xs
xsm
sm
md
lg

ตั้ง9อรหันต์คดีข้าว‘ปู’ เจ๊งเพิ่มเป็น7แสนล.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ได้องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกา 9 คน พิจารณาคำฟ้องคดี “ยิ่งลักษณ์” แล้ว หากรับฟ้องต้องมาศาลด้วยตนเองวันพิจารณาคดีนัดแรก "วิษณุ"ยังไม่คุย รมว.คลัง เชื่อมีขรก.เอี่ยวแน่นอน ย้ำหลักฐานจากป.ป.ช. สำคัญ ขณะที่ปลัดคลังเผยล่าสุด ณ ก.ย.57 เจ๊งจำนำข้าวเพิ่มเป็น 7 แสนล้าน “พาณิชย์”ประกาศเปิดประมูลข้าวอีก 1 ล้านตัน ชี้แจงรายละเอียด 26 ก.พ. กำหนดเงื่อนไขเข้ม ป้องกันบริษัททุจริต เคยทุจริต หรือนอมินี ร่วมประมูล

วานนี้ (24 ก.พ.) ที่ศาลฎีกา ถนนแจ้งวัฒนะ นายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา เรียกประชุมใหญ่ผู้พิพากษาศาลฎีกาผู้พิพากษา 146 คน เพื่อคัดเลือกองค์คณะผู้พิพากษา 9 คน พิจารณาพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อม.22/2558 ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตาม ป.อาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 4, มาตรา 123/1

การประชุมใช้วิธีลงคะแนนลับ ผลการนับคะแนนปรากฏว่าผู้พิพากษาในศาลฎีกาที่ได้รับเลือกเป็นองค์คณะทั้ง 9 คน คือ

1. นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานแผนกคดีภาษีอากรในศาลฎีกา 2. นายวิรุฬห์ แสงเทียน ประธานแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจในศาลฎีกา 3. นายธนฤกษ์ นิติเศรณี ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา 4. นายธนสิทธิ์ นิลกำแหง ประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา 5. นายศิริชัย วัฒนะโยธิน รองประธานศาลฎีกา

6. นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา 7. นายวีระพล ตั้งสุวรรณ รองประธานศาลฎีกา 8. นางอุบลรัตน์ ลุยวิกกัย ประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลฎีกา และ 9. นายธานิต เกศวพิทักษ์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา

สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ นายดิเรกจะลงนามรับรองและประกาศรายชื่อองค์คณะผู้พิพากษาไว้ที่ศาลฎีกาภายใน 5 วันนับแต่วันประชุมใหญ่เพื่อให้คู่ความทราบ และมีโอกาสคัดค้านผู้พิพากษาที่ได้รับเลือก ซึ่งการยื่นคัดค้านคู่ความสามารถยื่นได้ตั้งแต่วันที่มีการติดประกาศไปจนก่อนที่จะเริ่มมีการไต่สวนพยานในคดี

ต่อมาองค์คณะผู้พิพากษาที่ได้รับเลือกจะทำการเลือกผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน 1 คน โดยใช้วิธีลงคะแนนลับเช่นเดียวกัน

หลังจากนั้นองค์คณะจะร่วมกันพิจารณาคำฟ้องของโจทก์ว่าเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายที่จะประทับฟ้องไว้พิจารณาได้หรือไม่ ในวันที่ 19 มี.ค.นี้ พร้อมทั้งกำหนดวันพิจารณาคดีครั้งแรก ในวันดังกล่าว น.ส.ยิ่งลักษณ์จะต้องเดินทางมายังศาลฎีกาด้วยตนเอง

***'วิษณุ'คุยจนท.ก่อนหารือคลังฟัน'ปู'

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้า กรณีที่นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ดูข้อกฏหมายในการดำเนินการทางแพ่งเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว จากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า ก่อนหน้านี้ นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง ได้นัดที่จะมาพบตนในวันที่ 24 ก.พ. แต่ตนได้ขอคุยกับเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อย จากหลายหน่วยงานที่รู้เรื่องในฐานะผู้ปฏิบัติ มาให้ข้อมูลกับตนก่อน เพราะตนถือว่ายังใหม่กับเรื่องนี้มาก จากนั้นจึงจะนัดคุยทางด้านนโยบายกับ รมว.คลัง อีกครั้ง ประมาณ 1-2 วันนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า คดีนี้ต้องดูไปถึงมติครม. ด้วยหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ก็คงต้องดูแน่ แต่เป็นการดูในหลักใหญ่ๆ เท่านั้น เพราะคนที่ทำเขาก็มีหน้าที่ทำอยู่แล้ว ส่วนที่มีข้าราชการเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยนั้น รองนายกฯ กล่าวว่า ก็คงมีแน่นอน ซึ่งจะฟังเจ้าหน้าที่ว่า วันนี้เรารู้ตัวคนที่รับผิดชอบแล้วหรือยัง และแบ่งเป็นกี่ประเภท เป็นนักการเมือง หรือเป็นข้าราชการ หรือเป็นเอกชน และจะแยกกันทำอย่างไร เพราะบางทีอายุความจะต่างกัน ข้อหาก็อาจจะแตกต่างกัน ที่สำคัญคือ จะต้องได้หลักฐานจากทาง ป.ป.ช. ด้วย ทั้งนี้ เวลาจะฟ้องเราก็ต้องรู้ด้วยว่าจะฟ้องใคร และมูลค่าความเสียหายเท่าไร

***คลังเผยล่าสุดเจ๊งจำนำข้าวเพิ่มเป็น 7 แสนล.

นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว เปิดเผยผลขาดทุนโครงการรับจำนำข้าวจนถึงวันที่ 30 ก.ย.57 ว่า มีผลขาดทุนเพิ่มขึ้นจากเดิม 1.8 หมื่นล้านบาท เป็น 7 แสนล้านบาท ในส่วนนี้เป็นของ 4 โครงการในสมัยรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำนวน 5.36 แสนล้านบาท และเป็นของ 11 โครงการก่อนหน้า จำนวน 1.63 แสนล้านบาท การปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวในรอบนี้มีการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การคิดค่าเสื่อมราคาสินค้าคงเหลือ เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น จากเดิมจะคิดค่าเสื่อมแบบขั้นบันได โดย 1 ปี คิด 10% 2 ปี คิด 20% จนสิ้นสุด 4 ปี 40%

สำหรับข้อมูลที่ใช้ในการปิดบัญชีเป็นข้อมูลของคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐที่มีม.ล. ปนัดดา ดิสกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งมีการแยกข้าวเป็นเกรดซึ่งเป็นประโยชน์ในการปิดบัญชีค่อนข้างมาก ในส่วนข้าวเกรด ซี จะเป็นข้าวเน่าหัก ต่ำกว่ามาตรฐานค่อนข้างมากมีจำนวน 4.7 ล้านตัน โดยราคาที่ใช้วินิจฉัยตามสภาพข้าว ในส่วนข้าวขาว 5% จะอยู่ที่ 8,750 บาท/ตัน ขณะที่ข้าวหอมมะลิ จะอยู่ที่ 1.09 หมื่นบาท/ตัน นอกจากนี้ ยังมีข้าวเกรด เอ 1-บี 4 จำนวน 7.5 ล้านตัน เกรด เอ-บี 2.9 ล้านตัน ในส่วนนี้ไม่สามารถเปิดเผยราคาได้ เพราะส่งผลกระทบต่อการขายในอนาคต อีกทั้งยังมีข้าวกองล้มที่ไม่ได้คิดผลกำไรขาดทุนอีก จำนวน 4.25 แสนตัน ข้าวค้างในสต็อกอีก 17.5 ล้านตัน คิดเป็นวงเงิน 3 แสนล้านบาท ข้าวผิดชนิด 6.8 หมื่นตัน ในส่วนนี้มีการตีราคาและชนิดของข้าว และข้าวหาย 1.3 แสนตัน

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้มีการหารือกับอัยการสุงสุด คณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับแนวทางการเรียกค่าเสียหายจากผู้กระทำผิดในโครงการรับจำนำข้าวตามที่ ป.ป.ช. ได้ส่งหนังสือมาก่อนหน้านี้ จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงว่ามีความเสียหายเท่าไหร่ และใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในส่วนนี้ก่อนส่งให้คณะกรรมการพิจารณาความผิดทางละเมิดพิจารณาต่อไป โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้ โดยต้องสรุปผลขาดทุนโครงการรับจำนำข้าวครั้งต่อไปถึงวันที่ 30 ก.ย.58

***"พณ."เปิดประมูลข้าวอีกล้านตัน

นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า คณะทำงานดำเนินการระบายข้าว ได้เปิดให้มีการประมูลข้าวสารในสต๊อกรัฐบาล ครั้งที่ 2/2558 ตามที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ได้ให้ความเห็นชอบในปริมาณกว่า 1 ล้านตัน เป็นข้าวขาว 5% ,10% 15% และ 25% ข้าวเหนียว และปลายข้าว ในคลังสินค้าขององค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.)ซึ่งเป็นการระบายแบบรายคลังตามสภาพข้าวที่เก็บรักษา

ทั้งนี้ กรมฯ จะประชุมชี้แจงรายละเอียดการจำหน่ายข้าวให้กับผู้ที่สนใจในวันที่ 26 ก.พ.2558 และกำหนดยื่นซองคุณสมบัติในวันที่ 5 มี.ค.2558 เวลา 08.30-11.30 น. โดยจะประกาศคุณสมบัติผู้เสนอซื้อที่มีคุณสมบัติครบถ้วนในวันที่ 6 มี.ค.2558 เวลา 09.00 น. และให้ผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนยื่นซองเสนอซื้อได้ในวันที่ 6 มี.ค.เช่นเดียวกัน ในเวลา 09.00-10.30 น. จากนั้น เวลา 10.30 น. จะเปิดซองเสนอราคา

ขณะเดียวกัน ในการเปิดประมูลข้าวครั้งนี้ กรมฯ ได้กำหนดคุณสมบัติผู้ยื่นประมูลข้าวให้มีความรัดกุมและเข้มงวดมากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ที่เคยมีปัญหาในการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้าข้าวเข้ามาประมูลได้ เช่น กำหนดคุณสมบัติต้องเป็นผู้ค้าข้าวเท่านั้น ไม่เคยมีพฤติกรรมที่สร้างความเสียหายต่อโครงการแทรกแซงสินค้าเกษตรต้องไม่มีประวัติการชี้มูลความผิดจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือมีความเกี่ยวพันกับบริษัทที่กระทำความผิด.
กำลังโหลดความคิดเห็น