xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองหลังสงกรานต์เริ่มเดือด เพื่อไทย-ปชป.จับมือคว่ำ คสช.!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา

ต้องบอกว่าอุณหภูมิการเมืองเริ่มร้อนแรงไม่แพ้อากาศในช่วงหน้าร้อน หลังจากสิ้นเสียงของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาแถลงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างโดย มีชัย ฤชุพันธุ์ ภายใต้การสนับสนุนโดยตรงจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งคำแถลงดังกล่าวของ อภิสิทธิ์ ในนามพรรคประชาธิปัตย์ ถือว่าเป็นท่าทีที่สอดคล้องเป็นไปในทางเดียวกันกับพรรคเพื่อไทย ที่เคยแถลงไม่รับไปก่อนหน้านี้ เพียงแต่ฝ่ายเพื่อไทยประกาศชัดว่า “จะคว่ำ” ร่างดังกล่าวในวันลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ อีกด้วย

ขณะที่ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์แม้จะไม่ชัดว่าจะคว่ำหรือไม่ แต่ความหมายที่สื่อออกมามันก็ชัดเจนอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเป็นการเลี่ยงทางกฎหมาย เกรงว่าทำผิดคำสั่งของ คสช. ที่ห้ามเคลื่อนไหวรณรงค์คว่ำร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเข้าข่ายมีความผิดอาญา มีโทษถึงจำคุกกันเลยทีเดียว

ทั้งนี้ ในคำแถลงของเขาที่กล่าวถึงคำถามพ่วงที่ให้ ส.ว.แต่งตั้งร่วมโหวตเลือกนายกฯ ในระยะเวลา 5 ปี ว่า พรรคไม่เห็นด้วย และไม่รับคำถามนี้ เนื่องจาก ส.ว.ที่จะเกิดขึ้นในระยะเวลาดังกล่าวมาจากการสรรหา และคสช.เป็นผู้แต่งตั้งในขั้นตอนสุดท้าย การให้ ส.ว.ลงคะแนนเสียงร่วมกับ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เท่ากับสามารถลบล้างเจตจำนงประชาชนที่แสดงออกในการเลือกตั้งได้ ผิดจากหลักการของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ และคณะ การทำเช่นนี้ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ มีแต่จะทำให้ความขัดแย้งหรือปัญหาทางการเมืองรุนแรงขึ้น

“สมมติว่าวุฒิสภาใช้สิทธิตรงนี้จับมือกับพรรค หรือ ส.ส.ที่เป็นเสียงข้างน้อยตั้งนายกฯ เพื่อให้เกิดรัฐบาล ก็จะทำงานยาก เพราะเป็นเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎร ในขณะที่ คสช.ย้ำเสมอว่าไม่ต้องการให้บ้านเมืองขัดแย้ง แต่การเริ่มต้นให้คนจำนวนหนึ่งมาลบล้างเจตจำนงประชาชนเป็นสูตรสำเร็จให้เกิดความขัดแย้งในวงกว้างทันที แต่ถ้าวุฒิสภาไปจับมือกับพรรคอันดับหนึ่ง ก็ไม่ช่วยเรื่องเสถียรภาพ ก็จะเป็นการลดอำนาจเสียงข้างน้อยในการคานอำนาจเสียงข้างมาก ดังนั้นจึงมีแต่ผลเสีย ถ้าสภาไม่ยอมให้ ส.ว.ชี้ขาดในการเลือกนายกฯ มีวิธีเดียวคือพรรคใหญ่ต้องจับมือกัน ก็จะเกิดเผด็จการในสภา เป็นคำถามที่ประชาชนไม่สมควรรับ เพราะสร้างความขัดแย้งผิดหลักการ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเคยระบุว่าไม่เห็นด้วยที่จะให้วุฒิสภาเลือกนายกฯ หวังว่าจะยืนยันความเห็นนี้ ไม่เช่นนั้นจะถูกมองว่า สนช.ทำทั้งที่หัวหน้า คสช.ประกาศแล้วว่าไม่เห็นด้วย”

“ในเรื่องที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญเห็นว่ามีข้อเสียมากกว่าข้อดี และไม่เห็นด้วยที่รัฐธรรมนูญนี้จะเป็นกฎหมายสูงสุด ข้อดีที่สนับสนุน คือ มีมาตรการบางเรื่องเข้มข้นมากขึ้นในการปราบปรามการทุจริต แต่ก็ไม่ได้ดีขึ้นทั้งหมด มีจุดอ่อน เช่น 1. ยกเลิกกระบวนการถอดถอนทำให้ความผิดที่จะไปจบที่ศาลต้องใช้มาตรฐานเหมือนคดีอาญายากที่จะเอาผิด 2. โทษลดลง เช่น ในอดีตคนที่เคยถูกถอดถอนจะเล่นการเมืองไม่ได้ตลอดชีวิตกลับลดลงมาเหลือห้าปี 3. สถานะของ ป.ป.ช.หากปฏิบัติหน้าที่มิชอบจะเข้าสู่กระบวนการถอดถอนหรือฟ้องต่อศาล แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องผ่านประธานรัฐสภา คือ ส.ส.ที่สังกัดรัฐบาล”

“ร่างรัฐธรรมนูญมีการเบี่ยงเบนเจตนารมณ์และลดอำนาจประชาชนถดถอยจากรัฐธรรมนูญ 50 เชื่อว่าจะมีความขัดแย้งในการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่จนเกิดความรุนแรงขึ้น การลดสิทธิเสรีภาพประชาชนโดยเพิ่มอำนาจราชการมากเกินไป จะทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจอ่อนแอลง ทำให้รัฐบาลที่มาจากประชาชนมีปัญหามากขึ้น ประชาชนไม่มีโอกาสเลือก ส.ว.ไม่ยึดโยงกับประชาชน การกำหนดให้ใช้บัตรเดียวในการเลือกตั้งก็เป็นการบังคับทำให้ประชาชนไม่สามารถเลือกตั้งอย่างเสรีได้อีกต่อไป การแก้ไขเพิ่มเติม รธน.ก็ยากมาก ขึ้นอยู่ในมือของ ส.ว. และยังมีวาระห้าปี เท่ากับเกี่ยวข้องกับรัฐบาลสองชุด คล้ายคลึงกับรัฐธรรมนูญปี 21 ซึ่งในขณะนั้นมีความพยายามต่ออายุบทเฉพาะกาล ดังนั้นหากจะแก้ไขให้เป็นประชาธิปไตยแทบทำไม่ได้เลย”

นั่นเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่แถลงในนามพรรคประชาธิปัตย์ ที่ใช้คำว่า “ไม่เห็นด้วย” กับคำถามพ่วงเรื่อง ส.ว.แต่งตั้งร่วมโหวตนายกฯ ซึ่งหากพิจารณากันแบบตรงไปตรงมาในคำพูดดังกล่าวมันก็ฟังขึ้นเหมือนกัน เพราะในความเป็นจริงหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติมันก็เหมือนกับการเปิดทางให้ นายกฯคนนอก ที่เป็นคนของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือคนที่ คสช.ให้การสนับสนุนนั่นแหละ

ดังนั้น หากพิจารณากันถึงบรรยากาศทางการเมืองนับจากนี้ไปโดยเฉพาะบรรยากาศที่น่าจะสัมผัสได้หลังเทศกาลสงกรานต์เป็นต้นไป อุณหภูมิน่าจะร้อนแรงขึ้นไปตามลำดับ แม้ว่าในทางเปิดเผยอาจมีการเคลื่อนไหวทำได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากมีกฎหมายห้ามเอไวอย่างเข้มงวด แต่ก็อย่างว่าแหละสำหรับพวกนักการเมืองย่อมต้องมีวิธีการ ซึ่งไม่แน่ใจว่าทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะรับมือได้แค่ เพราะหากมองอีกทางหนึ่ง การที่ฝ่าย คสช.รณรงค์ให้ชาวบ้านรับร่างอยู่ข้างเดียว ขณะที่อีกฝ่ายนั้นห้ามเคลื่อนไหว มองในมุมแบบนี้บางทีมันก็เกินไป

อย่างไรก็ดี ก็พอจะเข้าใจได้ว่าสิ่งที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติกังวลก็คือ “ภาวะแทรกซ้อน” ที่แทรกเข้ามาแบบไม่คาดหมาย หากพูดตรงๆ ก็น่าเป็นกังวลเรื่องการเคลื่อนไหวคัดค้านจากพรรคเพื่อไทยของ ทักษิณ ชินวัตร มากกว่า เพราะถือว่าได้รับผลกระทบกันไปเต็มๆ วัดดวงกันไปถึงอนาคตของเจ้าของพรรคกันเลยทีเดียว ขณะเดียวกัน เมื่อมาผนวกกับท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ที่มีความเห็นสอดคล้องกันมันก็ถือว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์ไม่น้อยที่สองพรรคนี้สามารถไปในทางเดียวกันแม้ว่าอาจแตกต่างในรายละเอียด แต่ความหมายมันก็ไม่ต่างจากการ “จับมือกันคว่ำ คสช.” ดังนั้นนับจากนี้ไปก็อย่ากะพริบตาเป็นอันขาด!
กำลังโหลดความคิดเห็น