รมว.ศึกษาธิการ แจง “สนช.วัลลภ” ป้อง สกสค.แค่คัดกรองสมาชิก ยันไม่ได้บังคับให้ครูทำประกัน แต่ต้องทำเพื่อรองรับกรณีผู้กู้เสียชีวิต อ้าง “ทิพยประกันภัย” ครอบคลุมทั้งอุบัติเหตุและสุขภาพ ยอดจ่ายถึง 3 ล้าน ไม่ได้ถูกหลอกแน่ ส่วนกองทุนครูเป็นเงินค่าตอบแทนจากออมสิน ขณะที่เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ก็ไม่ได้หายไปไหน แย้มอนาคตอาจหักเก็บแค่ 3%
วันนี้ (7 ส.ค.) ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม โดยมีการพิจารณากระทู้ถามถึงแนวทางการใช้จ่ายเงินกองทุนช่วยเหลือครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ ช.พ.ค. ที่นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตั้งถาม พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ ต่อปัญหา 3 กรณีที่ครูถูกหลอกทำประกันชีวิต แต่กลับเป็นการทำประกันอุบัติเหตุและประกันสุขภาพ มีครูที่ได้รับความเสียหายกว่า 1.8 แสนราย หรือจำนวน 8,500 ล้านบาท และกรณีการปล่อยกู้แก่ครูผ่านกองทุนช่วยเหลือครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ ช.พ.ค. โดยธนาคารในกำกับของรัฐจนเกิดหนี้สินดอกเบี้ยจำนวนมาก รวมถึงการนำเงินในกองทุนเงินครูกว่า 2,100 ล้านบาท ไปลงทุนกับภาคเอกชนที่ค้ำประกันโดยเงินปลอมนั้นจะมีการตรวจสอบทุจริตในแต่ละโครงการอย่างไร และมีแนวทางการดูแลกองทุน ช.พ.ค.ให้.เกิดความโปร่งใสอย่างไรต่อไป โดยเฉพาะการทุจริตกองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ ที่พบว่าข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2558 มีครูเสียชีวิต 513 ราย จากจำนวนสมาชิกในกองทุนที่มี 997,642 คน หรือต้องมีเงินในกองทุน 997,642 บาท แต่ละครอบครัวครูจะได้ค่าจัดการศพรายละ 2 แสนบาท แต่มีการจ่ายเพียงเงินสงเคราะห์ทั้งหมดเพียง 757,737 บาท ซึ่งเงินหายไปถึงศพละ 39,905 บาท
ทั้งนี้ พล.ร.อ.ณรงค์ชี้แจงว่า ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ สกสค. มีการบริหารกองทุนอย่างโปร่งใส โดยโครงการปล่อยกู้แก่ครูที่เป็นสมาชิกนั้น จะมีธนาคารในกำกับของรัฐเป็นผู้ดูแลคือธนาคารกรุงไทย และธนาคารออมสิน ส่วน สกสค.เพียงทำหน้าที่คัดกรองสมาชิก เน้นให้บริการอำนวยความสะดวกเท่านั้น การทำประกันเป็นเหตุผลมาจากการปรับลดหลักเกณฑ์อายุการเป็นสมาชิก ช.พ.ค. เพื่อให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาสามารถเข้าถึงการกู้เงินกู้เงินได้มากขึ้น โดยขยายฐานผู้ที่เป็นสมาชิกในกองทุนเกินกว่า 6 เดือนก็สามารถกู้ได้ จึงต้องมีการทำประกันเพื่อรองรับเมื่อผู้กู้เสียชีวิต และไม่ได้บังคับให้ทำประกัน แต่เกิดจากความสมัครใจ โดยที่ธนาคารออมสินผูกพันการทำประกันกับ บริษัท ทิพยประกันภัย ที่มีความสามารถเฉพาะการประกันอุบัติเหตุและประกันสุขภาพ ไม่ได้รับใบอนุญาตทำประกันชีวิต แต่รายละเอียดการประกันได้ครอบคลุมถึงการเสียชีวิตด้วย ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ครูมากกว่าการทำประกันชีวิตและต้องซื้อประกันภัยอื่นเพิ่มเติม และหากกรณีเสียชีวิตภายในเวลาประกัน บริษัทจะจ่ายให้เต็มวงเงิน 3 ล้านบาท โดยหักจำนวนหนี้ที่มีให้กับธนาคารออมสินและเหลือจะจ่ายให้กับครอบครัว และแบบประกันก็ได้รับการอนุมัติความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. จึงไม่ใช่การถูกหลอก แต่ข้อมูลที่สมาชิกได้อาจจะไม่ครบหรือคลาดเคลื่อน จึงยืนยันว่าสมาชิกกองทุนได้ประโยชน์จริง
ขณะที่กองทุนเงินครู 2,100 ล้านบาทนั้น พล.ร.อ.ณรงค์ชี้แจงว่า เป็นเงินค่าตอบแทนที่ได้รับจากธนาคารออมสินในอัตราร้อยละ 50 สตางค์จากดอกเบี้ยที่ได้รับเงินต้นและดอกเบี้ยจากครูผู้กู้ในแต่ละเดือน โดยมีเงื่อนไขถูกหักลบ หากผู้กู้ไม่มาชำระหนี้ตามกำหนดแต่ละเดือน ขณะที่เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ ยืนยันว่าไม่ได้หายไป แต่ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาสมาชิกจ่ายเงินเข้ากองทุนไม่ครบ และมีการหักเก็บไว้ร้อยละ 4 ในแต่ละเดือนสำหรับการบริหารจัดการองค์กรตามระเบียบของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จึงยืนยันว่าสิ่งที่เป็นปัญหาทั้งหมด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเงินลงทุนสูญ และอนาคต สกสค.อาจมีการหักเก็บเพียงร้อยละ 3 เพื่อให้เงินกองทุนกลับถึงมือของสมาชิกได้มากขึ้น