xs
xsm
sm
md
lg

คปภ.เปิดตัวประกันภัยข้าว ชูการบริหารความเสี่ยง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คปภ.เปิดตัวโครงการประกันภัยข้าวนาปี 2558 พร้อมบริษัทประกันภัยเข้าร่วม 7 บริษัท ช่วยเกษตรกรบริหารความเสี่ยง เน้นแผนการตลาดส่งเสริมการขยาย เร่งรัดการเครมเร็วขึ้น ตั้งเป้าเกษตรกรเข้าร่วม 1.5 ล้านไร่ปีนี้

นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า คปภ.ร่วมกับภาครัฐเปิดโครงการประกันภัยข้าวนาปี 2558 โดยเกษตรกรจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยตามระดับความเสี่ยง 60-100 บาทต่อไร่ ส่วนที่เหลือรัฐบาลอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้เกษตรกร และเกษตรกรที่เป็นลูกค้าของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะได้รับเงินอุดหนุนอีก 10 บาทต่อไร่

ทั้งนี้ การรับประกันภัยแบ่งพื้นที่ตามความเสี่ยงภัยรวม 5 โซน แบ่งเป็นพื้นที่ความเสี่ยงต่ำสุดเบี้ยประกัน 115 บาท เกษตรกรจ่ายเพียง 60 บาท พื้นที่เสี่ยงต่ำมากค่าเบี้ย 220 บาท เกษตรกรจ่าย 70 บาท พื้นที่เสี่ยงต่ำค่าเบี้ย 330 บาท เกษตรกรจ่าย 80 บาท พื้นที่เสี่ยงปานกลางค่าเบี้ย 420 บาท เกษตรกรจ่าย 90 บาท และพื้นที่เสี่ยงสูงค่าเบี้ย 450 บาท เกษตรกรจ่าย 100 บาท

อย่างไรก็ตาม ปีนี้เบี้ยประกันภัยลดลงกว่าปีก่อนทุกพื้นที่เฉลี่ยร้อยละ 4.8 โดยบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการ 7 บริษัท ได้แก่ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท เจ้าพระยาประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท นวกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ทูนประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน)

“กรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2558 สำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันซ์) เป็นเครื่องมือช่วยบริหารความเสี่ยงภัยธรรมชาติให้เกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศได้รับความคุ้มครองจากระบบประกันภัย และเป็นการแบ่งเบาภาระงบประมาณของรัฐบาล”

โดยในปีนี้ทางโครงการได้มีการเริ่มโครงการเร็วขึ้นในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง โดยให้เกษตรกรสามารถเข้าซื้อได้ก่อนการเพาะปลูกและเริ่มคุ้มครองตั้งแต่วันแรกและแก้ไขในเรื่องการเครมประกันให้เร็วขึ้น โดยปีนี้จะเน้นแผนส่งเสริมการขายมากขึ้น คาดว่าจะมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 1.5 ล้านไร่จากพื้นที่ 60 ล้านไร่ ซึ่งโครงการนี้ต้องการให้เป็นโครงการที่ยั่งยืนและต้องการให้เป็นการทำประกันโดยสมัครใจของเกษตรกร ไม่ต้องการให้เป็นภาคบังคับ นอกจากนี้ หากโครงการประกันข้าวปีนี้สามารถทำได้ดีก็เตรียมที่จะขยายพื้นที่ประกันออกไปอีกเป็น 5 ล้านไร่ 10 ล้านไร่ในปีต่อๆ ไป

นอกจากนี้ มองว่าหากสามารถขยายพื้นที่ทำประกันให้มากได้ประมาณ 20 ล้านไร่ก็น่าจะทำให้เบี้ยประกันถูกลง ซึ่งถือเป็นผลดีต่อผู้เอาประกันด้วย ซึ่งปัจจุบันเบี้ยประกันภัยในพื้นที่ที่เสี่ยงภัยสูงนั้นอยู่ที่ไร่ละ 450 บาท ซึ่งทาง สศค.อยากให้เบี้ยถูกลงไม่เกิน 200 บาทต่อไร่ ขณะเดียวกัน หากโครงการประกันภัยข้าวนาปีเป็นผลดีต่อเกษตรกรก็อาจจะขยายออกไปสู่สินค้าเกษตรอย่างอื่นได้ เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง โดยต้องไปศึกษาสถิติมาประกอบการทำประกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น