ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ปัญหาเร่งด่วนที่ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องใส่ใจและกำหนดนโยบายให้ชัดเจนสำหรับพี่น้องเกษตรกรในเวลานี้ ไม่ใช่การทุ่มเทสรรพกำลังบุกตัดฟันต้นยางให้ชาวบ้านที่อดอยากปากแห้งอยู่แล้วหมดหนทางทำมาหากินหนักขึ้นไปอีก แต่เป็น “ปัญหากล้วยๆ ของทุนจีน” ที่กำลังเปิดศึกชิงน้ำกับชุมชนและใช้สารเคมีอย่างเข้มข้นในพื้นที่จังหวัดเชียงรายซึ่งกำลังร้อน ระอุ
งานนี้จะชี้วัดฝีมือของรัฐบาล คสช.ด้วยว่า จะทำให้เรื่องกล้วยๆ กลายเป็นโอกาสหรือวิกฤตหนักขึ้นไปอีก
และต้องบอกว่าถ้าเพียงแค่ปัญหากล้วยๆ ยังไม่มีปัญญาจัดการ อย่าไปคิดเพ้อฝันถึงเรื่องเขตเศรษฐกิจชายแดนทั่วประเทศให้เสียเวลา เพราะนั่นต้องการรัฐบาลที่มีความสามารถในการบริหารจัดการอย่างมากมายถึงจะทำให้ “เขตเศรษฐกิจชายแดน” เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมและเป็น win win ของทุกฝ่าย ทั้งทุน ชุมชน และรัฐ
สวนกล้วยของทุนจีนที่เขียวขจีสุดลูกหูลูกตาไม่ใช่เรื่องใหม่และเพิ่งเกิดขึ้น หากผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทยชำเลืองมองข้ามลำน้ำ โขงไปยังประเทศเพื่อนบ้านของเราก็จะเห็นกระแสไหลบ่าของทุนจีนที่เข้ามาลงทุนเช่าที่ดินในลาวปลูกกล้วย ปลูกยางพารา กันอย่างคึกคักมาสักระยะหนึ่งแล้ว
และหากกระทรวงเกษตรฯ ของประเทศไทย ทำงานเชิงรุกตื่นตัวเก็บข้อมูลสักเล็กน้อย ก็จะรู้ว่า การเข้ามาลงทุนทำสวนกล้วยของทุนจีนในลาวนั้นสร้างปัญหาจนถูกอัปเปหิข้ามโขงมาฝั่งไทยด้วยสาเหตุอันใด และเมื่อทุนจีนข้ามโขงมาปลูกกล้วยฝั่งไทยแล้วจะมีปัญหาเกิดขึ้นซ้ำรอยหรือไม่ จะวาง มาตรการป้องกันปัญหาอย่างไร
คำตอบย่อมมีอยู่แล้ว แต่ก็อย่างว่า กระทรวงเกษตรฯ ชอบเลี้ยงวัว วัวหายแล้วค่อยล้อมคอก รอให้มีปัญหาก่อนค่อยตามแก้ทีหลัง
จะว่าไป เรื่องกล้วยๆ ของทุนจีน มองได้หลายมุม ทั้งเรื่องโอกาสการลงทุนและการเอาเปรียบของทุน เรื่องตลาดส่งออกกล้วยไปจีนที่ใหญ่โตมโหฬาร เรื่องการแย่งชิงน้ำ สารเคมีตกค้าง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ วิถีชุมชน สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศน์ ฯลฯ
เพราะนี่ไม่ใช่การทำสวนกล้วยแบบบ้านๆ ปลูกตามหัวไร่ปลายนาหรือแค่ไม่กี่ร้อยไร่ แต่เป็นสวนกล้วยขนาดใหญ่ที่ทุนจีนในนาม บริษัท หงต๋า อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เข้ามาเช่าที่ดินปลูกกล้วยหอมในพื้นที่เขต บ้านหนองสา ตำบลพญาเม็งราย อำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย รวมเนื้อที่ประมาณ 2,700 ไร่ ระยะเวลาเช่า 9 ปี โดยปลูกและพร้อมเก็บเกี่ยวแล้วประมาณพันไร่ ขณะนี้กำลังขยายพันธุ์เตรียมปลูกเต็มพื้นที่ ถือเป็นกลุ่มทุนรายแรกที่เข้ามาชิมลางก่อนพวกพ้องจะทยอยตามมาอีกหลายบริษัทหากสบโอกาส
หากมองในแง่การลงทุน เมื่อพูดถึงทุน เจ้าของทุนย่อมละโมบโลภมากต้องการกำไรสูงสุดเป็นพื้นฐานอยู่แล้วนี่เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ อย่าไปโลกสวย แต่ที่มาพร้อมกับคำว่าทุนและการลงทุนก็คือโอกาสทำเงินของชุมชนและของประเทศ ส่วนจะได้กี่มากน้อยขึ้นอยู่กับสติปัญญาของคณะผู้บริหารประเทศจะมองเห็นและทำเป็นหรือไม่ จะตั้งกฎและคุมกฎไม่ให้ทุนจีนเอารัดเอาเปรียบเกษตรกรของเราและไม่สร้างปัญหาส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ได้หรือไม่
อย่างที่สำนักข่าวกรีนนิวส์ รายงานความเห็นของเจ้าสัวเครือซีพี นายศุภชัย เจียรวนนท์ รองประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ต่อกรณีนี้ว่า การเข้ามาของทุนจีนจะทำให้เกษตรกรมีอาชีพและรายได้ ฉะนั้นต้องไม่ไปขับไล่เขา เพราะการที่เขาเอาอาชีพเข้ามาให้เป็นสิ่งที่ดี การเข้ามาเพื่อปลูกกล้วยของทุนจีนสะท้อนความต้องการกล้วยในตลาดจีน ซึ่งถือเป็นโอกาสของประเทศไทยและรัฐบาลจำเป็นต้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง
“ปรากฏการณ์นี้เป็นเรื่องที่น่าคิด แสดงว่าตลาดของเขากำลังขาดจริงๆ เขาต้องการทั้งกล้วยหอมและกล้วยไข่ โดยเฉพาะกล้วยไข่ที่ในประเทศจีนเรียกว่ากล้วยจักรพรรดิ ดังนั้นนี่จึงเป็นโอกาสของประเทศไทย”
นายศุภชัย กล่าว พร้อมกับเน้นย้ำว่า การดำเนินการดังกล่าวจะต้องให้ ชุมชนร่วมเป็นเจ้าของด้วย หากเป็นไปในลักษณะพาร์ตเนอร์ ก็ควรแบ่งผลประโยชน์ 50-50 หรือ เอกชน 30 ชุมชน 70 ก็ได้ หรือแทนที่จะให้เขาเข้ามาในประเทศไทย เราอาจจะทำเองแล้วส่งออกไปขายแทน ตรงนี้รัฐบาลต้องมอนิเตอร์อย่างจริงจัง
หัวใจสำคัญอยู่ตรงที่ เมื่อโอกาสมาแล้ว ตลาดเปิดกว้างแล้ว เออีซีก็เปิดแล้ว การขนส่งจากไทยไปจีนก็มีถนนเชื่อมจากเชียงรายถึงคุณหมิงแล้วคือ สาย R3A แล้วจะให้ทุนจีนเข้ามาเช่าที่ดินในไทยราคาถูกๆ ปลูกกล้วยแล้วส่งกลับไปขายบ้านเขาทำไม นาทีนี้ รัฐบาลต้องมอนิเตอร์ตลาดและหันมาส่งเสริมให้เกษตรกรของไทยปลูกกล้วยอย่างจริงๆ จังๆ เพราะไม่ใช่เพียงแค่ตลาดจีน แต่ญี่ปุ่น เกาหลี รัสเซีย ตะวันออกกลาง ล้วนแต่เป็นลูกค้าทั้งนั้น
ปีหนึ่งๆ ชาวท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ปลูกกล้วยหอมทองส่งออกไปญี่ปุ่นไม่พอขาย ไม่นับช่องทางตลาดในประเทศที่เปิดกว้างมากขึ้น ไม่ใช่ขายยกหวีเหมือนที่ผ่านๆ มาเท่านั้น แต่ชำแหละขายเป็นลูกส่งร้านสะดวกซื้อ ร้านโมเดิร์นเทรด วันหนึ่งๆ ไม่ใช่น้อยๆ กล้วยหอมปลูกไม่ง่ายแต่ก็ไม่ยาก และเมื่อเทียบกับผลไม้ชนิดอื่นแล้ว ปลูกกล้วยใช้สารเคมีน้อยกว่ามาก
เรื่องกล้วยๆ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ในรัฐบาล คสช. ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จะส่งเสริมโซนนิ่งปลูกกล้วยในพื้นที่ที่เหมาะสม สร้างผลงานชิ้นโบแดง สร้างอาชีพให้เกษตรกรมีกินมีใช้หน่อยปะไร
หากจะมองในมุมของชุมชน ต้องบอกว่าชุมชนนี่เป็นเรื่องสำคัญที่ทุนและรัฐต้องใส่ใจและให้ความสำคัญสูงสุด หากทุนเอาแต่ละโมบโลภมากเพียงฝ่ายเดียว โดยไม่สนใจว่าชุนชนจะได้ผลประโยชน์อะไร ชุมชนจะเดือดร้อนจากการเข้ามาของทุนหรือไม่ ก็นับถอยหลังได้เลย ความจริงเรื่องนี้ทุนจีนที่ปลูกกล้วยในลาวน่าจะซาบซึ้งดี ไม่งั้นคงไม่ถูกอัปเปหิจนต้องระเห็จข้ามโขงมาฝั่งไทย แต่อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมของทุนจีนยังไงก็คือทุนจีนวันยังค่ำ ข้ามโขง จาก ลาวมาฝั่งไทยจึงดูคล้ายจะไม่สำนึกถึงได้เปิดศึกแย่งชิงน้ำกับชุมชนและใช้ สารเคมีอย่างเข้มข้น จนเป็นเรื่อง
เรื่องของเรื่องคราวนี้ ปะทุขึ้นเมื่อบริษัท หงต๋าฯ ที่เช่าที่ดินปลูกกล้วยแปลงใหญ่ไม่ได้เตรียมพร้อมเรื่องแหล่งน้ำของตัวเองเอาไว้เลย แต่อาศัยลำน้ำอิง ที่เป็นแหล่งน้ำสาธารณะที่ชุมชนใช้ประโยชน์ร่วมกันแทน เมื่อบริษัทสูบน้ำขึ้นมาใช้มาก ลำน้ำอิงก็เหือดแห้ง แถมบริษัทยังสูบน้ำไปกักตุนไว้ยังสระน้ำในแปลงสวนเพื่อสร้างความชุ่มชื้นเขียวขจีให้กับกล้วยที่ใกล้เก็บเกี่ยวเตรียมส่งกลับไปขายยังจีน ขณะที่ชาวบ้าน หมู่ 11 ตำบลบ้านต้า อำเภอขุนตาล 7 หมู่บ้าน และชาวบ้านในอำเภอพญาเม็งรายอีก 6 หมู่บ้าน เดือดร้อนหนัก ขาดน้ำใช้อุปโภคบริโภค ประปาหมู่บ้านไม่มีน้ำสูบ บ่อบาดาลแห้งเหือด เป็นภาพที่ตัดกันเกินไปสำหรับ สวนกล้วยที่เขียวขจีชุ่มฉ่ำกับชาวบ้านที่แล้งน้ำ
ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ชาวบ้านไปร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดเชียงราย ว่าบริเวณริมฝั่งแม่น้ำอิง ตำบลป่าตาล อำเภอพญาเม็งราย ตรงข้าม บ้านน้ำอิง ตำบลต้า อำเภอขุนตาล บริษัทตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่ง แห่งละ 3เครื่อง ทำให้น้ำในแม่น้ำอิงแห้งขอดชาวบ้านเดือดร้อน ต่อมาได้มีการประชุมที่ อำเภอพญาเม็งราย มีตัวแทนจีนเข้าร่วมประชุมรับปากจะงดการสูบน้ำ ใช้การขุดบ่อบาดาล และไม่ใช้สารเคมี
นายเลื่อน ผิวผ่อง กำนันตำบลต้า อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย ซึ่งนำคณะกรรมการหมู่บ้านบ้านน้ำอิง ตำบลบ้านต้า ไปตรวจที่บริเวณสูบน้ำของ สวน กล้วยเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2559 พบว่า คนงานเพียงแต่ถอดเครื่องสูบน้ำ ออก แต่ไม่ยอมรื้อท่อน้ำบนเสาคอนกรีตที่สร้างไว้อย่างถาวรทิ้ง และเมื่อเข้าไป ตรวจสอบในสวนกล้วยพบว่ามีการสูบน้ำจากแม่น้ำอิงไปเก็บไว้เต็มสระขนาดใหญ่4 สระ และสระขนาดกลางรอบๆ สวนกล้วยอีกจำนวนมาก สำหรับเป็นแหล่งน้ำรดสวนและล้างผลกล้วยที่เก็บเกี่ยวส่งกลับไปขายยังจีน ซึ่งเป็นการแย่งน้ำของชุมชนทำให้แม่น้ำอิงแห้งเป็นช่วงๆ สิ่งที่ชาวบ้าวทำได้ในเวลานี้คือจัดเวรยามเฝ้าไม่ให้บริษัทลักลอบสูบน้ำไปเก็บกัก
รายงานของสำนักข่าวชายขอบ ซึ่งเกาะติดสถานการณ์ในพื้นที่และลงสำรวจสวนกล้วยหอมดังกล่าวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม2559 พร้อมด้วยผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านบ้านต้าน้ำอิง ตำบลต้า อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย พบว่า บริษัทฯ ได้ขุดบ่อในแม่น้ำอิงและสูบน้ำขึ้นไปรดกล้วยหอม ซึ่งจุดที่บริษัทขุดเจาะนั้น เป็น บริเวณท้องน้ำที่ลึกที่สุดของแม่น้ำอิงและอยู่ไม่ไกลจากเขตสงวนพันธุ์ปลา ของชุมชน โดยบริษัทฯ ได้ถอดหัวสูบน้ำทั้ง 4 จุดออกไปแล้ว แต่ยังเหลือท่อน้ำ ขนาด 6 นิ้ว ที่ลำเลียงน้ำไปยังสวนกล้วย ส่วนสภาพดินบริเวณสวนกล้วยยังคง ชุ่ม ชื้นเพราะมีน้ำสำรองที่บริษัทขุดบ่อเอารดต้นกล้วยหอมซึ่งอยู่ในช่วงออก เครือและบางส่วนกำลังเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งน่าสังเกตว่า กล้วยหอมแต่ละเครือมีขนาดใหญ่มีจำนวนหวีราว 8-10 หวี และเมื่อเดินเข้าไปกลางสวนกล้วยได้กลิ่นสารเคมีและมีการทิ้งขวดยากำจัดศัตรูพืชกองไว้ในบางจุด นอกจากแปลงกล้วยที่กำลังออกผลแล้ว ยังมีแปลงปลูกกล้วยอีกผืนใหญ่ที่เพิ่งปลูกและต้องการน้ำ
กำนันตำบลต้า ได้บอกเล่าถึงความวิตกกังวลของชาวบ้านว่า ทีแรกเราก็ไม่รู้ว่าทำไมน้ำในแม่น้ำอิงถึงแห้งขนาดหนัก ก็เลยช่วยกันไปไล่ดูตามจุดต่างๆ เราถึงได้รู้ว่าทางสวนกล้วยหอมสูบน้ำไปใช้อย่างหนัก ตอนแรกที่ได้ยินข่าวว่ามีการปลูกกล้วยหอม ชาวบ้านก็ไม่ได้คิดอะไรมาก เพราะคิดว่าคงเหมือนปลูกกล้วยทั่วๆไป จนกระทั่งมีคนมาเล่าว่าจีนไปลงทุนปลูกที่ฝั่งลาวกันมาก ใช้ยากันขนาดหนักจนกระทั่งบางแขวงห้ามปลูกกล้วยหอมอีก เขาเลยมาลงทุนที่นี่ ถือว่าเป็นแห่งแรกของไทยที่จีนมาปลูกกล้วยหอม เราก็ไม่รู้ว่าทุกวันนี้มีสารเคมีไหลลงแม่น้ำอิงหรือไม่ เพราะไม่มีหน่วยงานภาครัฐมาตรวจสอบ แต่ตัวแทนบริษัท บอกในที่ประชุมว่าไม่ได้ใช้ยาเยอะเหมือนฝั่งลาว เพราะฝั่งลาวแมลงเยอะ
กำนันเลื่อน ยังย้ำถึงปัญหาด้านสุขภาพที่กำลังเกิดขึ้นด้วยว่า พื้นที่ที่ปลูกกล้วยครั้งนี้แม้อยู่อีกอำเภอหนึ่งนอกเขตความรับผิดชอบ แต่ชาวบ้านบ้านต้าเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ที่สำคัญคืออยู่ท้ายน้ำต่อจากสวนกล้วยจึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันตรวจสอบ เพราะเท่าที่ฟังในที่ประชุมฝ่ายสาธารณะ ก็เล่าให้ฟังว่าพบผู้ที่ป่วยมีอาการระคายผิวและมือเป็นเชื้อราหลายรายโดยส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างของสวนกล้วยหอม
นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา เป็นปากเสียงให้ชุมชนเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐรีบเข้ามาดูแลปัญหานี้อย่างเร่งด่วนเช่นกัน และเร็วๆ นี้ชาวบ้านจะยื่นเรื่องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม.เข้าตรวจสอบ เนื่องจากส่งผลกระทบโดยตรงต่อชาวบ้าน แม้การปลูกกล้วยถูกมองจากบางคนเป็นเรื่องธรรมดา แต่จริงๆ แล้วกระบวนการผลิตครั้งนี้ไม่ธรรมดา เพราะมีการใช้น้ำและสารเคมีจำนวนมาก และนโยบายของจังหวัดเชียงรายก็ต้องการให้เป็นพื้นที่สีเขียว แต่ไม่ใช่เขียวสยองเช่นนี้
เหตุที่คนในชุมชนขุนตาลและพญาเม็งรายกลัวภัยเขียวสยองที่มากับสวนกล้วยหอมของกลุ่มทุนจีนครั้งนี้ เป็นเพราะบทเรียนจากสวนกล้วยหอมในหลายแขวงในเขตพื้นที่ทางตอนเหนือของลาวที่ทุนจีนเข้าไปลงทุนเป็นเวลานับสิบปีแล้วและเวลานี้ยังคงลงทุนอยู่ โดยขณะนี้ทางการลาวกำลังตามแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม สารเคมีตกค้าง ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
“ปัจจุบันมีบริษัทจีนมาลงทุน 6 บริษัท ถึงแม้จะสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ประชาชน แต่ก็สร้างผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพราะใช้สารเคมีมากเกินไป” สำนักข่าวชายขอบ อ้างรายงานของวิทยุเอเชียเสรีภาคภาษาลาว และอ้างรายงานของสำนักข่าวเวียงจันทร์ไทม์ เมื่อเดือนกันยายน ปีที่ผ่าน สะท้อนถึงปัญหาที่เกิดขึ้น
รายงานของ “เวียงจันทร์ไทม์”ระบุว่า นางสาวอินทะนงสิด คมมาเมือง รองผู้อำนวยการทั่วไปกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและป่าไม้ของลาว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตรวจสอบหลังได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านในเมืองนาน แขวงหลวงพระบาง และเมืองนาหม้อ แขวงอุดมไซย ว่าบริษัทของจีนใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชและสารเคมีอื่นๆ เกินขนาดในสวนกล้วยซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น ซ้ำสารเคมียังรั่วไหลลงสู่แม่น้ำทำลายทรัพยากรทางน้ำด้วย
ทั้งนี้ ภายหลังจากการนำตัวอย่างจากทั้ง 2 แขวง ไปตรวจสอบหาชนิดของสารเคมีในห้องปฏิบัติการ พบว่า มี 4บริษัทของจีนได้ใช้สารเคมีเกินขนาดจริง จึงได้เรียกบริษัทจีนทั้ง 4 แห่งมาตักเตือน หากบริษัทจีนยังละเมิดกฎหมายของลาวก็จะถูกยกเลิกใบประกอบการธุรกิจในลาว
ทางการลาวโดยแขวงต่างๆ ที่มีบริษัทจากจีนไปลงทุนทำสวนกล้วย กำลังจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อติดตามแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นระบบ เพราะการใช้สารเคมีเกินขนาดส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่ในเวลานี้และในอนาคต
นายคำ พลละคอน ผู้อำนวยการกรมเกษตรและป่าไม้ประจำแขวงบ่อแก้ว กล่าวว่า บริษัทส่วนใหญ่มุ่งแต่เอากำไรกับสิ่งที่บริษัทได้ลงทุนไป รัฐบาลลาวจำเป็นต้องตรวจสอบบริษัทเหล่านี้ว่าปฏิบัติตามข้อกำหนดมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ทั้งนี้ มีสวนกล้วยกว่า 18,750 ไร่ ที่ปลูกในแขวงบ่อแก้ว นับตั้งแต่เมื่อปี 2550โดยบริษัทจีนได้เช่าที่ดินจากชาวบ้านระหว่าง 3,000 - 7,000บาทต่อไร่ต่อปี มีรายงานว่า บริษัทจีนนั้นต้องการที่จะขยายสวนกล้วยออกไปเนื่องจากตลาดโลกมีความต้องการกล้วยสูง ขณะที่ชาวบ้านไม่กล้ากินเห็ดหรือพืชอื่นๆ ในพื้นที่ซึ่งมีการใช้สารเคมี
ต้องไม่ลืมว่า ทุนจีนนั้นไม่ธรรมดา และการเมืองระหว่างประเทศของจีนก็ไม่ธรรมดา เพราะขณะที่ลาวร่ำร้องว่าสวนกล้วยหอมจีนในลาวใช้สารเคมีเข้มข้น แต่ไม่ปรากฏข่าวว่าจีนทำลายกล้วยหอมที่ส่งไปจากลาวทิ้งแต่อย่างใด แต่กลับปรากฏข่าวเมื่อปลายเดือนมีนาคม ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลจีนทำลายกล้วยหอมที่นำเข้าจากฟิลิปปินส์ทิ้ง จำนวน 34 ตัน เนื่องจากมียาฆ่าแมลงตกค้างสูง
การทำลายกล้วยหอมนำเข้าจากฟิลิปปินส์และการเข้มงวดการนำเข้าพืชผักผลไม้จากฟิลิปปินส์ของทางการจีน เกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดเรื่องข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ของทั้งสองประเทศที่กำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หันมามองไทย กรณีโครงการลงทุนรถไฟไทย-จีน ก็น่าจะทำให้รัฐบาล คสช.ซาบซึ้งทุนจีนดีเช่นกัน
การลงทุนปลูกกล้วยหอมของทุนจีนในลาว เป็นบทเรียนที่ดีให้ไทยได้เรียนรู้ ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาล คสช.ซึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอยู่ในมือเวลานี้ จะแปรวิกฤตเรื่องกล้วยๆ ให้เป็นโอกาส เป็น win win ของทุกฝ่าย หรือจะปล่อยปละละวาง ซ้ำเติมวิกฤตที่กำลังก่อตัวให้วิกฤตหนักขึ้นไปอีก