xs
xsm
sm
md
lg

ศาลฎีกาฯ นัดพิพากษาแบงก์กรุงไทยปล่อยกู้เอื้อ “กลุ่มกฤษดา” 26 ส.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ศาลฎีกานัดพิพากษา “อดีตผู้บริหารแบงก์กรุงไทย” และบริษัทเอกชนรวม 26 ราย คดีปล่อยกู้เอื้อประโยชน์เครือกฤษดามหานคร กว่า 9,000 ล้านบาท 26 ส.ค.นี้ หลังไต่สวนพยานหลักฐานเสร็จ ส่วน “ทักษิณ” หลบหนีต้องจำหน่ายคดีชั่วคราว

ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ วันนี้ (10 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าการพิจารณาคดีปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) มูลค่ากว่า 9,000 ล้านบาท ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี, กรรมการบริหาร, กรรมการสินเชื่อ, เจ้าหน้าที่สินเชื่อของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และกลุ่มบริษัทเอกชน รวม 27 รายว่า เมื่อวันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมา นายศิริชัย วัฒนโยธิน รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวน พร้อมองค์คณะ รวม 9 คน ได้ไต่สวนพยานจำเลย 2 ปากสุดท้ายซึ่งเป็นกลุ่มผู้ประเมินสินทรัพย์เสร็จสิ้นแล้ว องค์คณะผู้พิพากษาฯ ได้กำหนดนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 26 ส.ค.นี้ เวลา 09.30 น. โดยให้อัยการโจทก์และจำเลยยื่นคำให้การแถลงการณ์ปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษร ภายในวันที่ 20 ส.ค.ก่อนฟังคำพิพากษา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีดังกล่าวยื่นฟ้องในสมัยของนายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 55 โดยอัยการสูงสุดได้รวบรวมพยานหลักฐานจากสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จำนวน 150 แฟ้ม 17 ลัง ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ 1 และจำเลยอีก 4 กลุ่ม ประกอบด้วยกรรมการบริหาร , กรรมการสินเชื่อ , เจ้าหน้าที่สินเชื่อของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และกลุ่มบริษัทเอกชน ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, ความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502, ความผิด พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505, ความผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และ ความผิด พ.ร.บ.บริษัท มหาชน จำกัด พ.ศ. 2535

โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ได้ประทับฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำ อม.3/2555 แต่เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 1 หลบหนีคดี ศาลฎีกาฯ จึงให้ออกหมายจับ ติดตามตัว พ.ต.ท.ทักษิณ มาดำเนินคดี โดยให้จำหน่ายคดีเฉพาะส่วนของ พ.ต.ท.ทักษิณไว้เป็นการชั่วคราวก่อนจนกว่าจะได้ตัวมา ขณะที่องค์คณะฯ ได้ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในส่วนนายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย และบริษัทในเครือของบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) กับพวกรวม 26 ราย โดยองค์คณะฯ ได้เริ่มไต่สวนพยานตั้งแต่วันที่ 14 ต.ค.2556 และได้ไต่สวนพยานปากสุดท้ายเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 8 ก.ค. 58 รวมระยะเวลาประมาณ 1 ปี 9 เดือน ซึ่งได้ใช้เวลาไต่สวนพยานทั้งสองฝ่าย รวม 32 นัด ขณะที่คดีดังกล่าวฝ่ายอัยการ ยื่นบัญชีพยานไต่สวน 22 ปาก ส่วนจำเลยที่ 2-27 เตรียมพยานไต่สวนรวม 32 ปาก ซึ่งจะเป็นตัวจำเลย 19 ปาก รวมพยานโจทก์-จำเลยที่จะไต่สวนคดีนี้ทั้งสิ้น 54 ปาก

สำหรับพฤติการณ์คดีนี้ มีการกล่าวหาว่าผู้บริหารธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้สินเชื่อกลุ่ม บมจ.กฤษดามหานคร ที่มีสถานะอยู่ในกลุ่มลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคาร เนื่องจาก ผอ.ฝ่ายกลั่นกรองสินเชื่อธุรกิจนครหลวง เคยจัดอันดับความเสี่ยงของกลุ่มกฤษดามหานครในอันดับ 5 คือไม่สามารถอนุมัติสินเชื่อให้ได้ แต่ได้มีการอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทในกลุ่มกฤษดามหานคร 3 กรณี คือ 1. การอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทอาร์เค โปรเฟสชั่นนัล จำกัด จำนวนเงิน 500 ล้านบาท 2. การอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทโกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด วงเงิน 9,900 ล้านบาท (วงเงินไฟแนนซ์ 8,000 ล้านบาท วงเงินซื้อที่ดินเพิ่ม 500 ล้านบาท และวงเงินพัฒนาโครงการ 1,400 ล้านบาท) และ 3. การอนุมัติขายหุ้นบุริมสิทธิแปลงสภาพของ บมจ.กฤษดามหานคร ให้กับบริษัท แกรนด์ คอมพิวเตอร์คอมมูนิเคชั่น จำกัด จำนวนเงิน 1,185,735,380 บาท ถือว่าผู้เกี่ยวข้องมีพฤติการณ์ ร่วมกันหรือสนับสนุนการกระทำความผิดกรณีธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐ เป็นการกระทำโดยทุจริต เพื่อฟื้นฟูกิจการของ บมจ.กฤษดามหานคร ประโยชน์ส่วนตนกับพวก
กำลังโหลดความคิดเห็น