xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 23-29 ส.ค.2558

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายทหาร 831 นาย “พล.อ.ธีรชัย” ผงาด ผบ.ทบ. ขณะที่ “พล.อ.ปรีชา” น้องบิ๊กตู่ นั่งปลัดกลาโหม!
 (ซ้าย) พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ได้เป็น ผบ.ทบ.คนที่ 39  (ขวา) พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ ข้ามห้วยไปนั่งปลัดกระทรวงกลาโหม
เมื่อวันที่ 28 ส.ค. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้นายทหารรับราชการ โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้นายทหารรับราชการสนองพระเดชพระคุณทั้งสิ้น 831 นาย ทั้งนี้ ตำแหน่งสำคัญๆ ส่วนใหญ่เป็นไปตามที่สื่อมวลชนคาดการณ์ ได้แก่ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา (ตท.15) ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก(ผช.ผบ.ทบ.) น้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่เคยเป็นแคนดิเดทผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) กับ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช (ตท.14) ผช.ผบ.ทบ. ข้ามห้วยไปนั่งปลัดกระทรวงกลาโหม ขณะที่ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช น้องรักของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขึ้นเป็น ผบ.ทบ.

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ก่อนหน้านี้ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผบ.ทบ. ได้เสนอชื่อ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. แต่ถูกเบียดตกในนาทีสุดท้าย เนื่องจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ด้านความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องการผลักดัน พล.อ.ธีรชัย จากสาย “บูรพาพยัคฆ์” ขึ้นเป็น ผบ.ทบ.คนที่ 39 โดยให้เหตุผลเพื่อต้องการให้มาคุมสถานการณ์บ้านเมืองในช่วงที่รัฐบาลและ คสช.เร่งปฏิรูปประเทศให้สำเร็จตามโรดแมป

นอกจากนี้ในส่วนของกองทัพบก พล.อ.วลิต โรจนภักดี รอง เสธ.ทหาร (ตท.15) ได้ข้ามห้วยมาเป็นรอง ผบ.ทบ. , พล.ท.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ (ผบ.นสศ.) และ พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ แม่ทัพภาคที่ 1 เป็นผู้ช่วย ผบ.ทบ.(ตท.16) , พล.อ.พิสิทธิ์ สิทธิสาร ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทบ. (ตท.17) เป็น เสธ.ทบ. , พล.อ.วีรัณ ฉันทศาสตร์โกศล เป็นประธาน ที่ปรึกษาพิเศษ ทบ. (ตท.14) , พล.ท.สุรเดช เฟื่องเจริญ , พล.ท.สสิน ทองภักดี , พล.ท.สุทัศน์ จารุมณี เป็นรอง เสธ.ทบ.

สำหรับกองทัพไทยเป็นไปตามคาด พล.อ.สมหมาย เกาฏีระ เสธ.ทหาร (ตท.15) ขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด(ผบ.สส.) ขณะที่กองทัพเรือ พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ(ผบ.ทร.) จำเป็นต้องเสนอ พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ (ตท.15) เสนาธิการทหารเรือ ขึ้นเป็น ผบ.ทร. ตามธรรมเนียมปฏิบัติของกองทัพเรือที่สืบทอดกันมานานว่า นายทหารเรือที่จะขึ้นเป็น ผบ.ทร. ต้องจบจากโรงเรียนนายเรือเท่านั้น

2.ศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก “สุชาย-วิโรจน์” 18 ปี คดีปล่อยกู้แบงก์กรุงไทย ด้าน “ทักษิณ” หลบหนี จำหน่ายคดีชั่วคราว!

(บนซ้าย) ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ์ (บนขวา) นายวิโรจน์ นวลแข (ล่าง) พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
เมื่อวันที่ 26 ส.ค. องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรวม 9 คน ได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี, ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ์ อดีตประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย, นายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย, กรรมการบริหาร, คณะกรรมการสินเชื่อ, เจ้าหน้าที่สินเชื่อของธนาคารกรุงไทย , กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทในเครือกฤษดามหานคร และ 3 บริษัทในเครือกฤษดามหานคร เป็นจำเลยที่ 1-27 ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502, ความผิดตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505, ความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และความผิดตาม พ.ร.บ.บริษัท มหาชน จำกัด พ.ศ. 2535

คดีนี้ โจทก์ฟ้องสรุปว่า ผู้บริหารธนาคารกรุงไทย ให้สินเชื่อกลุ่ม บมจ.กฤษดามหานคร ที่มีสถานะอยู่ในกลุ่มลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคาร ทั้งที่ ผอ.ฝ่ายกลั่นกรองสินเชื่อธุรกิจนครหลวง เคยจัดอันดับความเสี่ยงของกลุ่มกฤษดามหานครไว้ในอันดับ 5 คือไม่สามารถอนุมัติสินเชื่อให้ได้ แต่กลับมีการอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทในกลุ่มกฤษดามหานคร 3 กรณี คือ 1. อนุมัติสินเชื่อให้บริษัท อาร์เคโปรเฟสชั่นนัล จำกัด จำนวน 500 ล้านบาท 2. อนุมัติสินเชื่อให้บริษัทโกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด วงเงิน 9,900 ล้านบาท และ 3. อนุมัติขายหุ้นบุริมสิทธิแปลงสภาพของกฤษดามหานคร ให้กับบริษัท แกรนด์ คอมพิวเตอร์คอมมูนิเคชั่น จำกัด จำนวนกว่า 1,185 ล้านบาท ถือว่าผู้เกี่ยวข้องมีพฤติการณ์ร่วมกันหรือสนับสนุนการกระทำความผิด เป็นการกระทำโดยทุจริต เพื่อฟื้นฟูกิจการของ บมจ.กฤษดามหานคร และเพื่อประโยชน์ส่วนตนกับพวก

ด้านศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยที่ 2-5 และ 8-17 ร่วมกันอนุมัติสินเชื่อให้กับบริษัทอาร์เคฯ จำเลยที่ 18 และบริษัทโกลเด้นฯ จำเลยที่ 19 โดยฝ่าฝืนประกาศและคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทย และคำสั่งของธนาคารกรุงไทย ทั้งที่ย่อมรู้ดีอยู่แล้วว่า บริษัทจำเลยที่ 18-19 ที่เสนอขอสินเชื่อนั้น เป็นบริษัทในเครือของจำเลยที่ 20 ซึ่งเป็นหนี้สถาบันการเงินหลายแห่ง มีการปรับโครงสร้างหนี้หลายครั้ง จนถูกห้ามก่อหนี้เพิ่ม และถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่มีความสี่ยงสูง แต่จำเลยที่ 5-17 ยังคงเสนอให้อนุมัติสินเชื่อแก่จำเลยทั้งสอง โดยให้ความเห็นว่า อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงพอรับได้ และการกระทำดังกล่าวยังเป็นในลักษณะเร่งรีบเพื่อปล่อยกู้ให้ทัน เป็นการเปิดช่องให้จำเลยทั้งสองนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ การกระทำของจำเลยที่ 2-5 และ 8-17 จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ สร้างความเสียหายให้แก่ธนาคารกรุงไทยและประชาชนที่ฝากเงิน

ศาลพิเคราะห์ด้วยว่า กรณีที่ ร.ท.สุชาย, นายวิโรจน์ และนายมัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา กรรมการบอร์ดกรุงไทย จำเลยที่ 2-4 อนุมัติขายหุ้นบุริมสิทธิแปลงสภาพของกฤษดามหานคร จำเลยที่ 20 ให้แก่บริษัทแกรนด์คอมพิวเตอร์ฯ จำเลยที่ 22 นั้น การที่นายวิโรจน์ จำเลยที่ 3 ให้เครดิตการชำระเงินขายหุ้นให้นานถึง 4 เดือน และยังมีการมอบฉันทะให้จำเลยที่ 22 ออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมผู้ถือหุ้นของกฤษดามหานคร จำเลยที่ 20 แม้ว่าหุ้นจะไม่ใช่สินเชื่อ แต่ลักษณะของการดำเนินการดังกล่าว ก็เป็นการให้สินเชื่ออย่างหนึ่ง ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งเรื่องนโยบายสินเชื่อในการวิเคราะห์ความสี่ยง การกระทำของจำเลยที่ 2-4 ดังกล่าวทำให้ธนาคารกรุงไทยขายหุ้นไปโดยไม่ได้รับการชำระค่าหุ้น และการมอบฉันทะให้จำเลยที่ 22 เข้าประชุมผู้ถือหุ้นจนมีการลงคะแนนเสียงลดจำนวนหุ้นบุริมสิทธิ์ ทำให้มีมูลค่าเป็นศูนย์ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบเช่นกัน เพราะเป็นการให้สินเชื่อในกรณีพิเศษ

ส่วนกรณีที่จำเลย 2-5 และ 8-27 ร่วมกันกระทำผิดหรือสนับสนุนจำเลยที่ 1 นั้น ศาลระบุว่า ได้ความจากพยานซึ่งเป็นกรรมการพิจารณาสินเชื่อธนาคารกรุงไทยว่า ก่อนการประชุมอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทจำเลยที่ 18-19 นั้น จำเลยที่ 2 ได้โทรศัพท์มาหาพยานและบอกว่า "บิ๊กบอส" หรือ "ซุปเปอร์บอส" ได้ดูดีแล้ว ไม่ให้คัดค้านการอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทจำเลยที่ 18-19 ซึ่งในชั้นพิจารณากับชั้นไต่สวนของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.) พยานยังเบิกความไม่ชัดเจนว่า บิ๊กบอสหรือซุปเปอร์บอส คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จำเลยที่ 1 หรือภรรยาของจำเลยที่ 1 กันแน่ แม้จะมีการอ้างถึงเงินจากเครือบริษัทจำเลยโอนเข้าบัญชีบุตรของจำเลยที่ 1 (นายพานทองแท้ ชินวัตร) และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 แต่ก็พบว่ากลุ่มคนดังกล่าวก็เกี่ยวพันกับภรรยาของจำเลยที่ 1 เช่นกัน พยานจึงอาจเข้าใจตามความคิดของพยานเองว่า บิ๊กบอสหรือซุปเปอร์บอส คือจำเลยที่ 1 ดังนั้น ในชั้นนี้อาจยังฟังไม่ได้ว่าจำเลย 2-5 และ 8-27 ร่วมกับจำเลยที่ 1

ทั้งนี้ ศาลพิพากษาให้จำคุก ร.ท.สุชาย จำเลยที่ 2, นายวิโรจน์ จำเลยที่ 3, นายมัฌชิมา จำเลยที่ 4 และนายไพโรจน์ รัตนะโสภา จำเลยที่ 12 คนละ 18 ปี ในความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4 ซึ่งเป็นบทหนักสุด ส่วนจำเลยที่ 5, 8-11, 13-17 ซึ่งเป็นพนักงานของธนาคารกรุงไทยรวม 10 คน ให้จำคุกคนละ 12 ปี ในความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4

สำหรับนายวิชัย กฤษดาธานนท์ เจ้าของโครงการหมู่บ้านกฤษดามหานคร จำเลยที่ 25 และจำเลยที่ 18-27 ซึ่งเป็นนิติบุคคล และผู้บริหารบริษัทในเครือกฤษดามหานครนั้น มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4 ศาลพิพากษาปรับจำเลยที่ 18-22 ซึ่งเป็นนิติบุคคล รายละ 26,000 บาท และพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 23-27 คนละ 12 ปี และให้จำเลยที่ 20, 25 และ 26 ร่วมกันคืนเงินแก่ธนาคารกรุงไทย ผู้เสียหาย จำนวน 10,004,467,480 บาท

นอกจากนี้ให้นายวิโรจน์ จำเลยที่ 3, 22 และ 27 ร่วมรับผิดจำนวน 9,554,467,480 บาท และให้จำเลยที่ 12-17, 21, 23 และ 24 ร่วมรับผิด 8,818,732,100 บาท ส่วนจำเลยที่ 18 ร่วมรับผิด 450 ล้านบาท จำเลยที่ 2, 4, 5 และ 8-11และ 19 ร่วมรับผิด 8,368,732,100 บาท หากจำเลยที่ 18-22ไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 6-7

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังฟังคำพิพากษา ญาติของจำเลยต่างมีอาการโศกเศร้า บางรายถึงกับร้องไห้ออกมา ขณะที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้นำรถเรือนจำมารับจำเลยที่ถูกพิพากษาจำคุก 16 คน เพื่อไปควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

ทั้งนี้ ในส่วนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั้น เนื่องจากในการพิจารณาคดีครั้งแรกเมื่อเดือน ต.ค.2555 พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่เดินทางมาศาล เนื่องจากได้หลบหนีคดีทุจริตซื้อขายที่ดินย่านรัชดาฯ ไปตั้งแต่ปี 2551 ศาลฎีกาฯ จึงออกหมายจับ พ.ต.ท.ทักษิณ และจำหน่ายคดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้ให้เครือกฤษดามหานครเฉพาะในส่วนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ไว้เป็นการชั่วคราว ส่วนจำเลยที่เหลือ ดำเนินการต่อ กระทั่งนัดฟังคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา

3.ตำรวจ “ปิดเมืองค้นรังโจร” กว่า 3,000 จุด หามือระเบิดราชประสงค์ ด้านศาลออกหมายจับ “ชายเสื้อฟ้า” วางระเบิดสาทรแล้ว!

3 ใน 4 ผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับคดีโกงหุ้นชูวงษ์ น.ส.กัญฐณา ศิวาธนพล พริตตี้ท้องแก่ใกล้คลอด น.ส.อุรชา วชิรกุฑล โบรกเกอร์สาว และ พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ ขณะเข้ามอบตัวและรอประกันตัว
ความคืบหน้าเหตุระเบิดที่ศาลท้าวมหาพรหม แยกราชประสงค์ จนมีผู้เสียชีวิต 20 ราย และบาดเจ็บกว่า 120 คนเมื่อวันที่ 17 ส.ค. ซึ่งตำรวจได้ออกหมายจับชายเสื้อเหลืองตามภาพวงจรปิด หลังพบว่าเป็นบุคคลที่สะพายเป้มาทิ้งไว้ใต้เก้าอี้ภายในรั้วศาลพระพรหม ก่อนระเบิดในเวลาต่อมา แต่ยังไม่สามารถจับกุมคนร้ายได้ ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 23 ส.ค. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เปิดยุทธการ “ปิดเมืองค้นรังโจร” โดยปล่อยแถวตำรวจนครบาล 1,093 นาย ทหารอีก 100 นาย และเจ้าหน้าที่อีกหลายหน่วย ตรวจค้นสถานที่ต่างๆ ซึ่งเป็นที่พักอาศัยของชาวต่างชาติ ทั้งคอนโดมิเนียม หอพัก และเกสต์เฮาส์ รวม 3,550 หลัง โดยปฏิบัติการปิดเมืองค้นรังโจรดำเนินมาตั้งแต่วันที่ 21-23 ส.ค.

พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่า จากการตรวจค้นกว่า 3,000 จุด ยังไม่เพียงพอ เนื่องจากปัจจุบันมีที่พักประเภทนี้อยู่กว่า 1 หมื่นแห่งทั่วกรุงเทพฯ จึงต้องดำเนินการต่อ ขณะที่ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ปฏิบัติการ “ปิดเมืองค้นรังโจร” เพื่อตอบสนองนโยบาบรัฐบาลที่จะสร้างความมั่นใจและความเชื่อถือให้ประชาชนรู้สึกปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.สมยศ กล่าวว่า ปัญหาที่ประสบอยู่คือ เราไม่มีอุปกรณ์ที่มีศักยภาพในการตรวจสอบผู้ต้องสงสัย บางประเทศใช้ไบโอแมทริกซ์ ที่ตรวจสอบรูปหน้า ลายพิมพ์นิ้วมือ และแววตาได้ ซึ่งตนได้ทำเรื่องขออนุมัติจัดซื้อไว้ที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง(ตม.) ทั่วประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรีเห็นควรให้ดำเนินการแล้ว แต่ยังติดที่ระเบียบขั้นตอนของกฎหมาย พล.ต.อ.สมยศ เผยอีกว่า อีกปัญหาที่พบคือ กล้องวงจรปิดไม่สามารถใช้การได้เป็นจำนวนมาก รวมถึงไม่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด ทำให้การติดตามตัวคนร้ายยากขึ้น

ด้าน พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. ได้เปิดแถลงยืนยันว่า กล้องวงจรปิดของ กทม.บริเวณแยกราชประสงค์มีทั้งหมด 107 ตัว ใช้การไม่ได้แค่ 4 ตัว ไม่ใช่ใช้การไม่ได้จำนวนมากแต่อย่างใด และเมื่อทราบว่า 4 ตัวใช้การไม่ได้ ก็รีบเข้าแก้ไขทันที และว่า ภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ล้วนได้มาจากภาพวงจรปิดของ กทม.ทั้งสิ้น

ทั้งนี้ บีบีซีไทย รายงานว่า นักวิเคราะห์ต่างประเทศเชื่อว่า เหตุระเบิดที่แยกราชประสงค์อาจเป็นฝีมือของกลุ่มเกรย์ วูฟส์ ในตุรกี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงขวาสุดโต่ง เกี่ยวพันกับการก่อเหตุมาแล้วในหลายกรณี ตั้งแต่นากอร์โน-คาราบัค เชชเนีย ไซปรัส ซึ่งเป็นกลุ่มที่รวมตัวกันสนับสนุนอุยกูร์ในการประท้วงและเข้าโจมตีสถานทูตไทยในตุรกี หลังไทยส่งชาวอุยกูร์ให้จีน จึงอาจต้องการแก้แค้นให้ชาวอุยกูร์

ขณะที่รัฐบาลและตำรวจไทย ยังไม่สรุปว่า เหตุระเบิดทั้งที่แยกราชประสงค์และที่ท่าเรือสาทรเกี่ยวพันกับกรณีอุยกูร์หรือเป็นฝีมือของชาวอุยกูร์หรือไม่ อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 25 ส.ค. คนขับรถแท็กซี่ที่รับคนร้ายชายเสื้อเหลืองตามภาพวงจรปิดมือวางระเบิดแยกราชประสงค์ ได้เข้าให้ปากคำต่อตำรวจแล้ว โดยเล่าว่า รับชายเสื้อเหลืองจากถนนพระราม 4 เลยแยกศาลาแดง ไปส่งที่สถานีรถไฟหัวลำโพง โดยชายดังกล่าวพูดคำว่าหัวลำโพงไม่ชัด คล้ายฝรั่งพูดภาษาไทย แต่ยืนยันไม่ใช่คนไทยแน่นอน

สำหรับเหตุระเบิดที่ท่าเรือสาทรนั้น เมื่อวันที่ 27 ส.ค.ตำรวจได้ขอศาลอาญากรุงเทพใต้อนุมัติหมายจับชายเสื้อฟ้าตามภาพวงจรปิดที่บันทึกได้ว่า ชายดังกล่าวนำถุงพลาสติกไปวางบนสะพานท่าเรือสาทร ก่อนจะเตะถุงดังกล่าวลงน้ำเมื่อวันที่ 17 ส.ค. และเกิดระเบิดขึ้นในวันต่อมา ซึ่งศาลอนุมัติหมายจับแล้ว โดยตำรวจระบุรูปพรรณสัณฐานว่า เป็นชายชาวเอเชีย อายุประมาณ 25-30 ปี สูง 170 ซม.ผิวขาวเหลือง ผมดก จมูกโด่ง โดยออกหมายจับข้อหามีวัตถุระเบิดโดยไม่ได้รับอนุญาต กระทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายต่อบุคคลอื่น และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

ล่าสุด (29 ส.ค.) ตำรวจและทหารรวบผู้ต้องสงสัยได้ 1 ราย เป็นชาวตุรกี หลังเข้าตรวจสอบห้องพักเลขที่ 412 และ 414 ของพูลอนันต์อพาร์ตเม้นท์ ตั้งอยู่ปากซอยเชื่อมสัมพันธ์ 11 เขตหนองจอก กทม. พบอุปกรณ์และวัตถุที่ใช้สำหรับประกอบระเบิดจำนวนมาก โดยเฉพาะลูกปรายแบบกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5 ซม. ชนิดเดียวกับที่พบที่ราชประสงค์และท่าเรือสาทร โดยจะมีการตรวจสอบต่อไปว่า เกี่ยวโยงกับเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นหรือไม่

4.ศาลอนุมัติหมายจับ “บรรยิน” พร้อมพริตตี้-โบรกเกอร์-แม่ คดีโกงหุ้นชูวงษ์ ด้านผู้ต้องหารีบมอบตัว ก่อนได้ประกันตัวโดยมีเงื่อนไข!

(บนซ้าย) ผบ.ตร.ปล่อยแถวตำรวจ-ทหาร ปฏิบัติการ ปิดเมืองค้นรังโจร (บนขวา) ตำรวจรวบชายต้องสงสัยชาวตุรกีได้ที่ย่านหนองจอกพร้อมอุปกรณ์ประกอบระเบิดจำนวนมาก (ล่าง) ศาลออกหมายจับชายเสื้อฟ้าต้องสงสัยวางระเบิดท่าเรือสาทร
ความคืบหน้าคดีนายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง นักธุรกิจรับเหมาก่อสร้างหมื่นล้าน และประธานกลุ่มวิทยาการตลาดทุน กิจการเพื่อสังคม(วตท.) รุ่นที่ 20 เสียชีวิตขณะนั่งรถยนต์ที่มี พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อดีต ส.ส.นครสวรรค์ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (ซึ่งเคยสังกัดพรรคไทยรักไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคเพื่อไทย รวมทั้งเคยเข้าร่วมกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) เมื่อปี 2553) เป็นคนขับ เพื่อไปส่งนายชูวงษ์กลับบ้านพัก หลังตีกอล์ฟด้วยกันเมื่อคืนวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดย พ.ต.ท.บรรยิน อ้างว่า รถเสียหลักไปชนต้นไม้หลังมีรถขับตัดหน้า ซึ่งครอบครัวและญาตินายชูวงษ์ได้ร้องต่อ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้รื้อคดี เนื่องจากยังติดใจการเสียชีวิตของนายชูวงษ์หลายประเด็น รวมทั้งกรณีที่มีการพบว่า นายชูวงษ์โอนหุ้นให้ 2 สาว คือ น.ส.กัญฐนา ศิวาธนพล พริตตี้ กว่า 228 ล้านบาท และ น.ส.อุรชา วชิรกุลฑล เจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดบริษัทหลักทรัพย์ เออีซี จำกัด 40 ล้านบาท

โดยตำรวจกองปราบปราม ได้ตรวจพบพิรุธหลายประเด็นเกี่ยวกับโอนหุ้น เช่น มีการปลอมแปลงแก้ไขเอกสารการโอนหุ้น โดยเปลี่ยนวัตถุประสงค์ของนายชูวงษ์จากการ “จำนำหุ้น” เป็น “โอนหุ้น” และมีการใช้น้ำยาพิเศษในการลบตัวอักษร ซึ่งดูแล้วแนบเนียน หากมองด้วยตาเปล่าจะไม่สามารถรู้ได้ นอกจากนี้เทปเสียงที่มีการอ้างว่า เป็นเสียงนายชูวงษ์ยืนยันการโอนหุ้น เจ้าหน้าที่ก็ตรวจสอบพบว่าไม่ใช่เสียงนายชูวงษ์แต่อย่างใด ตำรวจกองปราบฯ จึงได้รวบรวมหลักฐานเพื่อดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องกับการโกงหุ้นนายชูวงษ์นั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 ส.ค. พล.ต.ต.อัคราเดช พิมลศรี ผู้บังคับการปราบปราม(ผบก.ป.) เผยว่า ได้ขอศาลอาญากรุงเทพใต้อนุมัติหมายจับผู้ต้องหาในคดีโอนหุ้นนายชูวงษ์แล้ว 4 คน ซึ่งศาลอนุมัติหมายจับแล้ว ประกอบด้วย 1.พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อายุ 52 ปี ในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์และร่วมกันปลอมแปลงและใช้เอกสารสิทธิปลอม ที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน หรือรับของโจร 2.น.ส.กัญฐณา ศิวาธนพล อายุ 26 ปี ข้อหาเดียวกับ พ.ต.ท.บรรยิน 3.น.ส.อุรชา วชิรกุลฑล อายุ 25 ปี ข้อหาร่วมกันลักทรัพย์และร่วมกันปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม ที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน และ 4.นางศรีธรา พรหมา อายุ 52 ปี มารดา น.ส.อุรชา ข้อหาร่วมกันลักทรัพย์หรือลักของโจร

หลังศาลออกหมายจับ ผู้ต้องหาทั้งสี่ได้ทยอยเข้ามอบตัวโดย พ.ต.ท.บรรยิน เข้ามอบตัวต่อตำรวจกองปราบฯ เป็นคนแรกเมื่อวันที่ 25 ส.ค. โดยปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา พร้อมยืนยันว่า การโอนหุ้นเป็นการดำเนินการของนายชูวงษ์ พ.ต.ท.บรรยิน ยังนำปากกาหลายด้ามมาโชว์สื่อ และเขียนลงบนกระดาษ พร้อมใช้ยางลบที่ปลายด้ามลบรอยที่เขียนออก โดยบอกว่า ปกตินายชูวงษ์มักจะใช้ปากกาลักษณะนี้ในการทำธุรกรรม

ด้านนางวันเพ็ญ ธนธรรมศิริ พร้อมด้วยนายกันต์ แซ่ตั้ง พี่สาวและลูกชายนายชูวงษ์ พร้อมด้วยนายเอนก คำชุ่ม ทนายความ ได้เดินทางมาที่กองปราบฯ ในวันเดียวกัน(25 ส.ค.) เพื่อคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหาทั้ง 4 คนที่ถูกออกหมายจับ พร้อมขอบคุณเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกคนที่ช่วยติดตามหาข้อเท็จจริง นางวันเพ็ญ ยังยืนยันด้วยว่า นายชูวงษ์ไม่ได้ใช้ปากกาชนิดที่ พ.ต.ท.บรรยินกล่าวอ้างแน่นอน และว่า คนใกล้ชิดนายชูวงษ์และพนักงานในบริษัทรู้ดีอยู่แล้วว่านายชูวงษ์ใช้ปากกาอะไรในการเซ็นเอกสาร สามารถนำเอกสารเก่าๆ มาเปรียบเทียบได้

ทั้งนี้ หลังเจ้าหน้าที่ทำประวัติแล้วเสร็จ ได้นำตัว พ.ต.ท.บรรยิน ไปขอศาลฝากขัง พร้อมคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี และไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ด้านนายความของ พ.ต.ท.บรรยิน ได้ยื่นหลักทรัพย์ขอประกันตัวเป็นเงินสด 5 ล้านบาท ซึ่งศาลพิจารณาแล้ว อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามผู้ต้องหาไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานในคดี และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล

วันต่อมา(26 ส.ค.) น.ส.อุรชา วชิรกุลฑล และนางศรีธรา พรหมา มารดา 2 ผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับในคดีนี้ ได้เข้ามอบตัวต่อตำรวจกองปราบ โดยปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา พร้อมยืนยันว่า ได้รับโอนหุ้นจากนายชูวงษ์โดยสุจริต ดำเนินการตามขั้นตอนโอนหุ้นอย่างถูกต้องทุกอย่าง ได้รับโอนหุ้นโดยเสน่หา เมื่อเจ้าหน้าที่ทำประวัติและสอบปากคำแล้วเสร็จ ได้นำตัวบุคคลทั้งสองไปขอศาลฝากขัง พร้อมคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี และคดีมีมูลค่าความเสียหายสูง อย่างไรก็ตาม ศาลพิจารณาแล้ว อนุญาตให้ผู้ต้องหาทั้งสองประกันตัว โดยตีราคาประกันคนละ 3 ล้านบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ

ส่วน น.ส.กัญฐณา ศิวาธนพล ผู้ต้องหาอีกราย ได้เข้ามอบตัวในวันต่อมา(27 ส.ค.) โดยมาในสภาพท้องแก่ใกล้คลอด พร้อมทนายความ ทั้งนี้ น.ส.กัญฐณา ยืนยันว่า ได้รับหุ้นจากนายชูวงษ์โดยสุจริต ไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเอกสารการโอนหุ้น พร้อมย้ำความสัมพันธ์กับนายชูวงษ์ว่ามีการคบหากันเหมือนที่เคยให้การไว้ก่อนหน้านี้ ด้านพนักงานสอบสวนได้นำตัว น.ส.กัญฐณา ไปขอศาลฝากขัง โดยไม่คัดค้านการประกันตัว เนื่องจากเห็นว่า น.ส.กัญฐณา ท้องแก่ใกล้คลอด ซึ่งศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว โดยตีราคาประกัน 5 ล้านบาท เท่ากับ พ.ต.ท.บรรยิน พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล โดยศาลนัดให้มารายงานตัววันที่ 8 ก.ย.นี้ตามขั้นตอน ขณะที่ทนายความของ น.ส.กัญฐณา บอกว่า หลังจากได้รับการประกันตัว น.ส.กัญฐณา จะเดินทางไปโรงพยาบาลทันที เพื่อเตรียมความพร้อมของร่างกาย เพราะใกล้จะถึงกำหนดคลอดแล้ว

สำหรับความคืบหน้ากรณีการเสียชีวิตของนายชูวงษ์นั้น เมื่อวันที่ 27 ส.ค. มีรายงานว่า ชุดคลี่คลายคดีการเสียชีวิตของนายชูวงษ์ อยู่ระหว่างโอนเอกสารหลักฐาน รวมทั้งพยานแวดล้อมจากพนักงานสอบสวน สน.อุดมสุข มาตรวจสอบอีกครั้งว่า กองพิสูจน์หลักฐานและแพทย์นิติเวชตรวจสอบสาเหตุการเสียชีวิตของนายชูวงษ์แล้วเป็นอย่างไร ซึ่งชุดทำงานกองปราบฯ ได้ลงไปตรวจสอบเหตุการณ์การเสียชีวิตของนายชูวงษ์ตั้งแต่แรกพบพิรุธอยู่ 3 ประเด็น ประกอบด้วย 1. คำให้การของ พ.ต.ท.บรรยิน ขัดกับข้อเท็จจริงเรื่องเวลาการเกิดเหตุ เพราะจุดเกิดเหตุน่าจะใช้เวลาเดินทางจากสนามกอล์ฟไม่เกิน 30 นาที ซึ่งหากนับเวลาตามคำให้การของ พ.ต.ท.บรรยิน ที่ทั้งคู่ออกจากสนามกอล์ฟจนถึงจุดเกิดเหตุใช้เวลาถึง 1.30 ชม. ทำให้เวลาหายไป 1 ชม. 2. รถที่ พ.ต.ท.บรรยิน ขับในคืนเกิดเหตุ กองพิสูจน์หลักฐานตรวจสอบพบว่า ก่อนหน้าจุดเกิดเหตุ 900 เมตร รถขับมาด้วยความเร็วสุดท้ายเพียง 38 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จึงไม่น่าจะเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิต ซึ่งขัดกับคำให้การที่ว่า ขับมาด้วยความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และ 3. ผลการตรวจสอบสภาพรถพบว่า เสียหายเพียงเล็กน้อย ขณะที่ผลตรวจสภาพศพนายชูวงษ์ของนิติเวชพบว่า บาดแผลและสาเหตุการเสียชีวิตอาจจะเกิดจากอุบัติเหตุรถยนต์หรือสาเหตุอื่นก็เป็นได้

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังมีข่าวว่ากองปราบฯ พบพิรุธดังกล่าว ปรากฏว่า พ.ต.ท.บรรยิน ได้เข้าพบ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อขอไม่ให้กองปราบฯ ทำคดีการเสียชีวิตของนายชูวงษ์ โดยอ้างว่า กองปราบฯ เป็นคู่กรณีของตน เพราะตำรวจกองปราบฯ ได้ร่วมกับทหารกองพันทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ เข้าตรวจค้นบ้านพักลูกสาวตนเมื่อวันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งตนอยากถามว่าเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขตหรือไม่ พ.ต.ท.บรรยิน ยังบอกด้วยว่า หากให้กองปราบฯ ทำคดีการเสียชีวิตของนายชูวงษ์ ตนต้องโดนข้อหาเป็นฆาตกรแน่นอน

5.ศาล พิพากษาจำคุก “ชวนนท์-เทพไท-ศิริโชค” 3 พิธีกร “สายล่อฟ้า” 1 ปี คดีหมิ่น “ยิ่งลักษณ์” ว.5 โฟร์ซีซั่นส์!

3 อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นายศิริโชค โสภา นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต และนายเทพไท เสนพงศ์ ผู้ดำเนินรายการ สายล่อฟ้า
เมื่อวันที่ 27 ส.ค. ศาลอาญาได้นัดอ่านคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 8 และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์และโจทก์ร่วมยื่นฟ้องนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคประชาธิปัตย์, นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ และนายศิริโชค โสภา อดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ผู้ดำเนินรายการ “สายล่อฟ้า” ทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมบลูสกาย เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา และดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136, 326, 328 และ 332

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 และ 15 ก.พ. 2555 จำเลยได้ร่วมกันจัดรายการ “สายล่อฟ้า” มีเนื้อหาหมิ่นประมาทใส่ความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้เสียหาย ทำนองว่าไม่เข้าร่วมภารกิจการประชุมของรัฐสภา และน่าจะเดินทางไปกระทำภารกิจ ว.5 ที่โรงแรมโฟรซีซั่นส์

ทั้งนี้ นายชวนนท์ นายเทพไท และนายศิริโชค ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาตามที่ศาลนัด โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 8 ก.พ.2555 ซึ่งเป็นวันที่มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร แต่โจทก์ร่วมไม่ได้เข้าร่วมประชุม และเดินทางไปปฎิบัติภารกิจที่โรงแรมโฟรซีซั่นส์ โดยไม่เปิดเผยข้อมูลให้สื่อมวลชนทราบ หลังจากนั้น จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันจัดรายการ "สายล่อฟ้า" มีการสนทนาถึงการเดินทางไปโรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ของโจทก์ร่วม โดยบอกให้ผู้ชมจินตนาการเองว่า โจทก์ร่วมเดินทางไปปฏิบัติภารกิจอะไร พร้อมทั้งโชว์ป้ายคำว่า “เอาอยู่” และรูปประตูห้อง เมื่อพิจารณาคำพูดของจำเลยทั้งสามและแผ่นป้ายที่โชว์ในรายการแล้ว จำเลยทั้งสามย่อมทราบดีว่า ถ้อยคำสื่อไปถึงเรื่องใด เพราะข้อความในป้ายดังกล่าวมีความหมายต่างจากการวิจารณ์การปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ร่วมในเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2554 เมื่อพูดกับชื่อโจทก์ร่วม ทำให้ประชาชนที่รับฟังเข้าใจว่า ตัวโจทก์ร่วมกระทำเรื่องที่เสื่อมเสียทั้งที่มีสามีและบุตรอยู่แล้ว เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหาย อับอาย เสื่อมเสียชื่อเสียงและเกียรติยศ ถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม แม้จำเลยทั้งสามจะนำสืบต่อสู้ว่า เป็นการวิจารณ์การทำงานของโจทก์ร่วมในฐานะผู้นำประเทศที่ต้องปฎิบัติหน้าที่ประชุมสภา แต่กลับเดินทางไปที่โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ แต่ศาลมองว่า การกระทำดังกล่าวไม่ใช่การตรวจสอบหรือติชมด้วยความเป็นธรรม แต่เป็นการใส่ความหมิ่นประมาทโจทก์ร่วม

ส่วนประเด็นดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่นั้น ศาลเห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วม ยังมีความสงสัยอยู่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยในประเด็นนี้ พิพากษาว่า จำเลยที่ 1-3 มีความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 ประกอบมาตรา 83 ให้จำคุกจำเลยทั้งสาม คนละ 1 ปี ปรับคนละ 5 หมื่นบาท แต่จำเลยทั้งสามไม่เคยต้องโทษมาก่อน จึงให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี และให้โฆษณาคำพิพากษาย่อในหนังสือพิมพ์รายวัน 5 ฉบับ เป็นเวลา 7 วันติดต่อกัน

หลังฟังคำพิพากษา นายศิริโชคให้สัมภาษณ์ว่า ศาลพิพากษาจำคุกข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา แต่ข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงานศาลยกฟ้อง เพราะศาลเห็นว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่มีพยานหลักฐานมายืนยันว่า วันที่ไปโรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ ไปปฏิบัติราชการจริงหรือไม่ ฉะนั้นน่าจะถือว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไปทำภารกิจส่วนตัว อย่างไรก็ตาม ต้องเคารพคำพิพากษาของศาล และเตรียมตัวยื่นอุทธรณ์กันต่อไปในประเด็นเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา เพราะมองว่ายังมีช่องทางที่จะให้ศาลยกฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทได้
กำลังโหลดความคิดเห็น