xs
xsm
sm
md
lg

ทนาย “ปู” โร่ค้านบัญชีพยาน-เอกสารอัยการยื่นเพิ่มมัด “จำนำข้าว” อ้างถูกเอาเปรียบทางคดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
ASTV ผู้จัดการ - “นรวิชญ์ หล้าแหล่ง” ทนายยิ่งลักษณ์ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาคดีอาญานักการเมือง คัดค้านบัญชีพยานบุคคล 23 ปาก และเอกสารกว่า 7 หมื่นหน้าที่อัยการยื่นเพิ่มเติมในคดีจำนำข้าว อ้างไม่ได้เป็นพยานเอกสารที่เกิดขึ้นระหว่างการไต่สวนของ ป.ป.ช. ถือเป็นการเอาเปรียบทางคดี

ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (27 ส.ค.) นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยื่นหนังสือคัดค้านบัญชีพยานบุคคลจำนวน 23 ปาก และพยานเอกสารเกือบ 7 หมื่นแผ่น ที่อัยการสูงสุดได้ขอเพิ่มเติมนอกเหนือจากสำนวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

นายนรวิชญ์กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2552 มาตรา 5 ระบุอย่างชัดเจนว่า การพิจารณาคดีให้ศาลยึดรายงานของ ป.ป.ช.เป็นหลักในการพิจารณา ซึ่งพยานบุคคลและพยานเอกสารดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นในระหว่างการไต่สวนของ ป.ป.ช.จึงเป็นพยานหลักฐานนอกสำนวนห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อวินิจฉัยคดี โดยประเด็นนี้ในชั้นไต่สวนข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช. เราเคยร้องขอให้ไต่สวนพยานหลายปากซึ่งเป็นพยานสำคัญและเกี่ยวข้องกับการบริหารโครงการรับจำนำข้าวทั้งสิ้น แต่ ป.ป.ช.ได้รีบเร่งทำสำนวนและชึ้มูลความผิดทางอาญาโดยไม่ไต่สวนพยานตามที่ขอ ต่อมาอัยการสูงสุดได้รับสำนวนและมีความเห็นชี้ข้อไม่สมบูรณ์ 4 ประเด็น เพื่อให้มีการสอบเพิ่มเติม แต่ยังไม่ทันได้ไต่สวนข้อเท็จจริงตามข้อที่ไม่สมบูรณ์ อัยการก็มีคำสั่งฟ้องคดี จึงตั้งข้อสงสัยว่าการที่อัยการสูงสุดยื่นพยานหลักฐานเพิ่มเติมในชั้นนี้นั้น รายงานสำนวนการถอดถอนของ ป.ป.ช.มีความสมบูรณ์จนเป็นเหตุให้ สนช.ลงมติถอดถอนหรือไม่ และรายงานสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช.ที่ชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์สมบูรณ์จนเป็นเหตุให้มีความเห็นสั่งฟ้องหรือไม่ ดังนั้นจึงขอให้ศาลไม่รับพยานบุคคลและพยานหลักฐานที่เพิ่มเข้ามานอกสำนวนของ ป.ป.ช.ซึ่งศาลรับเรื่องไว้และนัดฟังคำสั่งวันที่ 31 ส.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า พยานบุคคลและเอกสารที่อัยการยื่นเพิ่มเข้ามามีอะไรบ้าง นายนรวิชญ์กล่าวว่า ตนยังไม่เห็นเอกสาร แต่เท่าที่ทราบจากเจ้าหน้าที่ พยานบุคคล 23 ปาก ประกอบด้วย สนช.และพนักงาน ป.ป.ช.ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ ส่วนเอกสารเป็นเอกสารเกี่ยวกับการระบายข้าวแบบจีทูจี ซึ่งก็ไม่เกี่ยวข้องกับคดีนี้เช่นกัน

เมื่อถามอีกว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำตำแหน่งทางการเมืองได้พิพากษาจำคุกกลุ่มผู้บริหารธนาคารกรุงไทย ซึ่งมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นจำแลยอยู่ด้วย ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์มีความกังวลเพิ่มขึ้นหรือไม่ นายนรวิชญ์กล่าวว่า ตนยังไม่ได้คุยกับลูกความในเรื่องนี้ ส่วนเรื่องจะขอเดินทางออกนอกประเทศหรือยังติดใจขอพิจารณาคดีลับหลังนั้นในตอนนี้ไม่มีแน่นอน

นายนรวิชญ์ได้แจกเอกสารเป็นคำกล่าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ระบุว่า ตามหลักกฎหมายและหลักของความเป็นธรรมโจทก์ไม่มีสิทธิเพิ่มพยานเอกสารและพยานบุคคลนอกเหนือจากสำนวนของ ป.ป.ช.ในชั้นนี้ ถือเป็นการเอาเปรียบทางคดีอย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อตัวดิฉันเป็นอย่างยิ่ง จึงยื่นหนังสือโต้แย้งไม่ให้ศาลรับพยานหลักฐานดังกล่าว

อัยการ เผย ศาลยังไม่ชี้ความผิด “ทักษิณ” คดีปล่อยกู้แบงค์กรุงไทย รอจับตัวดำเนินคดี

ด้านนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยถึง การตัดสินคดีปล่อยกู้แบงค์กรุงไทยที่มีการฟ้องที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยที่ 1 ต่อศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยมีพยานหนึ่งปากเบิกความไม่ชัดเจนว่า “บิ๊กบอส หรือซุปเปอร์บอส” หมายถึงใครว่า อัยการก็ต้องมีหลักฐานที่เพียงพอก่อนจะมีความเห็นสั่งฟ้องคดี ซึ่งเนื้อหาในคำฟ้องที่เกี่ยวข้องกับพ.ต.ท.ทักษิณ ไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากจะเสียรูปคดี

ขณะที่แหล่งข่าวจากสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงเรื่องเดียวกันนี้ว่า ศาลฎีกาฯ ได้วินิจฉัยในประเด็นที่ จำเลยอื่นมีส่วนร่วมสนับสนุนให้พ.ต.ท.ทักษิณกระทำผิดหรือไม่เท่านั้น โดยคดีนี้ศาลยังไม่ได้วินิจฉัยความผิดที่อัยการแจ้งข้อหากับพ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งตามหลักการหากภายหลังติดตามตัว พ.ต.ท.ทักษิณ จำเลยที่ 1 มาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ ศาลก็จะพิจารณาพฤติการณ์ในส่วนของพ.ต.ท.ทักษิณ อีกครั้ง ซึ่งการไต่สวนศาลสามารถสอบถามประเด็นที่สงสัยเพิ่มเติมได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับพ.ต.ท.ทักษิณ จำเลยที่ 1 เมื่อมีการยื่นฟ้องคดีนี้แล้วในปี 2555 ระหว่างนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่ระหว่างหลบหนี ศาลจึงมีคำสั่งให้ออกหมายจับและจำหน่ายชั่วคราวเฉพาะของพ.ต.ท.ทักษิณ จำเลยที่ 1 ตั้งแต่ปี 2555 ส่วนจำเลยอื่นอีก 26 รายที่มีทั้งผู้บริหารธนาคารกรุงไทย ผู้บริหารบริษัทเอกชนที่ได้รับประโยชน์จากการปล่อยกู้ และบริษัทนิติบุคคล ศาลได้วินิจฉัยพยานหลักฐานตามคำฟ้องของอัยการและสำนวนของป.ป.ช. กระทั่งมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยให้จำคุกจำเลยทั้งหมด 19 ราย และปรับบริษัทนิติบุคคล พร้อมทั้งให้จำเลยที่เกี่ยวข้องชดใช้เงินค่าเสียหายกว่า 1 หมื่นล้านบาทคืนให้กับธนาคารกรุงไทย

กำลังโหลดความคิดเห็น