xs
xsm
sm
md
lg

โลกทัศน์แบบธุรกิจการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

โลกทัศน์ทางการเมืองของผู้คนในสังคมไทยที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยและการปฏิรูปประเทศ คือการมองการเมืองในฐานะแหล่งทรัพยากรอำนาจที่นำมาใช้เป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์ในระยะสั้นแก่ตนเองและพวกพ้อง หรือเรียกว่า “โลกทัศน์แบบธุรกิจการเมือง” ขณะที่โลกทัศน์ที่เข้าใจการเมืองในฐานะพันธกิจเพื่อสังคมส่วนรวมหรือ “โลกทัศน์แบบพันธกิจเพื่อสังคม” ยังคงดำรงในขอบเขตจำกัดซึ่งแทบสัมผัสไม่ได้ภายในจักรวาลการเมืองของไทย

โลกทัศน์แบบธุรกิจการเมืองเป็นการที่ผู้คนรับรู้โลกและจักรวาลทางการเมืองในฐานะที่เป็นอาณาบริเวณซึ่งเปี่ยมล้นไปด้วยสนามของพลังอำนาจ ที่จักต้องช่วงชิงมาครอบครองให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้โดยไม่คำนึงถึงวิธีการที่ใช้ และเมื่อได้ครอบครองแล้วพวกเขาก็จักใช้พลังอำนาจในสามทิศทางหลัก

อย่างแรก คือการรักษาผลประโยชน์และอิทธิพลดั้งเดิมที่เคยมี เคยได้มาก่อน อย่างที่สอง คือการสร้างผลประโยชน์และอิทธิพลขึ้นมาใหม่ ซึ่งมักเกิดขึ้นกับผู้ที่เข้ายังไม่เคยสัมผัสกับความมั่งคั่ง และมีอิทธิพลน้อย แต่ก็ไม่มีข้อยกเว้นว่าผู้ที่มีความมั่งคั่งอยู่แล้วจะไม่ทำเช่นนี้ และอย่างที่สาม คือการขยายเครือข่ายอิทธิพล เพื่อแผ่ขยายสนามอำนาจทั้งในแง่ขอบเขตและความเข้มข้นให้มากยิ่งขึ้น
พึงตระหนักว่า ชนชั้นนำผู้มีโลกทัศน์แบบธุรกิจการเมืองมิได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะนักการเมืองเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงกลุ่มทางสังคมทุกกลุ่มที่มีความสามารถและโอกาสในการเข้าถึงอำนาจ หรือช่วงชิงอำนาจทางการเมืองมาครอบครอง ไม่ว่าการได้มาของอำนาจจะมาโดยวิธีการใดก็ตาม

จะเข้าถึงและครอบครองสนามอำนาจด้วยเงินตรา ด้วยอาวุธ ด้วยความรู้ หรือด้วยการหลอกลวงก็ดี หากมีโลกทัศน์แบบธุรกิจการเมืองแล้ว แบบแผนการตัดสินใจและพฤติกรรมที่เกิดขึ้นหาได้มีความแตกต่างกันไม่ การเปลี่ยนกลุ่มหรือเปลี่ยนคนครองอำนาจเป็นเพียงเปลือกนอกที่ปราศจากความหมาย และไม่สร้างความแตกต่างใดให้เกิดขึ้นได้ หากกลุ่มเหล่านั้นยังคงมีโลกทัศน์แบบธุรกิจการเมือง

ตัวอย่างแบบแผนการตัดสินใจและพฤติกรรมของผู้มีโลกทัศน์แบบธุรกิจการเมืองที่เราพบเห็นบ่อยครั้งได้แก่

1) `การนำงบประมาณส่วนรวมของประเทศ หรือแม้กระทั่งเงินตราในอนาคตของลูกหลานมาใช้ในการทำนโยบายประชานิยม หรือ ใช้ในจังหวัดที่มวลชนเลือกตนเองและพวกพ้อง

2) การจัดทำโครงการเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ส่วนตนในรูปค่าหัวคิว หรือค่าราคาส่วนเกินของสิ่งของวัสดุที่ใช้ในการจัดทำโครงการ ซึ่งเกิดขึ้นทั้งการทำโครงการขนาดใหญ่ และโครงการขนาดเล็ก

3) ค่ากินเปล่าใต้โต๊ะจากให้สัมปทาน หรือใบอนุญาตต่างๆ รวมทั้งค่าส่วยจากการละเลยการปฏิบัติหน้าที่

4) ค่าขายตำแหน่ง ให้แก่ข้าราชการผู้ต้องการดำรงตำแหน่งสูงขึ้นหรือการโยกย้ายไปดำรงตำแหน่งในจังหวัดหรืออำเภอที่อยากได้

5) การกำหนดหรือปรับเปลี่ยนนโยบายและมาตรการเพื่อแลกกับผลประโยชน์ที่มีผู้เสนอให้

ตัวอย่างเหล่านี้ล้วนแต่สะท้อนถึงการดำรงอยู่ของโลกทัศน์แบบธุรกิจการเมืองทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นว่าขอบเขตของโลกทัศน์แบบธุรกิจการเมืองมีความกว้างขวางยิ่งนักในสังคมไทย

แบบแผนการกล่อมเกลาทางสังคมระดับสูงของสังคมไทย ซึ่งนำเอาบรรดาชนชั้นนำในกลุ่มต่างๆเข้ามาอยู่รวมกันเป็นเวลาหลายเดือนในรูปแบบของการอบรมภายใต้หลักสูตรนานาชนิด ทำให้โลกทัศน์แบบธุรกิจการเมืองแพร่ขยายออกไปประดุจการขยายตัวของเชื้อไวรัส จนกระทั่งโลกทัศน์แบบพันธกิจเพื่อสังคมถูกสกัดยับยั้งมิให้เติบโต และยังถูกบั่นทอนให้อ่อนแอ จนอาจถูกทำลายลงไปในที่สุด

การนำกลุ่มทุนธุรกิจมาร่วมดำเนินการโครงการที่เรียกว่าประชารัฐเปรียบประดุจดาบสองคม แม้ด้านหนึ่งคาดหวังว่าเป็นการชักนำหรือสร้างโลกทัศน์แบบพันธกิจเพื่อสังคมขึ้นมา ซึ่งอาจสามารถเบียดขับโลกทัศน์แบบธุรกิจการเมืองให้ลดลงไป แต่อีกด้านหนึ่งก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้โลกทัศน์แบบธุรกิจการเมืองยิ่งเติบโตและแข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพราะได้มีโอกาสเข้าถึงและใกล้ชิดกับศูนย์กลางของสนามอำนาจมากยิ่งขึ้น

อันที่จริงโลกทัศน์แบบธุรกิจการเมืองมิได้จำกัดขอบเขตแต่เพียงในกลุ่มชนชั้นนำเท่านั้น หากยังดำรงอยู่ในจิตสำนึกของมวลชนจำนวนมากอีกด้วย ความยากลำบากในการทำให้โลกทัศน์แบบธุรกิจการเมืองลดลงจึงมีมากยิ่งขึ้น

มวลชนผู้มีโลกทัศน์แบบธุรกิจการเมืองรับรู้การเมืองในฐานะเป็นแหล่งแบ่งปันผลประโยชน์ที่พวกเขาพึงได้รับจากชนชั้นนำ กล่าวอีกนัยหนึ่งมวลชนมองว่าการเมืองเป็นธุรกิจของการแปลงอำนาจให้กลายเป็นผลประโยชน์ในเชิงรูปธรรมที่พวกเขาจะต้องมีส่วนแบ่ง

ในความคิดของมวลชนผู้ถูกครอบงำด้วยโลกทัศน์แบบธุรกิจการเมือง คนดีคือคนที่มีความสามารถในการนำทรัพยากรของส่วนรวม หรือของคนต่างกลุ่ม ต่างชนชั้น หรือของเพื่อนร่วมสังคมที่อยู่ห่างไกลจากท้องถิ่นที่พวกเขาอาศัยมาบำรุงบำเรอผลประโยชน์ของพวกเขา มวลชนเยี่ยงนี้ย่อมปราศจากเห็นใจต่อผู้สูญเสียโอกาส หรือผู้ที่ต้องตกอยู่ในความยากลำบากจากการกระทำของชนชั้นนำผู้เป็นคนดีที่พวกเขาบูชา

โลกทัศน์แบบธุรกิจการเมืองเป็นแบบแผนที่ได้รับการผลิตซ้ำขึ้นครั้งแล้วครั้ง เล่าจากชนชั้นนำทางอำนาจแทบทุกกลุ่มทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว ไม่เว้นแม้แต่กลุ่มคนที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมาเป็นกลุ่มผู้นำในการปฏิรูปประเทศ ยิ่งกว่านั้นโลกทัศน์แบบนี้ยังถูกถ่ายทอดไปสู่คนรุ่นใหม่ทั้งในแทบทุกวงการ หากสภาพเช่นนี้ดำรงอยู่ต่อไป โอกาสการปฏิรูปประเทศและการพัฒนาประชาธิปไตยย่อมไปไม่ถึงไหน

การเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์จึงเป็นเงื่อนไขจำเป็นอย่างแรกที่ต้องเกิดขึ้นสำหรับเส้นทางของการปฏิรูปประเทศ หากยังไม่สามารถลดหรือขจัดโลกทัศน์แบบธุรกิจการเมืองออกไปได้ ย่อมไม่แสงสว่างใดๆ ในการปฏิรูปประเทศเป็นแน่


กำลังโหลดความคิดเห็น