนี้อย่างถึงที่สุดและพร้อมที่จะแสดงให้เห็นว่าบริษัทยึดถือปฏิบัติตามหลักกฎหมายไทยและมาตรฐานปฏิบัติสากลในเรื่องว่าด้วยการประเมินราคาศุลกากรมาโดยตลอด

ลำดับเหตุการณ์

กรกฎาคม 2546
-ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด เริ่มนำเข้าบุหรี่จากประเทศฟิลิปปินส์

กรกฎาคม 2546-กรกฎาคม 2549
-กรมศุลกากรรับราคานำเข้าโดยฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ตามปกติ

สิงหาคม 2549
-นายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตรวจสอบราคานำเข้าของผู้นำเข้าบุหรี่
กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับเรื่องไว้เป็น “คดีพิเศษ”และได้ประชุมเพื่อตั้งคณะสืบสวนซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากกรมศุลกากร กรมสรรพสามิต กรมสรรพากรและสำนักงานอัยการสูงสุด
-กรมศุลกากรเริ่มปฏิเสธราคานำเข้าของฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) และกำหนดราคาวางประกัน

กันยายน 2549
-รมว.คลัง นายทนง พิทยะ สั่งให้มีการตรวจสอบกิจกรรมทางธุรกิจของฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์)

กุมภาพันธ์ 2551
-ฟิลิปปินส์ยื่นคำร้องต่อองค์การการค้าโลกเพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาระงับข้อพิพาททางการค้ากับประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

พฤษภาคม 2551
-กรมศุลกากรสรุปผลการตรวจสอบย้อนหลังและพบว่าไม่มีการกระทำผิดโดยฟิลลิป มอร์ริส(ไทยแลนด์)
-กรมศุลกากรได้คืนเงินวางประกันมูลค่าประมาณ 8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมีการประเมินเกินมูลค่าไว้

เมษายน 2552
-ดีเอสไอได้ออกบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาต่อฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์)

กันยายน 2552
-ดีเอสไอได้มีความเห็นควรดำเนินคดีกับฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) และพนักงานของบริษัท 14 คน ซึ่งรวมถึงการออกหมายจับผู้บริหารที่อาศัยอยู่ต่างประเทศ 4 คน

พฤศจิกายน 2553
-คณะกรรมการไต่สวนข้อพิพาทขององค์การการค้าโลกออกคำวินิจฉัยเห็นสอดคล้องกับคำร้อง
ของฟิลิปปินส์ โดยคณะไต่สวนฯ วินิจฉัยว่าประเทศไทยไม่มีมูลเหตุที่จะปฏิเสธราคาสำแดงของฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์)

มกราคม 2554
-อัยการมีคำสั่งเห็นแย้งกับความเห็นของดีเอสไอในข้อกล่าวหาต่อฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) และมีคำสั่งไม่ฟ้อง ส่งผลให้มีการยกเลิกหมายจับผู้บริหาร

มีนาคม-เมษายน 2554
-หัวข้อการสำแดงราคานำเข้า (ซีไอเอฟ) ถูกนำมาเป็นประเด็นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์

17 มิถุนายน 2554
-คณะอุทธรณ์ขององค์การการค้าโลกยืนตามคำวินิจฉัยคณะกรรมการไต่สวนข้อพิพาทองค์การการค้าโลกซึ่งตัดสินว่าประเทศไทยไม่ได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบขององค์การการค้าโลก

17 สิงหาคม 2554
-อธิบดีดีเอสไอ ธาริต เพ็งดิษฐ์เห็นแย้งต่อคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการ ส่งผลให้คดีของฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ต้องถูกส่งกลับมายังอัยการสูงสุดเพื่อมีคำวินิจฉัยชี้ขาด

กันยายน 2555
-คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ กรมศุลกากรมีคำสั่งรับราคาสำแดงนำเข้าจำนวน 118 รายการจากฟิลิปปินส์ซึ่งครอบคลุมช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปี 2549 ถึง 2550
-การพิจารณารับราคาสำแดงในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้เป็นช่วงเวลาของธุรกรรมที่ปรากฏในข้อกล่าวหาหลักของดีเอสไอ ซึ่งได้รับการตรวจสอบจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศไทยและองค์การการค้าโลก ซึ่งทุกหน่วยงานได้ยืนยันว่าฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ได้ปฏิบัติสอดคล้องตามกฎหมาย

ตุลาคม 2556
-สื่อมวลชนรายงานข่าวว่าอัยการสูงสุด จุลสิงห์ วสันตสิงห์ มีคำสั่งให้ดำเนินคดีกับ ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) และพนักงานที่เกี่ยวข้อง เพียงไม่กี่วันก่อนเกษียณอายุราชการ

มกราคม 2557-มกราคม 2559
-กำหนดรับทราบข้อกล่าวหาเพื่อยื่นฟ้องซึ่งเดิมกำหนดไว้เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2557 ได้ถูกเลื่อนออกไปหลายครั้งโดยสำนักงานอัยการสูงสุดเอง

18 มกราคม 2559
-อัยการได้ยื่นฟ้องฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ดและอดีตพนักงานและพนักงานปัจจุบัน

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น