xs
xsm
sm
md
lg

จำคุกอดีตบิ๊กกรุงไทย18ปี คดีปล่อยกู้กฤษดามหานคร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ศาลฎีกาแผนคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาคดีกรุงไทยปล่อยกู้กฤษดามหานคร สั่งจำคุกอดีตผู้บริหารคนละ 18 ปี ส่วนผู้ที่เกี่ยวข้องโดน 12 ปี พร้อมให้คืนเงินกว่าหมื่นล้านบาท ส่วน "ทักษิณ" ยังหลบหนีคดี สั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบชั่วคราวจนกว่าจะได้ตัว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (26 ส.ค.) ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้อ่านคำพิพากษาคดีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ปล่อยกู้บริษัทในเครือกฤษดามหานคร โดยอัยการสูงสุดได้ยื่นฟ้องผู้ที่เกี่ยวข้องรวม 27ราย ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, ความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงาน ในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 , ความผิด พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 , ความผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และความผิด พ.ร.บ.บริษัท มหาชน จำกัด พ.ศ. 2535

ทั้งนี้ ศาลฎีกาฯ ได้พิพากษาให้จำคุก ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ จำเลยที่ 2 ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงไทย ในขณะนั้น , นายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำเลยที่ 3 , นายมัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา จำเลยที่ 4 และนายไพโรจน์ รัตนะโสภา จำเลยที่ 12 คนละ 18 ปี ตามความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502ม.4ซึ่งเป็นบทหนักสุด ส่วนจำเลยที่ 5,8-11,13-17ซึ่งเป็นพนักงานของธนาคารกรุงไทย ผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ม.4 จำคุกจำเลยทั้ง 10คนในส่วนนี้ คนละ 12 ปี

สำหรับนายวิชัย กฤษดาธานนท์ เจ้าของโครงการหมู่บ้านกฤษดามหานคร จำเลยที่ 25 และจำเลยที่ 18-27ซึ่งเป็นนิติบุคคล และผู้บริหารบริษัทในเครือกฤษดานคร มีความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4โดยให้ปรับจำเลยที่ 18-22ซึ่งเป็นนิติบุคคล รายละ 26,000 บาท และให้จำเลยที่ 23-27จำคุกคนละ 12 ปี และให้จำเลยที่ 20 , 25 และ26รวมกันคืนเงิน 10,004,467,480 บาท แก่ธนาคารกรุงไทยผู้เสียหาย

นอกจากนี้ ให้นายวิโรจน์ จำเลยที่ 3 , 22 และจำเลยที่ 27ร่วมรับผิด 9,554,467,480 บาท และให้จำเลยที่ 12-17, 21, 23 และ 24ร่วมรับผิดจำนวน 8,818,732,100 บาท ส่วนจำเลยที่ 18 ร่วมรับผิด 450ล้านบาท และจำเลยที่ 2, 4 , 5 และ 8-11และ 19 ร่วมรับผิดจำนวน 8,368,732,100 บาท หากจำเลยที่ 18-22ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29 และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 6-7

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังฟังคำพิพากษาญาติจำเลยมีอาการโศกเศร้า บางรายถึงกับร้องไห้ออกมา ขณะที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้นำรถเรือนจำมารับจำเลยเพื่อไปควบคุมตัวต่อที่เรือนจำพิเศษกรุเทพต่อไป

สำหรับรายชื่อจำเลยทั้ง 27 คน ประกอบด้วย กลุ่มเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเคราะห์สินเชื่อ คือ นายประพันธ์พงศ์ ปราโมทย์กุล จำเลยที่ 13 นางกุลวดี สุวรรณวงศ์ จำเลยที่ 14 นางสุวรัตน์ ธรรมรัตนพคุณ จำเลยที่ 15 นายประวิทย์ อดีตโต จำเลยที่ 16 นางศิริวรรณ ชินอิสระยศ จำเลยที่ 17 นายไพโรจน์ รัตนะโสภา จำเลยที่ 12

กลุ่มคณะกรรมการสินเชื่อ คือ นายพงศธร ศิริโยธิน จำเลยที่ 5 นายนรินทร์ ดรุนัยธร จำเลยที่ 6 นางนงนุช เทียนไพฑูรย์ จำเลยที่ 7 นายโสมนัส ชุติมา จำเลยที่ 8 นายสุวิทย์ อุดมทรัพย์ จำเลยที่ 9 นายวันชัย ธนิตติราภรณ์จำเลยที่ 10 และนายบุญเลิศ ศรีเจริญ จำเลยที่ 11

กลุ่มคณะกรรมการบริหาร คือ ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ์จำเลยที่ 2 นายวิโรจน์ นวลแข จำเลยที่ 3 และนายมัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา จำเลยที่ 4

กลุ่มนิติบุคคลทั้งหมด คือ บริษัท อาร์เคโปรเฟสชั่นนัล จำกัด โดยนายบัญชา ยินดี และนายสุบิน แสงสุวรรณเมฆา จำเลยที่ 18 บริษัทโกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด โดยนายสุบิน แสงสุวรรณเมฆา และนายบัญชา ยินดี จำเลยที่ 19 บริษัทกฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) โดยนางปรานอม แสงสุวรรณเมฆา และนายธเนศวร สิงคาลวณิช นายรัชฎา กฤษดาธานนท์จำเลยที่ 20 บริษัทโบนัสบอร์น จำกัด โดยนายชุมพร เกิดไพบูลย์รัตน์ จำเลยที่ 21 บริษัท แกรนด์คอมพิวเตอร์ แอนด์คอมมูนิเคชั่น จำกัด โดยนายสุบิน แสงสุวรรณเมฆา จำเลยที่ 22

กลุ่มผู้แทนนิติบุคคลเป็นการส่วนตัวทั้งหมด คือ นายสุบิน แสงสุวรรณเมฆา จำเลยที่ 23 นายบัญชา ยินดี จำเลยที่ 24 นายวิชัย กฤษดาธานนท์จำเลยที่ 25 นายรัชฎากฤษดาธานนท์จำเลยที่ 26 นายไมตรี เหลืองนิมิตมาศ จำเลยที่ 27

กลุ่มนักการเมือง คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 1 หลบหนีคดี ศาลฎีกาฯ จึงให้ออกหมายจับ ติดตามตัว พ.ต.ท.ทักษิณ มาดำเนินคดี โดยให้จำหน่ายคดีเฉพาะส่วนของ พ.ต.ท.ทักษิณไว้เป็นการชั่วคราว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีดังกล่าวเกิดขึ้นในปี 2546 โดยธนาคารกรุงไทยได้มีการอนุมัติสินเชื่อหมื่นกว่าล้านบาทให้กับบริษัทในเครือกฤษดามหานคร ที่มีสถานะเป็นลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ซึ่งในการกู้ยืมเงินได้มีการระบุว่าจะนำไปรีไฟแนนซ์หนี้สินกับสถาบันการเงินอื่น และซื้อที่ดินเพื่อทำโครงการ แต่ได้มีการนำเงินไปใช้ส่วนตัว โดยไม่มีการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ที่ขอกู้ยืมเงิน

วันเดียวกันนี้ ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้เตรียมรับผู้ต้องขังจำนวน 16 คน ที่มีโทษจำคุก 12 ปี โดยหลังจากรับตัวผู้ต้องขังจากศาลมายังเรือนจำ เจ้าหน้าที่ได้ทำประวัติผู้ต้องขังใหม่ และตรวจสุขภาพ พร้อมแนะนำการปฏิบัติตัวตามระเบียบเรือนจำ และทั้งหมดได้ถูกส่งตัวไปอยู่รวมกันภายในแดนแรกรับ เช่นเดียวกับผู้ต้องขังรายอื่น ทั้งนี้ พบว่า ผู้ต้องขังบางรายมีอาการเครียด

ส่วนผู้ต้องขังอีก 4 ราย ที่มีโทษจำคุก 18 ปี ได้ถูกส่งตัวไปคุมขังในเรือนจำกลางคลองเปรม
กำลังโหลดความคิดเห็น