xs
xsm
sm
md
lg

เพิ่มอำนาจ ส.ว. สัญญาณอันตราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

ในที่สุด สนช.ก็ลงมติให้มีการตั้งคำถามพ่วงการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดเนื้อหาคำถามว่า“เพื่อให้การปฏิรูปประเทศต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดในบทเฉพาะกาลว่าระหว่าง 5 ปีแรกนับตั้งแต่มีรัฐสภาชุดแรก ให้ที่ประชุมร่วมของรัฐสภาเป็นผู้ให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรแต่งตั้ง เป็นนายกรัฐมนตรี”

ลักษณะของคำถามเป็นคำถามที่ยาว มีความซับซ้อน เป็นการตั้งคำถามแบบชี้นำให้ผู้ลงประชามติตอบตามที่ผู้ตั้งคำถามต้องการ เพราะมีการเขียนรูปประโยคแบบนำเสนอเหตุผลด้านบวกของสิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้น หรือพูดถึงข้อดีของการให้ที่ประชุมร่วมของรัฐสภาเป็นผู้ให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี ในทางวิชาการรูปประโยคแบบนี้เป็นคำถามที่ไม่ดีเพราะขาดความเป็นกลางมีอคติและสร้างความสับสน

นัยของคำถามแบบนี้ก็คือ ผู้ตั้งคำถามมีธงคำตอบที่ต้องการล่วงหน้าอยู่แล้วว่าให้เป็นไปในทิศทางใด ซึ่งหมายถึงผู้ตั้งคำถามอยากให้สมาชิกวุฒิสภามีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีนั่นเอง จุดตั้งต้นที่ต้องตั้งคำถามในลักษณะนี้มาจาก การที่ คสช.เสนอให้ กรธ.ปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มอำนาจแก่สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหา (ซึ่งคณะกรรมการสรรหาแต่งตั้งโดย คสช.) ให้มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย

แต่ กรธ.คงกระอักกระอ่วนใจเพราะอาจเห็นว่าการให้อำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีแก่ สว.สรรหา ขัดแย้งกับหลักการประชาธิปไตยในระดับพื้นฐาน ขืนเขียนลงไปตามที่ คสช.ต้องการ อาจจะถูกคนรุ่น
หลังประณามในทางที่เสียหายได้ จึงไม่ได้เขียนประเด็นนี้ลงไป

เมื่อ กรธ. ไม่ปฏิบัติตามใบสั่ง หนทางก็ใช่ว่าจะตีบตันลงไปเสียทั้งหมด ปรากฏว่ามีสมาชิกสปท.บางคนอาสาสนองความต้องการของ คสช. อย่างแข็งขัน และได้เสนอให้นำประเด็นนี้ไปเป็นประเด็นพ่วงการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็ไม่ผิดความคาดหมายของผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองแต่อย่างใด สมาชิก สปท.เกือบทั้งหมดต่างยกมือสนับสนุนเรื่องนี้อย่างเป็นเอกฉันท์ (ใครจะไปกล้าค้าน เพราะแต่ละคนก็มีความหวังว่าจะได้รับการสรรหาเป็น สว.ในอนาคต)

เรื่องก็เข้าสู่การพิจารณาของ สนช. เป็นตามคาด สนช.ขานรับเต็มที่ไม่มีเสียงไม่เห็นชอบแม้แต่เสียงเดียว มีแต่งดออกเสียงสิบกว่าคน ความคิดกลุ่มครอบงำกันทั้งสภา

เรื่องนี้มี 2 มุมที่น่าสนใจ

มุมแรก ผู้ผลักดันและผู้อยู่เบื้องหลังคงประเมินว่าประชาชนส่วนใหญ่จะให้ความเห็นชอบ ซึ่งจะทำให้ สว.มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี อันเป็นการปูทางสำหรับใครบางคนที่มีอำนาจอยู่ในปัจจุบันและมีความปรารถนาจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังจากการเลือกตั้ง ดังนั้นหากเรื่องนี้ผ่านประชามติ เราคงจะได้เห็นเงาร่างของนายกรัฐมนตรีในอนาคตโผล่ออกมาอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

มุมที่สอง มีความเป็นไปได้ว่า การที่เพิ่มประเด็นนี้พ่วงกับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นการถ่วงรั้งและทำให้ร่างรัฐธรรมนูญตกอยู่ในความเสี่ยงของการลงมติไม่รับรองจากประชาชน เพราะว่าหากพิจารณาเนื้อหาของประเด็นแล้วนอกจากพรรคการเมืองต่างๆจะไม่ยอมรับแล้ว ภาคประชาชนและภาควิชาการอีกไม่น้อยก็ไม่อาจยอมรับได้เช่นเดียวกัน แม้ว่าจะไม่รับด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันก็ตาม

เหตุผลหลักที่นักการเมืองไม่ยอมรับประเด็น สว.มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีคือพวกเขารู้สึกว่าตนเองถูกแย่งชิงอำนาจจากกลุ่มที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และโอกาสที่นักการเมืองคนใดคนหนึ่งจะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีจะลดลงไป ขณะที่โอกาสที่คนนอกจะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีกลับมีสูงขึ้น พวกเขาอาจเกิดความรู้สึกว่าเลือกตั้งไปก็ไร้ความหมาย และมีแนวโน้มตัดสินใจไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

เมื่อนักการเมืองประกาศว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ มวลชนที่นิยมชมชอบพวกเขาซึ่งมีอยู่ไม่น้อยก็จะพลอยตัดสินใจไปในทิศทางเดียวกันด้วย ซึ่งขณะนี้พรรคการเมืองใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทยประกาศอย่างชัดเจนแล้วว่าจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ขณะที่พรรคการเมืองใหญ่อีกพรรคอย่างประชาธิปัตย์ยังมีท่าทีที่ผสมปนเปไม่ชัดเจนและยังไม่เป็นเอกภาพ ผู้นำพรรคบางคนก็บอกว่าไม่รับ แต่อีกส่วนหนึ่งยังสงวนท่าที

ด้านภาคประชาชนและนักวิชาการไม่น้อยที่มีความเห็นตรงกันว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่ส่งเสริมสนับสนุนการเติบโตทางการเมืองของประชาชน จำกัดพื้นที่ของภาคประชาชน และไม่เห็นหัวประชาชนในสมการอำนาจ กลับเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่มุ่งเสริมสร้างอำนาจของข้าราชการระดับสูง ข้าราชการเกษียณและกลุ่มทุนที่อยู่ในเครือข่ายชนชั้นนำซึ่งสร้างความสัมพันธ์กันผ่านหลักสูตรชนชั้นนำของสถาบันต่างๆ

ยิ่งเมื่อเพิ่มประเด็นให้ สว.มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี ก็ยิ่งเป็นการเผยตัวออกมาอย่างเด่นชัดต่อแรงปรารถนาในอำนาจของกลุ่มชนชั้นนำ การสืบทอดอำนาจเช่นนี้นอกจากจะไม่ทำให้สังคมไทยหลุดพ้นจากกับดักอำนาจและความขัดแย้งในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาเท่านั้น ยังจะยิ่งทำให้ถลำลึกลงในกับดักอำนาจมากยิ่งขึ้น เหมือนหมุนวงล้อให้ย้อนกลับไปสู่สภาวะหลังปี 2521 ทั้งที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบันแตกต่างจากอดีตอย่างมหาศาล

ดังนั้นการหมุนวงล้อกลับไปเช่นนี้นอกจากจะไม่สามารถแก้ปัญหาแห่งยุคสมัยได้แล้ว กลับมีความเป็นไปได้สูงที่จะสร้างความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองที่หนักหน่วงและรุนแรงยิ่งขึ้นกว่าเดิม

น่าเสียดายว่าผู้มีอำนาจและเครือข่ายอำนาจในปัจจุบันมีวิสัยทัศน์แคบสั้นยิ่งนัก ที่ยังคงใช้วิธีการควบคุมอำนาจทางการเมืองแบบเก่า ในบริบทใหม่ คิดได้เพียงแต่ในกรอบแคบๆ วนเวียนอยู่ในวงจรของคนใกล้ชิดและเครือข่ายที่ตนเองสัมพันธ์อยู่ด้วย

การปฏิรูปเพื่อนำสังคมฝ่าทะลุกับดักอำนาจและการเมืองแบบเดิมจึงเป็นเรื่องที่ไกลเกินฝัน เป็นเรื่องที่ผู้มีอำนาจยังมองไม่เห็นด้วยเมฆหมอกของวิธีคิดและผลประโยชน์แบบเดิมๆปกคลุมอยู่นั่นเอง

ด้วยเหตุนี้มิติการส่งเสริมสนับสนุนสร้างศักยภาพ พัฒนาระบบเหตุผล และสติปัญญาให้แก่ประชาชน เพื่อให้พวกเขามีสมรรถภาพทางการเมืองสูงและสามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ กลับถูกละเลยทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา โดยเจตนาคือรู้ว่าควรทำแบบนี้แต่ด้วยมีผลประโยชน์บางอย่างเหนี่ยวรั้งอยู่จึงไม่ทำ ส่วนแบบไม่เจตนาคือไม่รู้ว่าต้องทำแบบนี้ เพราะติดกรอบคิดแบบเดิมๆ

เมื่อทั้งพรรคการเมืองและภาคประชาชนมีความรู้สึกอึดอัดกับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงรัฐธรรมนูญ กลุ่มเหล่านั้นก็จะมีแนวโน้มที่จะลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญก็อาจจะผ่านหรือไม่ผ่านก็ได้ มีชนชั้นกลางอยู่ไม่น้อยที่รังเกียจทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย จนไม่มีพื้นที่ทางความคิดในเรื่องอื่นๆนอกเหนือจากนั้น คนเหล่านั้นมีแนวโน้มสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญด้วยเหตุผลง่ายๆตื้นๆว่า “หากนักการเมืองไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ก็แปลว่าร่างนั้นดี และตนเองจะ
สนับสนุน” หากมีคนคิดแบบนี้มากรัฐธรรมนูญก็อาจผ่านได้

แต่หากผู้คนในสังคมไทยจำนวนมากมีการใช้เหตุผลที่ว่า “จะคิดและทำตรงกันข้ามกับคนที่เราไม่ชอบ” ก็แสดงว่าที่ผ่านมาสังคมไทยล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการพัฒนาระบบคิด เหตุผล และปัญญา

หากเราต้องการให้สังคมการเมืองไทยหลุดพ้นจากความขัดแย้งและความรุนแรงอย่างยั่งยืน ไม่ใช่แค่ทำเรื่องสร้างรัฐธรรมนูญปราบโกง สร้างกฎหมายลงโทษรุนแรง หรือให้สว.สรรหาเป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรี แต่สิ่งที่ต้องทำอย่างแรกและต้องทำอย่างเข้มข้นคือการพัฒนาศักยภาพทางปัญญา เหตุผล และระบบคิดที่ถูกต้องแก่ประชาชน

สิ่งที่ผมอยากเห็นคือ “รัฐธรรมนูญฉบับสร้างปัญญาและกระจายอำนาจ” มากกว่า “รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงและรวมศูนย์อำนาจ” ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญแบบแรกนั้นจะทำให้สังคมไทยหลุดพ้นจากความขัดแย้งทางการเมืองได้มากกว่าและมีโอกาสที่จะทำให้สังคมไทยมีความเข้มแข็งและยั่งยืนกว่าแบบหลังที่กำลังจะนำไปลงประชามติครับ

ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงและการเพิ่มอำนาจ สว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นสัญญาณอันตราย ที่มีศักยภาพในการสร้างความขัดแย้งและแตกแยกอย่างขนานใหญ่ในอนาคตอันใกล้ของสังคมไทย ได้แต่หวังว่าจะมีคน “รั้งบังเหียนม้าริมหน้าผาได้ทัน”


กำลังโหลดความคิดเห็น