คปภ.เล็งปรับประกัน พ.ร.บ. เพิ่มเบี้ยรถจักรยานยนต์ เพิ่มความคุ้มครองรถยนต์ คาดเสร็จในไตรมาส 3 นี้ ล่าสุดจับมือ สปสช.ลงนาม MOU เชื่อมระบบ E-Claim ร่วมดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุนเมื่อประสบภัยจากรถ
นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจ ประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ทาง คปภ.ได้มีแผนที่จะปรับแก้ประกัน พ.ร.บ.ในเรื่องต่างๆ เช่น การเพิ่มเบี้ยประกัน การเพิ่มความคุ้มครอง เพื่อให้สอดคล้องกับค่ารักษาพยาบาล โดยในส่วนประกันรถจักรยานยนต์จะเพิ่มเบี้ยประกัน จาก 300 เป็น 400 บาท ขณะที่รถยนต์จะเพิ่มความคุ้มครองจาก 50,000 บาท เป็น 100,000 บาท โดยมองว่าการปรับเปลี่ยนนี้เพื่อให้สอดคล้องกับประกันในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งน่าจะเสร็จได้ในช่วงไตรมาส 3
“ปัจจุบันมีเงินค่าใช้จ่ายส่วนเกินจากความคุ้มครองของ พ.ร.บ.ที่รัฐบาลต้องจ่ายเข้ามาช่วยประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งหากทาง คปภ.ปรับเพิ่มวงเงินคุ้มครองจาก 50,000 บาทขึ้นเป็น 100,000 บาท ก็จะทำให้ส่วนเกินตรงนี้ลดลง”
ทั้งนี้ ในปัจจุบันพบว่าในแต่ละปีมีผู้ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ได้รับบาดเจ็บประมาณ 4 แสนราย ผู้เสียชีวิตประมาณ 13,000 ราย ซึ่งในจำนวนผู้บาดเจ็บนี้ส่วนใหญ่ที่เป็นผู้ป่วยในได้ใช้ระบบสินไหมลดแทนอัตโนมัติหรือ E-Claim system โดยใช้ร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลกับบริษัทประกันภัย เพื่อความสะดวก รวดเร็ว ในการติดตามตรวจสอบสิทธิความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ โดยความร่วมมือกันนี้เป็นการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อนำไปสู่การกำหนดความคุ้มครองที่เหมาะสมกับการรักษาพยาบาล ไม่ให้เป็นการใช้เงินอย่างไม่มีประสิทธิภาพ
ขณะเดียวกัน ทาง คปภ.มีการกำกับดูแลบริษัทประกันหลักเกณฑ์สากล รวมทั้งกองทุนที่ช่วยเหลือในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่สิ่งที่ต้องพัฒนาต่อเนื่องไปอีกคือ การสร้างหลักประกันให้แก่ประชาชน ถ้าประชาชนมีระบบประกันสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้นแล้วก็จะมีผู้กำกับดูแลในเรื่องนี้อย่างดีตามไปด้วย
นายนพดล ตันติภากรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด กล่าวว่า ด้วยระบบที่ดีในตอนนี้ทำให้ที่ผ่านมาการเบิกจ่ายต่างๆ ไม่มีปัญหา และแม้ว่ามีบริษัทประกันที่ปิดตัวลงไปแล้ว แต่มีกองทุนที่คอยกำกับดูแล จึงไม่มีปัญหาในเรื่องการเบิกจ่ายใดๆ ในปัจจุบัน และยังสามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับระบบสินไหมทดแทนอัตโนมัติ หรือระบบ E-Claim สำหรับการประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับนั้น มีการพัฒนามาตั้งแต่ปี 2550 เป็นการริเริ่มร่วมกันของ 10 หน่วยงานได้แก่ สำนักงาน คปภ. กรมการแพทย์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สำนักการแพทย์กรุงเทพมหานคร สมาคมโรงพยาบาลเอกชน สมาคมประกันวินาศภัยไทย บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด โรงพยาบาลศรีนครินทร์ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ และโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่
โดยมีข้อตกลงร่วมกันที่จะพัฒนาระบบการเรียกร้องค่ารักษาพยาบาล การจ่ายสินไหมทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ โดยผู้ประสบภัยไม่ต้องสำรองค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ปัจจุบันระบบสินไหมทดแทนอัตโนมัติ หรือระบบ E-Claim ได้มีการพัฒนาระบบให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น มีโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนใช้ระบบสินไหมทดแทนอัตโนมัติ หรือระบบ E-Claim ในการเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลผู้ประสบภัยจากรถผ่านไปยังบริษัทประกันภัยหรือกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย เป็นจำนวนกว่าร้อยละ 90 ของโรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการดูแลผู้ประสบภัยจากรถ