xs
xsm
sm
md
lg

ให้พึ่งตนพึ่งธรรม : ส่วนหนึ่งของจักกวัตติสูตร

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

พระผู้มีพระภาคประทับ ณ นครมาตุลา แคว้นมคธ ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายให้พึ่งตนพึ่งธรรม และเจริญสติปัฏฐาน 4 แล้วตรัสเล่าเรื่องรัตนะ 7 ประการของพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่า ทัฬหเนมิ คือ

1. จักร (ลูกล้อรถ) แก้ว (จักรรัตนะ)

2. ช้างแก้ว (หัตถิรัตนะ)

3. ม้าแก้ว (อัสสรัตนะ)

4. แก้วมณี (มณีรัตนะ)

5. นางแก้ว (อิตถีรัตนะ)

6. ขุนคลังแก้ว (คหปติรัตนะ)

7. ขุนพลแก้ว (ปรินายกรัตนะ)

พระเจ้าทัฬหเนมิ ตรัสสั่งบุรุษคนหนึ่งให้คอยดูว่า จักรแก้วเคลื่อนจากฐานเมื่อไหร่ให้บอกมา จำเนียรกาลล่วงมาเมื่อจักรแก้วเคลื่อนที่ บุรุษนั้นก็ไปกราบทูล พระองค์จึงตรัสเรียกพระราชบุตรองค์ใหญ่มอบราชสมบัติให้ แล้วปลงพระเกศา และมัสสุ ทรงผ้ากาสายะ (ผ้าย้อมด้วยน้ำฝาด) ออกผนวชเป็นบรรพชิต เมื่อออกผนวชเป็นราชฤษีได้ 7 วัน จักรแก้วก็อันตรธานหายไป

พระราชา (พระองค์ใหม่) ก็ทรงเสียพระราชหฤทัย จึงเข้าไปเฝ้าพระราชฤษีเล่าความถวาย พระราชฤษีตรัสปลอบว่า จักรแก้วเป็นของให้กันไม่ได้ และได้ทรงแนะนำให้บำเพ็ญจักรวัตติวัตร คือข้อปฏิบัติของพระเจ้าจักรพรรดิ มีฐานะอยู่ที่เมื่อปฏิบัติแล้ว (เป็นได้เมื่อมีการปฏิบัติแล้ว) จักรแก้วอันเป็นทิพย์มีกำตั้งพัน มีกง อุดมสมบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง จักปรากฏขึ้นแก่พระราชาผู้รักษาอุโบสถในวันอุโบสถ 15 ค่ำ ผู้ขึ้นสู่ชั้นบนปราสาท กราบทูลถามว่า วัตรอันประเสริฐของพระจักรพรรดิเป็นอย่างไร ตรัสตอบว่า 1. จงอาศัยธรรมสักการะเคารพนับถือธรรมให้ความคุ้มครอง อันเป็นธรรมแก่มนุษย์ และสัตว์ไม่ยอมให้ผู้ทำอันเป็นอธรรมเป็นไปได้ในแว่นแคว้น (คือไม่ยอมให้ผู้ที่กระทำผิดเกิดขึ้น และดำรงอยู่ได้ในแว่นแคว้น)

2. ผู้ใดไม่มีทรัพย์ก็มอบทรัพย์ให้

3. เข้าไปหาสมณพราหมณ์ผู้เว้นจากความเมา ประมาทตั้งอยู่ในขันติ โสรัจจะ (ความสงบเสงี่ยม) และถามถึงสิ่งที่เป็นกุศล อกุศล มีโทษ ไม่มีโทษ ควรเสพ ไม่ควรเสพ อะไรทำแล้ว เป็นไปเพื่อเสียประโยชน์ เมื่อทุกข์ตลอดกาล อะไรทำแล้วเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อสุขตลอดกาลนาน เมื่อฟังแล้วก็รับเอาสิ่งที่เป็นกุศลมาประพฤติ นี้แลคือวัตรอันประเสริฐของพระเจ้าจักรพรรดิ

หมายเหตุ : วัตรของพระเจ้าจักรพรรดิ 3 ประการข้างต้น เป็นการเขียนโดยย่อของอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ผู้รวบรวม และเรียนพระไตรปิฎกสำหรับประชาชน

แต่ในอรรถถาแจกไปตามพยัญชนะได้ถึง 10 ประการคือ ให้อารักขาอันเป็นธรรมแก่ 1. พลกาย หรือกองทหารที่อยู่ใกล้ชิด (เป็นอันโตชน) 2. กษัตริย์น่าจะหมายถึงพระราชวัง และกษัตริย์เมืองขึ้น) 3. ผู้ติดตาม 4. พราหมคหบดี 5. ชาวนิคมชนบท 6. สมณพราหมณ์ 7. เนื้อนา 8. ขัดขวางผู้ทำการที่ไม่เป็นธรรม 9. ให้ทรัพย์เพิ่มแก่ผู้ไม่มีทรัพย์ 10. เข้าไปหาสมณพราหมณ์แล้วถามปัญหา และอธิบายว่าแยกเป็น 12 คือแยกคหบดีออกจากพราหมณ์ และแยกนกออกจากเนื้อ

เมื่อพระราชา (ผู้เป็นราชบุตร) กระทำตามจักรแก้ว ก็ปรากฏขึ้นตามที่พระราชฤษีทรงกล่าวไว้ พระราชาจึงทรงถือเต้าน้ำด้วยพระหัตถ์ซ้าย ทรงหมุนจักรแก้วด้วยพระหัตถ์เบื้องขวา รับสั่งว่า จักรแก้วอันเจริญจงหมุนไปเถิด จงมีชัยเถิด แล้วยกกองทัพมีองค์ 4 ติดตามไปทั้ง 4 ทิศจนจดมหาสมุทร สั่งสอนพระราชาในทิศนั้นๆ ให้ตั้งอยู่ในศีล 5 แล้วให้ครอบครองสมบัติต่อไปตามเดิม (เพียงให้ยอมแพ้เท่านั้น) เมื่อได้ชัยชนะทั้ง 4 ทิศแล้ว ก็เสด็จกลับสู่ราชธานีตามเดิม

พระเจ้าจักรพรรดิพระองค์ที่ 2, 3, 4, 5, 6 และ 7 ก็เป็นอย่างนี้ พระเจ้าจักรพรรดิที่ 7 เมื่อออกผนวชและมอบราชสมบัติแก่พระราชโอรสแล้ว จักรแก้วก็อันตรธานหายไป พวกอำมาตย์ราชบริพารก็ถวายคำแนะนำเรื่องวัตรของพระเจ้าจักรพรรดิ

พระราชาองค์ที่ 8 ก็ทรงจัดการรักษาคุ้มครองอันเป็นธรรม แต่ไม่พระราชทานทรัพย์แก่ผู้ไม่มีทรัพย์ (ในข้อนี้ เมื่อเทียบกับเหตุการณ์ปัจจุบันก็คือ ไม่จัดการด้านสังคมสงเคราะห์ ไม่มีการช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก) ความยากจนก็แผ่ไปทั่ว เมื่อความยากจนแผ่ไปทั่ว การลักทรัพย์ของผู้อื่นก็เกิดขึ้น ราชบุรุษจับได้ก็นำมาถวายให้ทรงจัดการ เมื่อทรงไต่สวนได้ความอันเป็นสัตย์ และทราบว่าไม่มีอาชีพ ก็พระราชทานทรัพย์ให้ไปเลี้ยงตน เลี้ยงมารดาบิดา บุตร ภรรยา ประกอบการงาน และบำรุงสมณพราหมณ์ ต่อมามีคนลักทรัพย์ของคนอื่น และถูกจับได้อีก ทรงไต่สวนได้ความเป็นสัตย์อย่างเดิม ก็พระราชทานทรัพย์อีก ข่าวลือกันไปว่า ถ้าไม่ลักทรัพย์ก็จะได้พระราชทานทรัพย์ คนก็ปรารถนาลักทรัพย์กันมากขึ้น

ต่อมาราชบุรุษจับคนลักทรัพย์ได้อีก แต่คราวนี้พระราชาเกรงว่า ถ้าพระราชทานทรัพย์ การลักทรัพย์ก็จักเพิ่มขึ้น จึงตรัสสั่งให้มัด โกนศีรษะพาตระเวนไปตามถนนหนทาง ด้วยบัณเฑาะว์เสียงกร้าวนำออกทางประตูด้านใต้ ปราบกันอย่างถอนรากตัดศีรษะเสีย

เมื่อมนุษย์ได้ทราบข่าวก็พากันสร้างศัสตรา และคิดว่า ถ้าลักทรัพย์ใครก็จะต้องตัดศีรษะเจ้าทรัพย์บ้าง จึงเกิดการปล้นหมู่บ้านนิคมนคร และการปล้นในหนทางเกิดขึ้น

ทั้งหมดที่เขียนมาเป็นเรื่องที่พระพุทธองค์ตรัสเล่าเรื่องในอดีตกาลให้ภิกษุทั้งหลายฟัง เป็นการยกตัวอย่างประกอบคำสอนที่ให้พึ่งตน พึ่งธรรม และเจริญสติปัฏฐาน 4 คือ การพิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม

โดยนัยแห่งเนื้อหาสาระของจักกวัตติสูตรในส่วนนี้ พระพุทธองค์ได้ทรงสอนภิกษุทั้งหลายเกี่ยวกับหลักการปกครองในลักษณะการสอนในแบบบุคลาธิษฐานคือ ยกบุคคลอันได้แก่ พระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่า ทัฬหเนมิขึ้นมาเป็นตัวอย่าง ซึ่งสรุปได้เป็น 3 ประการคือ

1. การที่บุคคลจะได้รับสิ่งดี จะต้องกระทำความดี หรืออีกนัยหนึ่ง สิ่งที่เป็นผลของการทำดี และถ้าเผอิญบุคคลได้รับสิ่งจากการกระทำของบุคคลอื่น โดยที่ตนเองมิได้กระทำดีเยี่ยงเจ้าของสิ่งดีนั้น มิช้ามินาน สิ่งดีนั้นก็จะอันตรธานหายไป และต่อเมื่อได้กระทำความดีในทำนองเดียวกันกับเจ้าของสิ่งดี สิ่งดีนั้นก็จะคืนมาดังเดิม ดังเช่นกรณีของจักรแก้ว เป็นตัวอย่าง

2. การมีเมตตา และให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลคนที่กระทำผิดโดยอ้างความยากจน โดยที่ผู้กระทำผิดนั้นมิได้สำนึกผิดมีความเสียหายตามมา ดังเช่นกรณีของการให้ทรัพย์แก่ผู้ที่ลักทรัพย์ของคนอื่น เป็นตัวอย่าง

3. ในการประกอบกรรมดีใดๆ สิ่งที่เป็นองค์ประกอบในการกระทำที่จะขาดเสียมิได้ก็คือ การมีสติในอิริยาบถทั้ง 4 คือยืน เดิน นั่ง และนอน ตามนัยแห่งมหาสติปัฏฐาน 4 นั่นเอง

โดยสรุปหลักการอันเป็นสัจธรรม 3 ประการดังกล่าวข้างต้น ก็เพื่ออธิบายขยายความพุทธพจน์ที่ว่า ให้พึ่งตน พึ่งธรรม และเจริญสติปัฏฐาน 4 นั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น