xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“สวนกล้วย” รวยพิษ “ทัวร์จีน” กินรวบ ระวัง!! หายนะ “ทุนมังกร” ยึดเมืองไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สวนกล้วยของ บริษัทหงต๋า อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ที่อำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย  ซึ่งล่าสุดผลการตรวจเลือดคนงานสวนกล้วยทั้งหมด 43 คน พบสารเคมีในเลือดระดับปกติ 6 คน ระดับปลอดภัย 14 คน มีความเสี่ยง 10 คน และมีสารเคมีปนเปื้อนในเลือดระดับผิดปกติ 14 คน
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -การรุกคืบของ “ทุนจีน” ที่เข้ามาฝังรากลึกในไทยจนกลายเป็นผู้กุมชะตาเศรษฐกิจของประเทศในเวลานี้แม้เป็นเรื่องที่รู้กันดี แต่นี่ไม่ใช่เหตุผลที่รัฐไทยจะปล่อยให้ทุนจีนระลอกแล้วระลอกเล่าเข้ามาตักตวงผลประโยชน์โดยไม่ใส่ใจผลกระทบที่จะตามมา ดังกรณีที่กำลังเกิดขึ้นกับสวนกล้วยหอมปนเปื้อนสารพิษ หรือภาพลวงตาทัวร์จีนที่แท้จริงคือการกินรวบของทุนจีนโดยผู้ประกอบการคนไทยได้แต่มองตาปริบๆ

กรณีสวนกล้วยหอม ภายหลังจากทุนจีนข้ามฝั่งจากลาวเข้ามาเชียงรายเช่าที่ดินปลูกกล้วยหอมแปลงใหญ่และแย่งน้ำกับชาวบ้านที่กำลังฝ่าวิกฤตภัยแล้งจนกระทั่งทางจังหวัดต้องเข้ามา เคลียร์ปัญหาไปแล้วยกหนึ่ง เหลืออีกปมใหญ่คือ “ปัญหาสารเคมี” ที่ทุนจีนระดมใช้ในสวนกล้วยหอมส่งผลกระทบต่อคนงานในสวนกล้วยมากน้อยแค่ไหน ต่อเนื่องด้วยการตกค้างของสารเคมีในสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ดังเช่นที่เกิดขึ้นในแผ่นดินลาวอีกฟากฝั่งของแม่น้ำโขง

ล่าสุด จากรายงานผลการตรวจเลือดคนงานสวนกล้วยที่ตำบลเม็งราย อำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย ของ บริษัทหงต๋า อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งสาธารณสุขอำเภอเม็งราย เก็บตัวอย่างไปเพื่อตรวจหาสารเคมีเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2559 นั้น นายภูเบศร์ จูละยานนท์ นายอำเภอพญาเม็งราย เปิดเผยเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2559 ว่า ผลการตรวจเลือดคนงานสวนกล้วยทั้งหมด 43 คน พบสารเคมีในเลือดระดับปกติ 6 คน ระดับปลอดภัย 14 คน มีความเสี่ยง 10 คน และมีสารเคมีปนเปื้อนในเลือดระดับผิดปกติ 14 คน

หากอ่านผลการตรวจเลือดแบบนักวิทยาศาสตร์ โดย รศ.ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปกร แปลความได้ว่า คนงานสวนกล้วยของนายทุนจีนทั้งหมด 43 คน พบสารเคมีที่ตรวจทุกคน กล่าวคือ พบสารเคมีในเลือดระดับปกติ 6 คน (มีแต่น้อย), พบสารเคมีระดับปลอดภัย 14 คน (มีแต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน), พบสารเคมีในระดับมีความเสี่ยง 10 คน (มีเกินค่ามาตรฐานไม่มาก), พบสารเคมีปนเปื้อนในเลือดระดับผิดปกติ 14 คน (มีและพบสูงเกินค่ามาตรฐานมาก) นอกจากนี้อาจพบสารเคมีอื่นที่ยังไม่ได้ตรวจอีกด้วย

ผลตรวจเลือดของคนงานสวนกล้วย ถือว่าเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนและเป็นสัญญาณไม่ดี แต่ทว่านายอำเภอพญาเม็งราย ได้แสดงท่าทีออกมาปกป้องทุนจีนกลายๆ ผ่านทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสว่า ถึงผลเลือดจะออกมาดังกล่าวข้างต้นแต่ไม่สามารถระบุได้ว่าการปนเปื้อนสารเคมีที่พบเกิดจากการทำสวนกล้วยหรือไม่ เพราะร่างกายมนุษย์สามารถรับสารเคมีจากแหล่งอื่นๆ ได้เช่นกัน เช่น จากการรับประทานผักผลไม้ที่มีการปนเปื้อนของสารเคมีและยาฆ่าแมลง อีกทั้งคนงานที่ทำงานสวนกล้วยเป็นแรงงานรับจ้างรายวันและไม่ได้ทำงานที่สวนกล้วยแห่งนี้เท่านั้น ดังนั้นสารเคมีที่ปนเปื้อนอาจมาได้จากหลายแหล่ง

นอกจากนี้ พื้นที่สวนกล้วยเคยเป็นสวนส้มมาก่อนและผ่านการใช้สารเคมีอย่างหนัก แม้พบการปนเปื้อนในพื้นที่ แต่ก็ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นสารเคมีตกค้างจากสวนกล้วยแห่งนี้ อย่างไรก็ตาม ทางอำเภอได้กำชับให้สาธารณสุขอำเภอเข้าไปตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามระดับการปนเปื้อน พร้อมกับกำชับให้ทางบริษัทหงต๋าฯ ส่งคนงานทั้ง 14 คน ซึ่งมีระดับการปนเปื้อนสารเคมีในเลือดระดับไม่ปลอดภัยเข้ารักษาในโรงพยาบาล

นอกจากสาธารณสุขอำเภอพญาเม็งราย จะเก็บตัวอย่างเลือดของลูกจ้างที่เป็นคนงานในสวนกล้วยไปตรวจแล้ว สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงราย ยังเก็บตัวอย่างกล้วยไปตรวจหาสารเคมีตกค้างในผลผลิตด้วยเช่นกัน โดยนายสุเทพ ทิพย์รัตน์ เกษตรจังหวัดเชียงราย เปิดเผยผลการตรวจออกมาว่า ไม่พบสารปนเปื้อนในเนื้อกล้วย แต่ได้ส่งตัวอย่างให้กรมวิชาการเกษตร ตรวจสอบซ้ำอีกครั้งเพื่อความถูกต้องแม่นยำ ส่วนผลการตรวจสารปนเปื้อนในน้ำและดิน คาดว่าจะทราบผลในเร็วๆ นี้

ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของรัฐไทย อาจยังดูเบาปัญหาสารพิษจากการลงทุนปลูกกล้วยหอมของกลุ่มทุนจีน จึงไม่ได้แสดงท่าทีหวั่นวิตกและมีมาตรการป้องกันและติดตามอย่างใกล้ชิดกระทั่งปรากฏข่าวคราวปะทุขึ้นมาจากการแย่งชิงน้ำจนถึงการตั้งคำถามถึงผลกระทบต่อ สุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น จึงเพิ่งพากันขยับ ยิ่งในระดับนโยบายยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะยังไม่มีทีท่าว่าจะห่วงกังวลต่อปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมาในอนาคตแต่อย่างใด เวลานี้บรรดาผู้นำของประเทศและขุนพลเศรษฐกิจทั้งหลายแหล่ ต่างห่วงกังวลแต่ว่าจะไม่มีใครหอบเงินเข้ามาลงทุนในประเทศเสียมากกว่าเรื่องไหนๆ โดยหลงลืมไปว่าในโอกาสบางครั้งก็ตามมาด้วยวิกฤตหากไม่มีมาตรการป้องกันที่เพียงพอ

บางทีบทเรียนจากลาวอาจจะช่วยกระตุ้นเตือนให้ผู้มีอำนาจของไทยได้คิดว่าสวนกล้วยหอม หรือการเข้ามาลงทุนปลูกผัก ผลไม้ ของกลุ่มทุนจีนที่กำลังรุกเข้ามาลงทุนในเชียงรายและพื้นที่อื่นๆ ในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบน อาจได้ไม่คุ้มเสียหากไม่มีมาตรการคุมเข้มอย่างเพียงพอ

สำนักข่าวสารปะเทดลาว รายงานโดยอ้างคำให้สัมภาษณ์ของ นายคำพัน เผยยะวง เจ้าแขวงแขวงบ่อแก้ว เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ทางการจะไม่อนุญาตให้มีการขยายเนื้อที่ปลูกกล้วยหอมของกลุ่มทุนจีนเพิ่มเติมอีก และสวนกล้วยที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจตราอย่างเข้มงวด ทั้งนี้ สวนกล้วยหอมของทุนจีนในแขวงบ่อแก้วมีเนื้อที่ปลูกรวมๆ กันทั้งหมดกว่า 10,000 เฮกตาร์ หรือ กว่า 62,500 ไร่ เรียกได้ว่าสุดลูกหูลูกตากันเลยทีเดียว

“เนื่องจากสภาพการลงทุนปลูกกล้วยของนักลงทุนต่างประเทศในแขวงบ่อแก้ว ในระยะที่ผ่านมาได้มีปัญหา โดยเฉพาะการใช้ปุ๋ยเคมี รวมทั้งยาฆ่าหญ้าและยาปราบศัตรูพืช ที่ไม่ได้รับการตรวจตราและคุ้มครองจากภาครัฐ ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นทางเจ้าแขวงจึงได้มีคำสั่งยุติกิจกรรมปลูกกล้วย โดยไม่อนุญาตให้มีการขยายเนื้อที่ปลูกกล้วยเพิ่มเติมอีก...” สำนักข่าวของทางการลาว ระบุ

การที่เจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้องไม่ตรวจตราใกล้ชิดทั่วถึง ทำให้สวนกล้วยสร้างปัญหา .. “ทำให้มีการนำเข้าปุ๋ยเคมี ยาฆ่าหญ้า ยาปราบศัตรูพืชที่เป็นอันตรายร้ายแรง และ ที่สำคัญเป็นเคมีที่ทั่วโลกไม่ใช้กันแล้ว แต่นักลงทุนก็ยังคงลักลอบนำเข้ามาใช้..” เป็นอันตรายต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม
ลาวเริ่มตระหนักว่าการให้นักลงทุนจีนเช่าใช้ที่ดินทำสวนกล้วยมากมายนั้นไม่คุ้ม โดยเจ้าแขวงบ่อแก้ว ซึ่งเป็นเขตสวนกล้วยใหญ่ที่สุดของจีน ตัดสินใจไม่ออกใบอนุญาตขยายเนื้อที่เพาะปลูกอีกที่มีอยู่กว่า 62,500 ไร่ในปัจจุบัน และจะเริ่มตรวจตราอย่างใกล้ชิด(ภาพจากเฟซบุ๊กชาวลาว)
เจ้าแขวงบ่อแก้วกล่าวอีกว่า การอนุญาตให้นักลงทุนต่างประเทศปลูกกล้วยในช่วงที่ผ่านมา เกิดประโยชน์ด้านการสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนจำนวนหนึ่ง เช่น รายได้จากการสัมปทาน (เช่า) ที่ดิน ทำให้คนในชุมชนมีงานทำ แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า ทั้งหมดนี้เป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ เป็นรายรับที่ไม่มั่นคง การใช้แรงงานมีความเสี่ยงสูงต่อสุขภาพจากสารเคมีอันตราย และยังทำให้ดินมีสภาพเสื่อมโทรมเร็วอีกด้วย

บ่อแก้วทั้งแขวงได้กลายเป็นปลายทางยอดนิยมในการปลูกกล้วยหอมเพื่อส่งไปจำหน่ายในหลายเมืองและมณฑลทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ไปจนถึงบางมณฑลทางใต้และในภาคกลาง เนื่องจากแขวงบ่อแก้วมีการคมนาคมขนส่งที่สะดวก อยู่ริมแม่น้ำโขง มีเขตแดนติด อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เป็นต้นทางของทางหลวงสายเอเชีย A3E เชื่อมไทย ลาว และจีน ระยะทางสั้นที่สุดและทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน

ไม่กี่ปีมานี้มีการขยายการปลูกกล้วยอย่างกว้างขวาง ในแขวงภาคตะวันตกเฉียงเหนือของลาวแห่งนี้ สื่อของทางการรายงานเมื่อปีที่แล้วว่า นักลงทุนจีนจำนวนมากใช้วิธีเช่าที่ดินเพื่อปลูกกล้วยในระยะสั้น และย้ายที่ปลูกไปเรื่อยๆ โดยไม่มีภาระจัดเก็บต้นตอที่ตัดทิ้ง ทำให้เกิดเน่าเสียและเมื่อผ่านพ้นฤดูปลูกกล้วย ที่ดินจะใช้การไม่ได้อีกเป็นเวลานาน หรือมีต้นทุนการกำจัดที่สูงมาก ในระยะหลังๆ นักลงทุนจีนยังจ้างแรงงานชาวลาวน้อยลง หลังจากนำวิธีการตัดและขนส่งกล้วยดิบจากสวนที่ทันสมัยมาใช้

ไม่เพียงแต่ในลาวที่มีปัญหากับสวนกล้วยของนักลงทุนจากจีน ในเขตที่ราบปากแม่น้ำโขง ประเทศเวียดนาม ก็เป็นแหล่งดินอุดมอีกแห่งหนึ่งที่ได้รับความสนใจ เนื่องจากขนส่งทางเรือสะดวก และในปัจจุบันมีสวยกล้วยนับหมื่นไร่ พร้อมกับปัญหามลพิษจากสารเคมีที่ใช้เร่งใบเร่งการเจริญเติบโต สารเคมีอีกบางชนิดใช้เพิ่มขนาดผลกล้วย บางชนิดใช้ฉีดพ่น เพื่อเพิ่มสีสันให้น่ารับประทานภายหลังการตัดหวี

ซเวินเหวียดออนไลน์ รายงานเมื่อปีที่แล้วว่า สวนกล้วยของชาวจีนใน จังหวัดเหิ่วซาง (Hau Giang) ในเขตปากแม่น้ำโขง กำลังสร้างปัญหาต่อสภาพแวดล้อมอย่างหนัก เนื่องจากใช้สารเคมีที่ไม่ทราบแหล่งที่มาใช้ปริมาณมากและปราศจากการควบคุม

การรุกของทุนจีนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นต้นทางของทางหลวงสายเอเชีย A3E เชื่อมไทย ลาว และจีน เป็นไปอย่างคึกคักในระยะหลัง โดยมีทั้งทุนที่เข้ามาแบบตรงๆ และทางอ้อมผ่านนอมินี ดังที่ “ปีย์ มาลากุล” ได้เล่าสภาพผ่านเฟซบุ๊กว่า ทุนจีนเข้ายึดเชียงรายได้กว้านซื้อที่ดินในทำเลทองของเมืองไปเกือบหมดแล้วผ่านระบบนอมินี โดยเฉพาะกลุ่มทุนสิงคโปร์และทุนจีนที่เข้ามาซื้อที่ดินเมืองชายแดนในอำเภอแม่สาย เชียงแสน และเชียงของ พร้อมกับเริ่มสร้างคลังสินค้าหลายแห่ง ขณะที่ระบบการนำเข้า-ส่งออก กลุ่มทุนจีนก็จะใช้บริการชิปปิ้งของทุนจีนด้วยกันเองเท่านั้น

กลุ่มทุนจีนรุกเงียบโดยกำเงินนับพันล้านบาทกว้านซื้อที่ดินทำเลดี ริมถนน R3A ทั้งฝั่งไทยฝั่งลาว ไล่ซื้อตั้งแต่ห้วยทราย ของลาวข้ามโขงมา ยังเชียงของ เชียงราย ทะลุถึงเชียงใหม่ ลำปาง เล็งเป้าทำโกดัง และศูนย์กระจายสินค้า ต่อยอดธุรกิจชักธงสู่อาเซียน สร้างความหวาดหวั่นแก่เอกชนไทยที่ได้ผลกระทบแน่ๆ เพราะเหตุทุนจีนกระเป๋าหนักแถมต้นทุนต่ำ

นักธุรกิจพ่อค้าผลไม้ชาวจีน ยังเข้ามามีบทบาทในการควบคุมกลไกการค้าผลไม้ของไทย ชนิดที่แทบจะเรียกได้ว่า “ครบวงจร” เพราะนอกจากจะยึดกุมปลายทางของทั้ง 2 ด้าน ผลไม้จากจีนนำเข้ามายังประเทศไทยผ่านทางแม่น้ำโขง โดยกองเรือขนส่งสินค้าสัญชาติจีนมาขึ้นที่เชียงแสน ผ่านพิธีการศุลกากร โดยชิปปิ้งชาวจีน มีพ่อค้าจีนคุมลงมาส่งและกระจายสินค้าด้วยนักธุรกิจจีนเองถึงตลาดไท ในทางกลับกัน ผลไม้จากไทย ก็ถูกกว้านซื้อถึงสวน โดยกลุ่มพ่อค้าจีนที่รวมตัวกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง ส่งขึ้นไปลงเรือสินค้าสัญชาติจีนที่เชียงแสน ผ่านพิธีการศุลกากร จากชิปปิ้งชาวจีน เพื่อนำขึ้นไปขายต่อ ในจีนผ่านทางลำน้ำโขง

ผลประโยชน์ที่คนไทย มีส่วนได้ในกระบวนการเหล่านี้ มีเพียง 1. เจ้าของสวนที่สามารถขายผลไม้จำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว แต่ในราคาที่ไม่สูงมากนัก 2. เจ้าของรถห้องเย็นหรือรถปิกอัพที่รับจ้างขนผลไม้จากเชียงรายมายังตลาดไท และขนผลไม้จากภาคตะวันออกของไทยไปส่งที่ท่าเรือเชียงแสน และ 3. หญิงไทยที่รับจ้างแต่งงาน เพื่อใช้ชื่อออกหน้าในการจัดการเรื่องธุรกิจ

รูปแบบการทำธุรกิจลักษณะนี้ มิใช่มีเฉพาะแต่ผลไม้จากภาคตะวันออกของไทยเท่านั้น แต่รวมถึงการค้าลำไยอบแห้งในภาคเหนือที่ระยะหลัง มีปัญหาราคาตกต่ำเกิดขึ้นทุกปี เพราะการกำหนดราคารับซื้อลำไย ล้วนอยู่ในมือ “พ่อค้าชาวจีน” กว่า 40 ราย ที่เข้ามาลงทุนทำ “ล้ง” ตามจังหวัดต่างๆ ที่เป็นแหล่งผลิตลำไย

การที่พ่อค้าจีนเหล่านี้ สามารถกำหนดราคารับซื้อกันเองได้ชนิดวันต่อวัน เพราะคนกลุ่มนี้เป็นผู้ผูกขาดซื้อล็อตใหญ่อยู่เพียงกลุ่มเดียว ขณะที่สินค้าอื่นๆ ของไทย อาทิ พืชผักหลายชนิดซึ่งเป็นที่ต้องการบริโภคในจีน กลุ่มพ่อค้าจีนก็ใช้วิธีการรวมกลุ่มกันไปจองซื้อถึงสวนในจังหวัดนครปฐมและขนขึ้นไปส่งยังท่าเรือเชียงแสนเช่นกัน

ไม่เฉพาะการเข้ามาลงทุน ท่องเที่ยวเท่านั้น แม้แต่ด้านการศึกษา ชาวจีนก็นิยมส่งบุตรหลานเข้ามาเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายหลายพันคน โดยมีเป้าหมายชัดเจนคือ เข้ามาศึกษาเพื่อที่จะทำการค้า-ทำธุรกิจในเมืองไทย สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลจีนที่สนับสนุนให้พลเมืองจีนออกมาลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งประเทศไทย จัดอยู่ในเป้าหมาย อันดับต้น ๆ เพราะทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ เหมาะที่จะเป็นฐานการผลิตรุกสู่อาเซียนหลัง เปิด AEC

"ปีย์ มาลากุล" ตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งที่น่าสนใจการหลั่งไหลเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยของพ่อค้าชาวจีนเหล่านี้คือ คนกลุ่มนี้มิได้เข้ามาเพื่อหวังพึ่งพระบรมโพธิสมภาร เหมือนคนจีนที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเมื่อกว่า 100 ปีก่อน แต่เข้ามาเพื่อหวังดูแลการค้า และหวังได้ “กำไร” ขนกลับไปที่บ้าน คนจีนเข้าไทยรัฐบาลยังใจดียกเว้นวีซ่าให้อีก โดยไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ตกลงการยกเว้นวีซ่าระหว่างกันกับจีน

สภาพการรุกคืบของทุนจีนที่ยื่นมือไปทุกสารทิศสร้างผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายย่อยของไทยอย่างช่วยไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่รัฐบาลไทยภาคภูมิใจที่ได้อ้าแขนรับทัวร์จีนเข้ามาท่องเที่ยวมากมายมหาศาล แต่ถ้าสแกนลงไปในรายละเอียดจะพบว่า กลุ่มทัวร์จีนที่เข้ามาต่าง “กินรวบ” ในธุรกิจท่องเที่ยวชนิดที่ไม่ให้กระเซ็นมาถึงมือผู้ประกอบการคนไทยเลยก็ว่าได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นสัญญาณที่รัฐบาลควรตระหนักและหาทางแก้ไข ไม่ใช่ยินดีกับตัวเลขรายได้จากการท่องเที่ยวทัวร์จีนอันจอมปลอม
ผู้ประกอบการท่องเที่ยวภูเก็ต ร้องรัฐมนตรีการท่องเที่ยวฯ และภาครัฐช่วยเหลือด่วน หลังทัวร์จีนกินรวบทุกกิจการ ไม่ใช้บริการของคนท้องถิ่นภูเก็ต ทำผู้ประกอบการเดือดร้อนอย่างหนัก รถบัสกว่า 500 คัน ต้องจอดสนิท นำรถเข้ามาเอง พาลูกทัวร์หนีโรงแรมที่มีร้านยางพาราเปิดขาย ลงทุนเรือท่องเที่ยว คนไทยแทบไม่ได้อะไรจากทัวร์จีนที่เข้ามาจำนวนมาก
เสียงสะท้อนจากสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวอันดามันให้ภาพ “กินรวบ” ของทุนจีนชัดเจน ดังที่ นางกัลยา รักวารี รองนายกสมาคมฯ เคยบอกเล่าสภาพปัญหาให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวฯ ฟังว่า ทัวร์จีนที่เข้ามาท่องเที่ยวในภูเก็ตคนท้องถิ่นแทบจะไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลย เพราะมีการผูกขาดทางธุรกิจในกลุ่มทัวร์จีนทั้งหมด ตั้งแต่มีการนำรถบัส รถตู้ เข้ามาแย่งอาชีพคนท้องถิ่นภูเก็ต โดยทางร้านจิวเวลรี จะเป็นผู้นำรถบัสและรถตู้เข้ามาบริษัททัวร์จีนใช้บริการในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนเพื่อผลประโยชน์ในธุรกิจจิวเวลรีและธุรกิจของเอเย่นต์ทัวร์จีน ได้แก่ ร้านดิวตี้ฟรี ร้านยางพารา ร้านสวนงู ร้านสปา ร้านเครื่องหนัง ร้านขายของฝากและร้านอาหาร ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยในภูเก็ตได้รับผลกระทบโดยตรง

นอกจากรถบัสรับ-ส่งนักท่องเที่ยวของผู้ประกอบการในท้องถิ่นภูเก็ตที่ได้ผลกระทบต้องหยุดวิ่งให้บริการ 400-500 คัน เพราะในแต่ละเดือนรถบัสเหล่านี้จะได้รับงานเพียง 1-2 ครั้งเท่านั้น ในส่วนของเรือท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะขณะนี้บริษัทต่างชาติได้เข้ามาลงทุนในเรื่องของเรือท่องเที่ยวแล้ว

การกินรวบของทุนจีนทำให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวเมืองภูเก็ตอย่างน้องๆ 9 อาชีพ ได้รับผลกระทบ เช่น มัคคุเทศก์ บริษัททัวร์รายย่อย ผู้ประกอบการรถบัส เรือโดยสาร ผู้ประกอบการโรงแรมขนาดเล็ก ร้านอาหารจีน ร้านของฝากและจิวเวลรี ร้านนวดสปา และร้านขายผลไม้

นั่นหมายความว่า ทัวร์จีนที่เข้ามาไม่ได้สร้างช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจไทยเพราะรายได้และกำไรที่แท้จริงส่วนใหญ่เป็นเงินเข้ากระเป๋านายทุนจีนและหอบกลับประเทศ ทิ้งไว้แต่เศษซากความเสื่อมโทรมของแหล่งท่องเที่ยวและอารยธรรมที่ถูกทัวร์จีนเข้ามา “ชื่นชม” แบบไม่บันยะบันยัง

แล้วอย่างนี้จะยังอ้าแขนรับสวนกล้วยรวยพิษ กับทัวร์จีนกินรวบกันต่อไปโดยไม่ใคร่ครวญทบทวนกันใหม่ หรืออย่างไร?



กำลังโหลดความคิดเห็น