คดี “ฟิลลิป มอร์ริส” บ.ยาสูบยักษ์ใหญ่ข้ามชาติเลี่ยงภาษีรวมกว่า 2 แสนล้านบาท เงียบหาย หลายปีไม่คืบหน้า หวั่นหมดอายุความ “หมอหทัย” เตรียมรวบรวมข้อมูลยื่น “บิ๊กตู่” เร่งรัดคดี เรียกร้องให้นักวิชาการด้านยาสูบ - พาณิชย์ ให้ข้อมูลร่วมประกอบพิจารณาคดี ทนายความตั้งข้อสังเกตวางแผนภาษีไม่สุจริต
วันนี้ (25 ส.ค.) นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย และประธานรัฐภาคีกฎหมายบุหรี่โลก ขององค์การอนามัยโลก (2550 - 2551) แถลงข่าวเรื่อง “ฟิลลิป มอร์ริส หลบเลี่ยงภาษีบุหรี่มากกว่า 68,000 ล้าน จะรอให้หมดอายุความหรือ? รัฐควรรีบดำเนินการโดยด่วน” จัดโดยสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ว่า คดีบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส หลีกเลี่ยงภาษีถือเป็นมหากาพย์ เพราะตั้งแต่วันที่ 2 ก.ย. 2552 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มีหนังสือถึงอัยการสูงสุด พร้อมสำเนาการสอบสวนและพยานหลักฐาน 21 ลัง มีความเห็นว่าควรสั่งฟ้อง ขณะที่วันที่ 18 ม.ค. 2553 กระทรวงพาณิชย์แจ้งดีเอสไอ ว่า บริษัทดังกล่าวละเมิดกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (FBA) แต่ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2554 พนักงานอัยการกลับมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี โดยสมัยนั้นเป็นยุครัฐบาลที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยฝ่ายค้านได้เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจว่ารัฐบาลเรียกดีเอสไอ และอัยการประชุมหารือเป็นผลให้อัยการไม่ฟ้องคดี ถัดมาวันที่ 2 ต.ค. 2556 นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอัยการสูงสุดคนใหม่ แถลงว่า ก่อนที่ นายจุลสิงห์ วสันต์สิงห์ อัยการสูงสุดคนเดิมจะเกษียณอายุราชการ ได้เซ็นคำสั่งฟ้องบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส ซึ่งนับตั้งแต่วันดังกล่าวจนถึงขณะนี้ไม่ปรากฏข่าวเกี่ยวกับคดีนี้อีก ทำให้มีความกังวลว่าจะมีการยื้อไปจนคดีนี้หมดอายุความ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูง
“หลังจากนี้ จะรวบรวมข้อมูลและข่าวที่เกิดขึ้นทั้งหมด เพื่อเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สั่งผู้ที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการสอบสวนคดีนี้ให้แล้วเสร็จและมีการติดตามผล ทั้งนี้ ในการพิจารณาคดีเสนอว่าควรให้นักวิชาการด้านต่าง ๆ เข้าร่วมพิจารณาคดีด้วย เช่น นักวิชาการด้านยาสูบ นักวิชาการกระทรวงพาณิชย์ นักวิชาการที่ไม่ใช่หน่วยงานราชการ เพราะเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับยาสูบเป็นอย่างดี น่าจะเข้ามาร่วมให้ข้อมูลเพื่อพิจารณาคดีได้ ไม่ใช่ให้มีการพิจารณาคดีอยู่เพียงเฉพาะคนกลุ่มเดียว” นพ.หทัย กล่าว
รศ.สุชาดา ตั้งทางธรรม อาจารย์ประจำสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า ตามปกติเมื่อนำเข้าบุหรี่เข้ามาในประเทศไทยจะต้องสำแดงราคา (ราคาซีไอเอฟ) ซึ่งเป็นราคาที่รวบรวมต้นทุนทุกอย่างหมดแล้ว รวมไปถึงค่าขนส่งสินค้ามายังประเทศไทย แต่ปรากฏว่า ราคาที่บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส แจ้งมานั้น ราคาต่ำกว่าบริษัทอื่นที่นำเข้าเป็นจำนวนมาก เช่น บุหรี่มาร์ลโบโร บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส สำแดงราคาซองละ 7.76 บาท บริษัท คิง เพาเวอร์ ซองละ 27.46 บาท บริษัท การบินกรุงเทพ อยู่ที่ซองละ 30.39 บาท เป็นต้น หรือบุหรี่แอลแอนด์เอ็ม บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส สำแดงราคาซองละ 5.88 บาท บริษัท คิง เพาเวอร์ ซองละ 16.81 บาท เป็นต้น ซึ่งการสำแดงราคาซีไอเอฟต่ำกว่าบริษัทอื่น 3 - 4 เท่า ทำให้ข้องใจว่าเป็นวิธีการหนีภาษีหรือไม่
“เมื่อนำราคาที่ต่างกันมาคำนวณกับปริมาณการนำเข้าแล้ว พบว่า ช่วงปี 2546 - ก.พ. 2550 บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส สำแดงราคานำเข้าที่ทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้จากภาษีอากรประมาณ 68,881 ล้านบาท ซึ่งหากคำนวณจนถึงปัจจุบัน โดยสมมติให้ส่วนต่างของราคานำเข้าและปริมาณนำเข้าเท่าเดิม พบว่า ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ภาษีไปอีกราว 147,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับความสูญเสียเดิมเท่ากับรัฐบาลอาจสูญเสียรายได้จากภาษีบุหรี่นำเข้าแล้วถึง 215,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังเกี่ยวกับการคำนวณเพื่อจ่ายภาษีบาปให้แก่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อีก 2% ด้วย” รศ.สุชาดา กล่าว
นายวศิน พิพัฒนฉัตร ทนายความสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่า บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด จดทะเบียนในประเทศสหรัฐฯ และเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมยาสูบกลุ่มบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส ซึ่งพบ 3 ประเด็น คือ 1. การวางแผนภาษีที่ไม่สุจริต โดยมีข้อสังเกตว่า วางแผนภาษีโดยสำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริง อาจหมิ่นเหม่ต่อการเลี่ยงภาษี 2. ความเป็นนิติบุคคลเดียวกัน ซึ่งบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส ไทย และฟิลิปปินส์ เป็นบริษัทเครือเดียวกัน ซึ่งมี ฟิลลิป มอร์ริส อินเตอร์เนชั่นแนล ในสหรัฐฯ ถือหุ้น 100% ซึ่งแสดงถึงการเป็นนิติบุคคลเดียวกัน และใช้ความเป็นนิติบุคคลเดียวกันนี้หลีกเลี่ยงภาษี 3. วัตถุประสงค์ที่แท้จริง จากการเป็นบริษัทเดียวกัน สามารถถ่ายเทต้นทุนค่าใช้จ่ายระหว่างกันได้ จึงสามารถกำหนดราคาให้ต่ำเพื่อทุ่มตลาดแข่งขันกับโรงงานยาสูบไทย ซึ่งก่อให้เกิดการบริโภคเพิ่มขึ้นซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพคนไทย
นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวอัยการสูงสุดได้มีความเห็นสั่งฟ้อง บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด เมื่อ ก.ย. 2556 ร่วมกับผู้ต้องหา 12 คน เป็นชาวต่างชาติ 4 ราย โดยเสียชีวิตไปแล้ว 1 ราย ซึ่งชาวต่างชาติที่เป็นพนักงานของบริษัท ได้หลบหนีการจับกุมออกนอกประเทศไปแล้ว โดยอัยการฝ่ายคดีพิเศษได้เคยทำหนังสือเรียกผู้ต้องหาทั้งหมดมารับทราบข้อกล่าวหาในช่วงปลายปี 2556 แต่อัยการได้เลื่อนสั่งคดีไปช่วงกลาง ม.ค. 2557 ปัจจุบันก็ยังไม่สามารถตามผู้ต้องหามาสอบสวนได้ ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่จำเป้นต้องรอตามตัวผู้ต้องหาให้ครบทุกคน ตามตัวมาขึ้นศาลเพียงแค่คนเดียวก็ยังได้ ซึ่งหากไม่รีบดำเนินการจะทำให้คดีขาดอายุความ โดยเฉพาะคดีทางแพ่ง ซึ่งมีอายุความ 10 ปี หากตีความตามผู้พิพากษาและอัยการที่ให้นับอายุความตั้งแต่วันนำเข้าสินค้า คือ ปี 2546 ก็ถือว่าหมดอายุความไปแล้ว แต่นักวิชาการจำนวนมาก หรือแม้แต่อดีตประธานศาลอุทธรณ์ กลับมองว่าต้องนับอายุความตั้งแต่วันที่กรมศุลกากรตรวจสอบพบความผิดนั่นคือปี 2555 แต่หากกรมศุลกากรยืนยันว่าการสำแดงราคาของบริษัทไม่มีความผิดปกติ ก็ถือว่ายังไม่นับอายุความ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้หากเจ้าหน้าที่รัฐไม่ปฏิบัติตามกฎหมายก็จะทำให้เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติตามกฎหมาย
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่