เชียงราย - นายอำเภอ-ผกก.สภ.พญาเม็งราย นำ จนท.สาธารณสุข เข้าตรวจสุขภาพ-เจาะเลือดคนงานสวนกล้วยหอมกลุ่มทุนจีน พร้อมดูกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน หลังชาวบ้านลุ่มน้ำอิงร้องถูกแย่งน้ำ พบตั้งแต่ต้นปีส่งขายจีนแล้วกว่า 170 ตัน ได้กิโลฯ ละ 1.20 บาท เผยมีตลาดใหญ่อยู่ 3 มณฑล
วันนี้ (1 เม.ย.) นายภูเบศร์ จูละยานนท์ นายอำเภอพญาเม็งราย จ.เชียงราย, พ.ต.อ.ถนอมศักดิ์ ยศแผ่น ผกก.สภ.พญาเม็งราย พร้อมเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ได้เข้าตรวจสุขภาพของคนงานภายในสวนกล้วยหอมบริษัท หงต๋า อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กลุ่มทุนจีน ที่เข้ามาเช่าพื้นที่ติดถนนสายพญาเม็งราย-เทิง ทางไปบ้านหนองบัวคำ ต.เม็งราย อ.พญาเม็งราย เพื่อให้ประชาชนที่ร้องเรียนหายความกังวล หลังจากก่อนหน้านี้ชาวบ้านลุ่มแม่น้ำอิง และลุ่มลำห้วยร่องคั่วะ ได้เข้าร้องเรียนต่อทางอำเภอฯ เรื่องสวนกล้วยดังกล่าวสูบน้ำไปใช้จนน้ำอิงแห้ง และเกรงปัญหาเรื่องสารเคมีตกค้าง
ก่อนหน้านี้ทางอำเภอแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำเสร็จสิ้นไปแล้ว โดยให้บริษัท หงต๋า ขุดบ่อบาดาลแทน ซึ่งพบว่าภายในสวนมีการขุดบ่อบาดาลแล้วจำนวน 3 บ่อ และเร่งสูบน้ำไปหล่อเลี้ยงสวนกล้วยอย่างต่อเนื่อง ส่วนเรื่องสารเคมีได้มีการเจาะเลือดคนงานเพื่อนำไปตรวจสอบจนครบทุกคน
ขณะที่ภายในสวนมีคนงานและคนดูแลสวนตัดกล้วยหอมแล้วลำเลียงไปยังโรงบรรจุกล่องซึ่งอยู่กลางสวนกันแล้วนำไปแขวนไว้ที่รอก ก่อนชักลากไปยังบ่อล้างด้วยน้ำยา และจุ่มน้ำเคลือบ ปล่อยทิ้งไว้ให้แห้งก่อนบรรจุกล่องติดตราสินค้าคุณภาพ กล่องละ 11 กิโลกรัม บรรจุได้ 4-5 หวี แล้วนำไปเก็บไว้ในห้องเย็น เพื่อรอรถบรรทุกห้องเย็นมารับส่งออกไปผ่านทางถนนอาร์สามเอไทย-สปป.ลาว-จีนตอนใต้ต่อไป
โดยกระบวนการตัดและขนลำเลียงจนถึงบรรจุกล้วยหอมลงกล่องดังกล่าวเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีผู้เชี่ยวชาญชาวจีน และหัวหน้าคนงานชาวไทยดูแลอย่างใกล้ชิด และตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีการส่งออกกล้วยหอมไปยังจีนแล้วถึง 8 ตู้คอนเทนเนอร์ ตู้ละ 22 ตัน รวมประมาณ 176 ตัน และมีนักธุรกิจจีนมาติดต่อขอซื้อถึงสวนอย่างต่อเนื่อง ตลาดส่วนใหญ่กระจายไปทั้งในเมืองคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลยูนนาน, เมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน, เมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง ฯลฯ
นายภูเบศร์กล่าวว่า การตรวจสอบสวนกล้วยหอมกลุ่มทุนจีนได้รับความร่วมมือดีมาก ทั้งเรื่องการประสานงาน ข้อมูล และการเข้าดูพื้นที่ จากการดูภายนอกพบว่ากิจการมีคุณภาพได้มาตรฐานดี ผลผลิตที่ได้ก็ถูกส่งออกอย่างรวดเร็ว ดังนั้น เมื่อขั้นตอนแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำเสร็จสิ้นไปแล้วก็เป็นขั้นตอนตรวจสุขภาพซึ่งกรณีการตรวจครั้งนี้หากพบว่ามีสารเคมีตกค้างในร่างกายก็ไม่สามารถสรุปได้ว่าจะเกิดจากสวนกล้วย เพราะอาจมาจากสาเหตุ หรือสถานที่อื่นจึงจะมีการตรวจอีกครั้งใน 2 สัปดาห์ต่อไป
“แต่เท่าที่ดูคาดว่าไม่น่ามีปัญหาใดๆ ผลผลิตที่ได้ก็ถือว่าดี เหลือกล้วยที่มีคุณภาพแต่ไม่ผ่านเกณฑ์ตกค้างอยู่มาก เพราะมีการคัดเฉพาะกล้วย 7 หวีจากเครือ และที่มีผลโตไม่สุกมากเกินไปเท่านั้น ที่เหลือก็นำไปทิ้ง ซึ่งส่วนนี้เราสามารถหารือเพื่อร่วมมือกันนำมาแปรรูปในอนาคตได้”
ด้านนายสำอาง บุตรพรม หัวหน้าคนงานในสวนกล้วยหอม กล่าวว่า คนที่อยู่ในสวนมี 2 กลุ่มคือ คนงานประจำ 83 คน มีรายได้วันละ 300 บาท และคนดูแลสวนกล้วย 30 ครอบครัว ดูแลสวนครอบครัวละไม่เกิน 50 ไร่หรือประมาณ 5,000 ต้น เมื่อได้ผลผลิตก็นำลำเลียงไปตามสายรอกสู่โรงบรรจุ เพื่อจำหน่ายกิโลกรัมละ 1.20 บาท ระยะเวลาผลผลิตชุดแรกประมาณ 9 เดือน เดือนถัดไปก็ใช้เวลาอีก 6 เดือนไปเรื่อยๆ ทำให้ชาวบ้านจำนวนมากมีงานทำและมีรายได้
ส่วนปัญหาเรื่องน้ำ หลังจากทางอำเภอฯ ให้แก้ไขก็ได้ขุดบ่อบาดาลทดแทนแล้ว ขณะที่เรื่องสารเคมีก็เชื่อว่าไม่มีปัญหา เพราะทำตามมาตรฐานของเจ้าหน้าที่ทุกอย่างและไม่มีตกค้างแน่นอน
นายสำอางบอกว่า ขณะนี้มีต้นกล้วยที่ปลูกทั้งหมดแค่ประมาณ 200 ไร่ และกำลังเพาะกล้าเอาไว้อีกประมาณ 500,000 ต้น โดยจะปลูกเพิ่มในเดือน พ.ค.หรือฤดูฝนนี้เป็นต้นไป ในอนาคตเมื่อปลูกกล้วยเต็มพื้นที่ ก็จะมีคนงานและคนสวนมากกว่าเดิม