ป้อมพระสุเมรุ
เป็นที่โจษจันกันพอสมควร สำหรับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558 หรือ “พ.ร.บ. ป.ป.ช.”ที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 9 กรกฎาคม ที่ผ่านมา
หากจะนิยามว่า พ.ร.บ. ป.ป.ช. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมล่าสุดนี้ เป็นการติดอาวุธให้ป.ป.ช.หลากหลายขึ้น หรือจะเป็นการเสริมความคมให้กับ “ดาบ”ที่ป.ป.ช.ถืออยู่แล้วคมยิ่งกว่าเก่าก็ไม่ผิด
แน่นอนว่า หากเป็นยุครัฐบาลปกติที่มาจากการเลือกตั้ง การเสริมอาวุธให้กับป.ป.ช.ในลักษณะนี้ เป็นเรื่องที่แทบเกิดขึ้นได้ยาก หรือแทบเป็นไปไม่ได้เลย หากแต่ยุค“รัฐบาลนายพล”ชุดนี้ที่มี "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นกัปตันเรือแป๊ะ ซึ่งยกการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันเป็นวาระแห่งชาติ จึงต้องไฟเขียวกลไกทุกอย่างที่จะทำให้การปราบโกงเข้มขลังขึ้น
กฎหมายติดดาบฉบับนี้จึงผ่านฉลุยทุกขั้นตอน โดยไม่สะดุด หรือเกิดอาการกระอักกระอ่วนใจเหมือนสภาผู้แทนราษฎรในภาวะปกติ โดยเฉพาะหากมองไปในชั้น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่เต็มไปด้วยแม่ทัพนายกอง อดีต และข้าราชการประจำ ตลอดจนนักวิชาการ ซึ่งแทบจะเดาได้ตั้งแต่ต้นว่าไฟเขียวกันสุดลิ่มตั้งแต่ ป.ป.ช.เสนอ
ภายหลังจากมีการเผยแพร่เนื้อหา พ.ร.บ. ป.ป.ช. ฉบับนี้แล้ว สังคมให้ความสนใจพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 2 เรื่องใหญ่ๆ นั่นคือ อายุความ และบทลงโทษของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่รับสินบน
สำหรับ มาตรา 74/1 ซึ่งเป็นเรื่องอายุความ ในเนื้อหาไม่ได้เป็นการขยายอายุความในคดีทุจริตตามที่เคยมีการเรียกร้องให้แก้เป็นไม่มีอายุความ แต่กฎหมายใหม่กำหนด มิให้นับอายุความในกรณีที่ผู้กระทำความผิดหลบหนีในทุกขั้นตอน เพื่อให้ครอบคลุมถึง การดําเนินคดีอาญาทั้งในกระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริง กระบวนการฟ้องคดี กระบวนการพิจารณาของศาล รวมถึงกระบวนการภายหลังศาลมีคำพิพากษาด้วย
ซึ่งใน พ.ร.บ. ป.ป.ช. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 หรือฉบับเก่าตอนยังไม่ได้แก้ไข กำหนดเฉพาะให้อายุความหยุดลง หากผู้ถูกกล่าวหาหลบหนี เฉพาะในช่วงการพิจารณาคดีของป.ป.ช. เท่านั้น แต่ฉบับใหม่ครอบคลุมไปทั้งการพิจารณาคดีทั้งในป.ป.ช. และชั้นศาล
นั่นหมายความว่า ต่อให้ผู้ต้องหาหลบหนีในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งหลังจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นในชั้นป.ป.ช. หรือศาล อายุความจะหยุดลงทันที หรือ หากจะหนีจะต้องหนีตลอดชีวิต แต่จะไม่นับรวมคดีก่อนที่ พ.ร.บ. ป.ป.ช. (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 ซึ่งมีมาตรา 74/1 อยู่ตั้งแต่ตอนนั้นประกาศใช้
เท่ากับว่า จะมีผลต่อบางคดีในอดีตเท่านั้น อาทิ คดีทุจริตจัดซื้อ - ขายรถและเรือดับเพลิง และอุปกรณ์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกทม. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินไว้เมื่อปี 2556 แต่ “ประชา มาลีนนท์”อดีต รมช.มหาดไทย จำเลย เผ่นแนบออกนอกประเทศไปก่อนมีคำพิพากษาแล้ว และศาลออกหมายจับในปี 2556
ส่วนคดีอื่นๆ ก่อนหน้านี้ของ “เหลี่ยมดูไบ”พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ล้วนเกิดขึ้นก่อนปี 2554 เพียบ จึงไม่อาจสะดุดหยุดลงได้ แต่กระนั้นก็ใช่ว่า อดีตนายกฯสัมภเวสี จะรอดเงื้อมมือกระบวนการยุติธรรมไปได้ เพราะยังมีชนักปักหลังในศาลฎีกาฯ โดยเฉพาะคดีการปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) มูลค่ากว่า 9 พันล้านบาทโดยมิชอบ ซึ่งศาลนัดตัดสินในวันที่ 26 สิงหาคม ที่จะถึงนี้แล้ว
หาก“เหลี่ยมดูไบ”โดนเชือดคอคดีนี้ พ.ร.บ. ป.ป.ช. ฉบับนี้ จะแสดงอิทธิฤทธิ์ทันที ต่อให้ “เหลี่ยมดูไบ”จะหนีไปสุดล่าฟ้าเขียว หรือนานเท่าใด แต่อายุความก็ยังหยุดรอจนกว่าเจ้าตัวจะมา หรือแม้แต่คดีอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ โดยเฉพาะคดีสำคัญๆ อย่างคดีละเว้นไม่ระงับยับยั้งการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวของ “หญิงปู” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคดีทุจริตการซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ของ “บุญทรุด” บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ และพวก ที่หากท้ายที่สุด“คอขาด”ขึ้นมา แล้วมีใครคิดติ๊ดชิ่ง มุดรั้วชายแดนออกนอกประเทศไปก่อน ก็ต้องหนีตลอดชีวิต
ในลักษณะหนีได้หนีไป !!!
อีกมาตราที่น่าสนใจ และถูกพูดถึงมากที่สุดคือ มาตรา 123/2 ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสําหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทําการหรือไม่กระทําการอย่างใดในตําแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 5 ปีถึง 20 ปี หรือจําคุกตลอดชีวิต และ ปรับตั้งแต่ 1-4 แสนบาท หรือประหารชีวิต"
โทษสูงสุดของเจ้าหน้าที่รัฐที่เรียกรับสินบน คือ ประหารชีวิต !! ซึ่งแม้หลายคนจะตกอกตกใจถึงโทษที่รุนแรง แต่ป.ป.ช.ได้ออกมาชี้แจงแล้วว่า ไม่ได้กำหนดโทษดังกล่าวขึ้นมาเอง แต่อ้างอิงมาจากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ซึ่งเป็นของเดิม สรุปง่ายๆ การแก้ไขครั้งนี้ คือ ยกบทลงโทษดังกล่าวมาบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. ป.ป.ช. นั่นเอง
ซึ่งเป็นการทำให้เป็นกิจจะลักษณะ แต่กระนั้น ป.ป.ช.เองก็ไม่ได้มีอำนาจตัดสินว่าใครควรจะโดนโทษเท่าไร เพราะตรงนั้นเป็นดุลยพินิจของศาล โดยป.ป.ช.แค่ทำหน้าที่พิจารณาว่าใครกระทำความผิด ข้อหาอะไร และมาตราอะไรบ้างเท่านั้น จึงเปรียบเสมือน“คนชง”
แต่ที่ผ่านมาตั้งแต่มีบทลงโทษนี้ยังไม่เคยพบว่า มีใครเคยถูกศาลพิพากษาประหารชีวิตแม้แต่รายเดียวในคดีที่เจ้าหน้าที่รัฐเรียกรับสินบน
ทว่าไม่เคยมีใครโดน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าในอนาคตจะไม่โดน โดยเฉพาะคำตอบที่ผู้สื่อข่าวถามไปยัง "สรรเสริญ พลเจียก" เลขาธิการ ป.ป.ช. ว่า โทษขั้นไหนจะเข้าข่ายประหาร ซึ่งไม่ได้คอนเฟิร์มออกมา เนื่องจากเป็นดุลยพินิจของศาล ไม่อาจก้าวล่วงได้ แต่ยกตัวอย่างสมมุติได้น่าสนใจ อย่างเช่นกรณีสร้างความเสียหายกันเป็นหมื่นเป็นแสนล้าน
แน่นอนก่อนหน้านี้อาจไม่มีใครกลัวบทลงโทษดังกล่าวเท่าใดนัก เพราะสามารถอุทธรณ์ และฎีกา จนโทษเหลือน้อยที่สุดได้ ต่อให้ศาลชั้นต้นจะพิพากษาประหารชีวิตก็ตาม
กระนั้น โมงยามวันนี้กับวันนั้นแตกต่างกันแล้ว ในเมื่อ ณ ขณะนี้ โทษดังกล่าวมาอยู่ในกฎหมายของป.ป.ช. เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเท่ากับว่า ตาข่ายดัก“แมลงโกง”จะใหญ่ขึ้น คนที่ทุจริตในลักษณะเรียกรับสินบนมีโอกาสจะถูกรวบ และโดนลงโทษหนักๆ มีมากขึ้น
แม้ในทางปฏิบัติอาจจะดูไม่น่าสะพรึงเท่าไร แต่ในเชิง “จิตวิทยา”แล้ว เมื่อกฎหมายติดดาบมาอยู่ในอุ้งมือ ป.ป.ช. มันดูน่าหวาดผวาไม่น้อย สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐที่คิดจะแสวงหาผลประโยชน์เข้ากระเป๋าตัวเอง
และที่สำคัญอย่าลืมว่า กฎหมายตัวนี้ครอบคลุมถึงเจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ขององค์กรระหว่างประเทศด้วย
รอดู ใครจะประเดิม เครื่องประหาร !!!