xs
xsm
sm
md
lg

นักเขียนไทยยุคดิจิตอล ยังคงไส้แห้งจริงหรือ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:

“ระบบนักเขียนในเมืองไทยส่วนใหญ่ยังคงผูกกับสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ในระบบนายทุน หากไม่ใช่นักเขียนชื่อดัง มีนักเขียนน้อยคนที่จะสามารถอยู่ได้อย่างโดดเดี่ยวโดยไม่มีสังกัด อาจไม่ต่างไปจากศิลปินนักร้อง หากอยู่กับค่ายใหญ่ๆ ก็จะมีความมั่นคงมากกว่าอยู่ค่ายเล็ก”

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่เราเห็นคุณค่ากับบางสิ่งน้อยเกินไป นักเขียนไทยกับนักเขียนต่างประเทศจึงมีรายได้ต่างกัน ราวพนักงานระดับผู้บริหารกับเสมียนโรงงาน... ในเมืองที่บนชั้นหนังสือขายดีตามร้าน ล้วนเต็มไปด้วยหนังสือแปลประเภทที่สอนให้คนไปสู่ความสำเร็จและความรวยด้วยทางลัด ช่องว่างบนชั้นหนังสือขายดีดูจะมีน้อยเกินไปสำหรับนักเขียนไทยทุกคน

ในประเทศที่มีประชากรเกิน 60 ล้านแต่ยอดพิมพ์หนังสือกลับลดน้อยลงสวนทางกัน นิตยสารฉบับหนึ่งเล่าถึงวงการหนังสือ ยุคของอาจินต์ ปัญจพรรค์ นักเขียนและบรรณาธิการระดับตำนาน พิมพ์หนังสือโอเลี้ยงห้าแก้ว ของรงค์ วงษ์สวรรค์ ด้วยยอดพิมพ์กว่า 10,000 เล่ม และขายหมดใน 7 วัน! จนต้องพิมพ์เพิ่ม นั่นเมื่อกว่า 30 ปีก่อน ในยุคที่ประชากรมีน้อยกว่ายุคนี้เกือบครึ่ง ยอดพิมพ์จึงไม่ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากร แต่ผันเปลี่ยนไปตามรสนิยมและนิสัยของผู้คน อาจเป็นเพราะบ้านเมืองเราไม่ใช่สังคมแห่งการอ่าน การเป็นนักเขียนเพียงอย่างเดียวในยุคนี้ โดยไม่ประกอบอาชีพอื่น จึงเป็นสิ่งที่หลายคนสงสัยในความอยู่รอด หากไม่นับถึงนักเขียนใหญ่ และนักเขียนระดับ best seller ที่มีจำนวนนับนิ้วมือได้ในประเทศนี้ ที่เหลือนั้นเป็นเช่นไร และอยู่อย่างไร?

นักเขียนไทยส่วนใหญ่ยังคงไส้แห้ง!
หากเปรียบกับอาชีพอื่น นักเขียนไทยยังถือว่าเป็นอาชีพที่มีรายได้น้อย ทั้งที่ต้องใช้ความสามารถในการสร้างสรรค์เป็นอย่างมาก ระบบนักเขียนในเมืองไทยส่วนใหญ่ยังคงผูกกับสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ในระบบนายทุน หากไม่ใช่นักเขียนชื่อดัง มีนักเขียนน้อยคนที่จะสามารถอยู่ได้อย่างโดดเดี่ยวโดยไม่มีสังกัด อาจไม่ต่างไปจากศิลปินนักร้อง หากอยู่กับค่ายใหญ่ๆ ก็จะมีความมั่นคงมากกว่าอยู่ค่ายเล็กๆ นักเขียนอาชีพที่ไม่ได้ทำอาชีพอื่นเลยนอกจากเขียนหนังสือ จึงอยู่บนความเสี่ยง เพราะใช่ว่าทุกเล่มที่ออกมานั้นจะขายได้เสมอไป นักเขียนจึงจำเป็นต้องออกหนังสือให้เยอะขึ้น มากปกขึ้น หากหวังจะอยู่รอด

นักเขียนชื่อดังผู้ยืนหยัดบนถนนสายนี้มากว่า 40 ปี นาม "อีแร้ง" เคยพูดไว้ว่า คำว่า “นักเขียนไส้แห้ง” ยังคงเป็นความจริงที่เกิดขึ้นกับนักเขียนส่วนใหญ่ในประเทศไทย ชีวิตนักเขียนบางคนจำเป็นต้องง้อนักอ่านรุ่นลูก เพื่อให้งานขายได้ ประเทศนี้ไม่เคยให้เกียรตินักเขียน ซ้ำบางครั้งก็แทบไม่เหลือศักดิ์ศรีของความเป็นนักเขียนอยู่เลย เปรียบเหมือนว่า นักเขียนไม่เคยมีคุณค่าอะไรเลยต่อประเทศนี้ ดังนั้น เมื่อ 30 ปีก่อน รงค์ วงษ์สวรรค์ บอกว่า “นักเขียนก็เหมือนหมาล่าเนื้อ พอหมดเขี้ยวเล็บเขาก็ทิ้งเรา” ยังคงเป็นเรื่องจริง

“นักเขียนที่อยู่ได้นั้นจะต้องมีผลงานระดับมาสเตอร์พีซ อยู่สักเล่มหนึ่ง ส่วนงานเขียนอื่นๆ จะเป็นตัวสนับสนุน ปัจจุบันนักเขียนจึงต้องออกหนังสือให้มากขึ้นกว่าเดิม ทั้งนี้ นักเขียนคนนั้นจะต้องมีระบบจัดการที่ดีด้วย สำหรับคำพูดที่ว่า “นักเขียนไส้แห้ง” นั้นยังคงมีอยู่ สำหรับนักเขียนไทยหากยึดอาชีพนักเขียนเพียงอย่างเดียวคงอยู่ได้ลำบาก ซึ่งต่างจากต่างประเทศที่หากมีงานหนังสือออกมาแล้วได้รับความนิยมสักหนึ่งเล่ม ก็จะสามารถมีเงินใช้ชีวิตสร้างสรรค์งานต่อไปได้เป็นปี หากก็ขึ้นอยู่กับตัวนักเขียนด้วยเช่นกันว่ามีความสามารถแค่ไหน และแนวทางที่เขียนนั้นเป็นแนวอะไร เพราะอย่าลืมว่ามีนักเขียนหลายคนที่ออกหนังสือมาหลายสิบเล่มทั้งที่อายุยังน้อย และขายได้ทุกเล่ม เพราะมีแนวทางที่สอดคล้องกับรสนิยมของนักอ่านยุคใหม่นั่นเอง ดังนั้น ตลาดหนังสือยังคงมีสำหรับนักเขียน อยู่ที่ว่านักเขียนจะจัดการกับชีวิตของตัวเองอย่างไรมากกว่า ดังนั้น นักเขียนที่อยู่รอดต้องเก่ง และขยัน ดังเช่นนักเขียนชื่อดังบางคนที่มีผลงานออกมาทุกปี ปีละหลายเล่ม ผลงานเหล่านั้นจะหมุนวนหล่อเลี้ยงนักเขียนผู้นั้นเอง” เจน สงสมพันธ์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย กล่าวให้ข้อมูล

อย่างไรก็ตาม ชั้นหนังสือตามร้านก็เปรียบเสมือนสนามแข่งขัน หลายครั้งมีหนังสือหมายตาไว้ เพียงกลับมาอีกครั้งในสัปดาห์ถัดไป ก็กลับมีเล่มใหม่มาแทนที่ บนชั้นหนังสือจึงมีที่ว่างจำกัด นักเขียนมีเวลาพิสูจน์ตัวเองเพียง 1 สัปดาห์ หากยอดขายไม่เป็นที่น่าพอใจ ร้านหนังสือจะเชิญหนังสือเล่มนั้นออกไปอยู่หลังร้าน ชั้นวางหน้าร้านจึงมีที่ว่างจำกัดไว้สำหรับนักเขียนที่ขายได้เท่านั้น และคำว่า “ขายได้” กับ “ดี” บางทีก็ต่างกันมาก

จากข้อมูล (se-ed book) พบว่า ตลาดหนังสือของไทยมีหนังสือปกใหม่ๆ วางแผงเฉลี่ยวันละประมาณ 40 ปก เดือนหนึ่งมีหนังสือใหม่วางแผงราว 1,200 ปก และหนึ่งปีมีหนังสือออกมาเฉลี่ยราว 14,400 ปก (ทั้งหมดนี้รวมถึงหนังสือแปลต่างประเทศ) ในจำนวนนี้มีนักเขียนหน้าเก่าออกงานซ้ำในหนึ่งปีราว 400 คน เช่นเดียวกันกับสำนักพิมพ์เมื่อมองถึงสัดส่วนของสำนักพิมพ์และนักเขียนที่ประสบความสำเร็จแล้ว พบว่ามีเพียง 20 % เท่านั้น ที่จะได้รับการยอมรับจากตลาดนักอ่านนั่นหมายความว่าหากมีสำนักพิมพ์และนักเขียน 100 แห่ง/คน จะอยู่รอดต่อมาได้ไม่ถึง 20 แห่ง/คน เท่านั้น จากข้อมูลยังพบอีกว่ามีนักเขียนหน้าใหม่เกิดขึ้นถึงปีละเกือบ 10,000 คน แต่ในจำนวนนี้อาจจะเหลือเพียง 100 คน ที่ออกผลงานอย่างต่อเนื่องเมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี ซึ่งนับเป็นเปอร์เซ็นต์ที่ต่ำมาก และที่หลงเหลืออยู่ได้ คือนักเขียนตัวจริงที่ไม่ไส้แห้ง!
 
นักเขียนต้องปรับตัวตามยุคสมัย
หากมองย้อนกลับไป พบว่าตลาดหนังสือเมื่อก่อน มียอดพิมพ์เฉลี่ยที่มากกว่าปัจจุบัน คือมีค่าเฉลี่ยในการพิมพ์แต่ละครั้งอยู่ที่ 5,000-7,000 เล่ม และส่วนมากสามารถขายได้หมด ส่วนปัจจุบันหากตัดหนังสือขายดีไม่กี่ปกในแต่ละปีที่สร้างยอดพิมพ์ซ้ำถล่มทลายออกไป พบว่ามียอดพิมพ์เฉลี่ยเพียง 2,000 เล่ม ซ้ำยังต้องลุ้นว่าจะขายหมดหรือไม่ ทั้งที่ประชากรมีจำนวนมากขึ้น คำพูดที่ว่า คนไทยอ่านหนังสือปีละ 8บรรทัด จึงอาจยังคงเป็นเรื่องจริง จำนวนประชากรจึงไม่ได้เป็นตัวชี้วัดปริมาณการอ่านเสมอไป หากเป็นคุณภาพของคน สอดคล้องกับในมลรัฐออริกอน สหรัฐอเมริกา ที่แม้มีประชากรน้อยกว่ามลรัฐอื่นๆ หากจำนวนประชากรซื้อหนังสืออ่านกลับมีมากที่สุดในประเทศ แต่ราคาหนังสือของอเมริกานั้นก็ค่อนข้างถูกหากเทียบกับรายได้ประชากร

หากตัวเลขดังกล่าวกับสวนทางกับปริมาณผู้เข้าร่วมงาน “สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ” ที่ผู้เข้างานและยอดการซื้อหนังสือนั้นมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในทุกปี แต่วัฒนธรรมการเลือกอ่านและการซื้อหนังสือของคนไทยยังคงเป็นสิ่งที่ต้องตั้งคำถาม เช่นเดียวกับยอดขายหนังสือตามร้านที่ลดน้อยลง เพราะคนรอซื้อหนังสือในงานสัปดาห์หนังสือ ปีละ 2 ครั้งการอ่านหนังสือของคนในสังคมไทยยังเป็นปัญหามาโดยตลอด ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะสังคมไทยนั้นนึกถึงเรื่องปากท้องเป็นอันดับแรก หนังสือประเภทฮาวทูต่างๆ ที่เน้นหนทางไปสู่ความรวยจึงมักขายดี ส่วนวรรณกรรมก็จะเป็นแนวความรักวัยรุ่น

ปัจจุบันนักเขียนที่ผลิตงานออกมาตามใจตัวเองนั้นจึงยากที่จะอยู่ได้ หรือหากจะอยู่ได้ก็ต้องใช้เวลาสั่งสมฐานของแฟนหนังสือมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง และต้องปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยด้วยเช่นกัน สำนักพิมพ์จึงเน้นงานเขียนเพื่อเอาใจตลาดและแฟนหนังสือ เนื่องจากมีการแข่งขันค่อนข้างสูง นักเขียนแนวสร้างสรรค์ เรื่องสั้น หรือกวีระดับคุณภาพ ตอนนี้จึงมีแทบนับคน รวมถึงหนังสือและนิตยสารต่างๆ ก็ทยอยปิดตัวกันลงไปหลายเล่มในระยะหลัง ที่อยู่ก็มียอดขายตกลง ส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเพราะการมาถึงของ e-book และรสนิยมคนอ่านที่เปลี่ยนแปลงไป คนสมัยใหม่นิยมอ่านหนังสือผ่านหน้าจอเครื่องมืออิเล็กทรอนิคส์ โน๊ตบุ๊กส์ และแท็บเล็ต กันมากขึ้น ไม่แน่ว่า ในอีกเพียง 10 ปีข้างหน้า การอ่านหนังสือผ่านหน้ากระดาษอาจกลายเป็นเรื่องแปลก และเป็นเรื่องของรสนิยมเฉพาะกลุ่ม คล้ายกับนักฟังเพลงที่ฟังผ่านเครื่องเล่นเทป และเครื่องเล่นแผ่นเสียงก็เป็นได้
อินเทอร์เน็ตได้เปลี่ยนแปลงนิสัยการอ่านของคน ส่งผลให้ผู้คนชอบที่จะอ่านแบบสั้นๆ เร็วๆ ทั้งตัวหนังสือเพียงอย่างเดียวคงไม่พอ ปัจจุบันคนอ่านต้องการดูภาพ ดูคลิปประกอบ นักเขียนในอนาคตจึงอาจจะต้องสร้างสรรค์ผสมผสานสื่ออื่นเข้ามาด้วยเช่นกัน นักเขียนจึงต้องมีการปรับตัวตามกระแสของคนอ่าน เพื่อให้งานยังคงสามารถขายได้

“ผู้ซื้อส่วนใหญ่ยังคงเป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ พลังการซื้อหนังสือส่วนใหญ่อยู่ที่คนเหล่านี้ และการเลือกซื้อของเด็กนั้นเป็นอีกแบบคือ จะเป็นเรื่องที่ออกไปแนวหวานๆ หน่อย นิยายวัยรุ่นจึงมียอดขายที่สูงมากที่สุดหากเทียบกับวรรณกรรม แต่แน่นอนว่า การอ่านก็ยังดีกว่าไม่อ่าน หากเด็กๆ สามารถพัฒนาการอ่านต่อไป ก็จะอ่านงานคุณภาพมากขึ้น ซึ่งเราเข้าใจดีว่า ต้องเริ่มต้นจากแบบนี้ก่อน แล้วค่อยๆ พัฒนา เพราะงานเขียนที่เป็นงานเกี่ยวกับแนวความคิดและคุณภาพ มันอาจจะยังไม่ตอบโจทย์ของวัยและสังคมได้ทั้งหมด” นายกสมาคมนักเขียนกล่าวทิ้งท้าย

มุมมองผ่านสองสาวนักเขียนโรแมนติก
ยุคที่ใครต่อใครต่างแสวงหางานอาชีพที่ทำเงิน การที่ใครบางคนเลือกที่จะลาออกจากงานธนาคารมาเป็นนักเขียนจึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความกล้าหาญ ส่วนเธออีกคน ในวัยสาวเคยมุ่งมั่นว่าจะเขียนหนังสือเพียงอย่างเดียว แต่ในวันนี้เธอหันกลับมาสู่โลกความจริง และกลับมาทำงานประจำควบคู่ไปกับการเขียน
อุรุดา โควินท์ อดีตพนักงานธนาคารที่เลือกลาออกมาเป็นนักเขียน เจ้าของผลงานมากมาย เช่น ผีเสื้อที่บินข้ามบึง ขณะเดียวกันเธอยังมีคอลัมน์ประจำในนิตยสารหลายเล่มทั้ง writer สกุลไทย และขวัญเรือน เธอเล่าว่า หลังเรียนจบจาก ม.พายัพ ก็เริ่มทำงานธนาคาร ด้วยความตั้งใจแรกเริ่มที่จะเป็นพนักงานธนาคารที่เก่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลับรู้สึกว่านี่ไม่ใช่ชีวิตที่เธอต้องการ และแม้ว่าอาชีพนักเขียนอาจจะมีความมั่นคงน้อยที่สุด แต่เธอเชื่อว่าไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ไม่มีความมั่นคงแท้จริง เช่นเดียวกับการทำงานบริษัท ที่ไม่รู้ว่าเขาจะไล่เราออกวันไหน?
“มันเริ่มจากเรารู้ว่าไม่มีความสุขกับการเป็นพนักงานธนาคารค่ะ อาชีพแรกที่เราอยากทำคือเปิดร้านดอกไม้ แต่หาทุนไม่ได้ค่ะ หลังจากลาออกจากงานธนาคาร เราก็ไม่ได้ทำงานประจำเลยค่ะ เขียนหนังสืออย่างเดียว ใช้เงินน้อยๆ ไม่พอก็ขอแม่ ขอน้องใช้บ้าง แต่มีบางช่วงที่ไปทำผ้าบาติกขาย และช่วยน้องสาวทำร้านอาหาร ทำอย่างนั้นอยู่สองปีค่ะ เหนื่อยแต่สนุก แล้วก็คิดได้ว่า ถ้าเราไม่เลือกรักสักอย่าง มันคงจะจากเราไปทั้งหมด เราก็เลยตัดสินใจเลือกการเขียนค่ะ” “ถ้าถามว่าเขียนหนังสืออย่างเดียวเลี้ยงชีพได้ตามมาตรฐานชีวิตที่เราต้องการโดยไม่ขอเงินใครใช้ ก็น่าจะราวสามปีมานี้เองค่ะ คือหลังจากที่เริ่มได้มีนิยายตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในสกุลไทย สำหรับอาชีพนักเขียน ถ้าไม่มีงานให้เขียน เราสามารถเลือกที่จะตัดสิ่งไม่จำเป็นออกไป เพื่อลดค่าใช้จ่าย และถ้าเขียนอย่างจริงจัง นักเขียนที่สร้างบ้านได้ด้วยเงินจากการเขียนหนังสือก็มีอยู่หลายคนเช่นกันคะ”

“การอยู่ได้ด้วยการเป็นนักเขียนเพียงอย่างเดียว เป็นไปได้กับหลายๆ คนค่ะ โดยเฉพาะกับนักเขียนนวนิยาย แต่เราขอบอกตรงๆ ว่ายากมาก นอกจากต้องทำงานต่อเนื่องจริงๆ ในปริมาณที่มากพอและมีคุณภาพด้วย อย่างตัวเราเองที่อยู่ได้ ก็เพราะมีคอลัมน์ และมีนิยายลงเป็นตอนในนิตยสารเล่มต่างๆ ค่ะ” นักเขียนหลายคนในยุคนี้ จึงต้องเป็นคอลัมนิสต์ตามหน้านิตยสาร เป็นบรรณาธิการ หรือทำงานประจำไปด้วย

สร้อยแก้ว คำมาลา นักเขียนสาวตัวเล็กอีกคนที่อยู่บนเส้นทางนักเขียนมายาวนาน ปัจจุบันเธอเลือกที่จะทำงานประจำหล่อเลี้ยงชีวิต และทำงานเขียนเพื่อหล่อเลี้ยงความฝัน โดยตอนนี้เธอทำงานประจำอยู่ที่ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ในสังกัด กท.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ “เมืองไทยเรามีทั้งนักเขียนอาชีพอย่างเดียวแล้วอยู่ได้สบายๆ กับที่อยู่ได้อย่างยากลำบาก ไปจนถึงอยู่ไม่ได้เลย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นประเภทหลัง นักเขียนบางคนจึงต้องหาทางออกอื่น อย่างบางคนเปิดร้านกาแฟไปด้วย เปิดร้านหนังสือไปด้วย รับจ้างงานเขียนอื่นๆ ไปด้วย หรือค้าขายไปด้วย มันก็มีทางออกที่หลากหลาย ตัวพี่เองก็เป็นประเภทหลัง คือ อยู่ไม่ได้ - แต่มันไม่ได้แปลว่ามันเป็นไปไม่ได้ พี่คิดว่าองค์ประกอบที่จะทำให้นักเขียนประสบความสำเร็จและสามารถดำรงชีพอยู่ได้มันมีอยู่”

“จริงๆ อาชีพนักเขียน คือ ฟรีแลนซ์ ซึ่งไม่ต่างจากฟรีแลนซ์สายอื่นๆ ไม่ว่า พวกทำงานโปรดักชั่นเฮาส์ ช่างภาพ คนทำขนม ปักผ้า หรือแม้แต่นักร้อง นักแสดง คือ ถ้าคุณสามารถมีชื่อเสียง คุณขายผลงานได้ คุณก็สามารถอยู่ได้ แต่ถ้าคุณไม่มีชื่อเสียง ผลงานขายไม่ได้ ก็อยู่ไม่ได้ แต่แน่ล่ะ ชื่อเสียงต้องมาควบคู่กับคุณภาพงานสม่ำเสมอด้วย เพราะถ้างานไม่มีคุณภาพ ชื่อเสียงก็มาแค่ประเดี๋ยวประด๋าว”

อย่างไรก็ตาม การไม่ได้เป็นนักเขียนอย่างเดียว ย่อมไม่ได้หมายถึงการต้องเลิกเป็นนักเขียนเช่นกัน “นักเขียนหลายคนก็มีงานประจำทำ อยู่ในสายงานสื่อมวลชนบ้าง นักวิชาการ ข้าราชการบ้าง พ่อค้าแม่ขาย หรือบางคนเป็นโกสต์ไรเตอร์ ทำสำนักพิมพ์ จัดอาร์ตเวิร์ก คือ เอาสามารถอื่นๆ ที่ตัวเองมีมาช่วยให้อยู่รอดด้วย ดังนั้น ถึงจุดหนึ่ง พี่จะเอาชีวิตเป็นตัวตั้ง เราจะมีชีวิตอยู่อย่างไรให้มันสุขสงบได้ ไม่ดิ้นรนร้อนรุ่มเกินไป (ความยากจนทำให้ร้อนนะ การไขว่คว้าไล่ล่าความฝัน ถึงจุดหนึ่งก็เหนื่อย) ก็มาจัดสรรเรื่องการงานใหม่ ผิดกับแต่ก่อนเราเอางาน (ที่เราฝัน) เป็นตัวตั้งแล้วให้ชีวิตผันแปรไปเงื่อนไขเพื่อให้เราได้ทำงานที่เราต้องการ”

สร้อยแก้ว คำมาลา บอกกับเราทิ้งท้ายว่า “ดังนั้น ความอยู่รอดของนักเขียนแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน แต่ละช่วงวันเวลาก็มีคำตอบไม่เหมือนกัน เช่นตอนวัยรุ่น ช่วงอายุยี่สิบกว่าๆ พี่ไม่คิดแบบนี้เลย ในหัวคิดอย่างเดียวว่าจะเขียนงานวรรณกรรมในแบบที่ตัวเองชอบ ตอนนั้นพี่ตั้งเป้าแค่ขอให้ได้เดือนละสามพันบาท ก็อยู่ได้แล้ว ถ้ามีเรื่องสั้นลงสองเรื่องในหนึ่งเดือนหรือมีบทกวีลงด้วย พี่อยู่ได้จริงๆ เพราะตัวคนเดียว บ้านก็ไม่ต้องเช่า อยู่กับพ่อแม่ แต่ตอนนี้มีลูกแล้ว คงทำแบบนั้นไม่ได้ แต่หากเกิดจู่ๆ วันหนึ่งมีนิยายเรื่องหนึ่งขายดิบขายดีพิมพ์เป็นล้านเล่ม แปลหลายภาษา (สมมุติน่ะค่ะ) คุณก็อยู่ได้แน่นอน ก็ลาออกจากงานมาเถอะ และเขียนอะไรไปตามใจชอบไม่ต้องกังวล มันจึงเป็นคำตอบของแต่ละคนเองนะ ว่าจะมองและจัดการกับปัจจุบันของตัวเองอย่างไร”

“ทำนายยากมากค่ะ” อุรุดา โควินท์ ตอบเมื่อเราถามถึงอนาคตของนักเขียนไทย “เรารู้แต่ว่า เราเลือกแล้ว และเลือกเองด้วยนะคะ ดังนั้นเราจึงต้องอยู่ให้ได้ พร้อมทำงานหนัก พร้อมจะสู้ยิบตา และเป็นไปได้ ที่เราอาจทำงานอย่างอื่นไปด้วย ซึ่งมองในแง่หนึ่ง มันก็ให้ประสบการณ์ใหม่ๆ แก่เราเหมือนกันค่ะ”

“นักเขียนอาชีพ ไม่ต่างไปจากนักวิ่งมาราธอน งานเขียนเป็นงานที่ต้องใช้ความอึด งานเขียนไม่ใช่การวิ่งระยะสั้น แต่คือความสม่ำเสมอในระยะยาว มีหลายคนที่ไปไม่ถึงเส้นชัย นักเขียนที่ทำงานต่อเนื่อง แบบนักวิ่งมาราธอนเท่านั้นจึงคงอยู่” ฮารุกิ มุราคามิ (Haruki Murakami) นักเขียนระดับโลก บอกไว้เช่นนั้น

นักเขียนในประเทศนี้ ยังคงทำงานต่อไปเงียบๆ แต่คงมีนักเขียนตัวจริงที่ทำงานอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับนักวิ่งมาราธอนเท่านั้นที่จะคงอยู่ อย่างไรแล้ว นักเขียนย่อมอยู่ไม่ได้ หากไม่มีนักอ่าน

นักเขียน-นักอ่าน จึงต้องวิ่งไปบนเส้นทางเดียวกัน...

ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live




รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"





มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754




กำลังโหลดความคิดเห็น