xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลแห่งชาติ : เผด็จการขันอาสา

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

เท่าที่ผ่านมาในประวัติการเมืองไทยนับจากปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา คนไทยคุ้นเคยกับรัฐบาลทั้งในระบอบเผด็จการ และระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลทั้งสองระบอบนี้ได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันบริหารประเทศเป็นระยะ โดยมีเหตุปัจจัยในการเปลี่ยนแปลงแต่ละครั้งเป็นไปในทำนองเดียวกันดังนี้

1. เมื่อรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยบริหารประเทศได้ระยะหนึ่ง ส่วนใหญ่ไม่ครบเทอมตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ประชาชนจะเบื่อเนื่องจากไม่มีผลงานโดดเด่นในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในทางด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม จะเห็นได้จากราคาสินค้าอุปโภคบริโภค และค่าบริการขั้นพื้นฐานแพง

ในขณะเดียวกัน รายได้ของประชากรต่ำทำให้เกิดความเดือดร้อน เป็นเหตุให้มีปัญหาอาชญากรรมลักขโมย จี้ปล้น เป็นต้น แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าอื่นใดก็คือ มีปัญหาการทุจริต คอร์รัปชันในภาครัฐ โดยมีนักการเมือง ข้าราชการ พ่อค้าร่วมมือกันในลักษณะสามประสาน ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติโดยรวมเป็นอันมาก กลายเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ และเป็นเหตุโดยตรงประการหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยล้าหลัง เมื่อเทียบกับประเทศที่เจริญแล้ว เช่น สิงคโปร์ เป็นต้น จากจุดนี้เองทั้งสื่อมวลชน ทั้งพรรคการเมืองฝ่ายค้าน และบรรดานักวิชาการ รวมไปถึงประชาชนผู้รักบ้านเมืองได้ออกมาโจมตีขุดคุ้ย และในบางรัฐบาลถึงขั้นมีม็อบจัดตั้งขึ้นมาไล่รัฐบาล จึงเป็นเหตุให้กองทัพอาศัยเหตุดังกล่าวนี้โค่นล้มรัฐบาล และจัดตั้งรัฐบาลในระบอบเผด็จการเข้ามาบริหารประเทศแทน

2. แต่รัฐบาลเผด็จการก็ประสบชะตากรรมในทำนองเดียวกัน ถ้าอยู่นานเกินไปและไม่มีผลงานโดดเด่น ทั้งในด้านการพัฒนาประเทศ และในการแก้ปัญหาปากท้อง แต่ที่สำคัญที่สุดคือ มิได้แก้ปัญหาอันเป็นที่มาของความขัดแย้งทางการเมืองจนกลายเป็นเหตุอ้างในการโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน และแถมซ้ำมีการทุจริต คอร์รัปชันเสียเอง จึงเป็นเหตุให้ประชาชนออกมาเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง

ในที่สุด เมื่อทนแรงกดดันทางการเมืองไม่ไหว ก็จำใจปล่อยให้มีการเลือกตั้งโดยไม่มีการแก้ไข และป้องกันปัญหาซึ่งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ก่อขึ้นแทบทุกรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา นั่นคือการใช้เงินซื้อเสียง รวมไปถึงนโยบายประชานิยม อันเปรียบเสมือนการซื้อเสียงล่วงหน้า โดยใช้เงินของรัฐที่ได้มาจากการเก็บภาษีของประชาชน และเมื่อได้เป็นรัฐบาลก็หาทางถอนทุน โดยการแสวงหาประโยชน์ในหลายรูปแบบ มีตั้งแต่การกินหัวคิวจากการจัดซื้อจัดจ้างไปจนถึงการคอร์รัปชันในเชิงนโยบาย

ในที่สุดรัฐบาลที่มีพฤติกรรมเยี่ยงนี้ ก็จบลงด้วยการถูกประชาชนขับไล่ และกองทัพโค่นล้มด้วยการปฏิวัติรัฐประหาร แล้วจัดตั้งรัฐบาลในระบอบเผด็จการขึ้นมาบริหารแทน

รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่ประสบชะตากรรมดังกล่าวข้างต้น เมื่อถูกมวลชนในนาม กปปส.ออกมาชุมนุมขับไล่ และจบลงด้วย คสช.ยึดอำนาจและจัดตั้งรัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นมาจัดการแก้ปัญหา และปกครองประเทศในลักษณะผสมผสานระหว่างเผด็จการกับระบอบประชาธิปไตย จะเห็นได้จากจัดให้ สนช.ทำหน้าที่นิติบัญญัติในทำนองเดียวกันกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่ในขณะเดียวกัน มี คสช.ทำหน้าที่รักษาความสงบ และเป็นเสมือนพี่เลี้ยงคอยประคับประคองรัฐบาล โดยใช้อำนาจของระบอบเผด็จการเมื่อถึงคราวจำเป็น

นอกจากนี้ ยังจัดให้มีสภาปฏิรูปแห่งชาติขึ้นมาทำหน้าที่กำหนดแนวทางการปฏิรูปประเทศ ตามแนวทางที่มวลชนเรียกร้อง

แต่ด้วยเหตุที่รัฐบาลชุดนี้เป็นลูกผสม จึงไม่มีบทบาทของความเด็ดขาดอันเป็นเอกลักษณ์ของรัฐบาลเผด็จการที่ประชาชนต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน จึงกลายเป็นจุดอ่อนเมื่อเทียบกับรัฐบาลเผด็จการที่ประชาชนชื่นชอบ เฉกเช่นรัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งใช้มาตรา 17 แก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพในหลายด้าน แต่รัฐบาลชุดนี้ก็มีข้อดีและข้อเด่น เช่น กำหนดเวลาที่จะอยู่ในตำแหน่งแน่นอน พร้อมกับมีความตั้งใจจะปฏิรูปประเทศเพื่อแก้ปัญหาที่หมักหมมมานาน เช่น ปัญหาการเมืองก่อนจะมีการเลือกตั้ง ถ้าแก้ไขและป้องกันได้ โอกาสที่จะเกิดการโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอีกครั้งคงจะเกิดขึ้นได้ยาก

อย่างไรก็ตาม มีคนอยู่ไม่น้อยที่มองว่าการเมืองไทยคงจะหลุดพ้นจากวัฏจักรเก่าๆ ได้ยาก และนี่เองจึงเป็นเหตุให้มีผู้เสนอให้จัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติขึ้นมาปรองดอง เพื่อลดความขัดแย้งทางการเมืองหลังจากมีการเลือกตั้ง แต่ในทันทีที่กระแสเช่นนี้ออกมา กระแสคัดค้านก็ดังขึ้น จึงทำให้เห็นว่าโอกาสที่จะเกิดรัฐบาลแห่งชาติ หรือจะเรียกว่า รัฐบาลปรองดองคงจะเกิดขึ้นได้ยาก

รัฐบาลแห่งชาติ มีรูปแบบเช่นไร และควรจะมีได้ไหม

เกี่ยวกับรูปแบบไม่มีรายละเอียดแน่นอน จากกระแสข่าวที่เกิดขึ้น แต่ถ้าจะให้อนุมานโดยอาศัยสภาวะแวดล้อมทางการเมืองของประเทศไทย ก็คงคาดการณ์ได้ดังนี้

1. ให้ทุกพรรคการเมืองร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล โดยมีสัดส่วนของรัฐมนตรีตามจำนวน ส.ส.ที่ได้รับเลือก

2. ให้ ส.ส.ร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีมาจากพรรคใดพรรคหนึ่ง และถ้าไม่สามารถตกลงกันได้ก็เปิดโอกาสให้คนกลางมาเป็นนายกฯ ถ้าเป็นเช่นที่กฎหมายรัฐธรรมนูญคงเปิดกว้างให้นายกฯ มาจากคนนอกหรือผู้ที่มิได้เป็น ส.ส.ได้

3. เนื่องจากรัฐบาลแห่งชาติ ในลักษณะนี้คงจะมีเอกภาพได้ยาก และคงจะอยู่ได้ไม่นาน และนี่เองน่าจะเป็นจุดให้เกิดความคิดที่จะมีคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ ขึ้นมาทำหน้าที่ประคับประคองรัฐบาล ในทำนองเดียวกันกับที่ คสช.คอยประคับประคองรัฐบาลชุดนี้

จากเหตุปัจจัย 3 ประการนี้ รัฐบาลแห่งชาติเกิดได้และคงจะบริหารประเทศได้แต่ก็คงจะเรียกว่า รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยไม่ได้ ถึงแม้จะมาจากการเลือกตั้งก็ตาม แต่ก็จะเหมาะสมกับภาวะแวดล้อมของสังคมไทยที่ไม่มีความพร้อมจะเป็นประชาธิปไตย 100% แบบตะวันตก แต่เป็นได้อย่างมากแค่รัฐบาลเผด็จการขันอาสาเข้ามาปกป้องประเทศชาติให้รอดพ้นจากนักการเมืองคอร์รัปชันในคราบของประชาธิปไตยก็ดีใจแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น