“อภิสิทธิ์” ประกาศ ปชป. ไม่รับคำถามพ่วงให้ ส.ว. โหวตเลือกนายนกฯ ยกคำพูด “ประยุทธ์” ทวงถามจุดยืนต้าน ส.ว. เลือกประมุขฝ่ายบริหาร ขณะเดียวกัน ไม่เห็นด้วยกับร่าง รธน. เหตุทำประชาธิปไตยถดถอย ลดอำนาจประชาชน ให้ ส.ว. กุมอำนาจเหนือผู้แทนปวงชน แถมยาก ระบุ อวด รธน. ปราบโกงแค่ชี้นำ แต่จุดอ่อนเพียบ แต่ยังไม่บอกรับ - ไม่รับ เหตุมีบางฝ่ายใช้ รธน. เล่นการเมือง พร้อมฝาก กกต. แสดงความกล้า ทำกระบวนการประชามติเป็นไปอย่างเสรี เป็นธรรม เรียกร้อง คสช. ประกาศให้ชัดหากไม่ผ่านประชามติจะเดินหน้าอย่างไร
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมกับแกนนำพรรค อาทิ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค แถลงจุดยืนเกี่ยวกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วงที่ระบุให้ ส.ว. ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำลังจะเข้าสู่การทำประชามติ ว่า พรรคมีจุดยืนกรณีกระบวนการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่มีการตรากฎหมายขึ้น โดยผ่านความเห็นชอบของสนช. สัปดาห์ที่แล้ว ตนเป็นคนที่เรียกร้องให้มีการทำประชามติ เนื่องจากอยากเห็นรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่ประชาชนเจ้าของประเทศมีส่วนร่วม และมีผลพลอยได้ให้รัฐธรรมนูญมีภูมิคุ้มกัน เช่นรัฐธรรมนูญปี 2550 เมื่อมีความพยายามรื้อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ว่า หากจะรื้อต้องกลับไปสอบถามความเห็นของประชาชนก่อน ดังนั้น การจัดทำประชามติต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมผ่านกระบวนการที่เสรีและเป็นธรรม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการทำประชามติ แต่การทำกฎหมายประชามติมีความสับสนในการกำหนดบทบาทของฝ่ายต่าง ๆ จากการห้ามไม่ให้ประชาชนทำสิ่งนั้นสิ่งนี้
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ข้อห้ามในกระบวนการประชามติต้องเขียนอย่างชัดแจ้ง ซึ่งมีเพียงมาตราเดียวคือมาตรา 62 ที่ห้ามไม่ให้มีการสื่อสารผิดข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะก้าวร้าว ข่มขู่ ดังนั้น การเผยแพร่ความเห็นอย่างสุจริตต้องทำได้ กกต. ในฐานะผู้พิพากษากฎหมายต้องออกมายืนยันว่าประชาชนมีสิทธิดำเนินการได้ มิเช่นนั้นกระบวนการนี้จะทำให้งบประมาณสูญเปล่า
นอกจากนี้ ยังมีการเขียนคุ้มครอง กรรมการร่างรัฐธรรมนูญและเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้เกิดความเข้าใจว่ามีเฉพาะ กรธ. และเจ้าหน้าที่รัฐที่จะชี้นำได้จึงอยากให้ กกต. แสดงความชัดเจนและให้กระบวนการเป็นไปอย่างเสรีและเป็นธรรมเพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับนำไปสู่การเดินหน้าประเทศ
“กกต. ต้องแสดงความกล้าหาญที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ ซึ่งจะทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นด้วยว่ากลไกขององค์กรอิสระที่กำหนดในรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ได้จริง ถ้า กกต. ไม่แสดงความกล้าหาญก็จะยิ่งทำให้คนไม่มั่นใจโครงสร้างการเมืองตามรัฐธรรมนูญใหม่ จึงต้องยืนหยัดทำหน้าที่อย่างเที่ยงตรง มากกว่าคำนึงถึงความต้องการของผู้มีอำนาจ ถ้าทำไม่ได้ระบบที่ออกแบบมาทั้งหมดก็ทำไม่ได้ ซึ่งผู้มีอำนาจก็ต้องปล่อยให้ กกต. ทำงานอย่างอิสระ ไม่แทรกแซงหรือกดดัน และไม่ควรใช้อำนาจมาตรา 44 ปลดบุคลากรในองค์กรอิสระเว้นแต่มีการทุจริตและไม่สามารถใช้กระบวนการปกติได้ ผมคิดว่าถ้ากระบวนการทำประชามติไม่เสรีและเป็นธรรมจนทำให้เกิดความไม่ยอมรับต่อกระบวนการนี้จะทำให้เกิดความรุนแรงตามมา ซึ่งพรรคจะติดตามการทำหน้าที่ของ กกต. ต่อไป”
ส่วนคำถามพ่วงของ สนช. นั้น นายอภิสิทธิ์ ระบุว่า มีความสำคัญเป็นพิเศษเพราะหากผ่านจะต้องปรับปรุงรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามนั้น การถามว่าสมควรให้วุฒิสภาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีในระยะเวลาห้าปีหรือไม่ ซึ่งพรรคไม่เห็นด้วยและไม่รับคำถามนี้ เนื่องจากวุฒิสภา ที่จะเกิดขึ้นในระยะเวลาดังกล่าว เป็นวุฒิสภาที่มาจากกระบวนการสรรหา และ คสช. เป็นผู้แต่งตั้งในขั้นตอนสุดท้าย การให้วุฒิสภาลงคะแนนเสียงร่วมกับ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเท่ากับสามารถลบล้างเจตจำนงประชาชนที่แสดงออกในการเลือกตั้งได้ ผิดจากหลักการของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ และ กรธ. ที่ทำเช่นนี้ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด ๆ มีแต่จะทำให้ความขัดแย้งหรือปัญหาทางการเมืองรุนแรงขึ้น
“คือสมมติว่าวุฒิสภาใช้สิทธิตรงนี้ จับมือกับพรรค หรือ ส.ส. ที่เป็นเสียงข้างน้อยตั้งนายกฯเพื่อให้เกิดรัฐบาลก็จะทำงานยาก เพราะเป็นเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎร ยิ่งไปกว่านั้นคือในขณะที่ คสช. ย้ำเสมอว่าไม่ต้องการให้บ้านเมืองขัดแย้ง แต่การเริ่มต้นให้คนจำนวนหนึ่งมาลบล้างเจตจำนงประชาชนเป็นสูตรสำเร็จให้เกิดความขัดแย้งในวงกว้างทันที แต่ถ้าวุฒิสภา ไปจับมือกับพรรคอันดับหนึ่งก็ไม่ช่วยเรื่องเสถียรภาพก็จะเป็นการลดอำนาจเสียงข้างน้อยในการคานอำนาจเสียงข้างมาก ดังนั้น จึงมีแต่ผลเสีย ถ้าสภาไม่ยอมให้ ส.ว. ชี้ขาดในการเลือกนายกฯ มีวิธีเดียวคือพรรคใหญ่ต้องจับมือกันก็จะเกิดเผด็จการในสภา พรรคจึงยืนยันว่าเป็นคำถามที่ประชาชนไม่สมควรรับในการลงประชามติเพราะสร้างความขัดแย้งผิดหลักการ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยระบุว่าไม่เห็นด้วยที่จะให้วุฒิสภาเลือกนายกฯ หวังว่าจะยืนยันความเห็นนี้ ไม่เช่นนั้นจะถูกมองว่า สนช.ทำทั้งที่หัวหน้า คสช. ประกาศแล้วว่าไม่เห็นด้วย”
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคยังไม่สามารถประชุมเป็นทางการได้ แต่ นายจุรินทร์ และผู้บริหารพรรคประมวลความเห็นของสมาชิก ซึ่งในเรื่องที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญเห็นว่า มีข้อเสียมากกว่าข้อดี และไม่เห็นด้วยที่รัฐธรรมนูญนี้จะเป็นกฎหมายสูงสุดในการจัดสรรอำนาจ บทบาทองค์กรของรัฐกับประชาชน ข้อดีที่สนับสนุน คือ มีมาตรการบางเรื่องเข้มข้นมากขึ้นในการปราบปรามการทุจริตในเรื่องลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ และการลงโทษคนทุจริตเลือกตั้ง รวมถึงเรื่องที่นักการเมืองแทรกแซงกระบวนการจัดทำงบประมาณใช้เองในขั้นตอนการทำประชามติ
อย่างไรก็ตาม ในประเด็นปราบคอร์รัปชันก็ไม่ได้ดีขึ้นทั้งหมดมีจุดอ่อน เช่น 1. ยกเลิกกระบวนการถอดถอนทำให้ความผิดที่จะไปจบที่ศาลต้องใช้มาตรฐานเหมือนคดีอาญายากที่จะเอาผิด 2. โทษลดลง เช่น ในอดีตคนที่เคยถูกถอดถอนจะเล่นการเมืองไม่ได้ตลอดชีวิต กลับลดลงมาเหลือห้าปี 3 . สถานะของ ป.ป.ช. หากปฏิบัติหน้าที่มิชอบจะเข้าสู่กระบวนการถอดถอน หรือฟ้องต่อศาล แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องผ่านประธานรัฐสภา คือ ส.ส. ที่สังกัดรัฐบาล หากประธานรัฐสภาเห็นว่าเรื่องที่ร้องเรียนไม่มีน้ำหนักเพียงพอก็สามารถยุติเรื่องได้ จึงทำให้เกิดความเป็นไปได้ที่ ป.ป.ช. จะต่อรองกับรัฐบาลทำให้กระบวนการปราบปรามทุจริตอ่อนแอทันที
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงข้อเสียของรัฐธรรมนูญ ว่า มีการเบี่ยงเบนเจตนารมณ์และลดอำนาจประชาชนเมื่อเทียบอำนาจรัฐ ที่ผ่านมา สิทธิประชาชนมีความก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อย ๆ แต่รัฐธรรมนูญที่มีการร่างใหม่ถดถอยจากรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งสิ้น เชื่อว่า จะมีความขัดแย้งในการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่จนเกิดความรุนแรงขึ้น การลดสิทธิเสรีภาพประชาชนโดยเพิ่มอำนาจราชการมากเกินไปจะทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจอ่อนแอลงในแง่การตอบสนองความต้องการของประชาชน และทำให้รัฐบาลที่มาจากประชาชนมีปัญหามากขึ้น
ไม่เพียงเท่านั้นในประเด็นที่เกี่ยวกับระบบเลือกตั้งก็เป็นปัญหา โดยประชาชนไม่มีโอกาสเลือก ส.ว. ขณะเดียวกัน อำนาจของ ส.ว. ซึ่งมีที่มาไม่ยึดโยงกับประชาชนก็ให้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองในเรื่องการเลือกนายกฯ นอกบัญชีได้ตามที่กำหนดในบทเฉพาะกาล
นอกจากนี้ การกำหนดให้ใช้บัตรเดียวในการเลือกตั้งก็เป็นการบังคับทำให้ประชาชนไม่สามารถเลือกตั้งอย่างเสรีได้อีกต่อไป จากประเด็นเหล่านี้ทำให้ประชาชนที่ควรมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของประเทศถูกจำกัดสิทธิอย่างมาก
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ยังมีปัญหาสำคัญของรัฐธรรมนูญอีกประเด็นหนึ่งคือแก้ไขเพิ่มเติมยากมาก โดยเฉพาะประเด็นวุฒิสภา หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญระบุให้ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาและต้องมีวุฒิสภาสนับสนุนถึงหนึ่งในสามในขณะที่ทั้งหมดมีที่มาเดียวกันหมด การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงอยู่ในมือของ ส.ว. และยังมีวาระห้าปีเท่ากับเกี่ยวข้องกับรัฐบาลสองชุด คล้ายคลึงกับรัฐธรรมนูญปี 2521 ซึ่งในขณะนั้นมีความพยายามต่ออายุบทเฉพาะกาล ดังนั้นหากจะแก้ไขให้เป็นประชาธิปไตยแทบทำไม่ได้เลย แต่ถ้าวุฒิสภาและรัฐบาลสมประโยชน์ก็จะแก้ไปในทิศทางที่ตนเองต้องการได้ ทั้งหมดนี้จึงทำให้สมาชิกของพรรคเห็นว่าข้อเสียมากกว่าข้อดีและเราไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ประเทศไทยต้องการรัฐธรรมนูญปราบโกงและเป็นประชาธิปไตย ถ้าการโต้แย้งรุนแรงขึ้นที่อ้างว่าจะหลีกเลี่ยงการรัฐประหารก็จะไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังได้
นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ตนใช้คำว่าไม่เห็นด้วย แต่ยังไม่พูดว่ารับหรือไม่รับ เพราะมีปัจจัยทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ข้อแรกถ้าประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนี้มีหลักประกันอะไรว่ารัฐธรรมนูญที่จะบังคับใช้ต่อไปจะดีกว่านี้หรือจะไม่เลวร้ายยิ่งไปกว่านี้ อย่าลืมว่าความเห็น คสช. นั้น หนักหนาสาหัสกว่าฉบับที่ออกมาและคำถามพ่วงเพราะมีมากกว่านี้เยอะ จึงเรียกร้องว่าการใช้สิทธิของประชาชนเจ้าของประเทศมีสิทธิรู้ว่าถ้าไม่รับแล้วจะมีกระบวนการอย่างไร เราต้องการคำตอบจาก คสช. ในเรื่องนี้
นอกจากนี้ สมาชิกพรรคมีความเป็นห่วงว่ามีคนกลุ่มหนึ่งเอาประเด็นรับหรือไม่รับการทำประชามติไปเล่นการเมือง เช่น ถ้าไม่รับจะมีการเรียกร้องให้ คสช.นายกฯลาออกซึ่งอาจนำไปสู่ความวุ่นวายของบ้านเมือง พรรคจึงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหยุดเอาเรื่องรัฐธรรมนูญมาเล่นการเมือง แต่ให้ประชาชนตัดสินและมีกระบวนการหลังตัดสินที่ชัดว่าประเทศไทยจะมีรัฐธรรมนูญที่ดีได้อย่างไร ดังนั้น พรรคจึงต้องรอดูว่ากระบวนการตรงนี้จะแก้ไขอย่างไร โดยหวังว่า กกต. จะสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับกระบวนการจัดทำประชามติที่เสรีและเป็นธรรมเพื่อให้เกิดบรรทัดฐานซึ่งจะนำไปใช้ในการเลือกตั้งได้ด้วย จากนั้นคำตอบที่จะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก็จะง่ายขึ้น และพรรคพร้อมที่จะให้ข้อมูลกับประชาชน เนื่องจากมีหลายเรื่องที่ประชาชนยังไม่ทราบเนื่องจากมีการชี้นำเกินไป เช่น ขนานนามว่ารัฐธรรมนูญปราบโกงก็เป็นการชี้นำเหมือนกัน เมื่อเห็นจุดอ่อนก็ไม่แน่ใจว่าจะปราบโกงได้จริงหรือเปล่า
“ไม่ยากที่จะบอกว่ารับหรือไม่รับ หรือร่างเสร็จก็กดปุ่มเลยว่าจะรับหรือไม่รับ บางคนยังไม่อ่านก็บอกแล้วประเทศเดินอย่างนี้ไม่ได้ จึงเรียกร้องให้กำหนดกติกาว่าประเทศจะมีทางเดินที่ไม่วุ่นวาย ไม่ว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ คสช. ควรให้เกียรติประชาชนแต่ถ้าไม่บอกเมื่อถึงจุดหนึ่งพวกผมก็ต้องตัดสินใจในเวลาทีสมควร ที่นายกฯ พูดทุกวันว่ากลัวเหมือนในอดีตต้องดูว่าอดีตเกิดเพราะไม่ยอมรับกติกา ไม่ใช่เกิดจากการเลือกตั้ง หรือผลเลือกตั้ง มามีปัญหาจากความไม่ชอบธรรมในการใช้อำนาจ”
ส่วนการให้ ส.ว. มาร่วมเลือกนายกฯ จะเกี่ยวกับการให้ผู้มีอำนาจกลับมามีอำนาจอีกครั้งหรือไม่นั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ต่างก็ออกมาให้สัมภาษณ์แล้วก็ต้องเชื่อว่าจะรักษาคำพูด แต่ถ้าไม่รักษาคำพูดก็เคยเห็นจากประวัติศาสตร์อยู่แล้ว ส่วนคนอื่นก็อีกเรื่องหนึ่งเพราะขณะนี้ก็พอเห็นหน้าตาของ ส.ว. 250 คนแล้ว