xs
xsm
sm
md
lg

“ทิพยประกันภัย” ชี้แจงประกันเงินกู้ครู ยันรับหนี้แทนทายาท-บริหารโปร่งใส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ทิพยประกันภัย” ออกโรงชี้แจงรับทำกรมธรรม์กลุ่มครูโครงการเงินกู้ ช.พ.ค. หลังรวบรวมประเด็นข้อสงสัยจากหลายฝ่าย ชี้ตลอด 5 ปี จ่ายค่าสินไหมให้ทายาทสมาชิกไปแล้วเกือบ 6,500 ล้านบาท จากยอดครูเสียชีวิตเกือบ 7,000 คน การันตีเบี้ยประกันคิดต่ำกว่าราคาตลาด 15% ยืนยันดำเนินการอย่างถูกต้อง ไม่ได้เอาเปรียบสมาชิก ส่วนกรณีผู้กู้ต้องทำประกันเพื่อไม่ต้องการผลักภาระให้ลูกหลานชดใช้หนี้

นายสมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) (TIP) กล่าวถึงกรณีสมาชิกกองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนสมาชิกครู (ช.พ.ค.) ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้ตรวจสอบโครงการปล่อยกู้ของธนาคารออมสิน และบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ที่รับประกันสินเชื่อกลุ่มครูที่กู้เงินจากโครงการดังกล่าวว่า การที่บริษัทฯ ได้เข้าไปรับทำประกันกลุ่มครูตามโครงการเงินกู้ ช.พ.ค. ตั้งแต่ 5 ปีแล้ว โดยใช้ชื่อ “กรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุสุขภาพสินเชื่อปลอดภัย” นั้น ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยประกันผู้กู้เงินวงเงินตั้งแต่ 600,000 บาท ถึง 3 ล้านบาท คิดเบี้ยประกันเท่ากันทุกกลุ่มอายุ ทุกเพศ ทุกวัย ที่ 620 บาทต่อวงเงินความคุ้มครอง 100,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาตลาด 15%

สำหรับสาเหตุที่ผู้กู้เงินต้องมีประกันนั้น ทางบริษัท และธนาคารมีวัตถุประสงค์เพื่อผู้กู้เสียชีวิตจะได้ไม่ทิ้งภาระไว้ให้ผู้ค้ำประกัน และทายาท และจะทำให้ได้รับอนุมัติวงเงินกู้ที่สูงขึ้นได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ดี การทำประกันสินเชื่อนั้นเป็นไปตามความสมัครใจของผู้กู้ และเป็นไปตามเงื่อนไขการกู้เงิน

ส่วนกรณีจะยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย บริษัทยืนยันว่าสามารถทำได้เช่นกัน แต่เนื่องจากกรมธรรม์เป็นการประกันภัยเพื่อคุ้มครองวงเงินสินเชื่อที่ผู้เอาประกัน เป็นผู้กู้เงินโดยระบุให้ธนาคารออมสินเป็นผู้รับผลประโยชน์ตามกรมธรรม์เป็นลำดับแรก เพื่อวัตถุประสงค์ลดภาระของทายาทของผู้กู้ และผู้ค้ำประกัน การยกเลิกอาจทำให้บุคคลเหล่านี้ได้รับความเดือดร้อนในภายหลัง และเงื่อนไขการกู้อาจเปลี่ยนแปลงไป

นายสมพร กล่าวว่า กรมธรรม์ของบริษัทมีข้อดี และจุดเด่นต่างจากบริษัทประกันชีวิตทั่วไปคือ 1. บริษัทจะรับประกันทุกราย 2.ไม่ต้องตรวจสุขภาพ 3.เบี้ยประกันคงที่ ไม่ปรับเพิ่มขึ้นตามอายุ 4.ทุนประกันคงที่ตลอดอายุสัญญาแม้ภาระหนี้ลดลง 5.เบี้ยประกันไม่แยกตามเพศ 6.จ่ายสินไหม 100% กรณีโคม่า และเสียชีวิต และ 7.คุ้มครองถึงอายุ 74 ปี ขณะที่ประกันชีวิตรับอายุไม่เกิน 60 ปีเท่านั้น และหากผู้กู้เสียชีวิตทางบริษัทฯ จะเป็นผู้ชำระหนี้ที่ผู้กู้ยังค้างชำระกับธนาคารออมสินทั้งหมด โดยหากมีเงินเหลือทางธนาคารออมสินจะส่งคืนให้ทายาท จึงไม่เป็นภาระให้แก่ทายาทต่อไป และทำให้ธนาคารไม่มีหนี้เสีย

ส่วนกรณีที่มีข้อซักถามว่า ทำไมกรมธรรม์ของผู้กู้ไม่ได้รับนั้น นายสมพร กล่าวว่า เนื่องจากเป็นประกันกลุ่ม บริษัทจึงออกกรมธรรม์ 2 ฉบับ ให้ธนาคารออมสิน ในฐานะเจ้าหนี้เก็บไว้ 1 ฉบับ ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) 1 ฉบับ ในฐานะที่ดูแล ช.พ.ค. ส่วนผู้กู้จะออกเป็นใบสรุปเงื่อนไขความคุ้มครองให้

นอกจากนี้ กรณีการเก็บเบี้ยครั้งเดียวล่วงหน้า บริษัทยืนยันว่า สามารถทำได้ตามจำนวนปีที่ขอสินเชื่อ โดยบริษัทประกันชีวิตสามารถเก็บเบี้ยประกันสินเชื่อล่วงหน้าครั้งเดียวได้สูงสุด 30 ปี แต่ในกรณีนี้ทางบริษัทฯ ได้รับการอนุมัติให้เก็บเบี้ยได้สูงสุดครั้งเดียว 9 ปี หากชำระหนี้ครบก่อน 9 ปี สามารถขอเบี้ยคืนได้ในส่วนที่ชำระไว้เกิน หรือหากชำระหนี้ยังไม่หมดภายใน 9 ปี สามารถต่ออายุได้ แต่ผู้กู้อายุต้องไม่เกิน 74 ปี

ทั้งนี้ ตั้งแต่บริษัททำประกันดังกล่าว 5 ปี มีสมาชิก ช.พ.ค.ที่ทำประกันภัยเสียชีวิตไปแล้วประมาณ 7,000 ราย ซึ่งถือว่าเสียชีวิตจำนวนมาก เพราะกลุ่มครูที่ทำประกันจะอยู่ในช่วงอายุ 40-60 ปี โดยบริษัทได้จ่ายสินไหมทดแทนออกไปแล้วประมาณ 6,500 ล้านบาท จากเบี้ยที่รับมาประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งเงินที่เหลืออีก 3,500 ล้านบาท ต้องเก็บไว้เพื่อเตรียมชำระค่าสินไหมตามกรมธรรม์ ถือว่าโครงการนี้ไม่มีกำไรจากการรับประกัน แต่จะได้ในส่วนของการนำเงินก้อนนี้ไปลงทุน

“ถึงแม้โครงการนี้จะมีครูเสียชีวิตเป็นอัตราค่อนข้างสูง แต่เนื่องจากเป็นโครงการของภาครัฐ ทิพยประกันภัย ซึ่งเป็นบริษัทที่มีภาครัฐเป็นผู้ถือหุ้น และดำเนินธุรกิจด้วยคุณธรรม จึงยินดีที่จะสนองนโยบาย รวมถึงโครงการอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอีกด้วย” นายสมพร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น