xs
xsm
sm
md
lg

วิบากกรรม"ยิ่งลักษณ์" เข้าคอกจำเลยโกงข้าว!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

**อาจเพราะทีมทนายความ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ดูแล้วไม่เห็นประเด็นที่จะนำไปสู่การคัดค้าน "องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกา" ในคดียิ่งลักษณ์ ที่ถูกอัยการสูงสุดยื่นฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ยื่นไปเมื่อช่วงกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เลยทำให้จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีข่าวออกมว่า ทีมทนายความยิ่งลักษณ์ จะยื่นคำร้องคัดค้านการเป็นองค์คณะของผู้พิพากษาศาลฎีกา ที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ไปเมื่อ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา
ขานชื่อกันอีกที สำหรับองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาฯ ในคดียิ่งลักษณ์ มีใครกันบ้าง...นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานแผนกคดีภาษีอากรในศาลฎีกา นายวิรุฬห์ แสงเทียน ประธานแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจในศาลฎีกา นายธนฤกษ์ นิติเศรณี ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา
นายธนสิทธิ์ นิลกำแหง ประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา นายศิริชัย วัฒนโยธิน รองประธานศาลฎีกา นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา นายวีระพล ตั้งสุวรรณ รองประธานศาลฎีกา นางอุบลรัตน์ ลุยวิกกัย ประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลฎีกา และ นายธานิศ เกศวพิทักษ์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา
ถือว่าน่าสนใจไม่น้อยที่ระดับ รองประธานศาลฎีกา มานั่งเป็นองค์คณะในคดีนี้ถึง 3 คน และประธานแผนกคดีในศาลฎีกา อีก 5 คน ส่วนอีกหนึ่งคนก็เป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ที่เป็นระดับอดีตรองประธานศาลฎีกา
เมื่อมาถึงตอนนี้ที่ใกล้เข้าสู่นัดหมายที่ศาลฎีกาฯจะแจ้งว่า ศาลจะรับฟังคำสั่งฟ้องหรือไม่ ในวันพฤหัสบดีที่ 19 มี.ค.นี้แล้ว แต่เมื่อไม่ปรากฏข่าวออกมาว่า ทีมทนายความยิ่งลักษณ์ไปร้องคัดค้านองค์คณะฯ อะไร ก็หมายความว่า วันที่ 19 มี.ค. ถึงเวลาลุ้นว่า ยิ่งลักษณ์ จะตกเป็นจำเลยในคดีนี้ อย่างเป็นทางการ หรือไม่
กระนั้นหลายคนรวมถึงแม้แต่ฝ่ายทนายความยิ่งลักษณ์ ดูจะมอง การสู้คดีนี้ไปไกลเกินกว่า วันที่ 19 มี.ค.นี้แล้ว มีกระแสข่าวว่า ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย มองไปถึงการเตรียมการสู้คดีในขั้นตอนอื่นๆไปแล้ว เช่น จะเรียกใครมาเป็นพยานบ้าง หรือการวิเคราะห์ทิศทางคดีกันแล้วว่าจะออกมาแบบไหน
**พูดง่ายๆคือ ฝ่ายยิ่งลักษณ์ เทน้ำหนักคดีนี้ไปไกลเกินกว่าวันที่ 19 มี.ค.ที่ศาลจะบอกว่า จะรับฟ้องหรือไม่รับฟ้อง ที่เป็นขั้นตอนปกติของการพิจารณาคดีไปแล้วนั่นเอง
**ตรงนี้หมายความถึงอย่างไร คงต้องไม่ต้องอธิบายความกันมากมาย จึงไม่แปลก ที่คนจะพูดกันว่า 19 มี.ค.นี้ ไม่มีอะไรให้ลุ้นนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม กระบวนการคัดค้านองค์คณะฯนั้น ไม่ใช่ว่า ทีมทนายความยิ่งลักษณ์ไม่คัดค้านในช่วงก่อน 19 มี.ค. แล้วจะเสียสิทธิ เพราะเมื่อไปดู พระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญา ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 16 ก็บัญญัติไว้ว่า
“หากคู่ความฝ่ายใดประสงค์จะคัดค้านผู้พิพากษาคนใดที่ได้รับเลือกเป็นผู้พิพากษาในองค์คณะผู้พิพากษา เนื่องจากมีเหตุอันจะคัดค้านผู้พิพากษาได้ ให้ยื่นคำร้องต่อศาลก่อนเริ่มการไต่สวนพยานหลักฐาน ในการนี้ ให้องค์คณะผู้พิพากษาไต่สวนตามที่เห็นสมควรแล้วมีคำสั่งยอมรับ หรือยกคำคัดค้านคำสั่งนี้เป็นที่สุด และให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการคัดค้านผู้พิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม การคัดค้านผู้พิพากษาจะกระทำมิได้ หากได้เริ่มการไต่สวนพยานหลักฐานไปแล้ว เว้นแต่ผู้คัดค้าน จะสามารถแสดงต่อศาลได้ว่า มีเหตุสมควรทำให้ไม่สามารถคัดค้านได้ก่อนนั้น”
จึงหมายถึงว่า ก็ยังมีเวลาที่ทีมทนายความจะใช้สิทธิร้องคัดค้านองค์คณะฯได้อยู่ แต่เบื้องต้น คาดว่าทีมทนายความคงไม่ยื่นอะไรในประเด็นนี้แล้ว เอาเวลาไปเตรียมการช่วยลูกความ ยิ่งลักษณ์ จะดีกว่า
ทั้งนี้ ลำดับขั้นตอนการพิจารณาคดีตามกฎหมายและข้อกำหนดเกี่ยวกับการดําเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2543 จะพบว่า หากศาลฎีกาฯ รับฟ้องคดีแล้ว ศาลก็จะมีการนัดหมายเปิดคดีวันแรก ที่ก็คือการให้คู่ความสองฝ่ายมาพร้อมกันที่ห้องพิจารณาคดีแล้ว ศาลก็จะถามจำเลยว่า จากคำฟ้องดังกล่าว จำเลยจะรับสารภาพว่าทำผิดตามฟ้องหรือไม่ หากจำเลยไม่รับสารภาพ ก็จะมีการแจ้งสิทธิต่างๆ ให้จำเลยทราบ แล้วก็เข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาคดีต่อไป
เช่น ขั้นตอนการตรวจพยานหลักฐานต่างๆ ของทั้งสองฝ่าย เช่น การดูบัญชีรายชื่อพยานของแต่ละฝ่ายที่ยื่นต่อศาลฎีกาฯ ว่ามีใครบ้าง ขั้นตอนนี้ อัยการก็จะได้เห็นบัญชีรายชื่อพยานของฝ่ายจำเลย เช่นเดียวกัน ฝ่ายจำเลยก็จะได้เห็นบัญชีรายชื่อพยานของฝ่ายโจทก์ รวมถึงพยานหลักฐานอื่นๆ
**อย่างไรก็ตาม การพิจารณาคดีของศาลฎีกาฯ เป็นการพิจารณาแบบไต่สวน ดังนั้น หากองค์คณะฯ เห็นว่าสมควรต้องเรียกบุคคลมาเบิกความในชั้นศาล แม้บุคคลดังกล่าวจะไม่ได้ถูกระบุชื่อไว้เป็นพยานของคู่ความ ทางศาลก็สามารถเรียกมาเบิกความได้ ซึ่งแตกต่างจากระบบกล่าวหา ที่ใช้ในคดีอาญาปกติของศาลยุติธรรม
ซึ่งผลของความคืบหน้าในคดียิ่งลักษณ์ จะออกมาประการใด คงต้องรอฟังอย่างเป็นทางการ การจะไปก้าวล่วงวิเคราะห์ไว้ล่วงหน้าก่อนที่จะมีการประกาศเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ อาจไม่เหมาะสม ก็ต้องดูกันในวันดังกล่าว
ส่วนเรื่องความคืบหน้า หลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีมติส่งเรื่องให้กระทรวงการคลัง ฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรณีบริหารโครงการรับจำนำข้าวแล้วทำให้รัฐเสียหายจากโครงการดังกล่าวร่วม 6 แสนล้านบาท พบว่าหลังมีการส่งเรื่องไปยังกระทรวงการคลัง ตอนนี้ ข่าวว่ากระทรวงการคลัง กับทางฝ่ายกฎหมายรัฐบาล นำโดย วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ก็กำลังดูมติที่ ป.ป.ช. ส่งมารวมถึงขั้นตอนทางกฎหมายอะไรต่างๆ อยู่ ว่าจะไปช่องทางไหน
เพราะจากเดิมที่หลายคนมองว่า น่าจะต้องไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายที่ศาลแพ่ง เหมือนกับบางคดีก่อนหน้านี้ ที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน แต่ล่าสุด ดูเหมือนว่าสุดท้ายปลายทางของคดีนี้ อาจไปที่ศาลปกครองเสียแล้ว โดยมีข่าวว่ารัฐบาลอาจจะรวมสำนวนที่เกี่ยวกับโครงการรับคดีจำนำข้าวทั้งหมดคือ คดีของยิ่งลักษณ์ และคดีที่ ป.ป.ช.ชี้มูลกับ บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ที่เป็นลักษณะคดีแพ่ง ให้รวมเป็นสำนวนฟ้องคดีเดียวกัน ในการยื่นฟ้องต่อศาล เบื้องต้นรัฐบาลกำหนดขั้นตอนไว้ว่า จะมีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาข้อเท็จจริง และกำหนดจำนวนข้าวเสียหายขึ้นมาก่อน จากนั้นพอได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ทางกรรมการชุดนี้ก็จะส่งเรื่องไปที่ คณะกรรมการพิจารณาเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง ซึ่งมีอธิบดีกรมบัญชีกลาง เป็นประธาน
**โดยขั้นตอนนั้นจะต้องมีการยื่นฟ้องภายในไม่เกิน ก.พ. 2560 เพราะคดีมีอายุความไม่เกิน 2 ปี นับแต่ปี 58 ที่ป.ป.ช. ส่งเรื่องมา
รัฐบาลขีดเส้นไว้ว่า น่าจะฟ้องได้ภายในไม่เกินสิ้นปีนี้ ที่ก็ดีแล้ว ต้องมีกำหนดเวลาชัดเจน เพราะหากรัฐบาลจะไปรอฟ้องตอนที่มีการ เปิดแผนก "คดีวินัยการเงิน การคลัง และงบประมาณในศาลปกครอง" ก็อาจล่าช้าเกินไป เพราะแนวคิดการเปิดศาลแผนกดังกล่าว ของคณะกรรมาธิการยกร่าง รธน. ที่ต้องการให้มีไว้ใน ร่าง รธน.ฉบับใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะขั้นตอนคดีจะเร็ว แต่เมื่อ ร่างรธน.ยังเป็นวุ้นอยู่ แถมอาการก็ยังลูกผีลูกคน จะได้มีผลบังคับใช้ออกมาหรือไม่ ก็ยังไม่มีใครบอกได้
หรือว่าหากผ่านออกมาจริง ก็ต้องมีการไปดำเนินการขั้นตอนต่างๆ มากมาย เช่น การออกกฎหมายหรือระเบียบการต่างๆ ของศาลปกครอง มารองรับการเปิดแผนกคดีดังกล่าว คาดว่าขั้นตอนต่างๆ ก็ต้องใช้เวลาเป็นแรมปี ดังนั้น ยังไงรัฐบาลก็สะสางคดีแพ่งในส่วนนี้ให้เสร็จไปก่อน และต้องให้ประชาชนทราบความชัดเจนทุกระยะว่า จะฟ้องตอนไหน จะเรียกค่าเสียหายเท่าใด
**เพราะเรื่องนี้กับสำนวนคดีอาญาในศาลฎีกาฯ เป็นคนละส่วนกัน กระทรวงการคลัง ไม่จำเป็นต้องรอฟังผลการตัดสินคดีของศาลฎีกาฯ แต่อย่างใด สามารถฟ้องได้เลย
**เหล่านี้คือ ความคืบหน้าทั้งคดีอาญา-คดีแพ่ง ที่ ยิ่งลักษณ์ ต้องเผชิญ หลังบริหารโครงการจำนำข้าวจนเจ๊งคามือ
กำลังโหลดความคิดเห็น