xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ที่สุดของ “เติ้ง เสี่ยว หาร” ปิดตำนานมังกรการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย และอดีตนายกรัฐมนตรีไทย นักการเมืองรุ่นลายครามผู้คร่ำหวอดในวงการการเมืองไทยลาลับไปจากโลกแล้ว บน เส้นทางของมังกรการเมืองผู้นี้มีบทบันทึก “ที่สุดแห่งชีวิต” ทิ้งไว้เป็นตำนานให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาในหลากหลายแง่มุม

“หลงจู๊การเมือง" แห่ง "พรรคปลาไหลใส่สเก็ต” คนรุ่นหลังคงฉงนฉงาย ฉายานี้ท่านได้แต่ใดมา

นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย ได้ชื่อว่ามีสมญานามทางการเมืองที่มากมายคนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น “เติ้ง เสี่ยว หาร” เนื่องจากมีลักษณะคล้ายคลึงกับ “เติ้ง เสี่ยว ผิง” อดีตผู้นำจีน ชายร่างเล็ก ห้าสั้น จนทำให้ใครๆ เรียกขานนายบรรหารว่า “เติ้ง” และยังมีสมญานาม “มังกรสุพรรณ” หรือ “มังกรการเมือง” กระทั่ง “หลงจู๊การเมือง” ก็ใช่ รวมทั้งสมญา “ปลาไหล” เพราะลื่นไหลหาตัวจับยาก ซึ่งแต่ละสมญานามล้วนแต่มีที่มาที่ไป

นายบรรหารถือเป็นนักการเมืองรุ่นใหญ่ลายครามที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งในแวดวงการเมืองไทย เขาเล่นการเมืองมาครึ่งค่อนชีวิต ผ่านร้อนผ่านหนาวบนเส้นการเมืองมาอย่างโชกโชน จนเป็นที่มาของสมญานาม “มังกรการเมือง” หรือ “หลงจู๊การเมือง”

ความละเอียดของ “หลงจู๊” มีเรื่องเล่าที่ว่ากันว่า เพียงเดินผ่านสิ่งก่อสร้าง นายบรรหาร ส.ส. สุพรรณบุรี 11 สมัย, อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและอดีตรัฐมนตรีอีกหลายกระทรวงผู้นี้ แจกแจงได้หมดว่า เหล็กกี่ตัน หินทรายกี่คิว และค่าคอมมิชชั่นเท่าไหร่? 15% หรือ 20% ก็จะอ่านงานไม่ออกได้อย่างไร ไม่เช่นนั้นจะมีหุ้นส่วนทางธุรกิจกับบริษัทรับเหมาก่อสร้าง “สี่แสงการโยธา” ที่ขึ้นแท่นแถวหน้า “ห้าเสือก่อสร้าง” ของเมืองไทย และอีกหลายบริษัท กวาดงานประมูลของรัฐจนอู้ฟู่ได้หละหรือ?

การอ่านขาดทางธุรกิจ ทำให้หลงจู๊บรรหาร สร้างฐานะจากการเข้าประมูลภาครัฐราวกับว่า “ข้ามาคนเดียว” ทุกยุคทุกสมัยในกรมโยธาธิการ และการประปาส่วนภูมิภาค ควบคู่ไปกับการสร้างฐานทางการเมือง ขนาดที่ว่าหากจะเทียบฐานะความร่ำรวยใน ทำเนียบของนายกรัฐมนตรีไทย นายบรรหาร จะเป็นรองก็แต่นายทักษิณ ชินวัตร เท่านั้น

“หลงจู๊การเมือง” แห่งสุพรรณบุรี ยังเป็น “ปลาไหล” ที่ไม่ธรรมดา แต่ถึงกับเป็น “พญาปลาไหลใส่สะเก็ต” หากย้อนกลับไปดูลีลาการต่อรองทางการเมืองที่ลื่นไหลมีแต่ได้กับได้ทุกยุคทุกสมัย

หลังจากนายบรรหาร มีบทเรียนราคาแพงจากการเป็นพรรคใหญ่อันดับหนึ่ง ซึ่งหนุนส่งให้นายบรรหาร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ถูกเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ จนต้องตัดสินใจยุบสภาในปี 2538 เมื่อพรรคแตก เพราะ ส.ส.ถูกพลังดูดจากพรรคไทยรักไทย นายบรรหาร ได้ปรับเปลี่ยนแนวทางจากพรรคใหญ่หันมาทำพรรคขนาดกลางให้เป็นตัวแปรที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ และส่งเทียบมาเชิญชวนเข้าร่วมรัฐบาล ไม่ว่าขั้วไหนก็เข้าได้หมด จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่พรรคชาติไทย จะมีสมญาว่า “พรรคปลาไหล” หรือไม่งั้นก็เรียกว่าเป็น “จอมเสียบ” ตัวพ่อ ก็คงไม่ผิดนัก และนับเป็นตัวแปรทางการเมืองที่พลิกขั้วอำนาจมาตลอด

กรณีตัวอย่าง “พญาปลาไหลใส่สเก็ต” เห็นบทบาทชัดเจนหลังการเลือกตั้งในปี 2548 พรรคชาติไทย ใช้คำหาเสียง “สัจจะนิยม สร้างสังคมให้สมดุล” ประกาศไม่ขอเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคไทยรักไทยของนายทักษิณ ชินวัตร ในวิกฤตการณ์การเมืองไทย ปี พ.ศ. 2548 โดยขอทำหน้าที่ฝ่ายค้าน และยังร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์และพรรคมหาชน คว่ำบาตรการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549

จากนั้นไม่นาน ก่อนการเลือกตั้งใหญ่ในปลายปี 2550 นายบรรหารยังยืนยันว่า “จะไม่ทำให้ผู้ใหญ่ที่นับถือมา 30 ปี ผิดหวัง” เมื่อถูกถามจะไปเข้าร่วมกับพรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นกลุ่มอำนาจเก่าจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ แต่พอคล้อยหลังเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2550 นายบรรหาร ก็นำพรรคชาติไทย เข้าร่วมกับพรรคพลังประชาชน จัดตั้งรัฐบาลจนทำให้ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ รองหัวหน้าพรรค ออกมาโจมตีและแฉพฤติกรรมลื่นไหลของนายบรรหารแบบสาดเสียเทเสีย ก่อนที่นายชูวิทย์ ต้องระเห็จออกจากพรรคในที่สุด

ถัดมาอีกไม่นาน เมื่อมีการอุ้มสมพรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นเป็นรัฐบาล ในปลายปี 2551 นายบรรหาร ก็นำพรรคชาติไทยพัฒนา ที่ตั้งขึ้นใหม่หลังจากพรรคชาติไทยถูกยุบ เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ โดยนายชุมพล ศิลปอาชา นั่งตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงท่องเที่ยวฯ และนายธีระ วงศ์สมุทร เป็นรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

จากนั้น เมื่อการเมืองเปลี่ยนขั้วอีกครั้ง ในปี 2554 พรรคชาติไทยพัฒนา ก็โผเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย ที่นำโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยนายชุมพล ได้นั่งเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรี ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวฯ และนายธีระ ยังคุมกระทรวงเกษตรฯ เช่นเดิม เรียกว่า หลงจู๊บรรหาร ได้ดิบได้ดีทุกยุคทุกสมัย เข้าได้กับทุกขั้วการเมืองตัวจริง ไม่ว่านายบรรหาร จะอยู่เบื้องหน้าในฐานะหัวหน้าพรรค หรือเบื้องหลังในฐานะที่ปรึกษาพรรค ก็ตาม

และยังเป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่ว่าจะเปลี่ยนขั้วกี่ครั้ง กระทรวงหลักที่พรรคนายบรรหาร ยึดกุมเอาไว้อย่างมั่นคงไม่มีปล่อยให้หลุดมือไปนั้นคือ กระทรวงเกษตรฯ ที่ร่ำลือกันว่า ตำแหน่งสำคัญๆ ในกระทรวงนี้ อย่างอธิบดี ปลัดกระทรวง ต้องให้หลงจู๊บรรหาร เห็นดีเห็นงามด้วย ส่วนคำร่ำลือจะจริงเท็จแค่ไหนไม่มีใครกล้ายืนยัน ขณะที่การบริหารงานของรัฐมนตรีกระทรวงฯ ที่มาจากพรรคชาติไทย ที่มีดีก็ไม่น้อย แต่ที่อื้อฉาวระดับตำนานก็มาก เช่น ผักสวนครัวรั้วกินได้ ที่จัดซื้อเมล็ดพันธุ์ผักในราคาอภิมหาโคตรแพง สมัยนายวิรัช รัตนเศรษฐ์ เป็นต้น

หากจะสรุปรวบยอดผลงานอันยาวนานที่หลงจู๊บรรหารส่งตัวแทนจากพรรคชาติไทย หรือพรรคชาติไทยพัฒนา เข้ามาบริหารกระทรวงเกษตรฯ คงต้องดูผลลัพธ์จากชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทยที่วันนี้ยังลืมตาอ้าปากได้ยาก

การเดินเกมเพื่อเข้าร่วมรัฐบาลในทุกสมัย ทำให้นายบรรหาร พรรคชาติไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา ครองตำแหน่งพรรคปลาไหลอมตะนิรันด์กาล ชนิดที่หาใครมาแทนที่ได้ยาก การลื่นไหลของนายบรรหาร ก็เพื่อตอบสนองต่อจุดยืนทางการเมืองเพียงหนึ่งเดียวที่ชัดเจนมากที่สุดคือ ขอเข้าร่วมกับพรรคจัดตั้งรัฐบาล เพราะเป็นฝ่ายค้านมันอดอยากปากแห้ง แค่นี้ก็พอจะบอกได้ว่านายบรรหาร เล่นการเมืองเพื่ออะไร และทุกครั้งก็มีการต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี ยื่นหมูยื่นแมว เสมือนเป็นเรื่องปกติของวัฒนธรรมการเมืองไทย

เนรมิต “เมืองบรรหารบุรี” รากฐานที่แท้จริงแห่งอำนาจทางการเมืองอันยั่งยืน

ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจของนายบรรหาร ทำให้เมืองสุพรรณบุรี เจริญรุ่งเรืองผิดแผกกับเมืองอื่นๆ ในละแวกใกล้เคียงราวเนรมิต และเป็นต้นแบบให้กับ “เนวินบุรี” แห่งบุรีรัมย์ซึ่งล้ำหน้าไปกว่าบรรหารบุรี เสียอีก จะว่าไป “คนบ้านนอกคอกนา” หรือ ส.ส.บ้านนอก มีความคิดอยู่อย่างหนึ่งที่ฝังลึกอยู่ในจิตใจคือ เมื่อได้ดิบได้ดีแล้วก็อยากกลับมาพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอนให้เจริญรุ่งเรือง และเชื่อว่านายบรรหาร ก็คงเป็นเฉกเช่นเดียวกัน อย่างที่ ดร. ถนัด ยันต์ทอง ประชาสัมพันธ์ชมรมไทยพวนจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวไว้ในคำอาลัยนายบรรหาร ว่า “ร่างกายและหัวใจนายบรรหารหล่อหลอมเป็นหนึ่งเดียวกับเมืองสุพรรณบุรี จนเป็นที่มาของคำว่า บรรหารบุรี”

ตลอดชีวิตนักการเมือง นายบรรหาร ได้ใช้ความสามารถผันงบประมาณแผ่นดินเข้ามาพัฒนาจังหวัดสุพรรณบุรีในหลายด้าน ชนิดที่เรียกว่าหากจะเป็นรองก็เป็นรองแค่พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย คนก่อนนายบรรหาร ที่ผันงบไปสร้างความรุ่งเรืองให้จังหวัดนครราชสีมานั่นแหละ นายบรรหาร ให้ความสำคัญกับการสร้างถนนหนทางเชื่อมสุพรรณบุรีกับกรุงเทพฯ เป็นอันดับแรกๆ เพื่อนำความเจริญจากเมืองหลวงไปสู่เมืองบริวารระยะไม่เกินร้อยกิโลเมตรอย่างสุพรรณบุรี พร้อมกับสร้างถนน 4 - 10 เลน ทั้งจังหวัด โดยสองข้างทางและเกาะกลางถนนประดับตกแต่งด้วยสวนสวย พร้อมเสาไฟฟ้าสปอร์ตไลท์ส่องสว่างอย่างอลังการงานสร้างก็มีที่นี่ที่เดียว

นอกเหนือจากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคแล้ว นายบรรหาร ยังสร้างแลนด์มาร์กการท่องเที่ยวแห่งใหม่คู่เมืองสุพรรณ เช่น หอคอยบรรหารแจ่มใส, สามชุกตลาดร้อยปี, มังกรสวรรค์ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง, บ้านควายหรือหมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทย, บึงฉวาก เป็นต้น

สวนเฉลิมภัทรราชินี และหอคอยบรรหาร-แจ่มใส ตั้งอยู่ใจกลางเมืองสุพรรณบุรี บนเนื้อที่ 17 ไร่ สวนสาธารณะแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสครบรอบ 60 พรรษา โดยมูลนิธิบรรหาร-แจ่มใส โดย นายบรรหาร ได้แรงบันดาลใจมาจากการเยือนต่างประเทศ โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2533 เสร็จสิ้นในปี พ.ศ. 2537 เป็นหอคอยแห่งแรกในประเทศไทย ที่มีความสูง 4 ชั้น สูง 123.25 เมตร

ตามคำเชิญชวนท่องเที่ยวของเมืองสุพรรณฯ ระบุว่า “สวนแห่งความรักกลางใจเมืองสุพรรณ หอคอยสีขาวสะอาดตา ท่ามกลางสวนงามและดอกไม้สีสันสดใส ขับกล่อมด้วยเสียงเพลง และลีลาเริงระบำของน้ำพุแสนสวย ยิ่งในช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์จะลาลับขอบฟ้า แปรเปลี่ยนให้สถานที่แห่งนี้เป็นดุจสวนสวรรค์.....โปรแกรมการเดินทางมาท่องเที่ยวเมืองสุพรรณ จะจบลงด้วยความประทับใจ กับความงดงามยามค่ำคืน ด้วยแสงไฟและเสียงเพลง ในช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์จะลาลับขอบฟ้า เป็นอีกสถานที่หนึ่ง ที่จะทำให้ความรักของคุณ สวยงามมากมายกว่าทุกวัน.....” ชวนฝันดังสวรรค์จริงๆ หากบั้นปลายชีวิตรักของ “บรรหาร-แจ่มใส” เป็นเฉกเช่นนั้น

อุทยานมังกรสวรรค์ ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองสุพรรณฯ ที่นายบรรหาร ให้ความเคารพ เล่ากันว่า ในวัยหนุ่มก่อนที่นายบรรหาร จะเดินทางออกแสวงโชคที่กรุงเทพฯ ได้มาขอพรที่ศาลเจ้าพ่อฯ หากประสบความสำเร็จ เจริญรุ่งเรือง ร่ำรวย จะกลับมาบูรณะและพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ นั่นจึงเป็นที่มาของ “อุทยานมังกรสวรรค์ ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง”

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ระบุว่า อุทยานมังกรสวรรค์ ก่อตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่ประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาชนจีน มีความสัมพันธ์ทางการทูตครบ 20 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2539 พิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร ออกแบบขึ้นเพื่อนำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ของอารยธรรมจีนที่ยาวนานถึง 5,000 ปี ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นอารยธรรมที่เก่าแก่ และสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ภายใต้รูปแบบมังกร สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่รู้จักกันดี สถานที่แห่งนี้ยังเป็นแลนด์มาร์คของชาวสุพรรณฯ ด้วย โดยใช้งบเนรมิตไม่ต่ำกว่าร้อยล้าน และขณะนี้ยังมีเจดีย์พุทธบัญชา ที่ยังสร้างไม่เสร็จ แต่ชาวสุพรรณฯ พร้อมสานต่อความตั้งใจของนายบรรหาร ให้แล้วเสร็จ

ความตั้งใจกลับมาพัฒนาเมืองสุพรรณฯ ของนายบรรหาร ยังฉายผ่าน “หอเกียรติยศ ฯพณฯ บรรหาร ศิลปอาชา” ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากวิทยาลัยนาฏศิลป์ สุพรรณบุรี ที่ติดป้ายตระหง่านบอกเจตนารมณ์ ว่า “จุดประสงค์ของอาคารหลังนี้ มีไว้เพื่อช่วยปลุกเร้าให้คนรุ่นหลังเห็นว่า เมื่อเราก้าวหน้า ก็ควรรู้จักกลับมารักบ้านเกิด เทอดแผ่นดินของตัว ถ้าทุกคนทำ ...แม้เพียงไม่มาก ก็จะเป็นพลังมหาศาล ประเทศชาติก็จะเจริญ” หอเกียรติยศแห่งนี้ รวบรวมประวัติและผลงานของนายบรรหาร โดยสร้างจากเงินบริจาคของชาวสุพรรณบุรี สำหรับบันไดทางขึ้นพิพิธภัณฑ์ จำลองมาจากตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

ส่วน บึงฉวาก ห่างจากตัวเมืองสุพรรณฯ 70 กิโลเมตร ที่มีทั้งส่วนที่เป็นสวนสัตว์และอควาเรียม ซึ่งมีไฮไลต์อยู่ที่ฉลามทั้งหมด 9 ตัว รวมทั้งฉลาม lemon shark ซึ่งมีอยู่ที่เดียวในประเทศไทย ฯลฯ

การสร้างผลงานการพัฒนาเมืองสุพรรณฯ ของนายบรรหาร ผูกพันอย่างล้ำลึกกับการสร้างฐานทางการเมือง ดังที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชาวญี่ปุ่น ดร.โยชิโนริ นิชิซากิ แห่งคณะรัฐศาสตร์, National University of Singapore เขียนไว้ในหนังสือ เรื่อง Political Authority and Provincial Identity in Thailand: The Making of Banharn-buri (Cornell Southeast Asia Program Publications, 2011; สิทธิอำนาจทางการเมืองกับเอกลักษณ์จังหวัดในประเทศไทย : การสร้างบรรหารบุรี) ซึ่งปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ของ ดร.โยชิโนริ นิชิซากิ ที่วิจัยภาคสนามหาข้อมูลในสุพรรณบุรีอยู่นาน 7 ปี ขี่มอเตอร์ไซค์ตระเวนทั่ว 111 ตำบล สนทนากับคนสุพรรณฯกว่า 400 คน และคนต่างถิ่นอีกกว่า 170 คน ทั้งยังค้นคว้าเอกสารหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นและตัวเลขสถิติงบประมาณแผ่นดินที่เกี่ยวข้องอีกมากกว่าจะประมวลเรียบเรียงวิเคราะห์เปรียบเทียบออกมาเสร็จสมบูรณ์

ดร.โยชิโนริ นิชิซากิ ได้สรุปรวบยอดว่า นายบรรหารได้ปลุกชาวสุพรรณฯให้ภาคภูมิใจในความเป็นคนสุพรรณฯ พวกเขาไม่ต้องอับอายขายหน้าที่จังหวัดตัวเองล้าหลังอีกต่อไป ความภูมิใจรวมหมู่นี้รองรับสิทธิอำนาจอันชอบธรรมของนายบรรหารในสุพรรณบุรี และยืนยันว่าลัทธิจังหวัดนิยมแบบบรรหารบุรี คือฐานที่มาแท้จริงแห่งอำนาจทางการเมืองอันยั่งยืนของนายบรรหาร ไม่ใช่การใช้กำลังรุนแรง, การซื้อเสียง, หรือการอุปถัมภ์ส่วนตัว อีกทั้งยังเป็นปัจจัยหลักยิ่งกว่าการเมืองแบบดึงงบประมาณโครงการพัฒนาของรัฐบาลมาลง ในพื้นที่จังหวัดโดดๆ อย่างเดียวด้วย

โมเดลบรรหารบุรีที่ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร ทำให้นายบรรหาร มีสภาพเฉกเช่นมังกรการเมืองที่เลือกตั้งร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง แม้วันนี้ตัวเขาจะจากไป แต่ตำนานทางการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่นที่เรียกได้ว่า ครบทุกรส ยังคงอยู่



กำลังโหลดความคิดเห็น