xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

คดีกรุงไทยปล่อยกู้กฤษดาฯ ตัวการใหญ่ “แม้ว” ลอยนวล บิ๊กกรุงไทยแพะรับบาป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทักษิณ ชินวัตร
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2558 ที่ให้จำหน่ายคดีไว้ชั่วคราวสำหรับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้ให้ บมจ.กฤษดามหานคร เป็นชนักติดหลังอีกคดีที่อาจจะทำให้ “นช.ทักษิณ” กลายเป็น นช.หนีคดีเร่ร่อนนอกประเทศไทยเป็นการถาวร

เพราะไม่ใช่แค่คดีกรุงไทยปล่อยกู้ฯ เท่านั้นที่รอการกลับมาให้เช็กบิล แต่มีคดีอื่นๆ ที่ศาลสั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราวอันเป็นผลสืบเนื่องจากการหนีคดีของ นช.ทักษิณ ที่รออยู่ ทั้งคดีเอ็กซ์ซิมแบงก์ปล่อยกู้ให้พม่า คดีหวยบนดิน คดีเอื้อประโยชน์สัมปทานชินคอร์ป รวมทั้งคดีที่ดินรัชดาฯ ซึ่งเป็นคดีที่ศาลฯตัดสินสั่งลงโทษจำคุกพ.ต.ท.ทักษิณ 2 ปี จนทำให้ต้องหนีและหนีต่อไปชนิดไม่มีกำหนดกลับ

ถึงแม้ว่า คดีความต่างๆ ที่ขึ้นสู่ศาลฎีกาฯ และศาลมีคำพิพากษาออกมา ทำให้ตัวเป้งๆ หลุดรอดเป็นส่วนใหญ่ เช่น คดีหวยบนดิน และบางคดีก็หลุดให้เฮกันตั้งแต่ชั้นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อย่างคดีสินบนข้ามชาติซีทีเอ็กซ์ ที่ปลาใหญ่ทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และพวก พ้นบ่วง เพราะป.ป.ช.ยกคำร้องยกล็อต แต่กระนั้น นช.ทักษิณ ก็ไม่เคยมั่นใจว่าถ้ากลับมาแล้ว คดีที่ยังคั่งค้างอยู่ศาลจะมีคำพิพากษาว่าอย่างไร จะรอดคุกหรือไม่ ล้วนแต่ไม่แน่นอนทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อพินิจคำพิพากษาคดีกรุงไทยฯ นี้แล้ว บรรดาแพะรับบาปก็หนีไม่พ้นบรรดาบิ๊กกรุงไทยและเจ้าหน้าที่ฝ่ายสินเชื่อที่พิจารณาและลงนามอนุมัติปล่อยกู้ ส่วน นช.ทักษิณ ยังลอยนวล เร่ร่อนอยู่นอกประเทศต่อไป และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ก็เลือกที่จะทำเฉยไม่กระตือรือร้นเอาตัวนักโทษหนีคดีกลับมารับโทษ

เอาแค่จะถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้เป็นนายทักษิณ สามัญชนคนธรรมดาก็ยังดองเรื่องไม่ไปถึงไหน พายเรือวนอยู่ในอ่างเหมือนเดิม การที่จะเอาตัว นช.ทักษิณ กลับมารับโทษก็คงยากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทรนั่นแหละ

สำหรับคดีกรุงไทยฯปล่อยกู้ บมจ.กฤษดาฯ ศาลฎีกาฯ พิพากษาคดี ใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ

หนึ่ง ธนาคารกรุงไทย เป็นรัฐวิสาหกิจ โจทก์ คือ อัยการสูงสุด มีสิทธิ์ฟ้องจำเลยในฐานะเจ้าพนักงานในองค์กรและหน่วยงานของรัฐ

สอง การอนุมัติปล่อยสินเชื่อให้แก่กลุ่มบริษัทกฤษดาฯ ซึ่งอยู่ในสถานะกลุ่มลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอลของธนาคารของจำเลย ถือเป็นความผิดที่จำเลยต้องชดใช้ความเสียหายและถูกจำคุก

และ สาม การอนุมัติขายหุ้นแปลงสภาพของ บมจ.กฤษดานคร เป็นการกระทำที่มิชอบ (อ่านรายละเอียดในคำพิพากษาคดี)

คดีนี้ นช.ทักษิณ เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องและตกเป็นจำเลยที่ 1 ได้อย่างไร ต้องย้อนกลับไปดูสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) ซึ่งคำแถลงของ “สัก กอแสงเรือง” อดีตโฆษก คตส. ในระหว่างการไต่สวนคดีดังกล่าว ระบุว่า “การดำเนินการ (ปล่อยกู้) ดังกล่าวมีการวางแผนเป็นขั้นตอน ตั้งแต่อนุมัติสินเชื่อโดยเร่งด่วน ซึ่งมีลักษณะของการปั่นหุ้น โดยเงินที่เหลือนำไปให้พวกพ้อง และพบว่ามีการโอนเงินให้ลูกชายของหัวหน้าพรรคการเมืองใหญ่ ที่เป็นผู้สั่งการให้อนุมัติสินเชื่อ โอนเงินให้บิดาของอดีต ส.ส.ลูกพรรค และโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของบิดาเลขาฯ ส่วนตัว ของภรรยาหัวหน้าพรรค เป็นเหตุให้ธนาคารกรุงไทยเสียหาย 4.5 พันล้านบาท”

ในสำนวนคดี คตส. คณะอนุกรรมการไต่สวน ที่มีนางเสาวนีย์ อัศวโรจน์ กรรมการ คตส. เป็นประธาน ระบุถึงการสั่งการของ พ.ต.ท.ทักษิณ ให้แบงก์กรุงไทยปล่อยกู้ โดยคณะกรรมการบริหารแบงก์กรุงไทยรายหนึ่ง ยืนยันต่อคณะอนุกรรมการในชั้นไต่สวนว่า ก่อนหน้าการประชุมเพื่อพิจารณาปล่อยสินเชื่อรายนี้ ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ์ ประธานบอร์ดบริหารแบงก์กรุงไทย ขณะนั้น แจ้งในที่ประชุมว่า ได้รับแจ้งทางโทรศัพท์จาก “บิ๊กบอส” คนหนึ่งให้ปล่อยกู้ ซึ่ง “บิ๊กบอส” ที่ ร.ท.สุชาย เอ่ยถึงนั้น ทุกคนในบอร์ดกรุงไทย ต่างเข้าใจตรงกันว่าหมายถึง พ.ต.ท.ทักษิณ เนื่องจากเป็นคำที่ ร.ท.สุชาย ใช้เอ่ยถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ตลอดเวลา และที่ผ่านมาธนาคารกรุงไทยได้อนุมัติสินเชื่อวงเงินขนาดใหญ่หลายครั้งที่เกี่ยวพันกับคนในครอบครัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ และผู้บริหารระดับสูงของพรรครักไทยคนหนึ่งด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าว เมื่อขึ้นสู่ชั้นศาลฎีกาฯ ได้ถูกลดทอนน้ำหนักลงไปและ ไม่มีความชัดเจนเพียงพอที่จะโยงว่า “บิ๊กบอส” นั้นคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ดังคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ที่ว่า “ส่วนที่จำเลย 2-5 และ 8-27 ร่วมกันกระทำผิดหรือสนับสนุนจำเลยที่ 1 นั้น ได้ความจากพยานซึ่งเป็นกรรมการพิจารณาสินเชื่อธนาคารกรุงไทยว่า ก่อนการประชุมอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทจำเลยที่ 18-19 นั้น จำเลยที่ 2 ได้โทรศัพท์มาหาพยานและบอกว่า บิ๊กบอส หรือซุปเปอร์บอสได้ดูดีแล้ว ไม่ให้คัดค้านการอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทจำเลยที่ 18-19 ซึ่งในชั้นพิจารณากับชั้นไต่สวนของ คตส. พยานยังเบิกความไม่ชัดเจนว่า บิ๊กบอสหรือซุปเปอร์บอส คือจำเลยที่ 1 หรือภรรยาของจำเลยที่ 1 กันแน่ แม้จะมีอ้างถึงเงินจากเครือบริษัทจำเลยโอนเข้าบัญชีบุตรของจำเลยที่ 1 และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 แต่ก็พบว่ากลุ่มคนดังกล่าวก็เกี่ยวพันกับภรรยาของจำเลยที่ 1 พยานจึงอาจเข้าใจตามความคิดของพยานเองว่าบิ๊กบอสหรือซุปเปอร์บอส คือจำเลยที่ 1 ดังนั้น ชั้นนี้อาจยังฟังไม่ได้ว่าจำเลย 2-5 และ 8-27 ร่วมกับจำเลยที่ 1”

นั่นหมายความว่า คำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ที่ออกมา ถึงจะฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2-5 และ 8-27 ร่วมกับจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2-5 และ 8-27 นั้น มีความผิดที่ไปอนุมัติสินเชื่อให้กลุ่ม บมจ.กฤษดามหานคร งานนี้บิ๊กกรุงไทย จึงตกเป็นแพะรับบาปไปตามๆ กัน ถ้าหากว่าการกระทำนั้นถูกแรงบีบจากไอ้โม่งที่เรียกขานกันว่า “ซุปเปอร์บอส” หรือ บิ๊กบอส คนนั้นจริง แต่ไม่มีหลักฐานชัดเจนเพียงพอที่จะสาวไปถึง

ส่วนจำเลยที่ 1 ซึ่งจะใช่ “บิ๊กบอส” ที่ว่านั้นหรือไม่ ยังไม่ชัดเจนยังฟังไม่ได้อย่างที่ศาลว่าไว้ในคำตัดสิน และศาลได้สั่งจำหน่ายคดีออกไปเป็นการชั่วคราวเพราะจำเลยที่ 1 อยู่ระหว่างหลบหนีคดี และหากจับจำเลยมาขึ้นศาลได้ ศาลจะพิจารณาคดีสำหรับจำเลยที่ 1 อีกครั้งก่อนที่จะตัดสินออกมาเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ส่วนจะรอดคุกหรือไม่รอด คำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ที่ออกมาดูเหมือนจะบ่งบอกเป็นนัยอยู่แล้ว

สำหรับนายพานทองแท้ ชินวัตร, นางกาญจนาภา หงส์เหิน, นายวันชัย หงส์เหิน และ นายมานพ ทิวารี (บิดา น.ต.ศิธา ทิวารี อดีต ส.ส. พรรคไทยรักไทย) นั้น ที่ประชุม คตส. มีมติให้ดำเนินคดีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 ฐานรับของโจร แม้ไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด แต่ได้รับเงินร่วม 180 ล้านบาท ที่ได้จากการกระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์ และมีมติให้แยกบุคคลทั้ง 4 คนนี้ไปดำเนินคดีในศาลอาญา แต่ภายหลังจากที่ คตส. ได้สรุปคดีและชี้มูลความผิดบุคคลต่าง ๆ ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯ ในชั้นอัยการได้ตัดชื่อของ นายพานทองแท้, นางกาญจนาภา, นายวันชัย และนายมานพ ออกไป เนื่องจากเห็นว่าหลักฐานเชื่อมโยงไปไม่ถึง

คดีนี้ถึงที่สุดแล้ว และท้ายที่สุดกลุ่มการเมือง ซึ่ง คตส. ตั้งข้อหาว่ามีพฤติการณ์ร่วมกันหรือสนับสนุนการกระทำความผิดกรณีแบงก์กรุงไทยปล่อยกู้ให้บมจ.กฤษดานคร ก็ลอยนวลยกแก๊ง เป็นบทเรียนราคาแพงให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐตระหนักว่าอย่าไปสยบยอมต่อแรงบีบของฝ่ายการเมือง ไม่เช่นนั้นชะตากรรมสุดท้ายจะต้องมารับเคราะห์กรรมกลายเป็นแพะรับบาปแทน

ล้อมกรอบ//

คำพิพากษาคดีแบงก์กรุงไทยปล่อยกู้บมจ.กฤษดามหานคร

คดีนี้ อัยการสูงสุด คือ นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี, ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ อดีตประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย, นายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย, กรรมการบริหาร,คณะกรรมการสินเชื่อ,เจ้าหน้าที่สินเชื่อของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน), กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทในเครือกฤษดามหานคร และ 3 บริษัทในเครือกฤษดามหานคร เป็นจำเลยที่ 1-27 ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, ความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงาน ในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502, ความผิด พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505, ความผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และ ความผิด พ.ร.บ.บริษัท มหาชน จำกัด พ.ศ. 2535

คำฟ้องสรุปพฤติการณ์ของจำเลยว่า ผู้บริหารธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้สินเชื่อกลุ่ม บมจ.กฤษดามหานคร ที่มีสถานะอยู่ในกลุ่มลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคาร เนื่องจาก ผอ.ฝ่ายกลั่นกรองสินเชื่อธุรกิจนครหลวง เคยจัดอันดับความเสี่ยงของกลุ่มกฤษดามหานครในอันดับ 5 คือไม่สามารถอนุมัติสินเชื่อให้ได้ แต่ได้มีการอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทในกลุ่มกฤษดามหานคร 3 กรณี คือ

1.การอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทอาร์เคโปรเฟสชั่นนัล จำกัด จำนวนเงิน 500ล้านบาท 2. การอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทโกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด วงเงิน 9,900 ล้านบาท (วงเงินไฟแนนซ์ 8,000 ล้านบาท วงเงินซื้อที่ดินเพิ่ม 500 ล้านบาท และวงเงินพัฒนาโครงการ 1,400ล้านบาท) และ 3. การอนุมัติขายหุ้นบุริมสิทธิแปลงสภาพของ บมจ.กฤษดามหานคร ให้กับบริษัท แกรนด์ คอมพิวเตอร์คอมมูนิเคชั่น จำกัด จำนวนเงิน 1,185,735,380 บาท ถือว่าผู้เกี่ยวข้องมีพฤติการณ์ ร่วมกันหรือสนับสนุนการกระทำความผิดกรณีธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐ เป็นการกระทำโดยทุจริต เพื่อฟื้นฟูกิจการของ บมจ.กฤษดามหานคร ประโยชน์ส่วนตนกับพวก

ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ธนาคารกรุงไทย มีสถานะเป็นองค์กรของรัฐ เนื่องจากมีกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน ภายใต้การกำกับดูและของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งถือครองหุ้นธนาคารกรุงไทยเกินร้อยละ 50 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามนิยามของ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงาน ในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 ที่จำเลยต่อสู้ว่าธนาคารกรุงไทยไม่ได้มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจและไม่อาจฟ้องจำเลยตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานฯ จึงรับฟังไม่ได้

ส่วนจำเลยที่ 2-5 และ 8-17 ร่วมกันอนุมัติสินเชื่อให้กับบริษัทอาร์เค จำเลยที่ 18 และบริษัทโกลเด้น จำเลยที่ 19 โดยฝ่าฝืนประกาศและคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ ธ.222/2545 เรื่องนโยบายสินเชื่อที่กำหนดให้มีการวิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ซื้อ และคำสั่งของธนาคารกรุงไทยเรื่องความเสี่ยงของการอนุมัติสินเชื่อหรือไม่

ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า จากการไต่สวนแลพยานซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีของบริษัททั้งสอง รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 18-19 มีจำเลยที่ 23-25 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ และบริษัทดังกล่าวก็อยู่ในเครือของ บมจ. กฤษดามหานคร จำเลยที่ 20 ซึ่งจำเลยที่ 18-20 ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างอยู่ในสภาพมีหนี้สินจำนวนมากกับสถาบันการเงินหลายแห่ง ไม่มีรายได้ต่อเนื่องกันหลายปี มีดอกเบี้ยค้างชำระเพิ่มพูนขึ้น เกิดการขาดทุนสะสมหลายปี ทำให้ฐานะการเงินไม่มั่นคง ความสามารถในการหารายได้ต่ำจนไม่น่าเชื่อว่าจะชำระหนี้ได้ ซึ่งบมจ.กฤษดามหานคร จำเลยที่ 20 ก็ถูกธนาคารกรุงไทยผู้เสียหายกำหนดเงื่อนไขห้ามไม่ให้ก่อหนี้สินเชื่ออีก อีกทั้งในการเสนอขอสินเชื่อของบริษัทอาร์เคฯ จำเลยที่ 18 แม้ว่าจำเลยจะไม่เคยเป็นลูกหนี้ของธนาคารกรุงไทยและอ้างว่าจะนำเงินกู้ไปซื้อที่ดินเพื่อขายเอากำไร แต่เป็นการอ้างขายให้กับจำเลยที่ 20 ซึ่งมีไม่อยู่ในสถานะมั่นคงในการหารายได้ หรือมีเงินที่จะซื้อที่ได้

ส่วนที่บริษัทโกลเด้นฯ จำเลยที่ 19 เสนอขอสินเชื่ออ้างทำโครงการกฤษดาซิตี้ 4,000 ล้านบาท แต่ก็ไม่มีแผนงาน พิมพ์เขียว รายงานแสดงงบประมาณ แต่เพิ่งมาทำก่อนที่จะมีการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ ขณะที่ภายหลังก็มีการอ้างว่าจะนำเงินกู้ไปทำการรีไฟแนนซ์ที่บริษัทเป็นหนี้กับธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีการเจรจาหนี้จนลดลงที่ต้องชำระ 4,500 ล้านบาท และจะนำเงิน 500 ล้านบาทไปซื้อที่ดิน และอีก 1 พันกว่าล้าน นำไปพัฒนาโครงการกฤษดาซิตี้ฯ

แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าที่ดินที่มีการอ้างว่าจะทำโครงการนั้น มีชื่อบุคคลภายนอกถือครองกรรมสิทธิ์กว่า 100 ไร่ และภายหลังจำเลยที่ 19 ยังยื่นขอสินเชื่อเพิ่มอีก 2,000 ล้านบาท เพื่อนำไปพัฒนาโครงการกฤษดาซิตี้โดยขอเริ่มนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 19 ไม่ตั้งใจทำโครงการตามที่อ้างขอเสนอสินเชื่อ ซึ่งโครงการที่มีการเสนอขอสินเชื่อนั้นถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ มีวงเงินที่สูง แต่จำเลยกลับไม่มีรายละเอียดและข้อมูลที่จำเป็นประกอบการขอสินเชื่อ เพื่อให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของโครงการ

โดยที่การตรวจสอบก่อนจะเสนอขอสินเชื่อของบริษัทจำเลยที่ 18-19 นั้น จำเลยที่ 5-17 ซึ่งเป็นกรรมการอนุมัติสินเชื่อ โดยจำเลยที่ 12 ซึ่งเป็นประธานกรรมการพิจารณาสินเชื่อที่มีบมจ.กฤษดามหานคร จำเลยที่ 20 เป็นลูกค้า ก็ย่อมจะรู้ดีอยู่แล้วถึงข้อมูลว่าบริษัทจำเลยที่ 18-19 เป็นบริษัทในเครือของจำเลยที่ 20 ซึ่งเป็นหนี้สถาบันการเงินหลายแห่ง มีการปรับโครงสร้างหนี้หมายครั้ง จนถูกห้ามก่อหนี้เพิ่ม และถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง แต่จำเลยที่ 5-17 ยังคงเสนอให้อนุมัติสินเชื่อให้กับจำเลยทั้งสอง โดยให้ความเห็นว่าอยู่ในกลุ่มความเสี่ยงพอรับได้

และการกระทำดังกล่าวยังเป็นในลักษณะเร่งรีบเพื่อปล่อยกู้ให้ทัน เป็นการเปิดช่องให้จำเลยทั้งสองนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยนำไปชำระหนี้สถาบันการเงินอื่นและซื้อหุ้นจากเจ้าหนี้คืนเพื่อให้จำเลยที่ 20 กลับมามีอำนาจการบริหารในอนาคต จากเดิมที่มีสถานะไม่มั่นคง ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2-5 และ 8-17 ซึ่งเป็นกรรมการสินเชื่ออนุมัติยินยอมอนุมัติวงเงินให้จำเลยทั้งสอง จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ สร้างความเสียหายให้กับธนาคารกรุงไทยและประชาชนที่ฝากเงิน

ส่วนที่ ร.ท.สุชาย, นายวิโรจน์, และนายมัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา กรรมการบอร์ดกรุงไทย จำเลยที่ 2-4 อนุมัติขายหุ้นบุริมสิทธิแปลงสภาพของบมจ.กฤษดามหานคร จำเลยที่ 20 ให้กับ บจก. แกรนด์คอมพิวเตอร์ แอนด์คอมมูนิเคชั่นจำเลยที่ 22 นั้น

การที่นายวิโรจน์ จำเลยที่ 3 ให้เครดิตการชำระเงินขายหุ้นให้นานถึง 4 เดือน และยังมีการมอบฉันทะให้ บจก.แกรนด์คอมพิวเตอร์ฯ จำเลยที่ 22 ออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ บมจ.กฤษดามหานคร จำเลยที่ 20 แม้ว่าหุ้นจะไม่ใช่สินเชื่อ แต่ลักษณะของการดำเนินการดังกล่าว ก็เป็นการให้สินเชื่ออย่างหนึ่ง ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งเรื่องนโยบายสินเชื่อ ในการวิเคราะห์ความสี่ยง ดังนั้น การกระทำของจำเลยที่ 2-4 ดังกล่าวทำให้ธนาคารกรุงไทยขายหุ้นไปโดยไม่ได้รับการชำระค่าหุ้น และการมอบฉันทะให้จำเลยที่ 22 เข้าประชุมผู้ถือหุ้นจนมีการลงคะแนนเสียงลดจำนวนหุ้นบุริมสิทธิ์ ทำให้มีมูลค่าเป็นศูนย์ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบเช่นกัน เพราะเป็นการให้สินเชื่อในกรณีพิเศษ

ส่วนที่จำเลย 2-5 และ 8-27 ร่วมกันกระทำผิดหรือสนับสนุนจำเลยที่ 1 นั้น ได้ความจากพยานซึ่งเป็นกรรมการพิจารณาสินเชื่อธนาคารกรุงไทยว่า ก่อนการประชุมอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทจำเลยที่ 18-19 นั้น จำเลยที่ 2 ได้โทรศัพท์มาหาพยานและบอกว่า บิ๊กบอส หรือซุปเปอร์บอสได้ดูดีแล้ว ไม่ให้คัดค้านการอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทจำเลยที่ 18-19 ซึ่งในชั้นพิจารณากับชั้นไต่สวนของ คตส. พยานยังเบิกความไม่ชัดเจนว่า บิ๊กบอสหรือซุปเปอร์บอส คือจำเลยที่ 1 หรือภรรยาของจำเลยที่ 1 กันแน่ แม้จะมีอ้างถึงเงินจากเครือบริษัทจำเลยโอนเข้าบัญชีบุตรของจำเลยที่ 1 และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 แต่ก็พบว่ากลุ่มคนดังกล่าวก็เกี่ยวพันกับภรรยาของจำเลยที่ 1 พยานจึงอาจเข้าใจตามความคิดของพยานเองว่าบิ๊กบอสหรือซุปเปอร์บอส คือจำเลยที่ 1 ดังนั้น ชั้นนี้อาจยังฟังไม่ได้ว่าจำเลย 2-5 และ 8-27 ร่วมกับจำเลยที่ 1

ศาลฯ จึงพิพากษาให้จำคุก ร.ท.สุชาย, นายวิโรจน์, นายมัฌชิมา และ นายไพโรจน์ รัตนะโสภา จำเลยที่ 2-4 และ 12 คนละ 18 ปี ตามความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ม.4 ซึ่งเป็นบทหนักสุด ส่วนจำเลยที่ 5,8-11,13-17 ซึ่งเป็นพนักงานของธนาคารกรุงไทย ผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ม.4 จำคุกจำเลยทั้ง 10 คนในส่วนนี้ คนละ 12 ปี

สำหรับนายวิชัย กฤษดาธานนท์ เจ้าของโครงการหมู่บ้านกฤษดามหานคร จำเลยที่ 25 และจำเลยที่ 18-27 ซึ่งนิติบุคคล และผู้บริหารบริษัทในเครือกฤษดานคร มีความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4 โดยให้ปรับจำเลยที่ 18-22 ซึ่งเป็นนิติบุคคล รายละ 26,000 บาท และให้จำเลยที่ 23-27 จำคุกคนละ 12 ปี และให้จำเลยที่ 20,25 และ 26 รวมกันคืนเงิน 10,004,467,480 บาท แก่ธนาคารกรุงไทย ผู้เสียหาย

นอกจากนี้ ให้นายวิโรจน์ จำเลยที่ 3, 22 และจำเลยที่ 27 ร่วมรับผิด 9,554,467,480 บาท และให้จำเลยที่ 12-17, 21, 23 และ 24 ร่วมรับผิดจำนวน 8,818,732,100 บาท ส่วนจำเลยที่ 18 ร่วมรับผิด 450 ล้านบาท และจำเลยที่ 2, 4, 5 และ 8-11และ 19 ร่วมรับผิดจำนวน 8,368,732,100 บาท หากจำเลยที่ 18-22ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29 และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 6-7

สำหรับรายชื่อจำเลยทั้ง 27 คน ประกอบด้วย กลุ่มเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเคราะห์สินเชื่อ คือ นายประพันธ์พงศ์ ปราโมทย์กุล จำเลยที่ 13 นางกุลวดี สุวรรณวงศ์ จำเลยที่ 14 นางสุวรัตน์ ธรรมรัตนพคุณ จำเลยที่ 15 นายประวิทย์ อดีตโต จำเลยที่ 16 นางศิริวรรณ ชินอิสระยศ จำเลยที่ 17 นายไพโรจน์ รัตนะโสภา จำเลยที่ 12

กลุ่มคณะกรรมการสินเชื่อ คือ นายพงศธร ศิริโยธิน จำเลยที่ 5 นายนรินทร์ ดรุนัยธร จำเลยที่ 6 นางนงนุช เทียนไพฑูรย์ จำเลยที่ 7 นายโสมนัส ชุติมา จำเลยที่ 8 นายสุวิทย์ อุดมทรัพย์ จำเลยที่ 9 นายวันชัย ธนิตติราภรณ์จำเลยที่ 10 และนายบุญเลิศ ศรีเจริญ จำเลยที่ 11

กลุ่มคณะกรรมการบริหาร คือ ร้อยโทสุชาย เชาว์วิศิษฐ์จำเลยที่ 2 นายวิโรจน์ นวลแข จำเลยที่ 3 และนายมัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา จำเลยที่ 4

กลุ่มนิติบุคคลทั้งหมด คือ บริษัทอาร์เคฯ โดยนายบัญชา ยินดี และ นายสุบิน แสงสุวรรณเมฆา จำเลยที่ 18 บริษัทโกลเด้นฯ โดยนายสุบิน แสงสุวรรณเมฆา และนายบัญชา ยินดี จำเลยที่ 19 บริษัทกฤษดามหานครฯ โดยนางปรานอม แสงสุวรรณเมฆา และนายธเนศวร สิงคาลวณิช นายรัชฎากฤษดาธานนท์จำเลยที่ 20 บริษัทโบนัสบอร์น จำกัด โดยนายชุมพร เกิดไพบูลย์รัตน์ จำเลยที่ 21 บริษัทแกรนด์คอมพิวเตอร์ แอนด์คอมมูนิเคชั่น จำกัด โดยนายสุบิน แสงสุวรรณเมฆา จำเลยที่ 22

กลุ่มผู้แทนนิติบุคคลเป็นการส่วนตัวทั้งหมด คือ นายสุบิน แสงสุวรรณเมฆา จำเลยที่ 23 นายบัญชา ยินดี จำเลยที่ 24 นายวิชัย กฤษดาธานนท์จำเลยที่ 25 นายรัชฎากฤษดาธานนท์จำเลยที่ 26 นายไมตรี เหลืองนิมิตมาศ จำเลยที่ 27

กลุ่มนักการเมือง คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 1 หลบหนีคดี ศาลฎีกาฯ จึงให้ออกหมายจับ ติดตามตัว พ.ต.ท.ทักษิณ มาดำเนินคดี โดยให้จำหน่ายคดีเฉพาะส่วนของ พ.ต.ท.ทักษิณไว้เป็นการชั่วคราว


กำลังโหลดความคิดเห็น