xs
xsm
sm
md
lg

วิบากกรรม “ยิ่งลักษณ์” เข้าคอกจำเลยโกงข้าว!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รายงานการเมือง

อาจเพราะทีมทนายความยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ดูแล้วไม่เห็นประเด็นที่จะนำไปสู่การคัดค้าน “องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกา” ในคดียิ่งลักษณ์ ที่ถูกอัยการสูงสุดยื่นฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ยื่นไปเมื่อช่วงกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เลยทำให้จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีข่าวออกมว่าทีมทนายความยิ่งลักษณ์ จะยื่นคำร้องคัดค้านการเป็นองค์คณะของผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาไปเมื่อ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา

ขานชื่อกันอีกที สำหรับองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาฯ ในคดียิ่งลักษณ์ มีใครกันบ้าง...

นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานแผนกคดีภาษีอากรในศาลฎีกา, นายวิรุฬห์ แสงเทียน ประธานแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจในศาลฎีกา, นายธนฤกษ์ นิติเศรณี ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา, นายธนสิทธิ์ นิลกำแหง ประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา, นายศิริชัย วัฒนโยธิน รองประธานศาลฎีกา, นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา, นายวีระพล ตั้งสุวรรณ รองประธานศาลฎีกา, นางอุบลรัตน์ ลุยวิกกัย ประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลฎีกา และนายธานิศ เกศวพิทักษ์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา

ถือว่าน่าสนใจไม่น้อยที่ระดับรองประธานศาลฎีกามานั่งเป็นองค์คณะในคดีนี้ถึง 3 คน และประธานแผนกคดีในศาลฎีกา อีก 5 คน ส่วนอีกหนึ่งคนก็เป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกาที่เป็นระดับอดีตรองประธานศาลฎีกา

เมื่อมาถึงตอนนี้ที่ใกล้เข้าสู่นัดหมายที่ศาลฎีกาฯ จะแจ้งว่าศาลจะรับฟังคำสั่งฟ้องหรือไม่ ในวันพฤหัสบดีที่ 19 มี.ค.นี้แล้ว แต่เมื่อไม่ปรากฏข่าวออกมาว่าทีมทนายความยิ่งลักษณ์ไปร้องคัดค้านองค์คณะฯ อะไร ก็หมายความว่าวันที่ 19 มี.ค. ถึงเวลาลุ้นว่า ยิ่งลักษณ์ จะตกเป็นจำเลยในคดีนี้อย่างเป็นทางการหรือไม่

กระนั้นหลายคนรวมถึงแม้แต่ฝ่ายทนายความยิ่งลักษณ์ ดูจะมองการสู้คดีนี้ไปไกลเกินกว่าวันที่ 19 มี.ค.นี้แล้ว มีกระแสข่าวว่าฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย มองไปถึงการเตรียมการสู้คดีในขั้นตอนอื่นๆ ไปแล้ว เช่นจะเรียกใครมาเป็นพยานบ้างหรือการวิเคราะห์ทิศทางคดีกันแล้วว่าจะออกมาแบบไหน

พูดง่ายๆ คือฝ่ายยิ่งลักษณ์ เทน้ำหนักคดีนี้ไปไกลเกินกว่าวันที่ 19 มี.ค.ที่ศาลจะบอกว่า จะรับฟ้องหรือไม่รับฟ้องที่เป็นขั้นตอนปกติของการพิจารณาคดีไปแล้วนั่นเอง

ตรงนี้หมายความถึงอย่างไร คงต้องไม่ต้องอธิบายความกันมากมาย จึงไม่แปลกที่คนจะพูดกันว่า 19 มี.ค.นี้ไม่มีอะไรให้ลุ้นนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม กระบวนการคัดค้านองค์คณะฯนั้น ไม่ใช่ว่า ทีมทนายความยิ่งลักษณ์ไม่คัดค้านในช่วงก่อน 19 มี.ค.แล้วจะเสียสิทธิ เพราะเมื่อไปดูพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 16 ก็บัญญัติไว้ว่า

“หากคู่ความฝ่ายใดประสงค์จะคัดค้านผู้พิพากษาคนใดที่ได้รับเลือกเป็นผู้พิพากษาในองค์คณะผู้พิพากษา เนื่องจากมีเหตุอันจะคัดค้านผู้พิพากษาได้ให้ยื่นคำร้องต่อศาลก่อนเริ่มการไต่สวนพยานหลักฐาน ในการนี้ให้องค์คณะผู้พิพากษาไต่สวนตามที่เห็นสมควรแล้วมีคำสั่งยอมรับหรือยกคำคัดค้าน คำสั่งนี้เป็นที่สุด และให้นำบทบัญญัติว่าด้วย การคัดค้านผู้พิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม การคัดค้านผู้พิพากษาจะกระทำมิได้ หากได้เริ่มการไต่สวนพยานหลักฐานไปแล้ว เว้นแต่ผู้คัดค้านจะสามารถแสดงต่อศาลได้ว่ามีเหตุสมควรทำให้ไม่สามารถคัดค้านได้ก่อนนั้น”

จึงหมายถึงว่าก็ยังมีเวลาที่ทีมทนายความจะใช้สิทธิร้องคัดค้านองค์คณะฯ ได้อยู่ แต่เบื้องต้น คาดว่าทีมทนายความคงไม่ยื่นอะไรในประเด็นนี้แล้ว เอาเวลาไปเตรียมการช่วยลูกความยิ่งลักษณ์จะดีกว่า

ทั้งนี้ ลำดับขั้นตอนการพิจารณาคดีตามกฎหมายและข้อกำหนดเกี่ยวกับการดําเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2543 จะพบว่า หากศาลฎีกาฯรับฟ้องคดีแล้ว ศาลก็จะมีการนัดหมายเปิดคดีวันแรก ที่ก็คือการให้คู่ความสองฝ่ายมาพร้อมกันที่ห้องพิจารณาคดีแล้ว ศาลก็จะถามจำเลยว่า จากคำฟ้องดังกล่าว จำเลยจะรับสารภาพว่าทำผิดตามฟ้องหรือไม่ หากจำเลยไม่รับสารภาพ ก็จะมีการแจ้งสิทธิต่างๆ ให้จำเลยทราบ แล้วก็เข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาคดีต่อไป

เช่น ขั้นตอนการตรวจพยานหลักฐานต่างๆ ของทั้งสองฝ่าย เช่น การดูบัญชีรายชื่อพยานของแต่ละฝ่ายที่ยื่นต่อศาลฎีกาฯ ว่ามีใครบ้าง ขั้นตอนนี้อัยการก็จะได้เห็นบัญชีรายชื่อพยานของฝ่ายจำเลย เช่นเดียวกัน ฝ่ายจำเลยก็จะได้เห็นบัญชีรายชื่อพยานของฝ่ายโจทก์ รวมถึงพยานหลักฐานอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาคดีของศาลฎีกาฯ เป็นการพิจารณาแบบไต่สวน ดังนั้น หากองค์คณะฯ เห็นว่าสมควรต้องเรียกบุคคลมาเบิกความในชั้นศาล แม้บุคคลดังกล่าวจะไม่ได้ถูกระบุชื่อไว้เป็นพยานของคู่ความ ทางศาลก็สามารถเรียกมาเบิกความได้ แตกต่างจากระบบกล่าวหาที่ใช้ในคดีอาญาปกติของศาลยุติธรรม

ผลของความคืบหน้าในคดียิ่งลักษณ์จะออกมาประการใด คงต้องรอฟังอย่างเป็นทางการ การจะไปก้าวล่วงวิเคราะห์ไว้ล่วงหน้าก่อนที่จะมีการประกาศเรื่องนี้อย่างเป็นทางการอาจไม่เหมาะสม ก็ต้องดูกันในวันดังกล่าว

ส่วนเรื่องความคืบหน้าหลังจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีมติส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังฟ้องเรียกค่าเสียหายจากยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรณีบริหารโครงการรับจำนำข้าวแล้วทำให้รัฐเสียหายจากโครงการดังกล่าวร่วม 6 แสนล้านบาท

พบว่าหลังมีการส่งเรื่องไปยังกระทรวงการคลัง ตอนนี้ข่าวว่ากระทรวงการคลังกับทางฝ่ายกฎหมายรัฐบาลนำโดย วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ก็กำลังดูมติที่ ป.ป.ช.ส่งมารวมถึงขั้นตอนทางกฎหมายอะไรต่างๆ อยู่ว่าจะไปช่องทางไหน

เพราะจากเดิมที่หลายคนมองว่าน่าจะต้องไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายที่ศาลแพ่ง เหมือนกับบางคดีก่อนหน้านี้ที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน แต่ล่าสุดดูเหมือนว่าสุดท้าย ปลายทางของคดีนี้อาจไปที่ศาลปกครองเสียแล้ว โดยมีข่าวว่ารัฐบาลอาจจะรวมสำนวนที่เกี่ยวกับโครงการรับคดีจำนำข้าวทั้งหมดคือคดีของยิ่งลักษณ์และคดีที่ ป.ป.ช.ชี้มูลกับ บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ที่เป็นลักษณะคดีแพ่งให้รวมเป็นสำนวนฟ้องคดีเดียวกันในการยื่นฟ้องต่อศาล

เบื้องต้นรัฐบาลกำหนดขั้นตอนไว้ว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาข้อเท็จจริง และกำหนดจำนวนข้าวเสียหายขึ้นมาก่อน จากนั้นพอได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ทางกรรมการชุดนี้ก็จะส่งเรื่องไปที่คณะกรรมการพิจารณาเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง ซึ่งมีอธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นประธาน

โดยขั้นตอนนั้นจะต้องมีการยื่นฟ้องภายในไม่เกิน ก.พ. 2560 เพราะคดีมีอายุความไม่เกิน 2 ปี นับแต่ปี 58 ที่ ป.ป.ช.ส่งเรื่องมา

รัฐบาลขีดเส้นไว้ว่าน่าจะฟ้องได้ภายในไม่เกินสิ้นปีนี้ ที่ก็ดีแล้ว ต้องมีกำหนดเวลาชัดเจน เพราะหากรัฐบาลจะไปรอฟ้องตอนที่มีการ เปิดแผนก “คดีวินัยการเงิน การคลังและงบประมาณในศาลปกครอง” ก็อาจล่าช้าเกินไป เพราะแนวคิดการเปิดศาลแผนกดังกล่าวของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการให้มีไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีเพราะขั้นตอนคดีจะเร็ว แต่เมื่อร่างรัฐธรรมนูญยังเป็นวุ้นอยู่ แถมอาการก็ยังลูกผีลูกคน จะได้มีผลบังคับใช้ออกมาหรือไม่ ก็ยังไม่มีใครบอกได้

หรือว่าหากผ่านออกมาจริงก็ต้องมีการไปดำเนินการขั้นตอนต่างๆมากมายเช่นการออกกฎหมายหรือระเบียบการต่างๆ ของศาลปกครองมารองรับการเปิดแผนกคดีดังกล่าว คาดว่าขั้นตอนต่างๆ ก็ต้องใช้เวลาเป็นแรมปี ดังนั้น ยังไงรัฐบาลก็สะสางคดีแพ่งในส่วนนี้ให้เสร็จไปก่อน และต้องให้ประชาชนทราบความชัดเจนทุกระยะว่า จะฟ้องตอนไหน จะเรียกค่าเสียหายเท่าใด

เพราะเรื่องนี้กับสำนวนคดีอาญาในศาลฎีกาฯ เป็นคนละส่วนกัน กระทรวงการคลังไม่จำเป็นต้องรอฟังผลการตัดสินคดีของศาลฎีกาฯ แต่อย่างใด สามารถฟ้องได้เลย

เหล่านี้คือความคืบหน้าทั้งคดีอาญา-คดีแพ่ง ที่ยิ่งลักษณ์ต้องเผชิญหลัง บริหารโครงการจำนำข้าวจนเจ๊งคามือ
กำลังโหลดความคิดเห็น