สะเก็ดไฟ
ที่ประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในวันจันทร์ที่ 21 มี.ค.นี้ จะมีการชี้ขาดกันว่า สุดท้ายแล้วที่ประชุมจะเอาอย่างไรกับข้อเสนอแนะในการร่างรัฐธรรมนูญ ที่ คสช.โดย พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผบ.ทบ. และเลขาธิการ คสช. ส่งมาถึง กรธ.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ทางออกของ กรธ.มีการประเมินว่า น่าจะมีทางออกด้วยกัน 3 ทางเลือก
1. ไม่รับเลยทุกข้อเสนอจาก คสช. การปฏิเสธข้อเสนอแนะจาก คสช.ที่เป็นรัฏฐาธิปัตย์ และเป็นผู้ทำคลอด กรธ.21 คนมากับมือ โดยแม้หนังสือจาก คสช.จะลงนามโดย พล.อ.ธีรชัย แต่ก็เป็นการลงนามในฐานะเลขาธิการ คสช. ที่อ้างอิงว่าเป็นความเห็นจากการประชุมร่วมกันของแม่น้ำ 4 สาย ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรีร่วมประชุมด้วย อีกทั้งการที่หนังสือดังกล่าวจะส่งไปถึง มีชัย ฤชุพันธุ์ และ กรธ.ก็ต้องส่งไปให้ “บิ๊กตู่” สแกนเห็นชอบก่อนอยู่แล้วทุกหน้า
ดังนั้น ความเห็นทุกบรรทัดของ คสช.ในหนังสือดังกล่าวจึงถูกประทับตราจาก พล.อ.ประยุทธ์เรียบร้อย ถ้าเป็นแบบนี้ คสช.เสียหายทางการเมืองแน่นอน ขณะที่ มีชัย และ กรธ.ก็จะได้เครดิตว่าทำงานโดยอิสระ ไม่รับใบสั่งคณะรัฐประหาร เพราะตอนนี้กระแสไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของ คสช.มีมากอย่างเห็นได้ชัด ส่วนผลที่จะตามมาหลังจากนี้ หากออกมาแบบนี้ต้องรอดูกันต่อไป
2. รับแค่บางข้อเสนอแนะ โดยเขียนไว้ในบทเฉพาะกาลตามที่ คสช.ต้องการ ดูจะเป็นทางออกที่หลายฝ่ายประเมินว่าน่าจะออกมาในลักษณะนี้มากที่สุด เนื่องจากที่ผ่านมาตัวนายมีชัยและ กรธ.หลายคนก็ไม่ได้แสดงท่าทีปฏิเสธข้อเสนอจาก คสช.ที่ออกมาก่อนหน้านี้โดยผ่านคำให้สัมภาษณ์ของแกนนำ คสช.ในเรื่องที่มา ส.ว.ที่ให้มาจากการสรรหาทั้งหมดในช่วง 5 ปีแรก หรือข้อเสนอที่ออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรจาก พล.อ.ธีรชัย
โดยแนวทางดังกล่าว กรธ.ยอมแค่บางเรื่องตามที่ คสช.ร้องขอมา มีการคาดหมายกันว่า หาก กรธ.ยอมก็น่าจะเป็นเรื่องยอมให้มี ส.ว.สรรหาชุดแรก 250 คนในช่วง 5 ปีแรกมาจากการสรรหา แต่ตัวเลขต้องดูก่อนว่า กรธ.จะยอมให้แค่ไหน จะเป็น 200 คน หรือ 250 คน เพราะหากปรับลดลงมาเหลือ 200 คน ก็ไม่ถือว่าเสียหายอะไร แต่ในส่วนที่น่าจะมีปัญหาก็คือ เรื่องอำนาจหน้าที่ของ ส.ว. ซึ่ง คสช.ต้องการให้ ส.ว.สรรหาชุดแรกมีบทบาทในการควบคุมบริหารราชการแผ่นดิน เช่น การอภิปรายไม่ไว้วางใจ
ตรงนี้น่าจะเป็นประเด็นที่ กรธ.คิดหนักมากที่สุด เพราะการให้ ส.ว.ลากตั้งไปมีอำนาจถึงขั้นลงมติไว้วางใจ หรือไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน นายกรัฐมนตรีมาจากการโหวตของที่ประชุมสภาฯ ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เป็นเรื่องที่อธิบายได้ยากในหลักการประชาธิปไตย
หาก กรธ.ยอมเอาด้วย ร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ.จะกลายเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบแบบเถียงไม่ขึ้น โต้แย้งไม่ได้ และจะเป็นประเด็นที่ถูกลากนำไปโจมตีอย่างหนักในช่วงประชามติ เพราะปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่า แม้ต่อให้ กรธ.ออกแบบคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ชุดแรกออกมาดีอย่างไร เช่น การให้ประธานองค์กรอิสระทุกแห่งมาร่วมเป็นกรรมการสรรหา ส.ว. หรือแม้แต่ให้มีประธานศาลบางศาลมานั่งเป็นกรรมการสรรหา ส.ว.ด้วย แต่อย่างไรเสียก็ต้องมีเครือข่าย คสช.เข้ามาอยู่ใน ส.ว.ชุดแรกไม่มากก็น้อย ยิ่งหากเขียนโครงสร้างกรรมการสรรหา ส.ว.ออกมาไม่ดี เขียนล็อกเปิดช่องให้ คสช.แทรกแซงได้ แล้วคนของ คสช.เข้ามาอยู่ใน ส.ว.ชุดแรกหมด 250 คน แล้วให้อำนาจอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้ และอำนาจอื่นๆ อีก
ก็เท่ากับ ที่คนไปพูดกันว่า คสช.เตรียมตั้ง “พรรคทหาร” นั้นมันก็ไม่เกิดขึ้นเลย เพราะพรรคทหารที่พูดกันมาหลายเดือน มันก็คือ “พรรค ส.ว.250 เสียง” นั่นเอง ไม่ต้องไปตั้งพรรคให้ยุ่งยากเสียเงินเสียทอง
เรื่อง “อำนาจ ส.ว.” ชุดแรก จึงน่าจะเป็นประเด็นที่ กรธ.คงต้องขบคิดกันให้หนัก เพราะหากจะให้ ส.ว.ชุดแรกมาจากการสรรหาทั้งหมด ว่าไปแล้วกระแสสังคมแม้จะไม่ค่อยเห็นด้วย แรงต่อต้านมีแน่นอน แต่ก็จะไม่รุนแรงหนักมาก หากไม่มีการมอบอำนาจที่ผิดฝาผิดตัวไปให้กับสภาลากตั้ง คนจึงประเมินว่ามีชัยและ กรธ. น่าจะไม่ยอมในประเด็นนี้
ขณะที่ข้อเสนอของ คสช.ที่ต้องการให้ กรธ.เขียนให้ ส.ว.ชุดแรกมีอำนาจหน้าที่ในเรื่องพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ดูแลการขับเคลื่อนการปฏิรูป ตามแผนการปฏิรูปแนวนโยบายแห่งรัฐ แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และยุทธศาสตร์ชาติ เรื่องนี้ยังค่อนข้างเป็นประเด็นรองจากเรื่องอำนาจ ส.ว.ในการอภิปรายรัฐบาล เพราะข้อเสนอดังกล่าวของ คสช.ยังมีความเป็นนามธรรมค่อนข้างมาก และบางเรื่อง เช่น การให้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ที่ก็คือการจะให้ ส.ว.ลากตั้งชุดแรกเป็นหลักในการป้องกันไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังการเลือกตั้งได้ง่าย ตรงนี้จริงๆ แล้ว ในร่างแรกของมีชัย และ กรธ.ก็เขียนล็อกไว้แน่นหนาอยู่แล้วในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คนจึงไม่ค่อยมองประเด็นนี้มากเท่าไหร่ ยิ่งเรื่องให้มาคอยประคองเรื่องการปฏิรูปประเทศ และคอยกำกับดูแลให้รัฐบาลทำตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ก็เป็นเรื่องในเชิงนามธรรม
หาก กรธ.จะมีชั้นเชิงเขียนออกมาให้สอดคล้องกับความต้องการของ คสช.ก็น่าจะทำได้ไม่ยาก คนไม่ค่อยเพ่งเล็งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มากเท่ากับเรื่องอำนาจของ ส.ว.ในการอภิปรายรัฐบาล เนื่องจากหาก กรธ.ยอมให้ ส.ว.ชุดแรกมาจากการสรรหาทั้งหมด 250 เสียง แถมให้อำนาจอภิปราย และลงมติไม่ไว้วางใจ หรือไว้วางใจรัฐบาลได้ด้วย จะทำให้ดุลอำนาจการเมืองไปอยู่ที่วุฒิสภามากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
ยกตัวอย่างง่ายๆ หากรัฐบาลไม่ต้องการให้ตัวเองมีปัญหาต้องล้มกลางคันเพราะถูกลงมติไม่ไว้วางใจ นั่นหมายถึงว่า การจัดตั้งรัฐบาลมีการประเมินว่าต้องใช้เสียงถึง 414 เสียง บนฐานคิดคือ ส.ส.500 เสียง ส.ว.อีก 250 เสียง รวมกันเป็น 750 เสียง หากมีการเขียนให้ ส.ว.มีอำนาจลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้ ที่แกนนำ นปช. อย่าง จตุพร พรหมพันธุ์ ออกมาตั้งข้อสังเกตทางการเมือง จึงน่าคิดอย่างยิ่ง เพราะเท่ากับว่ากึ่งหนึ่งของ 750 เสียง คือ 375 เสียง
ดังนั้น หากมีการเปิดอภิปรายรัฐบาลทั้งคณะแล้ว นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ไม่มีสิทธิลงมติให้ตัวเอง จึงต้องลบไปอีก 36 คน และลบด้วยเสียงประธานสภาฯ กับรองประธานสภาฯ อีก 3 คน ดังนั้น การตั้งรัฐบาล เพื่อไม่ให้มีปัญหาถูกลงมติไม่ไว้วางใจจะต้องมีเสียงจัดตั้งรัฐบาล 414 เสียง ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้เลยในทางการเมือง ยกเว้นเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล
ต้องรอดูว่าสุดท้ายแล้ว มีชัย กับ กรธ.จะยอมให้กับ คสช.ในประเด็นใดบ้าง เพราะก็ยังมีข้อเสนอ คสช.ที่ต้องการให้การเลือกตั้ง ส.ส.ใช้ระบบเขตใหญ่ แต่ให้ประชาชนเลือกได้แค่ 1 เบอร์ ไม่ใช่ 3 เบอร์อย่างที่เคยทำกันมาหลายครั้ง ตลอดจนเรื่องที่ยังไม่ให้ใช้ระบบให้พรรคการเมืองต้องเปิดเผยชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 3 รายชื่อ ในช่วงเลือกตั้งที่อาจเปิดช่องให้มีนายกฯ คนนอกได้ โดยประเด็นนี้หาก กรธ.เอาด้วยก็อาจใช้วิธีเขียนล็อกให้แน่นหนาขึ้น เพื่อไม่ให้นายกฯ คนนอกเข้ามาได้ง่ายๆ เช่น หากกรณีผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ ไม่ได้เป็น ส.ส. จะต้องได้รับเสียงเห็นชอบจากที่ประชุมสภาฯ ไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 แต่หากเป็น ส.ส. ให้ใช้เสียงเห็นชอบแค่เกินกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.ในสภาฯ
3. ยื้อเวลาไว้ในถึงนาทีสุดท้าย เป็นทางออกสุดท้าย คือ การประชุม 21 มี.ค.นี้ กรธ.ก็อาจมีข้อสรุปหลักออกมาว่า มีการพิจารณาแต่ละประเด็นอย่างไรไปแล้ว ที่ประชุมมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดยพบว่า แต่ละข้อเสนอของ คสช. มีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร บางเรื่องเห็นด้วย บางเรื่องไม่เห็นด้วย แต่รายละเอียดในการเขียนที่จะไปอยู่ในบทเฉพาะกาล จะนำไปหารือกันอีกครั้งในการประชุม กรธ.นอกสถานที่ ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ช่วง 23-26 มี.ค. ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะเขียนออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรได้อย่างไร เพราะบทเฉพาะกาลจะอยู่ในหมวดสุดท้ายของร่างรัฐธรรมนูญ จึงมีเวลาอีกร่วมหนึ่งสัปดาห์ในการหาข้อสรุป เพราะเส้นตายของ กรธ.คือ ต้องทำให้เสร็จภายในไม่เกิน 29 มี.ค. หากออกมาแบบนี้ก็คือการที่ กรธ.ยื้อเวลาไว้ก่อนเพื่อรอเคาะจนถึงนาทีสุดท้ายนั่นเอง
มีชัยและ กรธ.จะหาทางออกเรื่องนี้อย่างไร หากทุกอย่างเป็นไปตามที่มีชัยเคยบอกไว้ว่าจะมีข้อสรุปกันภายในวันที่ 21 มี.ค.นี้ ก็ต้องรอดูผลที่จะออกมากันให้ดีๆ แต่เชื่อว่าหาก คสช.ไม่ได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการทั้งหมด หรือ กรธ.ต้องยอมบางเรื่องเพื่อ คสช. แต่ทั้ง คสช.กับ กรธ.ก็คงไม่ถึงกับแตกหักกันแน่นอน