xs
xsm
sm
md
lg

ปูดกลุ่มทุนจีน “หงต๋า” โผล่เช่าปลูกกล้วย พบปิดกิจการในไทยปีก่อน- "พาณิชย์" ยัน อาชีพเกษตรสงวนคนไทย ปล่อยเช่าที่ดินเพาะปลูกผิดกฎหมาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากเว็ปไซต์สำนักข่าวชายขอบ
ปูดกลุ่มทุนค้าผลไม้จีน “หงต๋า” โผล่เช่าปลูกกล้วย จ.เชียงราย พบเคยขอเปิดกิจการปีก่อน แต่ปิดกิจการในไทยแล้ว ด้านพาณิชย์ยันอาชีพเกษตรสงวนคนไทย ย้ำปล่อยต่างชาติเช่าที่ดินเพาะปลูกผิด กม. เว้นแต่ทำ “คอนแทรกต์ฟาร์มมิ่ง” ส่วนผู้บริหาร CP หนุนจีน เผยผู้ว่าฯ สั่งนายอำเภอพญาเม็งรายสั่งห้ามบริษัทสูบน้ำในแม่น้ำอิงแล้ว หลังชาวบานสำรวจสวนกล้วยหอมจีนพบใช้สารเคมีเข้มข้น-ลูกดก-ต้นงาม หลังลาวห้ามเลยข้ามฟากมาไทย ปลูกแล้วนับพันไร่

วันนี้ (29 มี.ค.) มีรายงานว่า สื่อหลายแห่งได้เผยแพร่ข่าวกลุ่มทุนจีนเข้ามาเช่าที่ดิน อ.พญาเม็งราย จ.เชียงราย จำนวน 2,700 ไร่ เพื่อทำสวนกล้วย และได้สูบน้ำจากแม่น้ำอิงจนแห้งขอด ส่งผลให้ชาวบ้านในพื้นที่ไม่มีน้ำสำหรับอุปโภคและบริโภค อย่างไรก็ตาม ผู้นำท้องถิ่นได้จัดประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว เมื่อวันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมมีมติห้ามบริษัทจีนสูบน้ำจากแม่น้ำอิงโดยเด็ดขาด แต่ให้ใช้วิธีขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลแทน และจะมีการจัดเวรชาวบ้านเฝ้าดูแลตลอด 24 ชั่วโมง

ล่าสุดพบว่า สำนักข่าวสิ่งแวดล้อมได้อ้างบทสัมภาษณ์นายศุภชัย เจียรวนนท์ รองประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ที่ได้ระบุว่าเหมือนกับการทำ Contract Farming ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีอาชีพและรายได้ ฉะนั้นต้องไม่ไปขับไล่เขา เพราะการที่เขาเอาอาชีพเข้ามาให้เป็นสิ่งที่ดี ดังนั้นการเข้ามาของกลุ่มทุนจีนเพื่อปลูกกล้วย สะท้อนถึงความต้องการกล้วยในตลาดจีน ถือเป็นโอกาสของประเทศไทยและรัฐบาลจำเป็นต้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง

“ปรากฏการณ์นี้เป็นเรื่องที่น่าคิด แสดงว่าตลาดของเขากำลังขาดจริงๆ เขาต้องการทั้งกล้วยหอม และกล้วยไข่ โดยเฉพาะกล้วยไข่ที่ในประเทศจีนเรียกว่ากล้วยจักรพรรดิ ดังนั้นนี่จึงเป็นโอกาสของประเทศไทย” นายศุภชัยกล่าว และว่าการดำเนินการดังกล่าวจะต้องให้ชุมชนร่วมเป็นเจ้าของด้วย หากเป็นไปในลักษณะพาร์ตเนอร์ชิปก็ควรแบ่งผลประโยชน์ 50-50 หรือเอกชน 30 ชุมชน 70 ก็ได้ แทนที่จะให้เขาเข้ามาในประเทศไทย เราอาจจะทำเองแล้วส่งออกไปขายแทน ตรงนี้รัฐบาลต้องมอนิเตอร์อย่างจริงจัง” นายศุภชัย กล่าว

มีรายงานจากอำเภอพญาเม็งรายว่า บริษัททุนจีนที่เข้ามาเช่าที่ปลูกกล้วยหอมแห่งนี้เป็นแห่งแรกในไทย หลังจากรัฐบาลลาวสั่งห้ามไม่ให้มีการปลูกเพิ่มในประเทศลาวเนื่องจากพบว่าสารเคมีที่ใช้สร้างมลพิษอย่างรุนแรง

นายภูเบศร์ จูละยานนท์ นายอำเภอพญาเม็งราย จ.เชียงราย เปิดเผยว่า ช่วงปลายปี 2558 ที่ผ่านมาได้มีเอกชนจากประเทศจีนเข้ามาประกอบการปลูกสวนกล้วยหอมในพื้นที่ 2 หมู่บ้านของ ต.พญาเม็งราย อ.พญาเม็งราย รวมเนื้อที่ประมาณ 2,000 ไร่ โดยใช้วิธีการเช่าจากเอกชนไทยอีกต่อหนึ่งสัญญาเช่านาน 9 ปี ซึ่งตามกฎหมายแล้วถือว่าเป็นการเช่าไม่ใช่เจ้าของที่ดินจึงสามารถทำได้ โดยตลาดที่จะส่งออกทั้งหมดอยู่ที่ประเทศจีนและไม่ได้นำมาขายในประเทศไทยเลย ปัจจุบันมีการสร้างโรงงานเตรียมบรรจุหีบห่อเอาไว้ภายในเรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงต้นปี 2559 ที่ผ่านมาเกิดกรณีชาวบ้าน อ.พญาเม็งราย และ อ.ขุนตาล ได้ร้องเรียนว่าเอกชนรายดังกล่าวมีการสูบน้ำจากแม่น้ำอิงจนทำให้แม่น้ำแห้งและส่งผลกระทบต่อการเกษตร ดังนั้นในฐานะฝ่ายปกครองจึงได้มีการจัดประชุมทุกฝ่ายตั้งแต่วันที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมาแล้วแม้จะพบว่าสภาพของแม่น้ำอิงจะเหือดแห้งทุกฤดูแล้งและการสูบน้ำจากเอกชนรายดังกล่าวก็คงจะไม่มีผลมากนักก็ตาม แต่ก็พบว่ามีการต่อท่อ 6 นิ้วจากแม่น้ำเพื่อสูบน้ำไปเก็บไว้ในสวนกล้วยจำนวน 4 บ่อ ทำให้ทางอำเภอพิจารณาแล้วอาศัยอำนาจการเป็นประธานคณะกรรมการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนสั่งระงับการให้สูบน้ำดังกล่าว และได้แนะนำให้ใช้การขุดบ่อบาดาลแทนกระทั่งปัจจุบันเอกชนพึ่งจะทำการขุดเชื่อว่าจะสามารถนำน้ำมาใช้ภายในสวนกล้วยในเร็วๆ นี้ต่อไป

“ทางอำเภอพยายามแก้ไขปัญหาให้ทุกฝ่ายอย่างยุติธรรมเพราะจะไปเห็นแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทั้งหมดก็ไม่ได้ แต่ก็ต้องแก้ไขความกังวลของชาวบ้านส่วนการแก้ไขปัญหาก็ต้องมองแบบภาพกว้างเนื่องจากโลกปัจจุบันคือการเชื่อมโยงกันด้านการค้าการลงทุน เมื่อเราเปิดให้เอกชนเข้าไปลงทุนแล้วเขาสนใจเข้ามาลงทุนจริงๆ กลับไม่ได้รับความสะดวกก็อาจเกิดปัญหาได้ แต่ขณะเดียวกันฝ่ายปกครองก็มีหน้าที่ในการดูแลประชาชนก็ต้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ” นายภูเบศร์กล่าว

ด้านนายประจญ ปรัชญ์สกุล รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย กล่าวว่า ล่าสุดมีเหตุที่ อ.พญาเม็งราย โดยมีกลุ่มทุนเข้ามาทำสวนกล้วยกว้างหลายพันไร่ และสูบน้ำจากแม่น้ำอิงไปใช้ ทำให้ประชาชนที่ใช้น้ำเกรงว่าจะได้รับผลกระทบจึงร้องเรียนไปที่ว่าการอำเภอ ล่าสุดทางนายอำเภอได้เข้าไปแก้ไขปัญหาด้วยการให้เอกชนหยุดสูบน้ำ และหันไปเจาะบ่อบาดาลแทนแล้ว ซึ่งท่อน้ำจากเครื่องสูบขนาด 6 นิ้ว สูบน้ำจากน้ำอิงจำนวน 4 จุดจนทำให้แม่น้ำอิงนั้นแห้งขอด ทำให้เกษตรกรที่อยู่ปลายน้ำได้รับความเดือดร้อน นอกจากนี้ยังมีรายงานด้วยว่า เอกชนจีนที่ไปลงทุนปลูกกล้วยในแขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ตรงข้าม อ.เชียงของ จ.เชียงราย ถูกทางแขวงบ่อแก้วแจ้งให้ยุติกิจการเพราะมีการใช้สารเคมีจึงเกรงจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชีวิตชาวลาว ทำให้มีการย้ายฐานการปลูกไปยังแขวงอุดมไชยแทน และส่วนหนึ่งเข้าไปเช่าที่ดินใน จ.เชียงรายดังกล่าว

ด้าน น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า กลุ่มทุนต่างประเทศไม่สามารถเข้ามาเช่าที่ดินเพื่อปลูกสินค้าเกษตรได้ เพราะเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 บัญชี 1 ที่ไม่อนุญาตให้ต่างชาติทำอาชีพสงวนของคนไทย ได้แก่ ธุรกิจทำไร่ ทำนา อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สามารถทำได้ก็คือการเข้ามาในรูปแบบของการทำสัญญารับซื้อผลผลิต (คอนแทรกต์ฟาร์มมิ่ง) คือเกษตรกรยังคงเป็นเจ้าของที่ดินและรับจ้างผลิตให้กับผู้ว่าจ้างเท่านั้น โดยผลผลิตจะต้องส่งขายนอกประเทศเท่านั้น ห้ามขายในประเทศไทย

“เข้าใจว่าเรื่องกลุ่มทุนจีนที่มาปลูกกล้วยใน จ.เชียงราย น่าจะเป็นการทำสัญญารับซื้อผลผลิตมากกว่า” น.ส.ผ่องพรรณกล่าว และว่าการทำคอนแทรกต์ฟาร์มมิ่งไม่ใช่เรื่องเสียหาย และน่าจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรไทย เพราะมีสัญญารับซื้อที่ชัดเจน สร้างอาชีพให้กับเกษตรกรและมีตลาดรองรับผลผลิต

มีรายงานจากบ้านต้าน้ำอิง ตำบลต้า อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงรายว่า กลุ่มชาวบ้านได้ลงพื้นที่สำรวจแปลงปลูกกล้วยหอมของบริษัท Hongtar International Thailand จำกัด ซึ่งเป็นของนักธุรกิจชาวจีน ที่เข้ามาเช่าพื้นที่ริมแม่น้ำอิงบริเวณวังดินแดง ตำบลเม็งราย อำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย จำนวน 2,700 ไร่ ทำการปลูกกล้วยหอมไปแล้วกว่า 1,000 ไร่ แต่เนื่องจากในปีนี้เกิดสภาวะภัยแล้ง ทำให้น้ำในแม่น้ำอิงแห้งกว่าทุกปี ทางบริษัทHongtar International Thailand ได้ทำการขุดบ่อในแม่น้ำอิงและสูบน้ำขึ้นไปใช้รดกล้วยหอม ทำให้ชาวบ้านร้องเรียนไปยังศูนย์ดำรงธรรม จนในที่สุดทางอำเภอได้มีมติห้ามบริษัทน้ำในแม่น้ำอิงไปใช้ในสวนกล้วย

ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่าบริเวณที่ทางบริษัทขุดเจาะเพื่อสูบน้ำจากแม่น้ำอิงนั้นเป็นบริเวณท้องน้ำที่ลึกที่สุดของแม่น้ำอิง และอยู่ไม่ไกลจากเขตสงวนพันธุ์ปลาของชุมชน ทั้งนี้ได้มีการถอดหัวสูบน้ำทั้ง 4 จุดออกไปแล้ว แต่ยังเหลือท่อน้ำขนาด 6 นิ้วที่ลำเลียงน้ำไปยังสวนกล้วย อย่างไรก็ตามสถานการณ์น้ำยังไม่เป็นที่ไว้ใจของชุมชน จึงได้มีการผลัดเปลี่ยนเวรยามไปสังเกตการณ์เป็นระยะ ขณะเดียวกัน พื้นดินบริเวณสวนกล้วยยังคงชุ่มชื้นเนื่องจากภายในบริเวณดังกล่าวยังมีน้ำสำรองที่บริษัทขุดบ่อเอาไว้ โดยต้นกล้วยหอมเกือบทั้งหมดอยู่ในช่วงที่กำลังออกเครือและบางส่วนกำลังเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งน่าสังเกตว่า กล้วยหอมแต่ละเครือมีขนาดใหญ่โดยจำนวนหวีมากราว 8-10 หวี เนื่องจากมีลำต้นที่อุดมสมบูรณ์มากโดยมีใบสดเขียวขจีไปทั้งสวน โดยเมื่อเดินเข้าไปกลางสวนกล้วยได้กลิ่นสารเคมีและมีการทิ้งขวดยากำจัดศัตรูพืชกองไว้ในบางจุด นอกจากแปลงกล้วยที่กำลังออกผลแล้ว ยังมีแปลงเพาะปลูกกล้วยอีกผืนใหญ่ที่เพิ่งปลูกและต้องการน้ำสม่ำเสมอ

นายเลื่อน ผิวผ่อง กำนันตำบลต้า อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่หนักกว่าปีก่อนๆ โดยน้ำในแม่น้ำอิงแห้งลงไปมาก โดยเมื่อวันที่ 27 ที่ผ่านมาชาวบ้านได้ร่วมกันซ่อมแซมฝายเพื่อกักเก็บน้ำไปใช้ และทุกๆ วันจะมีรถมาสูบน้ำเพื่อไปใช้ทำน้ำประปาเพราะแหล่งน้ำจืดเดิมแห้งหมด แต่ที่ผ่านมาสวนกล้วยกลับสูบน้ำไปใช้ทั้งกลางวันและกลางคืน ทำให้น้ำในแม่น้ำอิงยื่งแห้งหนักขึ้นไปอีก ในที่สุดชาวบ้านจึงได้ร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรมและนายอำเภอได้เชิญทุกฝ่าย มาร่วมกันประชุมซึ่งที่ประชุมมีมติห้ามบริษัทสูบน้ำในแม่น้ำอิงขึ้นไปใช้

“ทีแรกเราก็ไม่รู้ว่าทำไมน้ำในแม่น้ำอิงถึงแห้งขนาดหนัก ก็เลยช่วยกันไปไล่ดูตามจุดต่างๆ เราถึงได้รู้ว่าทางสวนกล้วยหอมสูบน้ำไปใช้อย่างหนัก ตอนแรกที่ได้ยินข่าวว่ามีการปลูกกล้วยหอม ชาวบ้านก็ไม่ได้คิดอะไรมาก เพราะคิดว่าคงเหมือนปลูกกล้วยทั่วๆ ไป จนกระทั่งมีคนมาเล่าว่าจีนไปลงทุนปลูกที่ฝั่งลาวกันมาก ใช้ยากันขนาดหนักจนกระทั่งบางแขวงห้ามปลูกกล้วยหอมอีก เขาเลยมาลงทุนที่นี่ ถือว่าเป็นแห่งแรกของไทยที่จีนมาปลูกกล้วยหอม เราก็ไม่รู้ว่าทุกวันนี้มีสารเคมีไหลลงแม่น้ำอิงหรือไม่ เพราะไม่มีหน่วยงานภาครัฐมาตรวจสอบ แต่ตัวแทนบริษัทบอกในที่ประชุมว่าไม่ได้ใช้ยาเยอะเหมือนฝั่งลาว เพราะฝั่งลาวแมลงเยอะ” นายเลื่อนกล่าว

นายเลื่อนกล่าวอีกว่า พื้นที่ที่ปลูกกล้วยครั้งนี้แม้อยู่อีกอำเภอหนึ่งนอกเขตความรับผิดชอบของตน แต่ชาวบ้านบ้านต้าเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ที่สำคัญคืออยู่ท้ายน้ำต่อจากสวนกล้วย เพราะฉะนั้นจึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันตรวจสอบเพราะเท่าที่ฟังในที่ประชุมฝ่ายสาธารณะก็เล่าให้ฟังว่าพบผู้ที่ป่วยมีอาการระคายผิวและมือเป็นเชื้อราหลายรายโดยส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างของสวนกล้วยหอม

“ต้นกล้วยตายกับคนกำลังจะตายตรงไหนสำคัญกว่ากัน เราสูบน้ำไปใช้ในครัวเรือนทั้งสิ้น แต่เขาสูบขึ้นไปใช้รดต้นกล้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูก ตอนนี้เห็นว่าจะขุดบ่อบาดาลสูบน้ำมาใช้รดกล้วยอีก เราก็ไม่เห็นด้วย เพราะทุกวันนี้ชาวบ้านก็ได้อาศัยบ่อบาดาล หากเขาสูบไปใช้ก็เท่ากับดึงน้ำใต้ดินจากชาวบ้านไปอีก การขุดบ่อบาดาลจึงควรมีการควบคุม” นายเลื่อนกล่าว

ผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบรายชื่อบริษัท Hongtar International Thailand จำกัด หรือบริษัท หงต๋า อินเตอร์เนชั่นแนล ไทยแลนค์ จำกัด จากข้อมูลจากกรมธุรกิจพัฒนาการค้า ระบุว่า มีการเลิกกิจการแล้ว (เสร็จการชำระบัญชี) โดยจดทะเบียนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558 ด้วยทุนจดทะเบียน 2 แสนบาท มีที่ตั้งอยู่เลขที่ 159 หมู่ 6 ตำบลเวียง อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ทำธุรกิจประเภทประกอบกิจการค้า ผัก และผลไม้ และร้านขายปลีกผักและผลไม้ มีชื่อผู้ดำเนินการ 3 ราย ประกอบด้วย นายสาคร โยธาดี นายวิวัฒน์ เฮงนพรัตน์กุล และนายเชี่ยว ลี่เฉิน (ชาวจีน) โดย มีคนไทยลงทุน 102,000 บาท และทุนจีน 98,000 บาท

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากกรมธุรกิจพัฒนาการค้า พบว่า ข้อมูลที่มีชื่อ “หงต๋า” ส่วนใหญ่สถานะนิติบุคคล ระบุว่า “ร้าง” โดยเฉพาะบริษัท หงต๋า ธุรกิจ ที่จดทะเบียน 1 ล้านบาท ก็ระบุว่าร้างเช่นกัน มีที่ตั้งเดิม 428/2 หมู่ที่ 2 ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ประกอบกิจการนำเข้าส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคทุกชนิด







กำลังโหลดความคิดเห็น