ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ไม่มีอะไรผิดแผกจากที่คาดการณ์มากมายนัก เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติฟันธงแบบแบเบอร์ให้ตั้งคำถามพ่วงประชามติแบบท่วมท้นล้นทะลัก เพียงแต่กระมิดกระเมี้ยนเขียนคำถามเสียยืดยาวเข้าใจยาก นัยว่าจะสับขาหลอกตบตาประชาชนประมาณนั้น แต่คอการเมืองอ่านแล้วส่ายหน้าเอือมระอา เขียนให้วกวน อลเวง มีแต่คนนินทา หมาดูถูก แม้แต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)อย่าง สมชัย ศรีสุทธิยากร ยังออกมาคอมเมนต์ เขียนเลอะเทอะเปรอะเปื้อนเข้าใจยาก หมาไม่เห่า
แต่เนื้อหาโดยสรุปแบบบ้านๆ คือให้ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีอำนาจหน้าที่ในการยกมือโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย เหมือนกับสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)
เนื้อหาในคำถามพ่วงดังกล่าว จะมีผลทันทีหากประชามติร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบจากประชาชน ไปพร้อมๆกับคำถามที่พ่วงเข้าไป เนื้อหาในคำถามพ่วง จะถูกจับยัดใส่ในบทเฉพาะกาลบังคับใช้ 5 ปี โดยไม่ต้องไปสนใจในเนื้อหาตัวหลักบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ก็คือ ส.ว.ติดดาบ มีอำนาจทันที โอ้วแม่เจ้า
ไม่รู้ว่าเล่มเกมอะไรกัน เพราะก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังออกมาพูดเองปาวๆ จะไม่ให้ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ แต่จนแล้วจนรอดแม่น้ำ 5 สาย ก็คลอดเรื่องนี้ออกมาจนได้ แนบเนียนไว้ในคำถามพ่วง
กระนั้นก็ต้องวัดใจกันที่ด่านประชามติเสียก่อน แน่นอนว่าประเด็นนี้นักการเมืองค้านกันขี้แตกขี้แตนแน่ เพราะให้ ส.ว.มาเลือกนายกฯ ด้วย โดยที่มาของส.ว.คือการจิ้มเลือกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 200 คน บวกกับเลือกแบบกลุ่มอาชีพ แต่สุดท้ายก็ คสช.ชี้เป้ามาอีก 50 คน ดังนั้นก็เท่ากับมีเสียง 1 ใน 3 แล้ว รัฐสภามีทั้งสิ้น 750 มี ส.ส. 500 มี ส.ว.อีก 250
คิดง่ายๆ พรรคได้อันดับหนึ่งคงจะฝ่าด่านเสียงส.ว.ตั้งนายกฯ ตามที่ต้องการก็ยากเต็มกลืน หากไม่มีเสียงสนับสนุนจากพรรคการเมืองอื่นด้วย สมการการเมืองแบบนี้ วิธีที่สภาล่างจะกดหัวสภาสูงไว้ได้ก็คือ พรรคเพื่อไทยรวมกับพรรคประชาธิปัตย์ เท่านั้น ซึ่งยากกว่างมเข็มในมหาสมุทร สองพรรคนี้เหมือนขมิ้นกับปูน ให้พรรคประชาธิปัตย์ไปร่วมกับฝ่ายสภาสูง ยังง่ายกว่า
หากประชามติผ่านพร้อมคำถามพ่วง การเมืองคงดูไม่จืด ไม่ต้องไปคิดถึงเชิงบริหาร คิดถึงเกมการเมืองในสภาก็หมดเวลาทำงานกันแล้ว ประเด็นที่ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้ทรรศนะไว้น่าสนใจ หาก ส.ส.บางพรรคไปร่วมมือกับส.ว. โดยที่มีเสียงส.ว.เป็นหลักในการเลือกเฟ้นตัวนายกฯ ต่อเมื่อถึงคราวต้องผ่านร่างกฎหมายสำคัญๆ โดยเฉพาะกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน ถึงเวลานั้นเสียง ส.ว.จะไม่เกี่ยว จะเป็นการโหวตเลือกเฉพาะส.ส. ดังนั้นเสียงของฝ่ายที่เลือกนายกฯ อาจถึงทางตัน ไม่มีเสียงสนับสนุนพอในการผ่านกฎหมายสำคัญที่มีผลต่อความเป็นอยู่ของรัฐบาลตามธรรมเนียมปฏิบัติ ก็ต้องยุบสภา หรือลาออกเท่านั้น วุ่นวายตลาดแตกแน่นอน
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์บอกชัดว่า อย่างเก่งก็อยู่ได้แค่ 3 เดือนกลับบ้าน
นี่แค่หนังตัวอย่างประเด็นเดียวเท่านั้น เห็นเค้ารางแล้วปฏิรูปการเมืองคงติดหล่มจมความขัดแย้งกันต่อไป ถ้าต้องเจอรูปแบบนี้กันจริงๆ
ทีเด็ดทีขาดอยู่ที่คำถามพ่วงนี่แหละ ถ้าสมมติว่าประชามติผ่าน แต่คำถามพ่วงไม่ผ่าน เราก็จะได้รัฐธรรมนูญฉบับซือแป๋มีชัย ที่ไม่มีอำนาจ ส.ว.มาโหวตนายกฯ แบบนี้สมการประชาธิปไตยยังดูดี พอรับได้ อย่างน้อยๆ คนเลือกก็คือ ส.ส.เพียวๆ ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ต่างจาก ส.ว. ที่มาจากการลากตั้งของคสช.
มาดูอีกเงื่อนไขหนึ่งในการทำประชามติ คือ หากประชามติไม่ผ่าน แต่คำถามพ่วงผ่าน ซึ่งดูแนวโน้มเป็นไปได้ยากมาก เพราะตรรกะมันดูเพี้ยนอย่างไรไม่รู้ ยกเว้นว่าอาจจะมีการเล่นเกมอะไรกันในช่วงของการลงคะแนนจากประชาชน หากคำตอบออกมาแบบนี้ ก็ตัวใครตัวมัน เพราะเหมือนลูกเข้าเท้าคสช.เต็มๆ ร่างรัฐธรรมนูญตกไป ก็หยิบจับฉบับใดฉบับหนึ่งมาใช้ หรือขยำรวมกันแล้วแต่ชอบ เพราะอำนาจอยู่เต็มมือ คสช.อยู่แล้ว จากนั้นก็จับยัดใส่ประเด็นในคำถามพ่วงที่ผ่านความเห็นชอบเข้าไปอย่างชอบธรรม และหากจะยัดเงื่อนไข ส.ว.ซักฟอก โหวตกฎหมายการเงินเข้าไปด้วย ก็เชื่อว่าจะทำได้ โดยเอ่ยอ้างมติมหาชน แค่คิดก็หนาวแล้ว
สมการสุดท้าย คือ ประชามติไม่ผ่าน และคำถามพ่วงก็ไม่ผ่านเช่นกัน รูปแบบก็คือ คสช.เอารัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาใช้ หรือขยำรวม หรือเอาที่ซุกซ่อนเขียนไว้อยู่มาใช้ แต่จะเอาประเด็นคำถามพ่วง ส.ว.โหวตนายกฯ มาบังคับใช้ไม่ได้แล้ว เพราะประชาชนตีตกไปแล้ว คงไม่ใจกล้าหน้าหนา มาใช้แน่ๆ
จะว่าไปถือเป็นดาบสองคม วัดใจคสช.เช่นเดียวกันสำหรับประเด็นคำถามพ่วง ถ้าผ่านก็ตีปีกโก่งคอขันกันสำราญใจ ถ้าไม่ผ่าน แผนที่วางกันไว้เป็นอันจบเห่
แผนจะตรึงเกมการปฏิรูปขึงพืดยาวไป 20 ปี ตามเจตนารมณ์ของคสช. คงทำได้ลำบาก เพราะไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือไว้ใช้สอยตามที่ตั้งใจไว้ การจะสืบสานเจตนารมณ์ผ่านการเลือกตั้ง ส่งคนลงสมัคร ส.ส. เคยเห็นมานักต่อนัก ทหาร คณะยึดอำนาจ พอถึงเวลาลงสนามแล้วก็ไปไม่รอดทั้งนั้น ล่าสุดอย่างพรรคมาตุภูมิ ของพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน นั่นประไร จอดไม่เป็นท่า งานนี้แม้ คสช.จะเตรียมงานฟอร์มทีมไว้แข็งแกร่งเพียงใดก็คงฝ่าด่านนักเลือกตั้งลำบาก
เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ เขี้ยวโง้งในสนามเลือกตั้ง นักการเมืองรู้ธรรมชาติของชาวบ้านแต่ละพื้นที่มากกว่าใคร ยากที่ใครจะเข้าไปเปลี่ยนแปลงได้ ยิ่งเป็นฝ่ายทหารมือใหม่หัดขับ หรือไปเอาผู้แทนเหรียญเงินมาสู้กับตัวจริง มันก็แพ้ตั้งแต่ในมุ้ง ดังนั้น จึงคาดหวังได้เพียงบางระบบ บางพื้นที่ ไม่มีทางได้เสียงมากมาย แน่นอนต้องเอามาควบรวมกับ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งล้วนๆ อยู่ในอาณัติไม่มีแตกแถว ถึงพอจะถูไถ สืบสานอำนาจ เจตจำนงต่อไปได้ แต่ถ้าอะไรมันผิดแผกแตกต่างจากนี้ ก็เอวังปิดฉาก
ก็ไม่รู้ว่าการเมืองภายภาคหน้าในเร็วๆนี้ มันจะเป็นเช่นไร แต่ดูเหมือนปฏิรูปการเมืองไปไม่ถึงไหนแน่ จมปลักขัดแย้ง เพียงแต่ว่าจะมีแอ่น แอน แอ๊น อีกรอบหรือเปล่า หวั่นใจจริงๆ