องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รับฟ้อง “ยิ่งลักษณ์” คดีจำนำข้าว นัดพิจารณาคดีครั้งแรก 19 พ.ค. เวลา 09.30 น. เลือก “วีระพล ตั้งสุวรรณ” รองประธานศาลฎีกา เป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ด้านอัยการมั่นใจพยานหลักฐานเพียงพอแล้วที่จะให้ศาลรับฟังเป็นที่ยุติได้ ยัน “ปู” ต้องมาศาล 19 พ.ค. หากศาลอนุญาตปล่อยชั่วคราวแล้วพบยุ่งเหยิงพยานหลักฐานหรือหลบหนี อาจคัดค้านปล่อยชั่วคราว
เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (19 มี.ค.) ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ ศาลฎีกาฯ นัดฟังคำสั่ง ในคดีหมายเลขดำ อม.22/2558 ที่นายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในความผิดฐานละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฎิบัติหรือละเว้นการปฎิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว
โดยก่อนนัดฟังคำสั่ง องค์คณะได้มีมติเลือกนายวีระพล ตั้งสุวรรณ รองประธานศาลฎีกา เป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน
จากนั้นนายวีระพล พร้อมองค์คณะทั้ง 9 คน ได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำสั่ง โดยศาฎีกาฯพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาฯ ตามมาตรา 9 (1) แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาจองผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 และคำฟ้องโจทก์ถูกต้องตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาฯ พ.ศ.2343 ข้อ 8 จึงมีคำสั่งให้ประทับฟ้องคดีไว้ และนัดพิจารณาคดีครั้งแรก ในวันที่ 19 พ.ค. นี้ เวลา 09.30 น. โดยให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จำเลย โดยให้โจทก์หรือผู้แทนโจทก์นำเจ้าพนักงานศาลไปส่งหมายภายใน 7 วัน หากการส่งหมายไม่พบจำเลยหรือไม่มีผู้รับแทนโดยชอบให้ปิดหมายแทน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการฟังคำสั่งของศาลฎีกาวันนี้ โจทก์มีคณะทำงานอัยการประกอบด้วย นายชุติชัย สาขากร อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมคณะทำงานอัยการเดินทางมาฟังคำสั่งของศาล ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ฝ่ายจำเลย ไม่ได้เดินทางมาที่ศาล และไม่ได้ส่งทนายความหรือตัวแทนมาฟังคำสั่งแต่อย่างใด ทั้งนี้ภายหลังจากที่องค์คณะฯ มีคำสั่งประทับฟ้องแล้ว ทางศาลฎีกาฯ จะส่งหมายแจ้งให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางมาศาลเพื่อนัดพิจารณาครั้งแรกในวันที่ 19 พ.ค.นี้ ซึ่งในวันดังกล่าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะต้องเดินทางมาแสดงตัวต่อศาลด้วยตนเองเป็นครั้งแรกตามขั้นตอน โดยจะสอบคำให้การว่าจะรับสารภาพหรือให้การปฏิเสธ
ต่อมาเวลา 11.00 น. ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์ราชการฯ นายชุติชัย นายสุรศักดิ์ และนายโกศลวัฒน์ ร่วมแถลงข่าวภายหลังศาลฎีกาฯมีคำสั่งประทับรับฟ้องคดีที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นจำเลยต่อศาล
โดยนายสุรศักดิ์ กล่าวว่า ทางอัยการโจทก์ได้เตรียมพยานบุคคลไว้รวมจำนวน 13 ปาก ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่รัฐและเจ้าหน้าที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รวมทั้งพยานเอกสาร พยานวัตถุต่างๆ แผ่นซีดี โดยระบุไว้ในการจัดทำบัญชีพยาน เพื่อให้ข้อเท็จจริงส่วนใหญ่รับฟังได้เป็นที่ยุติว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องอย่างไรบ้าง และเพื่อยืนยันการได้มาซึ่งเอกสารราชการต่างๆ รวมทั้งประเด็นในข้อกฎหมายว่าจำเลยมีการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่ ซึ่งขณะนี้พยานหลักฐานฝ่ายโจทก์น่าจะเพียงพอแล้ว ทางอัยการมั่นใจว่าหลักฐานครบถ้วนทุกประเด็นตามที่ทางอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องเพื่อให้ศาลรับฟังเป็นที่ยุติได้ ส่วนจะสามารถเอาผิดให้ศาลลงโทษจำเลยได้หรือไม่นั้น สุดท้ายแล้วก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล ส่วนพยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยจะยื่นบัญชีพยานเท่าไหร่บ้างนั้น จะต้องรอดูในวันนัดตรวจพยานหลักฐานอีกครั้ง
นายสุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับวันนัดพิจารณาคดีครั้งแรกในวันที่ 19 พ.ค.นี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จำเลยจะต้องเดินทางมารายงานตัวต่อศาลด้วยตนเอง ซึ่งโจทก์ได้ประสานไปยังเจ้าหน้าที่ศาลในการส่งหมายแจ้งให้จำเลยรับทราบตามแหล่งที่อยู่ที่ระบุในคำฟ้อง ถึงแม้ว่าตัวจำเลยจะไม่อยู่ก็สามารถปิดหมายได้เลยและถือว่าจำเลยรับทราบแล้ว แต่หากในวันดังกล่าวจำเลยไม่ได้เดินทางมารายงานตัว ศาลก็อาจจะพิจารณาออกหมายจับก็ได้ สำหรับขั้นตอนในวันนัดพิจารณาคดีครั้งแรกนั้น ศาลจะอ่านและอธิบายคำฟ้องให้จำเลยเข้าใจ และสอบถามจำเลยว่าจะให้การรับสารภาพหรือปฏิเสธอย่างไร รวมทั้งศาลจะมีคำสั่งในเรื่องการขอปล่อยชั่วคราว จากนั้นก็จะกำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานอีกครั้ง โดยคู่ความทั้งสองฝ่ายจะต้องยื่นบัญชีพยานว่ามีจำนวนกี่ปาก สืบประเด็นไหนและอะไรบ้าง จากนั้นก็จะกำหนดวันนัดไต่สวนพยาน ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจนัดพิจารณาลับหลังจำเลยได้ ส่วนตัวจำเลยก็ไม่จำเป็นต้องเดินทางมาศาลในวันนัดไต่สวนพยานก็ได้
เมื่อถามว่าหากในวันที่ 19 พ.ค. นี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะขอศาลเลื่อนนัดพิจารณาครั้งแรกได้หรือไม่ นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า หากจำเลยไม่ได้เดินทางมาที่ศาลและขอเลื่อนนัดพิจารณาครั้งแรก ก็ขึ้นอยู่ที่ดุลยพินิจของศาลว่าจะอนุญาตหรือไม่ ส่วนเรื่องการขอเดินทางออกนอกประเทศนั้นก็อยู่ในการพิจารณาของศาลเช่นกัน แต่ทางอัยการเชื่อว่าในวันดังกล่าวจำเลยน่าจะเดินทางมาที่ศาลตามนัด ทั้งนี้หากศาลสอบถามอัยการโจทก์ในเรื่องการขอปล่อยชั่วคราว ก็จะต้องดูข้อเท็จจริงในขณะนั้นก่อนจะแถลงต่อศาลอีกครั้ง อย่างไรก็ตามแม้ว่าศาลจะมีคำสั่งอนุญาตปล่อยชั่วคราวจำเลยไปแล้ว แต่หากสมมุติภายหลังพบว่าจำเลยมีพฤติการณ์ยุ่งเหยิงพยานหลักฐานหรือมีพฤติการณ์หลบหนี ทางอัยการก็สามารถยื่นคำร้องคัดค้านการปล่อยชั่วคราวได้เช่นกัน แต่ว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของอนาคตขอให้อย่าเพิ่งไปคาดเดา
เมื่อถามว่าก่อนจะถึงวันนัดพิจารณาคดีครั้งแรกในวันที่ 19 พ.ค. นี้ จำเลยจะสามารถเดินทางมารายงานตัวต่อศาลและยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวก่อนได้หรือไม่ นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องการมารายงานตัวต่อศาลและการขอปล่อยชั่วคราวนั้น เป็นเรื่องระหว่างตัวจำเลยกับทางศาล
เมื่อถามว่าทางอัยการจะมีการขอคุ้มครองพยานในคดีนี้หรือไม่ นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า ในเบื้องต้นทางอัยการยังไม่ได้รับรายงานถึงการข่มขู่คุกคามพยานแต่อย่างใด
ด้านนายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทีมทนายความ ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ทีมทนายความ ยังไม่ได้หารือกันถึงรายละเอียดคดี เพราะรอดูคำฟ้องของอัยการที่จะส่งสำเนามาให้พร้อมกับหมายก่อน ส่วนที่อัยการระบุเตรียมพยานไว้นำสืบ 13 ปากนั้น เราต้องดูก่อนว่าคำฟ้องของอัยการบรรยายพฤติการณ์กล่าวเรา น.ส.ยิ่งลักษณ์ อย่างไรบ้าง ทีมทนายความจึงจะประชุมหารือกำหนดพยานบุคคลอีกครั้งว่าฝ่ายจำเลยจะมีใครบ้าง สำหรับการเตรียมหลักทรัพย์ประกันตัวนั้น เราก็ยังไม่ได้หารือกันว่าจะใช้เงินสด หรือทรัพย์สินใด ๆ ขณะที่มูลค่าหลักทรัพย์ต้องยื่นเท่าใด เป็นดุลยพินิจของศาลที่จะกำหนดว่าตีราคาประกันเท่าใด อย่างไรก็ดีทุกอย่างต้องรอความชัดเจน หลังจากการหารือกันในทีมทนายความอีกครั้งเมื่อได้รับสำเนาคำฟ้องของอัยการโจทก์มาแล้ว