xs
xsm
sm
md
lg

คดีล้มหรือไม่! เปิดบันทึกประชุมคดี บ.ฝรั่งเลี่ยงภาษีบุหรี่ ขอความเป็นธรรม บิ๊กตู่ - “วิษณุ” เผย อสส.ยื่นฟ้อง 25 พ.ย.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทยและประธานรัฐภาคีกฎหมายบุหรี่โลกขององค์การอนามัยโลก แถลงเรื่องบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด หลบเลี่ยงภาษีบุหรี่มากกว่า 68,000 ล้านบาท
คดีล้มหรือไม่! เปิดบันทึกประชุมคดี “ฟิลลิป มอร์ริส” เลี่ยงภาษีบุหรี่ 6.8 หมื่นล้าน ยื่น ขอความเป็นธรรม “บิ๊กตู่” - “วิษณุ” เผย อสส.ยื่นฟ้อง 25 พ.ย.นี้ เมื่อการเมืองล้วงแต่ไม่กล้าฟันธง หวั่นกระทบ WTO แม้ขณะนี้คดีกำลังจะหมดอายุความ ลุ้นพาณิชย์-อสส.

วันนี้ (4 พ.ย.) ภายหลังนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ออกมาแสดงความเห็นว่าเป็นเรื่องที่สำนักงานอัยการสูงสุดจะมีความเห็นอย่างไรต่อกรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้เร่งดำเนินคดีอาญาต่อบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส บริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ ที่แจ้งราคานำเข้าบุหรี่ต่ำกว่าราคาที่แท้จริงเพื่อหลบเลี่ยงการเสียภาษี และตนเป้นเพียงรวบรวบคีดรายงานให้ ครม.รับทราบ

“คดีนี้เป็น 1 ใน 12 คดี ที่ ผมเคยรายงานให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ ซึ่งอัยการสูงสุดจะยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลในวันที่ 25 พ.ย.นี้” นายวิษณุกล่าว และว่าการที่กล่าวอ้างถึงองค์การการค้าโลก (WTO) ว่ามีคำตัดสินว่าทางบริษัทไม่ผิด และประเทศไทยผิดต่อบริษัทนั้น เขาอ้างโดยมีเหตุผลของเขา ตนไม่กล้าตอบว่าฟังได้หรือไม่ได้ ประเด็นเกี่ยวกับการค้าโลกเป็นเรื่องละเอียดอ่อนเกินกว่าที่จะอธิบายให้ฟังอย่างสั้นๆ ได้ในเวลาจำกัด เพราะฉะนั้นในวันนี้ตนยังไม่มีความรู้มากพอ ดังนั้น ขอให้ผู้มีความรู้ในเรื่องนี้ไปทำการบ้านก่อนว่าคำตัดสินของ WTO นั้นผูกพันกับประเทศไทยเพียงใดหรือไม่ และถ้าหากเราไม่ทำตามจะเกิดอะไรขึ้น และข้อสำคัญคือเรื่องที่ WTO ตัดสิน ตนยังมีความสงสัยอยู่ ประเด็นมีทั้งหมด 3 ข้อ 1. WTO ตัดสินแล้วหรือไม่ ซึ่งเขาตัดสินว่าไทยแพ้ หากเป็นเรื่องนั้นจริงเราทำอะไรไม่ได้แล้ว แต่กำลังให้ดูว่าเป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่ 2. หากเป็นเรื่องเดียวกันเราจะมีช่องทางในการอุทธรณ์หรือไม่ 3. หากไม่ทำตามจะเกิดอะไรขึ้น หากมีอะไรเกิดขึ้นแต่คุ้มที่จะไม่ทำตามก็น่าเสี่ยง หากไม่คุ้มต้องคิดอีกแบบ

มีรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้มีการเปิดเผยบันทึกการประชุมหารือข้าราชการ กรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินคดีอาญากับบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2558 ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมี วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยมีสาระน่าสนใจดังนี้ สำหรับผู้เข้าร่วมประชุม เช่น วิษณุ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง สุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ขณะนั้น) ทรงรัตน์ เย็นอุรา อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอัยการสูงสุด ชาติพงษ์ จีระพันธุ อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 กรมสรรพสามิต ชูชัย อุดมโภชน์ รองอธิบดีกรมศุลกากร

หลังจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง บริษัท ฟิลลิป มอร์ริสฯ ทำหนังสือร้องไปยัง คสช. กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงต่างๆ อ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ต่อมานายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเรียกประชุมหารือข้อราชการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2558 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีผู้ข้าร่วมประชุม เช่น พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พล.ต.ท.พิจาร จิตติรัตน์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี และ พล.ท.อภิชัย หงษ์ทอง คณะทำงานรัฐมนตรี นางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีดีเอสไอ นางทรงรัตน์ เย็นอุรา อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอัยการสูงสุด นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง และผู้ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ นายวิษณุ เครืองาม ประธานที่ประชุม แจ้งที่ประชุมว่า เนื่องจากบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด มีหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อนายกรัฐมนตรี กรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินคดีอาญากับบริษัทและบุคคลที่เกี่ยวข้อง จึงขอประชุมในวันนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษรายงานมีการดำเนินคดีพิเศษ ที่ 79/2549 กรณีบริษัทนำเข้าบุหรี่ยี่ห้อมาร์ลโบโร่และยี่ห้อแอลแอนด์เอ็มจากประเทศฟิลิปปินส์ ระหว่างปี 2546 ถึง 2550 พนักงานสอบสวนฯมีความเห็นทางคดี เห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาจำนวน 14 ราย ต่อพนักงานอัยการแล้ว ผลทางคดีอัยการคดีพิเศษมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง กรมสอบสวนคดีพิเศษมีความเห็นแย้ง ต่อมาอัยการสูงสุดมีคำสั่งเด็ดขาดฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 12 ราย

สำหรับคดีพิเศษที่ 8/2551 บริษัทนำเข้าบุหรี่ทั้ง 2 ยี่ห้อจากประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างปี 2543-2546 อยู่ระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวนฯ

นางทรงรัตน์รายงานว่า บริษัทได้มีหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อสำนักนายกรัฐมนตรี คสช. และสำนักงานอัยการสูงสุด โดยอ้างว่าคำวินิจฉัยของอัยการสูงสุดไม่เป็นไปตามความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ กรมศุลกากรพิจารณารับราคาและยังอ้างว่าเป็นการปฏิบัติขัดกับองค์การการค้าโลก หรือดับเบิลยูทีโออีกด้วย

สำนักงานอัยการสูงสุดแจ้งว่า ได้รับแจ้งความห่วงใยจากกระทรวงพาณิชย์ว่าหากอัยการสูงสุดดำเนินคดีอาญาต่อบริษัทจะส่งผลกระทบต่อทางการค้าเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของประเทศไทย โดยขอให้อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้อง โดยให้ใช้พระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 และระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการฟ้องไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะฯ

สำนักงานอัยการสูงสุดได้พิจารณาว่า การร้องขอดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจของอัยการ เนื่องจากข้อพิพาทของบริษัทอยู่ในพันธกรณีของดับเบิลยูทีโอ และยังมีการร้องขอความเป็นธรรมอีกหลายครั้ง สำนักงานอัยการสูงสุดได้เคยตอบเรื่องดังกล่าวไว้แล้วว่า ในกรณีอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องแล้วจะกลับคำสั่งไม่ได้ แต่ยังคงขอความเป็นธรรมอีก รวมทั้งได้รับแจ้งความห่วงใยจากกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งผู้แทนทางการค้าของสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

ทางสำนักงานอัยการสูงสุดได้พิจารณาจากพฤติการณ์รูปคดีทั้งหมดโดยชี้ขาดจากพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวนมิใช่การปฏิเสธราคาที่ทางกรมศุลกากรได้รับราคาตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์การมีความเห็นของอัยการสูงสุดนั้นเป็นการใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 145 ที่ได้ผ่านการสอบสวนไว้แล้ว และมีพฤติการณ์รับฟังได้ว่ามีการกระทำความผิดจริง จึงมีคำสั่งฟ้อง ไม่เกี่ยวข้องกับกรณีข้อพิพาทในดับเบิลยูทีโอ

สำหรับข้อห่วงใยของกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ รวมทั้งข้ออ้างของบริษัทที่อ้างถึงข้อตกลงของดับเบิลยูทีโอนั้น โดยขอให้อัยการสูงสุดใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 21 วรรคสอง และระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการฟ้องไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะฯ สำนักงานอัยการสูงสุดถือว่าเป็นสิ่งที่อยู่นอกสำนวนการสอบสวนไม่สามารถนำมาวินิจฉัยได้เอง จะมาเป็นเหตุให้สั่งเรื่องนี้ไม่ได้ ต้องมีเหตุปัจจัยมาประกอบอื่น เช่น ความสำนึกผิดของผู้ต้องหาเพื่อความสงบเรียบร้อยศีลธรรมอันดีของประชาชน เหตุผลความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศถึงผลกระทบต่อนโยบายที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ไมตรีกับนานาประเทศ เหตุผลตามความเห็นของรัฐบาลโดยมติคณะรัฐมนตรีถึงผลกระทบต่อความปลอดภัย หรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ ในกรณีนี้สำนวนไม่มีประเด็นการพิจารณาตามข้างต้น ประกอบกับเมื่ออัยการสูงสุดได้ชี้ขาดแล้ว สำนักงานอัยการสูงสุดต้องทำตามคำสั่งของอัยการสูงสุดอย่างเดียว

นายชูชัย อุดมโภชน์ รองอธิบดีกรมศุลกากร ชี้แจงว่า การพิจารณาเรื่องราคาขณะนำเข้านั้น ไม่พบว่ามีเหตุผลชี้ได้ว่ามีการสำแดงราคาไว้ไม่ถูกต้อง หากต่อมากรมสอบสวนคดีพิเศษพบว่ามีหลักฐานสำแดงราคาไว้ไม่ถูกต้อง กรมสอบสวนคดีพิเศษก็สามารถดำเนินคดีอาญาได้

นายชาติพงษ์ จีระพันธุ อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การฟ้องคดีกับบริษัท เกิดจากการนำเข้าจากฟิลิปปินส์นั้น มีพยานหลักฐานสำคัญ นอกเหนือจากการเปรียบเทียบราคาจากผู้นำเข้ารายอื่นในช่วงเวลาเดียวกัน ทั้งนี้ อัยการสูงสุดสั่งฟ้องนั้นย่อมพิจารณาแล้วเห็นว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอว่าดำเนินคดีต่อไปได้

นายวิษณุขอหารือว่าเนื่องจากอัยการสูงสุดมีคำสั่งให้อัยการฝ่ายคดีพิเศษให้ส่งสำนวนพร้อมตัวผู้ต้องหาฟ้องต่อศาลอาญาในวันที่15 มิถุนายน 2558 นั้น และพนักงานอัยการได้มีหนังสือนัดผู้ต้องหาเพื่อมารายงานตัวส่งฟ้องคดีแล้ว ตามประเด็นหารือข้างต้น มีผลให้ต้องชะลอการส่งฟ้องหรือไม่ อย่างไร

ต่อมาประธานการประชุมสรุปจากการหารือระหว่างหน่วยงานในวันนี้ ได้รับทราบว่าการดำเนินคดีอาญากับบริษัทนั้นมีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาอาจมีผลกระทบต่อการบริหารราชการ จึงให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบไปดำเนินการ ดังนี้

1. ให้กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต กรมบัญชีกลาง หารือร่วมกันเพื่อหาข้อสรุปการแก้ไขปัญหาการขอคืนเงินประกันของบริษัท ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่สามารถดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

2. มอบหมายให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการตรวจสอบใบขนสินค้าขาเข้าของบริษัทนำเข้าจากฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียว่าเป็นเรื่องเดียวกันกับที่ได้ยื่นฟ้องต่อดับเบิลยูทีโอและศาลภาษีอากรกลาง หรือไม่ โดยให้กรมศุลกากร ส่งข้อมูลเอกสารใบขนสินค้าขาเข้าที่กรมศุลกากรสั่งวางประกันนำเข้าจากฟิลิปปินส์ จำนวน 118 ฉบับ และนำเข้าจากอินโดนีเซีย จำนวน 210 ฉบับ ให้กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ ภายในวันที่ 12 มิถุนายน 2558 และให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินการตรวจสอบให้แล้วเสร็จพร้อมรายงานผลเสนอนายวิษณุ ภายในวันที่ 22 มิถุนายน 2558

3. ตามที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ หารือถึงเหตุจำเป็นที่ต้องดำเนินการส่งสำนวนพร้อมตัวผู้ต้องหาฟ้องคดีนั้น กรณีนี้สำนักงานนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ) จะมีหนังสือแจ้งให้สำนักงานอัยการสูงสุดได้ทราบถึงเหตุผล และข้อมูลเพิ่มเติม ก่อนวันที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษนัดผู้ต้องหามารายงานตัวเพื่อจะส่งฟ้องคดี

กรณีนี้สำนักนายกรัฐมนตรี (โดยรองฯ วิษณุ) จะมีหนังสือแจ้งให้สำนักงานอัยการสูงสุดได้ทราบถึงเหตุผล และข้อมูลเพิ่มเติม ก่อนวันที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษนัดผู้ต้องหามารายงานตัวเพื่อจะส่งฟ้องคดี

คดีนี้ นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทยและประธานรัฐภาคีกฎหมายบุหรี่โลกขององค์การอนามัยโลก แถลงเรื่องบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด หลบเลี่ยงภาษีบุหรี่มากกว่า 68,000 ล้านบาท คดีอยู่ในชั้นอัยการแต่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2552 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และกระทรวงพาณิชย์เสนออัยการให้สั่งฟ้อง

“แต่อัยการสั่งไม่ฟ้องสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กระทั่งปี 2556 นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด (ในขณะนั้น) ได้ลงนามคำสั่งฟ้องก่อนเกษียณอายุราชการ แต่คดีไม่มีความคืบหน้าทำให้เกรงว่าคดีจะหมดอายุความ พร้อมเตรียมรวบรวมข้อมูลเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สั่งผู้ที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการสอบสวนคดีนี้โดยเร็ว”


บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด
กำลังโหลดความคิดเห็น