ASTVผู้จัดการ - ย้อนรอยเส้นทางชีวิต “วิโรจน์ นวลแข” จากนายแบงก์สู่วาณิชธนกิจเบอร์ 1 ของประเทศ ก่อนรับภาระใหญ่ขี่หลังเสือในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่กรุงไทย วิบากกรรมก่อตัวหลังทักษิณขึ้นนายกฯ และฉกฉวยโอกาสครอบงำกรุงไทยจนไปสู่คดีปล่อยกู้กฤษดามหานครเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง
วิโรจน์ นวลแข เข้ามาทำงานในธนาคารกรุงไทย เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2544 (รัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร) ตามสัญญาจ้างในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ 3 ปี
ในเวลานั้น วิโรจน์ ถูกตั้งความหวังไว้ค่อนข้างสูงว่า เขาจะสามารถพลิกฐานะของธนาคารกรุงไทยจากรัฐวิสาหกิจที่มีระบบการทำงานล้าหลังแบบราชการ ให้กลายเป็นธนาคารพาณิชย์ชั้นนำ มีความพร้อมรับการแข่งขันกับธนาคารต่างชาติ ซึ่งกำลังรุกหนัก เพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงสามารถสร้างบทบาทให้ธนาคารกรุงไทยเป็นธนาคารผู้นำ (Lead bank) ในระบบธนาคารไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นบทบาทที่รัฐบาลชุดนี้กำลังต้องการอย่างยิ่ง
“ในช่วงเวลาสั้น ๆ 3 ปี ผมคงจะต้อง ทำอะไรที่เป็นงานใหญ่ ๆ ของกรุงไทยเยอะ ต้องทำให้เห็น แม้ทำไปก็ถูกเสียงด่าไปก็ต้อง ทำ” วิโรจน์บอกกับ “ผู้จัดการ”
ระยะเวลา 3 ปี ที่คณะกรรมการธนาคารกรุงไทย เสนอให้กับวิโรจน์แม้จะสั้น แต่กลับตรงกับความต้องการของเขา เพราะงานที่ธนาคารแห่งนี้ เขาไม่ต้องการจะทำอะไรที่ต้องใช้เวลายาวนานในการพิสูจน์เหมือนกับที่เขาเคยได้พิสูจน์ตัวเองมาแล้ว ที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ ซึ่งเขาสามารถสร้างบริษัทการเงินแห่งนี้ให้เติบใหญ่ กลายเป็นวาณิชธนกิจชั้นนำที่ได้มาตรฐานทัดเทียมกับ Investment banking firm ใหญ่ ๆ หลายแห่งจากต่างประเทศ แต่ด้วยฝีมือการบริหารของผู้บริหารชาวไทย ในช่วงไม่กี่ปี ก่อนที่ประเทศไทยต้องประสบกับวิกฤต
• จุดเริ่มแบงก์กสิกร-ทำงานร่วมหม่อมอุ๋ย
วิโรจน์เริ่มงานครั้งแรกในฝ่ายต่างประเทศ ธนาคารกสิกรไทย ในปี 2515 หลังจากจบปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน
ที่ธนาคารกสิกรไทย เขาทำงานในช่วงสั้น ๆ มีหัวหน้าคนเดียว คือ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล “ผมโตในกสิกรไทยมากับคุณอุ๋ยตลอด”
ในช่วงที่วิโรจน์เพิ่งเข้าไปเริ่มงานนั้น กำลังอยู่ในช่วงข้อต่อที่ ทางการเริ่มเข้ามาจำกัดบทบาท โดยพยายามแยกธุรกรรมหลัก ๆ ที่จะกำหนดให้ธนาคารสามารถทำได้ เช่น การรับเงินฝาก ปล่อยสินเชื่อ และเปิดแอล/ซี
ขณะที่บางธุรกิจอย่างเช่น เช่าซื้อ และการซื้อลดเช็ค ถูกห้ามอย่างเด็ดขาด ข้อจำกัดดังกล่าว ทำให้เกิดช่องว่างในการทำธุรกิจการเงิน ส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทย จำเป็นต้องเพิ่มใบอนุญาตในการทำธุรกิจการเงินประเภทใหม่ คือ ธุรกิจเงินทุน เพื่อแยกการดำเนินกิจการ และการกำกับดูแลให้ชัดเจน
แต่ปรากฏว่าผู้ที่เข้ามาขอรับใบอนุญาตประเภทใหม่ ส่วนใหญ่ก็คือ กลุ่มผู้ที่ถือหุ้นใหญ่ อยู่ในธนาคารพาณิชย์อยู่แล้ว เพราะทุกรายต่างก็ต้องการแขนขาในการทำธุรกิจการเงินให้ครบวงจร
ตระกูลล่ำซำ ผู้ถือหุ้นใหญ่ในธนาคารกสิกรไทย ก็ไม่แตกต่างจากคนอื่นๆ ในปี 2512 ตระกูลล่ำซำได้ร่วมทุนกับแบงเกอร์ทรัสต์ ตั้งบริษัททิสโก้ขึ้นเพื่อขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ เงินทุนจากทางการ
ตระกูลล่ำซำ หวังว่า ด้วยเทคโนโลยีและโนว์ฮาวจากผู้ร่วมทุน ซึ่งเป็น Investment banking firm รายใหญ่จากสหรัฐฯ แห่งนี้ จะส่งผลให้แขนขาทางการเงินที่แตกแขนงออกมา ใหม่สามารถดำเนินการได้ประสบผลสำเร็จ
หลังร่วมทุนกับแบงเกอร์ ทรัสต์ ได้เพียง 3 ปี ตระกูลล่ำซำก็ต้องการมีแขนขาทางธุรกิจเงินทุนเพิ่มขึ้น แต่ใบอนุญาตที่จะขอใหม่ จะไม่มีการร่วมทุนกับต่างประเทศ เป็นการดำเนินการโดยธนาคารกสิกรไทย และคนในตระกูลล่ำซำเอง
• เข้าสู่เส้นทาง “วาณิชธนกิจ” - ภัทรธนกิจโบรกเกอร์ในตำนาน
ในปี 2515 ธนาคารกสิกรไทยและตระกูลล่ำซำ ก็ได้รับใบอนุญาตธุรกิจเงินทุนเพิ่มมา อีก 1 ใบ เพื่อเปิดเป็นบริษัทภัทรธนกิจ วิโรจน์ถูกมอบหมายให้เข้าร่วมกับทีมงานในบริษัทนี้ หลังจากนั้นเขาก็อยู่ที่นี่มาตลอด
ภัทรธนกิจที่เขาเข้าไปเป็นผู้บริหาร ค่อย ๆ เติบโตขึ้นมา พร้อม ๆ กับระบบสถาบันการเงินของไทยที่มีการพัฒนาขึ้นมาเป็นลำดับ
เมื่อเศรษฐกิจของไทยเริ่มเข้าสู่ระบบสากล ได้เกิดธุรกิจการเงินรูปแบบใหม่ ๆ ที่ซับซ้อนมากขึ้น ภัทรธนกิจสามารถปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้อย่างดี
พัฒนาการของธุรกิจเงินทุนในยุคเริ่มต้น ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจที่เรียกว่า Consumer finance เพื่อสอดตัวเข้าไปในช่องว่างที่ธนาคารพาณิชย์ทำไม่ได้ เช่นการให้สินเชื่อเช่าซื้อ และซื้อลดเช็ค การปล่อยสินเชื่อก็ให้กับโครงการเล็ก ๆ ที่มีสินทรัพย์ค้ำประกันมีมาตรฐานต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์
หลังจากมีการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทย ในปี 2518 ธุรกิจเงินทุนส่วน ใหญ่ จะได้รับใบอนุญาตทำธุรกิจหลักทรัพย์ พ่วงเข้ามาด้วย ทิศทางของธุรกิจก็เริ่มเปลี่ยน
“ตอนนั้นการทำ consumer finance มันเป็นเรื่องยุ่งยาก และการแข่งขันมีสูง ทุกคนก็เลยไปเล่นกับ Corporate finance เพราะ match กับอีก license หนึ่ง คือ license หลักทรัพย์ พอ match กัน ทุกคนก็โตมา ด้วย Corporate finance แล้วก็ลืม Consumer finance” วิโรจน์เล่า
Corporate finance ในความหมายของเขาคือการเป็น Investment banker มีบทบาทในการเข้าไปเป็นที่ปรึกษาทางการเงินอย่างครบวงจรให้กับโครงการธุรกิจขนาดใหญ่ เริ่มตั้งแต่การระดมทุน จัดหาแหล่งเงินทุน การร่วมปล่อยกู้ การนำหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์ ตลอดจนเป็น underwriter การทำ Corporate finance แม้จะเริ่มต้นอย่างกระท่อนกระแท่น ตามภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจ แต่หลังจาก พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ธุรกิจนี้ได้เฟื่องฟูอย่างสุดขีด โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษ 2530 - 40 ซึ่งเป็นช่วงบูมที่สุดของตลาดหุ้นไทย การทำ Corporate finance ได้รับความนิยมจากสถาบันการเงินอย่างมาก เพราะมีโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้นมากมาย และนักธุรกิจแต่ละคนไม่ห่วงเรื่องเงินทุน เพราะเชื่อว่าสามารถเข้าไประดมจากตลาดหุ้นได้โดยง่าย
รายได้จากการทำ Corporate finance ช่วงนั้นสูงมาก จนธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง ต้องขอเข้ามาร่วมแบ่งเค้กก้อนนี้ด้วย แม้จะมีความคล่องตัวน้อยกว่าธุรกิจเงินทุน
ผลการดำเนินงานของภัทรธนกิจที่แสดงออกมาในช่วงนี้ เปรียบเทียบกับทิสโก้ ซึ่งมีฐานผู้ร่วมทุนจากต่างชาติ กลับไม่ได้น้อย หน้าไปกว่ากัน ทั้ง ๆ ที่ภัทรธนกิจเป็นบริษัทที่บริหารงานโดยคนไทยล้วน ๆ
หลังจากประเทศไทยต้องเข้าสู่วิกฤต จากการลอยตัวของค่าเงินบาท ในปี 2540 โครงการขนาดใหญ่ต่างล้มหายตายจากลง สถาบันการเงินที่ยังคงเหลืออยู่ ทั้งบริษัทเงินทุน และธนาคารพาณิชย์ จำเป็นต้องเปลี่ยน ทิศทางการทำธุรกิจอีกครั้ง
เป้าหมายที่ทุกคนมองตรงกัน คือ หันกลับมาทำ Consumer finance ซึ่งเป็นธุรกิจการเงินหลักแต่ดั้งเดิมที่เคยทำมา แต่ทุกคนลืมไปหมดแล้วในยุคฟองสบู่
ธุรกิจนี้ในความเห็นของวิโรจน์แล้ว ภัทรธนกิจตกอยู่ในฐานะลำบาก เพราะเสียเปรียบธนาคารพาณิชย์ทุกด้าน ในปี 2542 เขาจึงตัดสินใจคืนใบอนุญาตธุรกิจเงินทุนให้ กับแบงก์ชาติ
“เราเป็นเจ้าเดียวที่ขอปิด เพราะเราเห็นว่า run ต่อไป ก็สู้เขาไม่ได้ ตอนนั้นเราเหนือกว่าโรงรับจำนำนิดหน่อย แล้วเราอยู่ใต้ธนาคารพาณิชย์ และเรา run ด้วย cost ที่แพงกว่า ที่ผ่านมาเรา run บน Corporate finance พอ Corporate finance มันตายหมด เราเลิกดีกว่า ขืนทำต่อไปตายแน่”
• ภารกิจท้าทายขี่หลังเสือแบงก์กรุงไทย
ช่วงเวลาหลังคืนใบอนุญาตธุรกิจเงิน ทุนให้กับแบงก์ชาติ วิโรจน์เหลือตำแหน่ง เพียงประธานกิตติมศักดิ์ บริษัทหลักทรัพย์เมอร์ริล ลินช์ ภัทร แต่บทบาทของเขากลับมา เด่นมากในฐานะนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวง การคลังจนกระทั่งมารับตำแหน่งในธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นธนาคารที่มีหลายสิ่งหลายอย่างกำลังรอท้าทายเขาอยู่
ธนาคารกรุงไทย เป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐ ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากธนาคารกรุงเทพ
เขาเข้ามารับตำแหน่งในธนาคารกรุงไทย ในช่วงที่ระบบธนาคารพาณิชย์ของไทย อยู่ ระหว่างการคลำหาทิศทางธุรกิจให้กับตนเอง หลังจากต้องเป๋ไประยะใหญ่ เมื่อเผชิญกับภาวะวิกฤติจนถึงขั้นเกือบล่มสลาย
ธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง ยังเข็ดขยาดกับการปล่อยสินเชื่อ เพราะกลัวจะกลายเป็น หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ โดยต้องยอมรับภาระจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากไปก่อน หวังเพียงว่า อีกไม่นาน เศรษฐกิจโดยรวมอาจจะดีขึ้น
การลงเล่นตลาดล่าง หรือการเบนเข็มมาสู่ Consumer finance ดูเหมือนจะเป็นทิศทางเดียวที่มองเห็นชัดที่สุดในขณะนี้ แต่ทิศทางนี้ก็ต้องเจอกับคู่แข่งสำคัญ คือ ธนาคารพาณิชย์ต่างชาติ และธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (non-banking) ที่มาจากต่างชาติเช่นกัน ซึ่งอาศัยช่องว่างในช่วงที่เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับวิกฤติ สอดแทรกตัวเองเข้ามามีบทบาทในตลาด
ทั้งธนาคารต่างชาติ และบริษัทที่เป็น non-banking มีความได้เปรียบธนาคารพาณิชย์ ของไทยทั้งทางด้านเทคโนโลยี และฐานเงินทุน และกำลังรุกอยู่ในตลาด Consumer finance อยู่แล้วอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน ในฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ รัฐบาลก็ต้องการให้ธนาคารกรุงไทยเป็นกลไกสำคัญ สามารถเล่นบทบาทผู้นำในการนำแนวคิดเชิงนโยบายลงไปสู่ภาคปฏิบัติจริง
ภายใต้ข้อจำกัด 3 ปี ของอายุงานของวิโรจน์ การสร้างให้ธนาคารกรุงไทยกลับมายิ่งใหญ่ เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่หลายคนต้องการ เป็นสิ่งที่ท้าทายยิ่ง
ด้วยข้อจำกัดดังกล่าว เขาจำเป็นต้องจัดการกับปัญหาในธนาคารกรุงไทยให้เสร็จไปทีละอย่าง
ทันทีที่เขาเข้ารับตำแหน่งในเดือนกรกฎาคม เขาได้ประกาศอย่างชัดเจนว่าธนาคารกรุงไทย จะเป็นผู้นำในการขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากให้กับผู้ฝากเงินในช่วงปลายปี
หลังจากนั้นไม่นาน เขาออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินชิ้นใหม่ เป็นโครงการให้สินเชื่อ ซื้อบ้านอัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 4% ทั้ง 2 เรื่องที่เขาประกาศออกมา ได้สร้างความตื่นตัวให้เกิดขึ้นในระบบธนาคารพาณิชย์ ที่นิ่งเงียบมานาน ต้องเริ่มขยับตัว ธนาคารหลายแห่ง ต้องกลับมานั่งทบทวนการวิเคราะห์แนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยใน อนาคตกันใหม่อีกครั้ง
ธนาคารบางแห่ง เช่น ธนาคารกสิกรไทย กระโดดลงมาร่วมเล่นกับโครงการสินเชื่อบ้านอัตราดอกเบี้ยต่ำด้วย โดยออกโครงการที่คล้ายคลึงกัน แต่ให้อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าเพียง 3.75%
สิ่งที่วิโรจน์ทำเปรียบเสมือนการยิงกระสุนนัดเดียวได้นกถึง 2 ตัว เพราะในทางหนึ่ง เขาสามารถเล่นบท Lead bank ได้ตามความต้องการของรัฐบาล ขณะเดียวกัน สิ่งที่เขาทำ ก็คือ ความพยายามในการปล่อยสินเชื่อเข้าไปในระบบ ตลอดจนการลดช่วงห่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ และทำให้ทิศทางของดอกเบี้ยเงินฝากเริ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่รัฐบาลนี้ค่อนข้างปวดหัวอย่างมากในช่วงรับตำแหน่งใหม่ ๆ
“ธนาคารกรุงไทยไม่เคยเป็น Lead bank มาตลอด แต่จะเป็นลักษณะ Trouble shooter bank มากกว่า พอที่ไหนมีปัญหา ที่นี่ก็จะเข้าไปทำให้จนปัญหาเหล่านั้นจบ แม้ในช่วงนี้ เราจะยังไม่ได้เป็น Lead bank เต็มตัวนัก แต่เราก็สามารถสร้างความฮือฮาได้หลายเรื่อง” เขาบอก
ด้านการบริหารงาน เขาก็พยายามแก้ จุดอ่อนให้กับธนาคารกรุงไทย เขายืนยันว่า สิ่งที่จะไม่เกิดขึ้นในช่วงการรับตำแหน่งของเขา คือ การปิดสาขาที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และการลดพนักงาน เพราะความที่ธนาคารกรุงไทยเป็นของรัฐ จึงจำเป็นที่จะต้องมีสาขาอยู่ ในพื้นที่ที่ธนาคารพาณิชย์อื่น ๆ ไม่มี
“เราเคยถูกขอร้องให้ไปอยู่ในหลาย ๆ แห่งที่บริการของธนาคารไม่มี และมันก็เป็นผลที่ให้เราต้องไปอยู่ ซึ่งพวกนั้นเราปิดไม่ได้เลย ถ้าปิดเขาก็ขาดระบบธนาคาร เราจะทำ ได้อย่างเดียว คือ รวมสาขาที่อยู่ในเมืองที่มี สาขามากเกินไป”
ส่วนเรื่องพนักงาน เขามีเหตุผลที่จะไม่มีการปลดว่า “ค่าใช้จ่ายของพนักงานเป็น แค่ 20% ของรายจ่ายในการ operation ทั้ง หมด เพราะฉะนั้นแม้เราจะลดคนไปครึ่งหนึ่ง เราก็ลด cost ไปได้แค่ 10% ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทางด้านสังคม และปัญหากับการจัดการ เราจะไม่แตะ แต่เราจะไปลดพวกค่า โสหุ้ยของเราตามที่ต่าง ๆ ให้มันลดลง”
สิ่งที่เขากำลังทำในขณะนั้น คือ การจัดการกับสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ให้ เป็นรายได้ โดยพยายามขายอาคารสำนักงาน ใหญ่ที่มีอยู่ถึง 12 แห่งออกไปให้หมด
“office และเครื่องใช้ ที่เราใช้อยู่แล้ว ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เราก็จะขายทิ้งให้หมด แม้แต่สำนักงานใหญ่ที่เรามีอยู่ 12 แห่ง ซึ่งมันมากไปสำหรับการติดต่อค้าขาย เราก็พยายามที่จะเอาออกไป”
การจัดการกับทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ถือเป็นขั้นตอนสำคัญ เพราะก่อนหน้าเขาเข้ามา รัฐบาลได้แก้ปัญหาให้กับธนาคาร แห่งนี้ไประดับหนึ่งแล้ว โดยโอนหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้กว่า 3 แสนล้านบาท ออกไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท ทำให้ธนาคารกรุงไทยในช่วงที่วิโรจน์เข้ามาบริหาร มีสภาพเป็น Clean bank เกือบเต็มตัว
สิ่งที่เขากำลังจะทำต่อไป คือ การจัดการภายใน โดยเขาวางแผนไว้ว่าจะปรับระบบคอมพิวเตอร์ และปรับเปลี่ยนขั้นตอนการทำงานในธนาคารแห่งนี้ใหม่ ให้มีสภาพใกล้เคียงกับธนาคารเอกชน ซึ่งจะเริ่มต้นทำในปีหน้า
แต่สิ่งสำคัญที่เขาต้องการให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุดในช่วงนี้ คือ การสร้างบทบาทใหม่ให้ธนาคารกรุงไทยเป็นธนาคารชุมชน โดยการลงไปปล่อยสินเชื่อในระดับ Micro finance
“เราจะไม่ทำ Retail finance เราจะลงมาที่ Micro finance ที่เราเรียกว่าธนาคารชุมชน อันนี้ก็เป็นโจทย์สำคัญอีกอัน ที่จะเรียกได้ว่าเราจะ lead ลงไปให้ถึงระดับรากหญ้า”
โครงการนี้ เดิมเคยมีการศึกษาไว้ตั้งแต่ มีชัย วีระไวทยะ เป็นประธานกรรมการ เมื่อ 3 ปีก่อน แต่ถูกพักไว้ในช่วงหลัง
ธนาคารชุมชน คือ การลงไปให้สินเชื่อในระดับกลุ่มบุคคลที่ประกอบอาชีพเป็นผู้ผลิตสินค้าทั้งภาคการเกษตร และอุตสาหกรรม ซึ่งในเวลานั้นประเทศไทย มีกลุ่มลักษณะนี้ประมาณ 30,000 กลุ่ม
ในแง่ของกลุ่มเป้าหมาย โครงการธนาคารชุมชนจะมีระดับสูงกว่าโครงการธนาคารประชาชนของธนาคารออมสิน และโครงการสินเชื่อเพื่อพ่อค้าแม่ค้าของธนาคารทหารไทย ที่ได้เปิดตัวออกมาก่อนหน้านี้
“ธนาคารประชาชนอาจจะเป็นอะไรที่ย่อยกว่าในการดำรงชีวิต แต่นี่เราพูดถึงการผลิต จริง ๆ ที่เป็นรากเหง้าของประเทศ และพวกนี้จะพัฒนาไปสู่ SMEs ต่อไป เมื่อมันแข็งแรงขึ้น แล้ว ผู้ผลิตจริง ๆ ที่เราพูดถึง คือ สินค้าที่ในระยะต้นผลิตแล้วสามารถนำไปขายในตลาดอื่นได้ ไม่ใช่ว่าจะต้องอยู่ในตลาดของตัวเอง เพราะฉะนั้นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในตลาดของตัวเอง เช่น ร้าน อาหาร จะไม่ใช่เป้าหมาย แต่จะต้องเป็นผลิตภัณฑ์แบบกลุ่มเกษตรกรโคนม โคเนื้อ หรือกลุ่มเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ หรือผลผลิตทางหัตถกรรม หรือผ้าไหม หรืออาหารแห้ง อาหารสดที่มันสามารถจะส่งออกไปได้”
วิโรจน์ เห็นว่า โครงการธนาคารชุมชน มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับสภาพเศรษฐกิจของไทย ที่กลับมาสู่สภาพการเป็นประเทศยากจนอีกครั้ง
ที่สำคัญ เป็นโครงการที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและหากทำสำเร็จ จะเป็นจุดขายที่สำคัญของธนาคารกรุงไทยในอนาคต
“ตลาดนี้ ธนาคารต่างประเทศคงไม่สามารถลงมาเล่น และเขาไม่มีโนว์ฮาวที่จะลงด้วย เพราะคนที่จะลง จะต้องพูดภาษาพื้นบ้านได้ และสามารถอยู่กับชาวบ้านได้ จะได้รู้ว่าชาวบ้าน เขาต้องการอย่างไร”
เขาสามารถผลักดันให้บอร์ดธนาคารกรุงไทยเห็นชอบการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ ที่เรียกว่า หน่วยงานธนาคารชุมชนได้สำเร็จแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนลงไปศึกษาถึงรายละเอียด ของโครงการแต่ละโครงการ และคาดว่าจะเริ่มต้นให้สินเชื่อได้ในช่วงต้นปีหน้า
ภารกิจนี้ เขามั่นใจว่า เขาสามารถทำให้เกิดผลสำเร็จได้ภายในระยะเวลา 3 ปีที่ดำรงตำแหน่ง
• กรุงไทยในเงื้อมมือทักษิณ - วิบากกรรมวิโรจน์
เส้นทางชีวิตการทำงานของ วิโรจน์ นวลแข ตั้งแต่ต้นจนเกษียณอายุในปัจจุบัน กล่าวได้ว่ารับการยอมรับจากแวดวงธุรกิจธนาคารและหลักทรัพย์เป็นอย่างสูงในฐานะนักบริหารมืออาชีพ และความเป็นผู้นำที่กล้าตัดสินใจ เผชิญกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจมาอย่างโชกโชน
การเข้ารับตำแหน่งในธนาคารกรุงไทย ธนาคารที่ได้ชื่อว่ามีการเมืองเข้ามาครอบงำมาตลอดถือเป็นภารกิจท้าย ๆ ที่ท้าทายความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่สั่งสมมาทั้งชีวิตก่อนที่จะล้างมือในอ่างทองคำ
ทว่า เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีและบริหารประเทศ เค้าลางวิบากกรรมของวิโรจน์จึงก่อตัวขึ้นอย่างเงียบ ๆ ซึ่งเวลานั้นต่างทราบกันดีว่าทักษิณและพวกพ้องครอบงำทุกอย่างในระบบเศรษฐกิจรวมไปถึงกรุงไทย จนมาถึงการปล่อยกู้ให้กฤษดามหานคร
การไต่สวนคดีนี้ใช้เวลานานกว่า 3 ปี วันนี้ (26 ส.ค.) พ.ต.ท.ทักษิณ จำเลยที่ 1 หนีคดีไปนานแล้ว ขณะที่ วิโรจน์ ในวัย 68 ปีถูกตัดสินคดีให้จำคุก 18 ปี ร่วมกับจำเลยคนอื่น ๆ
ย้อนไปดูคดีนี้ จุดเริ่มมาจาก บริษัท กฤษดามหานคร ที่ผู้บริหารมีสัมพันธ์อันดีกับทักษิณ มาขอกู้เงินจากธนาคารกรุงไทย และได้รับการอนุมัติ 9,900 ล้านบาท เมื่อปี 2546 ทั้ง ๆ ที่ฝ่ายกลั่นกรองสินเชื่อธุรกิจ จัดอันดับความเสี่ยงสูงสุด คือ ไม่สามารถอนุมัติเงินกู้ได้
คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส. ซึ่งเคยตรวจสอบเรื่องนี้ระบุว่า พบว่า การปล่อยกู้ครั้งนั้นซับซ้อน และไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ที่แจ้งไว้ โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างหนี้ แต่กลับนำไปขยายการลงทุน และเพิ่มราคาหุ้น ทั้งที่ บริษัทกำลังประสบปัญหาสภาพคล่อง
คตส. ระบุว่า ในการปล่อยกู้นี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สมัยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจหน้าที่และความสัมพันธ์ส่วนตัวกับบริษัท กฤษดามหานคร กดดันให้คณะกรรมการบริหารของธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของกระทรวงการคลังปล่อยกู้ จนเกิดความเสียหายไม่ต่ำกว่า 5,200 ล้านบาท
นอกจากนักธุรกิจในเครือบริษัทกฤษดามหานครที่ได้รับประโยชน์ นายพานทองแท้ ชินวัตร ก็ได้รับเงินจากการปล่อยกู้ที่ผิดปกติครั้งนี้ด้วย โดยนายพานทองแท้ได้รับเช็คจากลูกชายของผู้บริหารกฤษดามหานคร เพื่อร่วมทำธุรกิจอื่น ทั้งนี้ นายพานทองแท้ เคยปฏิเสธ และระบุโอนเงินกลับคืนให้แล้ว
พลันนี้ ระหว่าง ทักษิณ - วิโรจน์ มีเครื่องหมายคำถามถึงความสัมพันธ์ แต่ใครที่รู้จักมักคุ้นกับวิโรจน์ นวลแข จะทราบดีว่า ระหว่างเขากับทักษิณ นั้นไม่มีเยื่อใยไมตรีแก่กันทางใคร ทางมัน มานานแล้ว
(ข้อมูลเรียบเรียงจาก ผู้จัดการรายเดือน)