เอกชนผู้ผลิตท่อสเตนเลสไทยรวมตัวยื่นหนังสือกระทรวงพาณิชย์ วอนรัฐให้ทบทวนการ”ทุ่มตลาด”การนำเข้าท่อสเตนเลสจากต่างประเทศเป็นการด่วน หวั่นก่อความเสียหายอย่างรุนแรงต่อผู้ประกอบการไทยอาจถึงขั้นต้องลดการผลิต-เลิกกิจการและปลดคนงานอีกนับพันคน ขณะที่ผู้บริโภคสินค้าที่ไม่เข้าใจถึงประเภทและขนาดของสเตนเลสที่นำเข้าจากต่างประเทศแล้วนำไปใช้ผิดประเภทจะก่อให้เกิดความเสียหายและเกิดอันตรายได้
นายรชต ลีลาประชา กรรมการผัจัดการ บริษัท ไทย-เยอรมัน โปรดักส์ จำกัด มหาชน เปิดเผยว่าสัปดาห์ที่ผ่านมากลุ่มพันธมิตรผู้ผลิตท่อสเตนเลสได้แก่ บริษัท ไทย-เยอรมัน โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ผลิตท่อสเตนเลสแบรนด์ “TGPRO” และพันธมิตรได้ยื่นคำขอต่อกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้ดำเนินการพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาดสำหรับการนำเข้าของท่อสเตนเลส เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการทุ่มตลาดอย่างรุนแรง
ในช่วงปีที่ผ่านมาได้มีการนำสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาขายในตลาดประเทศไทยในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดปกติที่ขายอยู่หรือที่เรียกว่า “การทุ่มตลาด”ซึ่งเกิดขึ้นในหลายธุรกิจรวมถึงธุรกิจเหล็กและสเตนเลสซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายเป็นอย่างมากทั้งในวงการอุตสาหกรรมที่มีการทุ่มตลาด โดยได้รับผลกระทบกันในวงกว้างทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคสินค้ารวมถึงก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอีกด้วย
นายรชต กล่าวว่าในส่วนของตลาดท่อสเตนเลส มีการทุ่มตลาดด้านราคาจากหลายประเทศ เช่นประเทศจีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน มาเลเซีย และ เวียดนาม โดยมีปริมาณการนำเข้าของท่อสเตนเลสในปี พ.ศ. 2557 ทั้งหมดประมาณ 36,599 ตัน และระหว่างเดือนมกราคม – มีนาคม พ.ศ. 2558 มีปริมาณนำเข้าประมาณ 12,923 ตัน ซึ่งเป็นแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นกว่าปีพ.ศ. 2557 จึงมีผลทำให้ผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ผลิตภายในประเทศหลายรายหันไปนำเข้าท่อสเตนเลสมาทดแทนการผลิตของตนเองเพราะราคาจากการทุ่มตลาดนั้นต่ำมาก ทำให้เกิดภาวะขาดทุนหากยังผลิตสินค้าต่อ เมื่อผู้ผลิตในประเทศหันไปนำเข้าสินค้าทำให้เกิดการลดกำลังการผลิตลงหรือยกเลิกการผลิตท่อสเตนเลสไปในที่สุด
สำหรับการยกเลิกกระบวนการผลิตนั้นก่อให้เกิดความเสียหายหลายด้านทั้งในเรื่องต้นทุนจมของเครื่องจักรที่ไม่ได้ใช้งานหรือใช้งานได้ไม่เต็มกำลังการผลิต ซึ่งตีมูลค่าโดยประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อผู้ผลิต 1 ราย,ปัญหาจากการปลดคนงานซึ่งส่งผลถึงปัญหาการว่างงานของประเทศ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะมีการใช้แรงงานประมาณ 1,000-2,000 คนต่อผู้ผลิต 1 ราย อีกทั้งยังส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเนื่องไปยังธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) เช่นผู้ผลิตและผู้ขายวัสดุสิ้นเปลืองที่ใช้ในการผลิต ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงระบบเศรษฐกิจโดยรวมประเทศ
นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อผู้ที่ไม่ได้เป็นประกอบการที่อยู่ในวงการอุตสาหกรรมดังกล่าวข้างต้นและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศที่ได้รับผลกระทบ ตัวผู้บริโภคเองก็ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากในเชิงของการเสียโอกาสในการได้ใช้สินค้าที่ดีและมีคุณภาพเนื่องจากในปัจจุบันการนำสินค้าเข้าสู่ประเทศไทยสามารถทำได้โดยอิสระปราศจากการควบคุมมาตรฐานและคุณภาพของสินค้า เมื่อผู้บริโภคเลือกใช้สินค้าดังกล่าวโดยขาดความรู้และความเข้าใจในสินค้าประเภทท่อสเตนเลสที่มีทั้งเกรดสูง (304) ซึ่งสามารถใช้ได้ในสภาพแวดล้อมต่างๆได้หลากหลายและเกรดต่ำ (201) ซึ่งเหมาะกับการใช้งานเฉพาะภายในอาคารบ้านเรือนเพียงอย่างเดียว หากนำสเตนเลสเกรดต่ำ (201) มาใช้ภายนอกอาคารบ้านเรือนแล้วอาจเกิดปัญหาการเกิดสนิมได้ เพราะสเตนเลสเกรดต่ำ (201) มีคุณสมบัติที่ไม่ทนทานต่อสภาพแวดล้อมภายนอกตัวอาคารบ้านเรือนได้ดีเท่าสเตนเลสเกรดสูง (304) ที่มีส่วนประกอบของนิกเกิ้ลในอัตราที่สูงจึงช่วยป้องกันปัญหาการเกิดสนิมได้ แต่ด้วยราคาที่มีผลต่อการตัดสินใจทำให้เกิดการเข้าใจผิดและเลือกซื้อสินค้าได้ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์โดยไม่ได้ตั้งใจและรู้เท่าไม่ถึงการณ์
จากความเสียหายที่เกิดขึ้นดังกล่าว “มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด Anti-Dumping)” จึงควรถูกนำมาใช้เพื่อปกป้องผู้ประกอบการในประเทศจากการคุกคามของสินค้านำเข้าที่ถูกทุ่มตลาด โดยมีตัวอย่างจากการตอบโต้การทุ่มตลาดในอุตสาหกรรมเหล็กจากผู้ผลิตเหล็กในประเทศ ด้วยการยื่นคำขอในการใช้มาตรการ SAFEGUARD ซึ่งเกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว มาตรการการปกป้องผู้ผลิตในประเทศสำหรับสินค้าประเภทท่อสเตนเลสได้มีการใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลกรวมถึงประเทศสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศในทวีปยุโรปที่ยื่นฟ้องประเทศจีน ไต้หวัน และ เกาหลีใต้ เป็นผลสำเร็จจึงเป็นเหตุให้ประเทศเหล่านี้ไม่สามารถส่งสินค้าเข้าไปยังประเทศที่ใช้มาตรการปกป้องผู้ผลิตในประเทศและต้องหันมาทุ่มตลาดในทวีปเอเชียซึ่งรวมถึงประเทศไทยที่ยังไม่ได้มีการใช้มาตรการดังกล่าว
ทั้งนี้ จะเห็นได้จากมูลค่าการแนวโน้มการนำเข้าที่เพิ่มมากขึ้นและอาจมีมูลค่าสูงถึง 4,000 ล้านบาทต่อปี ดังนั้นการยื่นคำขอเพื่อให้ดำเนินมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping) สำหรับท่อสเตนเลสต่อกรมการค้าต่างประเทศดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลดีกับผู้นำเข้าที่เป็นผู้ผลิตในประเทศหันกลับมาเริ่มผลิตท่อสเตนเลสใหม่เพื่อทดแทนการนำเข้าและตอบสนองความต้องการบริโภคท่อสเตนเลสภายในประเทศที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อทั้งผู้บริโภคในประเทศเองและผู้ประกอบการในห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ของกระบวนการผลิตท่อสเตนเลส ทำให้เกิดการจ้างงานภายในประเทศมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการประหยัดเงินตราต่างประเทศจากการนำเข้า ไม่เสียดุลการค้า ตลอดจนทำให้เกิดการเติบโตของภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นอย่างดี