“พินิจศักดิ์” เตรียมหารือบอร์ดบริหาร ช.พ.ค. ปรับเงื่อนไขกู้ ช.พ.ค. หลังผู้กู้ร้องได้รับความไม่เป็นธรรม พร้อมขอให้ คปภ. เคาะเพดานวงเงินประกันแต่ละประเภท เพื่อนำเข้าเสนอในบอร์ด ก่อนไปเจรจาต่อกับธนาคาร รวมทั้งเสนอบอร์ด ช.พ.ค. ปรับลดหักค่าบริหารจัดการ 4% เหลือ 3.5% เพื่อให้ทายาทหรือผู้รับประโยชน์มีเงินมากขึ้น ยันที่ผ่านมาไม่เคยมีใครไม่ได้รับเงิน
วันนี้ (11 มิ.ย.) นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (เลขาธิการ สกสค.) กล่าวถึงกรณีผู้กู้เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) เรียกร้องว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการกู้ยืมเงิน ช.พ.ค. ที่มีเงื่อนไขให้ทำประกันโดยเก็บล่วงหน้า 9 ปี โดยกังวลว่าหากเสียชีวิตทายาทอาจจะไม่ได้รับผลประโยชน์ ว่า ในการบริหารจัดการเงิน ช.พ.ค. นั้น ตามปกติได้มีการกำหนดรอบระยะเวลาการรับแจ้งสมาชิกเสียชีวิตทุกเดือน ซึ่งในช่วงระยะเวลา 6 เดือน ที่ผ่านมา ตั้งแต่ 21 พ.ย. 2557 - 20 พ.ค. 2558 มีสมาชิก ช.พ.ค. เสียชีวิตจำนวน 3,207 คน เฉลี่ยเดือนละ 400 - 600 คน โดยทายาทจะได้รับเงินเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 994 แสนบาทต่อคน ซึ่งจากจำนวนดังกล่าวจะต้องถูกหักไว้เป็นค่าใช้จ่ายไม่เกินร้อยละ 4 ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ว่าด้วยการฌาปนกิจสงเคราะห์ของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และ องค์กรวิชาชีพซึ่งเป็นนติบุคคลที่อยู่ภายใต้กำกับของรัฐ พ.ศ. 2547 ในกิจการต่างๆ อาทิ ค่าบริหารจัดการ ค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการต่างทั้งในส่วนกลางและสำนักงาน สกสค. จังหวัด ค่าผ้าไตร พวงหรีด เป็นต้น ที่เหลือก็จะนำมาคำนวณเพื่อจ่ายให้แก่ทายาทของผู้เสียชีวิต
“ในการจ่ายเงินให้ทายาทจะแบ่งเป็นสองงวด โดยงวดแรกจะจ่ายทันที 2 แสนบาทสำหรับเป็นค่าบริหารจัดการศพของสมาชิกที่เสียชีวิต ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 7 แสนบาทจะจ่ายในงวดถัดไปภายในระยะเวลา 30 วันนับแต่การประกาศรายชื่อตามรอบระยะเวลาการแจ้งถึงแก่กรรม ซึ่งกำหนดให้ประกาศรายชื่อในวันที่ 25 ของทุกเดือนที่สำนักงาน สกสค. จังหวัดและขึ้นไว้บนเว็บไซต์ สกสค. www.otep.go.th เพราะฉะนั้น กรณีร้องเรียนว่าไม่มีการประกาศรายชื่ออาจ เพราะผู้ร้องเรียนไม่เคยเปิดเข้าไปดู อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ไม่เคยมีทายาทคนใดที่ไม่ได้รับเงินหลังสมาชิก ช.พ.ค. เสียชีวิต แต่จะมีปัญหาล่าช้าบ้างในกรณีต่างๆ อาทิ มีการร้องคัดค้าน กรณีสมาชิกเสียชีวิตด้วยการฆาตกรรม เป็นต้น ซึ่งกรณีเหล่านี้หากกระบวนการตรวจสอบเรียบร้อย ช.พ.ค. ก็จะจ่ายเงินให้ต่อไป” นายพินิจศักดิ์ กล่าว
ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สกสค.กล่าวต่อว่า ส่วนกรณี ที่มีผู้ร้องเรียนโดยขอให้ตรวจสอบการกู้เงิน ช.พ.ค. ของ ธนาคารออมสิน และบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ที่รับทำประกันสินเชื่อกลุ่มครูที่กู้เงิน ทำประกันภัยโดยไม่มีกรมธรรม์ การหักค่าเบี้ยประกันภัยในครั้งเดียวเป็นระยะเวลาถึง 9 ปี นั้นเมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้เชิญ บ.ทิพยประกันภัยฯ มาให้ข้อมูล และเชิญสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) มาหารือได้รับคำอธิบายว่า เนื่องจากผู้รับผลประโยชน์คือธนาคารออมสิน ในฐานะเป็นเจ้าของเงินกู้จึงต้องสร้างหลักประกัน และมีข้อเสนอให้ทำประกัน แต่เพราะการทำประกันชีวิตจะเสียค่าประกันสูง จึงได้มีข้อเสนอให้ทำเป็นโครงการพิเศษเป็นประกันอุบัติเหตุ สุขภาพ และสินเชื่อ โดยเก็บล่วงหน้า 9 ปี เพราะมีความครอบคลุมและเสียเบี้ยประกันน้อยกว่าทายาทไม่ต้องรับภาระหนี้ แต่เมื่อมีผู้ร้องเรียนว่าเบี้ยประกันมีวงเงินสูงเกินไป ก็อาจจะต้องมาหารือว่าควรต้องมีการปรับเงื่อนไขหลักเกณฑ์การปลอยกู้หรือไม่ ทั้งนี้ ตนได้ขอให้ คปภ. ช่วยไปกำหนดเพดานการเก็บเงินประกันแต่ละประเภทว่าควรอยู่ที่เท่าใดเพราะแต่ละประเภทเก็บไม่เท่ากัน ทั้งประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุ ประกันอุบัติเหตุและสุขภาพ รวมถึงประกันอุบัติเหตุ สุขภาพ และสินเชื่อ
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมคณะกรรมการ ช.พ.ค. ในวันที่ 17 มิ.ย. นี้ จะเสนอให้ที่ประชุมรับทราบในเรื่องดังกล่าว และนำเสนอให้ปรับเงื่อนไขการปล่อยกู้ด้วยโดยจะนำรายละเอียดที่ขอให้ คปภ. จัดทำเข้าหารือ จากนั้น จะต้องหารือร่วมกับธนาคารออมสินถึงความเป็นไปได้ว่าดำเนินการตามบอร์ดได้หรือไม่ เพราะมองว่าในส่วนของผู้กู้รายใหม่น่าจะมีโอกาสได้เลือก ซึ่งปัจจุบันมียื่นขอมาแล้วประมาณ 1,000 คน รวมทั้งจะเสนอให้มีมาตรการดำเนินการกับผู้ที่ผิดนัดชำระหนี้ เพราะเวลานี้ยอดชำระน้อยกว่ายอดค้างชำระ เพราะเข้าใจมีการสื่อสารอย่างไม่ถูกต้องว่าไม่ต้องนำเงินมาชำระหนี้ เพราะ สกสค. ได้รับเงินคืนจากธนาคารออมสินส่วนหนึ่ง และมีเงินสำรองจ่ายแทนอยู่แล้วทั้งที่เงินจำนวนนี้ต้องใช้ในการบริหารจัดการต่างๆ ขณะเดียวกัน จะหารือปรับลดค่าบริหารจัดการ 4% ที่หักจากเงิน ช.พ.ค.ให้เหลือ 3.5% เพื่อทายาทหรือผู้รับผลประโยชน์ได้รับเงิน ช.พ.ค. มากขึ้น
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่