xs
xsm
sm
md
lg

ปราบโจรด้วยการไม่ฆ่าหรือจองจำ : คำแนะนำของปุโรหิต

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

หัวเรื่องข้อเขียนนี้คือส่วนหนึ่งของพุทธพจน์ ซึ่งมีที่มาปรากฏในกฎทันตสูตร โดยมีเนื้อความโดยย่อดังนี้

พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นมคธ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เสด็จและพัก ณ บ้านพราหมณ์ ชื่อขานุมัตตะ ประทับ ณ อัมพลัฏฐิกา

สมัยนั้น กฎทันตพราหมณ์ครอบครองหมู่บ้านพราหมณ์ชื่อว่า ขานุมัตตะ ซึ่งพระเจ้าพิมพิสารพระราชทานให้ และในเวลานั้นกฎทันตพราหมณ์เตรียมประกอบยัญพิธี โดยนำโคตัวผู้ 700 ตัว ลูกโคตัวผู้ 700 ตัว ลูกโคตัวเมีย 700 ตัว แพะ 700 ตัว แกะ 700 ตัว ผูกติดกับเสาเพื่อเตรียมบูชายัญ

พราหมณ์คฤหบดีชาวขานุมัตตะได้ทราบว่า พระผู้มีพระภาคซึ่งเป็นผู้มีกิตติศัพท์ขจรขจายไปว่า เป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้น ได้เสด็จมา จึงได้เดินไปเฝ้าเป็นหมู่ๆ เห็นเข้าสอบถามจนทราบเรื่อง จึงสั่งให้รอตนจะไปร่วมเฝ้าด้วย แต่ถูกพราหมณ์ที่เดินทางมา (เพื่อรับของถวาย) ในมหายัญญคัดค้าน โดยอ้างความยิ่งใหญ่ของกฎทันตพราหมณ์โดยชาติ โดยทรัพย์ โดยความรู้ในไตรเวทย์ โดยความเป็นผู้มีรูปงาม โดยศีล โดยมีวาจาไพเราะ โดยความเป็นอาจารย์ของคนยาก โดยมีมานพเป็นอันมากจากต่างทิศ ต่างชนบท เพื่อเรียนมนต์โดยความเป็นผู้แก่กว่าสมณโคดม โดยความเป็นผู้ได้รับความเคารพนับถือจากพระเจ้าพิมพิสาร และโปกขรสาติพราหมณ์ โดยความเป็นผู้ครอบครองขานุมัตตะ จึงไม่ควรไปหาสมณโคดม การที่พระสมณโคดมจะมาหามากกว่า

กฎทันตพราหมณ์ตอบโต้โดยอ้างความยิ่งใหญ่ของพระผู้มีพระภาคโดยชาติ โดยสละทรัพย์สมบัติออกผนวช โดยมีพระรูปงดงามโดยมีศีล มีถ้อยคำไพเราะ โดยเป็นอาจารย์ของคนยาก เป็นผู้สิ้นกามราคะ โดยเป็นกัมมวาทีกิริยวาที (กล่าวว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว) โดยออกบวชจากสกุลกษัตริย์อันสูง ไม่เจือปน (สกุลอื่น) โดยออกจากสกุลมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีคนจากรัฐอื่น จากชนบทอื่นมากราบทูลถามปัญหา มีบริษัท 4 เคารพนับถือ มีเทพยดาอเนกอนันต์หลายพันพากันถึงพระสมณโคดมเป็นสรณะ มีพระกิตติศัพท์ขจรขจายไปว่า เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้น โดยทรงประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะ 32 ประการ โดยทรงต้อนรับปราศรัยให้บันเทิง มีบริษัท 4 เคารพนับถือ มีเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายเลื่อมใสยิ่ง ประทับในคามนิคมใดๆ อมนุษย์ก็ไม่มาเบียดเบียนในที่นั้น

โดยมีผู้กล่าวว่าทรงเป็นคณาจารย์เลิศกว่าเจ้าลัทธิเป็นอันมาก มีพระยศเฟื่องฟุ้งไปเพราะความรู้ ความประพฤติไม่เหมือนสมณพราหมณ์เหล่านั้น พระเจ้าพิมพิสารพร้อมทั้งพระโอรส มเหสี บริษัท และอมาตย์ พระเจ้าปเสนทิโกศล พร้อมทั้งพระโอรส ฯลฯ โปกขรสาติพราหมณ์ พร้อมทั้งบุตร ภริยา ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ถึงพระสมณโคดมเป็นสรณะ เมื่อพระองค์เสด็จมาจึงชื่อว่าเป็นแขกที่เราพึงถวายความเคารพสักการะ เพราะเหตุนี้จึงไม่ควรที่จะให้พระองค์เสด็จมาหาเรา ควรที่เราจะไปเฝ้าพระองค์

เมื่อกฎทันตพราหมณ์กล่าวพรรษาพระพุทธคุณอย่างนี้ พราหมณ์ที่คัดค้านก็กล่าวว่า ถ้าพระสมณโคดมเป็นเช่นที่ท่านกล่าวนี้ แม้อยู่ไกลร้อยโยชน์ก็ควรจะสะพายเสบียงเดินทางไปเฝ้า

ในที่สุดทั้งหมดก็ได้เดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า และกฎทันตพราหมณ์จึงกราบทูลถามถึงยัญญสัมปทา (ความถึงพร้อมแห่งยัญ 3 ประการ อันมีส่วนประกอบ 16 อย่าง)

พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าถึงพระมหาวิชิตะในอดีตกาล ผู้สมบูรณ์ด้วยทรัพย์ได้ชัยชนะอันยิ่งใหญ่เหนือปฐพีมณฑล ใคร่จะบูชามหายัญเพื่อประโยชน์และความสุข จึงตรัสเรียกพราหมณ์ปุโรหิตให้มาช่วยสอนวิธีบูชามหายัญนั้น

พราหมณ์ปุโรหิตแนะให้ปราบโจรผู้ร้ายก่อน แต่มิใช่ด้วยการฆ่าหรือจองจำ เพราะพวกที่เหลือจากถูกฆ่าจะเบียดเบียนชนบทภายหลัง โดยที่แท้ควรถอนรากโจรผู้ร้าย (ด้วยวิธีจัดการทางเศรษฐกิจ) คือ

1. แจกพืชพันธุ์แก่กสิกรผู้มีความอุตสาหะในการประกอบอาชีพในชนบท

2. ให้ทุนแก่พ่อค้าผู้มีความอุตสาหะในการทำการค้า

3. ให้อาหารและค่าจ้างแก่ข้าราชการเพิ่มขึ้น (เพื่อให้ทุกคนมีอาชีพและรายได้เพิ่มขึ้น) พระราชทรัพย์ก็จะเพิ่มพูน ชนบทก็จะไม่มีเสี้ยนหนาม มนุษย์ทั้งหลายก็จะรื่นเริงอุ้มบุตรให้ฟ้อนอยู่ที่อก ไม่ต้องปิดประตูเรือน

เมื่อพระเจ้ามหาวิชิตะทรงทำตามคำแนะนำนั้น ก็ได้ผลดี

ทั้งหมดที่เขียนเล่ามา คือส่วนหนึ่งของคำสอนของพระพุทธองค์ อันเป็นคำสอนที่เกี่ยวกับหลักการปกครองประเทศ ซึ่งมีที่มาปรากฏในกฎทันตสูตรพระไตรปิฎกเล่มที่ 9 ทีฆนิกายสีลขันธวัคค์

คำสอนนี้จะเห็นได้ว่า นอกจากเป็นหลักในการปกครองแล้ว ยังเป็นแนวทางแก้ปัญหาสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาโจรกรรมอันเกิดจากความยากจน

โดยนัยแห่งคำสอนดังกล่าวข้างต้น ถ้าสังเกตจะเห็นได้ว่า มีส่วนคล้ายคลึงกับนโยบายประชานิยมของรัฐบาลในระบอบทักษิณ และประชารัฐของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในแง่ของการให้ความช่วยเหลือประชาชน แต่ก็มีส่วนต่างในแง่ของการกำหนดคุณสมบัติของผู้รับ และวัตถุประสงค์ในการให้ กล่าวคือ ทั้งนโยบายประชานิยม และประชารัฐกำหนดคุณสมบัติของผู้รับ โดยการระบุอาชีพและรายได้ภายใต้วัตถุประสงค์คือ มุ่งกระตุ้นทางเศรษฐกิจให้เติบโต เพื่อหวังคะแนนนิยมทางการเมือง ส่วนการให้ในพระสูตรนี้ กำหนดคุณสมบัติของผู้รับ โดยการแบ่งประเภทของผู้รับ และเน้นการมีคุณธรรมคือจะต้องมีความอุตสาหะในการประกอบอาชีพ เพื่อหวังเพิ่มรายได้และแก้ปัญหาความยากจน อันเป็นเหตุให้เกิดปัญหาอาชญากรรม อันเป็นเสี้ยนหนามทางสังคมเป็นหลัก
กำลังโหลดความคิดเห็น