xs
xsm
sm
md
lg

ได้องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกา 9 คน พิจารณาคำฟ้องคดี “ยิ่งลักษณ์” แล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ได้องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกา 9 คน พิจารณาคำฟ้องคดี “ยิ่งลักษณ์” แล้ว หากรับฟ้องต้องมาศาลด้วยตนเองวันพิจารณาคดีนัดแรก

วันนี้ (24 ก.พ.) ที่ศาลฎีกา ถนนแจ้งวัฒนะ นายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา เรียกประชุมใหญ่ผู้พิพากษาศาลฎีกาผู้พิพากษา 146 คน เพื่อคัดเลือกองค์คณะผู้พิพากษา 9 คน พิจารณาพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อม.22/2558 ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตาม ป.อาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 4, มาตรา 123/1

การประชุมใช้วิธีลงคะแนนลับ ผลการนับคะแนนปรากฏว่าผู้พิพากษาในศาลฎีกาที่ได้รับเลือกเป็นองค์คณะทั้ง 9 คน คือ

1. นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานแผนกคดีภาษีอากรในศาลฎีกา
2. นายวิรุฬห์ แสงเทียน ประธานแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจในศาลฎีกา
3. นายธนฤกษ์ นิติเศรณี ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา
4. นายธนสิทธิ์ นิลกำแหง ประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา
5. นายศิริชัย วัฒนะโยธิน รองประธานศาลฎีกา
6. นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา
7. นายวีระพล ตั้งสุวรรณ รองประธานศาลฎีกา
8. นางอุบลรัตน์ ลุยวิกกัย ประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลฎีกา
9. นายธานิศ เกศวพิทักษ์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา

สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ นายดิเรกจะลงนามรับรองและประกาศรายชื่อองค์คณะผู้พิพากษาไว้ที่ศาลฎีกาภายใน 5 วันนับแต่วันประชุมใหญ่เพื่อให้คู่ความทราบ และมีโอกาสคัดค้านผู้พิพากษาที่ได้รับเลือก ซึ่งการยื่นคัดค้านคู่ความสามารถยื่นได้ตั้งแต่วันที่มีการติดประกาศไปจนก่อนที่จะเริ่มมีการไต่สวนพยานในคดี

ต่อมาองค์คณะผู้พิพากษาที่ได้รับเลือกจะทำการเลือกผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน 1 คน โดยใช้วิธีลงคะแนนลับเช่นเดียวกัน

หลังจากนั้นองค์คณะจะร่วมกันพิจารณาคำฟ้องของโจทก์ว่าเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายที่จะประทับฟ้องไว้พิจารณาได้หรือไม่ ในวันที่ 19 มี.ค.นี้ พร้อมทั้งกำหนดวันพิจารณาคดีครั้งแรก ในวันดังกล่าว น.ส.ยิ่งลักษณ์จะต้องเดินทางมายังศาลฎีกาด้วยตนเอง






กำลังโหลดความคิดเห็น