xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ดันสมเด็จช่วงขึ้นสังฆราช คลื่นใต้น้ำไม่ยอมสงบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระเมธีธรรมาจารย์ หรือ เจ้าคุณประสาร แกนนำเคลื่อนไหวผลักดันการเสนอชื่อสมเด็จช่วง วัดปากน้ำภาษีเจริญ เป็นสมเด็จพระสังฆราช
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ความเคลื่อนไหวกดดันให้รัฐบาลเร่งทูลเกล้าฯ เสนอชื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือสมเด็จช่วง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ยังคงมีมาอย่างต่อเนื่อง

แม้ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินมีความเห็นว่า การที่มหาเถรสมาคมเสนอชื่อสมเด็จช่วงขึ้นเป็นพระสังฆราชองค์ใหม่ ตามมติที่ประชุมลับเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2559 นั้น เป็นการดำเนินการที่ผิดขั้นตอน เพราะตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 นั้น ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอให้มหาเถรสมาคมพิจารณา

รวมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็เคยย้ำหลายครั้งว่า หากยังมีความขัดแย้งกันอยู่ก็จะยังไม่ทูลเกล้าฯ เสนอชื่อสมเด็จช่วง ขณะที่นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ก็เคยพูดหลายครั้งว่า ต้องรอให้คดีความที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จช่วงสิ้นสงสัยก่อน จึงจะเสนอชื่อ พร้อมกับขอร้องให้หยุดการเคลื่อนไหวไว้ก่อนเพราะเรื่องศาสนาเป็นของสูง

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายสนับสนุนให้สมเด็จช่วงเป็นสังฆราชก็ไม่ได้หยุดการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย” ที่มีพระเมธีธรรมาจารย์ หรือ เจ้าคุณประสาร เป็นเลขาธิการ แม้จะเคยถูกเจ้าหน้าที่บุกเข้าไปนิมนต์ออกจากเวทีแถลงตอบโต้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่วัดศรีสุดาราม เขตบางกอกน้อย เมื่อวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา แต่ก็ยังเคลื่อนไหวในรูปแบบอื่น

วันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา พระเมธีธรรมาจารย์ ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวปลุกระดมให้ฝ่ายสนับสนุนสมเด็จช่วงออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง โดยบอกว่า เมื่อเหตุการณ์ทั้งหลายทั้งปวงดำเนินการมาถึงวันนี้ คณะสงฆ์และคนทั้งประเทศก็มองเห็นแล้วว่าอะไรเป็นอะไร จะให้พวกเราทำอย่างไร พวกเราไม่มีทางเลือก ไม่มีทางเลือกจริงๆ จะให้นั่งงอมืองอเท้าเพื่อขอความเมตตากรุณาจากฝ่ายรัฐหรือฝ่ายต่อต้านเช่นนั้นหรือ

พระเมธีธรรมาจารย์ระบุอีกว่า หลังจากการประชุมหารือร่วมกันแล้ว ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย สมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนาพร้อมภาคีเครือข่าย จึงมีมติร่วมกันให้เดินหน้าในเรื่องการแสวงหาความเป็นธรรมในการสถาปนา พระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ต่อไป ต้องเดินหน้าต่อไป ถามว่าพวกเราจะทำอะไรต่อจากนี้ไป ถามแบบนี้คงตอบได้ยาก และหลายท่านก็พยายามจะตั้งคำถามแบบนี้ จึงตอบคำถามทำนองนี้ได้ยาก ถ้าจะตอบ ตอบได้แต่เพียงว่าพวกเราทั้งหมดพร้อมที่จะร่วมมือกันเพื่อเดินไปข้างหน้าในการแสวงหาความเป็นธรรมต่อไป

ขณะที่พระปลัดนรุตม์ชัย อภินนฺโท เลขาธิการองค์กรพิทักษ์พระพุทธศาสนาภาคใต้ เครือข่ายของศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ได้ออกจดหมายเปิดผนึก เรียกร้องให้พระสงฆ์ทั่วสังฆมณฑลร่วมกันลงทัณฑกรรมตามแนวพุทธวิธีที่ทรงอนุญาต ประกาศอุกเขปนียกรรม ขับไล่พระพุทธอิสระ แห่งวัดอ้อน้อย จังหวัดนครปฐม ออกจากหมู่สงฆ์ เนื่องจากได้สร้างความเสียหายให้แก่พระพุทธศาสนา โดยกำหนดจะเข้ายื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อแจ้งให้รัฐบาลถวายความอุปถัมภ์ ในการที่คณะสงฆ์จะดำเนินการทางพระธรรมวินัย ลงอุกเขปนียกรรม ขับพุทธะอิสระออกจากหมู่สงฆ์

ทั้งนี้ พระพุทธะอิสระนับว่ามีบทบาทสำคัญในการคัดค้านการสถาปนาสมเด็จช่วงขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ เนื่องจากเห็นว่าสมเด็จช่วงยังมีคดีความติดตัว กรณีมีชื่อเป็นผู้ครอบครองรถหรูที่จดทะเบียนและนำเข้าโดยผิดกฎหมาย และเกี่ยวข้องเป็นพระอุปัชฌาย์ของธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ที่ถือว่าต้องอาบัติปาราชิกตามพระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายกไปแล้ว กรณียักยอกที่ดินและเงินบริจาคของวัดมาเป็นของตัวเอง และสมเด็จช่วงก็ยังมีท่าทีปกป้องธัมมชโยตลอดมา

อย่างไรก็ตาม กรณีพระปลัดนรุตม์ชัยเรียกร้องให้มีการลงอุกเขปนียกรรม ขับพุทธะอิสระออกจากหมู่สงฆ์นั้น พระพุทธะอิสระได้ตอบโต้ว่า อย่ามาข่มขู่เสียให้ยาก ต่อให้คนทั้งแผ่นดิน หรือต่อให้สังฆมณฑล มาข่มขู่ขับไล่ก็ไม่สามารถหยุดพระพุทธะอิสระได้ นอกเสียจากความตาย

พร้อมทั้งสอนมวยพระปลัดนรุตม์ชัยว่า อุกเปขนียกรรม นั้น คือการวางอุเบกขาต่อภิกษุผู้ละเมิดอาบัติว่ายากสอนยาก จึงอยากถามว่า พุทธะอิสระต้องอาบัติอะไรหรือไม่ยอมรับในอาบัติอะไร พุทธะอิสระไม่ทำคืนอาบัติอะไร พุทธะอิสระมีศีลข้อไหนบกพร่อง พุทธะอิสระมีมิจฉาทิฏฐิ คือความเห็นที่คลาดเคลื่อนกับพระธรรมวินัยข้อไหน เรื่องอะไร

ส่วนถ้าจะขับไล่ภิกษุออกจากหมู่สงฆ์นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสแนะให้ทำปัพพาชนียกรรม คือกรรมอันสงฆ์พึงกระทำแก่ภิกษุผู้ประทุษร้ายสกุล ประพฤติเลวทราม เห็นแก่ลาภสักการะ อนาจาร และลบล้างพระบัญญัติ ไม่ใช่การประกาศใช้หลักอุกเขปนียกรรม ตามที่พระปลัดนรุตม์ชัยกล่าวอ้าง

ต่อมา วันที่ 28 มีนาคม นายเมธาพันธ์ โพธิธีรโรจน์ เลขาธิการสมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา (สนพ) ได้ออกมาท้าดีเบต 1 ต่อ 2 กับพระพุทธะอิสระ และนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์พระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ใน 4 ประเด็น คือ 1.เรื่องพระลิขิตฯ ให้ธัมมชโยปาราชิก 2.เรื่องงบอุดหนุนผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช 3.เรื่องการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช และ 4.เรื่องการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา โดยอ้างว่าอยากเคลียร์ทุกประเด็นให้จบ และอยากขอดูหลักฐานเพื่อประกอบเรื่องต่าง ๆ ที่พระพุทธะอิสระ และนายไพบูลย์ออกมาคัดค้านการเสนอชื่อสมเด็จช่วงด้วย

พระพุทธอิสระได้ตอบโต้นายเมธาพันธ์ว่า เรื่องพระลิขิตโจทก์ธัมมชโยเป็นปาราชิก และเรื่องงบอุดหนุนผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชนั้นได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของกระบวนการยุติธรรมแล้ว จะนำมาดีเบตให้เสียรูปคดีทำไม จึงรับคำท้าเฉพาะเรื่องการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชและเรื่องการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา โดยเอาพระไตรปิฎกมาวาง แล้วมาดีเบตกัน และเชิญผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภาและฝ่ายตุลาการผู้เป็นกลาง รอบรู้พระธรรมวินัยมาเป็นประธาน ทำหน้าที่ดูว่าใครพูดตรงต่อคำสอนตามหลักธรรมวินัยหรือไม่ โดยรัฐบาลเป็นผู้จัดงาน หากฝ่ายไหนพูดตอบไม่ตรงต่อพระธรรมวินัย ต้องรับผิดชอบ

ถ้าพุทธะอิสระพูดบิดเบือน ก็ยินดีจะหยุดต่อต้านการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช และยินดีจะสึกจากความเป็นพระภิกษุไปถือศีล 8 ตลอดชีวิต แต่หากนายเมธาพันธ์พูดบิดเบือน จะต้องรับผิดชอบโดยลาออกจากการเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่ง และห้ามเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกระบวนการศึกษาของชาติในทุกกรณี

แต่นายเมธาพันธ์ยังเล่นแง่โดยบอกว่า ไม่จำเป็นต้องใช้เวทีกลาง และขอยืนยันใน 4 ประเด็นเช่นเดิม เพราะตนมีหลักฐานที่จะยืนยันทุกประเด็น พระพุทธะอิสระจึงตอบกลับว่า ต้องไม่นำเอารายละเอียดของคดีพระลิขิตและคดีทุจริตงบประมาณของมหาเถรและสำนักพุทธฯ มาพูดคุย เพราะคดีอยู่ในขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม การดีเบตครั้งนี้จะต้องยึดถือตามหลักพระธรรมวินัย โดยนำพระไตรปิฎกมาวางบนโต๊ะเฉพาะหน้า ต้องเชิญกรรมการกลางมานั่งเป็นประธาน ต้องดีเบตในสถานที่ที่เป็นส่วนกลาง ให้ผู้คนสามารถเข้ารับฟังได้ ต้องมีการถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศ โดยขอให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพ ให้ทั้งสองฝ่ายทำหนังสือสัญญาก่อนเข้าดีเบตว่าจะรับผิดชอบหากมีการพูดบิดเบือน

จนขณะนี้ ยังไม่มีข้อยุติเรื่องการดีเบตระหว่างทั้งสองฝ่าย มีเพียงการตอบโต้กันไปมาผ่านสื่อ โดยท่าทีของ พศ.นั้น นายประดับ โพธิกาญจนวัตร รองโฆษก พศ.กล่าวว่า พศ.ไม่มีหน้าที่ที่จะเป็นตัวกลางในเรื่องนี้ และโดยส่วนตัวก็มองไม่ออกว่าการดีเบตจะออกมาในรูปแบบใด เพราะเป็นเรื่องของความเห็นต่าง ไม่อยู่ในวิสัยที่จะยกมาเป็นประเด็นโต้เถียง จึงอยากให้ทั้ง 2 ฝ่ายใช้วุฒิภาวะพิจารณาให้มากกว่านี้ เพราะในทางพระพุทธศาสนาแล้วพระสงฆ์และฆราวาสไม่ควรใช้วิธีการนี้หาผู้แพ้ผู้ชนะกัน

ส่วนนายสุวพันธุ์ ก็พยายามมองโลกในแง่ดีว่า เรื่องนี้คงจะไม่กลายเป็นปัญหาศึกสงฆ์ในประเทศ เพราะได้พยายามเดินสายไปกราบพระผู้ใหญ่อยู่ตลอด โดยได้พยายามพูดคุยแต่เรื่องการปฏิรูปศาสนา 6 ด้าน เท่านั้น ไม่ได้หารือเรื่องการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช และไม่มีการสอถามใดๆ แต่เราพูดคุยอย่างสร้างสรรค์ในการเดินหน้าปฏิรูป ปรับปรุงพระพุทธศาสนาให้ดีขึ้น และทุกอย่างตอนนี้สถานะอยู่ที่เดิม



กำลังโหลดความคิดเห็น