เชียงราย - นายอำเภอพญาเม็งรายเร่งหาทางออกให้สวนกล้วยทุนจีนอยู่กับคนท้องถิ่นได้แบบบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น หลังยอมหยุดสูบน้ำอิง หันใช้บาดาลแทนแล้ว เร่งส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสุขภาพชาวบ้านรอบสวนหาสารเคมีตกค้าง พร้อมขอเข้าดูพื้นที่ 1 เมษาฯ นี้คลายกังวลให้คนพื้นที่ ก่อนหาช่องให้ชาวบ้านรับกล้วยหลุดเกณฑ์แปรรูปขายต่อ
วันนี้ (31 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีสวนกล้วยบริษัท หงต๋า อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กลุ่มทุนจีนที่เข้ามาเช่าพื้นที่ติดถนนสายพญาเม็งราย-เทิง ทางไปบ้านหนองบัวคำ ต.เม็งราย อ.พญาเม็งราย กว่า 2,750 ไร่ ปลูกกล้วย และถูกชาวบ้านร้องเรียนเรื่องการสูบน้ำจากแม่น้ำอิงไปใช้ในสวน จนทางอำเภอต้องเรียกประชุมเพื่อแก้ไขปัญหา และแจ้งให้หยุดสูบน้ำแล้วนั้น
ล่าสุดพบว่าบริษัทหงต๋าฯ ได้หยุดสูบน้ำจากแม่น้ำอิง และหันไปขุดบ่อบาดาลภายในสวนแล้ว ขณะที่กระแสการต่อต้านจากชาวบ้านก็ลดลง เนื่องจากไม่มีการสูบน้ำจากแม่น้ำอิงที่แห้งลงอย่างมากในช่วงนี้ด้วย
ขณะที่ภายในสวนกล้วยดังกล่าวพบมีต้นกล้วยโตเต็มที่แล้ว และพื้นที่โล่งที่เตรียมปลูกกล้วยรุ่นใหม่โดยมีคนงานเดินทางเข้าออกเพื่อดูแลสวนกล้วยอย่างต่อเนื่อง และมีผลผลิตบางส่วนถูกขนส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศจีนทั้งหมดผ่านเส้นทาง R3a อ.เชียงของ จ.เชียงราย-สปป.ลาว-มณฑลยูนนาน ส่วนพื้นที่รอบสวนกล้วย เป็นพื้นที่ทางการเกษตรที่ชาวบ้านปลูกมันสำปะหลังกันเป็นส่วนใหญ่
ชาวบ้านใกล้เคียงสวนกล้วยบริษัทหงต๋าฯ ระบุว่า ก่อนหน้านี้บริษัทสูบน้ำจากแม่น้ำอิงอย่างหนักจนมีเสียงดังชัดเจน ทำให้คนในพื้นที่ใกล้เคียง และตอนใต้น้ำกังวลใจจนเข้าร้องเรียนต่อทางอำเภอฯ แต่เมื่อเอกชนหยุดสูบน้ำแล้วก็เลิกกังวล และต่างฝ่ายต่างก็ทำมาหากินกันไปตามหน้าที่
โดยชาวบ้านส่วนหนึ่งก็เข้าไปรับจ้างทำงานภายในสวนกล้วยวันละประมาณ 300 บาท ส่วนชาวบ้านรอบนอกส่วนใหญ่ก็เช่าที่ดินปลูกมันสำปะหลัง เช่นเดียวกับเอกชนจีนที่เช่าที่ดินเป็นเวลา 9-10 ปีเพื่อปลูกกล้วยหอมเช่นเดียวกัน
ด้านนายภูเบศร์ จูละยานนท์ นายอำเภอพญาเม็งราย จ.เชียงราย เปิดเผยว่า จากการหารือเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำที่ผ่านมา จนทราบว่าสวนกล้วยหอมของเอกชนรายนี้มีประมาณ 2,750 ไร่ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับที่เอกชนจีนไปปลูกในแขวงต่างๆ ของ สปป.ลาว ใกล้ชายแดนเชียงราย ร่วม 20,000 ไร่แล้วถือว่าน้อยกว่ามาก
แต่เมื่อชาวบ้านมีความกังวลทางอำเภอฯ ในฐานะฝ่ายปกครองก็ต้องเข้าไปดูแลแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้าน และขณะเดียวกันก็ให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย เพื่อให้การลงทุนของภาคเอกชน โดยเฉพาะจากต่างประเทศ สามารถคงอยู่ได้และได้รับประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย
ทั้งนี้ หลังจากได้แก้ไขปัญหาเรื่องน้ำไปได้แล้วอย่างถาวร เพราะเอกชนหันไปขุดบ่อบาดาลเองแล้ว ทางอำเภอฯ ก็ได้ประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบเรื่องการใช้สารเคมีในสวนด้วย เพื่อคลายความกังวลของชาวบ้าน และจะผลดีต่อเอกชนจีนในการรับประกันคุณภาพกล้วยหอม รวมทั้งสามารถต่อยอดไปถึงความร่วมมือระหว่างกลุ่มทุนจีนกับชาวบ้านท้องถิ่นอีกด้วย
“ได้ให้ทางโรงพยาบาลในพื้นที่ตรวจสุขภาพของชาวบ้านที่ทำงานในสวน และที่อยู่โดยรอบจำนวน 170 คน เพื่อดูสุขภาพตั้งแต่ก่อนจะมีสวนกล้วยจนถึงปัจจุบันว่ามีสารพิษตกค้างหรือไม่ มีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคต้องสงสัยว่าจะเกิดจากสารเคมีหรือไม่อย่างไร”
และวันศุกร์ที่ 1 เม.ย.นี้จะได้เข้าไปดูที่สวนด้วยตัวเองโดยมีนักวิชาการที่เกี่ยวข้องไปด้วย เพื่อขอดูกิจการและสภาพแวดล้อม เช่น ดิน น้ำ ตัวอย่างกล้วย ซึ่งทราบว่าโตแล้วประมาณ 500 ไร่ และเริ่มส่งไปจีนแล้ว ที่อนุบาลก็มีอยู่อีกประมาณ 500 ไร่ ส่วนพื้นที่อื่นๆ คงจะขยายต่อไป ฯลฯ ซึ่งหวังว่าเอกชนจะให้ความร่วมมือด้วยดี
นายภูเบศร์กล่าวอีกว่า เพราะเป็นผลดีต่อการต่อยอดในอนาคตด้วย เนื่องจากผลผลิตที่ออกมาทั้งหมดต้องมีผลกล้วยที่ใช้ส่งออกไม่ได้ อาจมีขนาดเล็ก หรือไม่ได้ลักษณะเพื่อการส่งออก แต่ยังคงเนื้อกล้วยที่มีคุณภาพเช่นเดิม บริษัทต้องหาทางกำจัด โดยอาจจะให้รถขยะเทศบาลฯ รับไปทิ้งตามขั้นตอนหรืออื่นๆ
ซึ่งในกรณีนี้ทางอำเภอก็มีแนวทางจะหารือกับบริษัทเจ้าของสวน เพื่อหาทางให้ชาวบ้านท้องถิ่นรับซื้อผลผลิตคงเหลือนี้ในราคาถูก นำมาแปรรูปเป็นสินค้าปลอดภัย เพราะได้ผ่านการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ อันเป็นการรับประกันผลผลิตไปในตัว บริษัทฯ ก็มีแหล่งรองรับผลผลิตที่ไม่ผ่านเกณฑ์ส่งออกโดยไม่ต้องทิ้ง อย่างน้อยก็ได้เม็ดเงินจากการขายดีกว่าทิ้งไปเสียเปล่าๆ ส่วนชาวบ้านก็มีผลผลิตแปรรูป อาจนำไปเป็นครีมกล้วยหอมสามารถบีบจากหลอดใส่ขนมเอแคร์ เค้ก ฯลฯ แบบไม่เหมือนใคร และเพิ่มมูลค่าได้ ได้ประโยชน์พร้อมกันทุกฝ่าย