รัฐบาลภายใต้การนำของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ประกาศเดินหน้าเอาจริงเอาจังในการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชัน รวมถึงการกวาดล้างนักเลงมาเฟียทุกวงการ โดยกระทรวงศึกษาธิการถือเป็นหนึ่งในหน่วยงานราชการสำคัญ ซึ่งหลายยุคหลายสมัยมีข่าวคราวความไม่ชอบมาพากลเรื่องการทุจริตเผยแพร่ผ่านสื่อให้สังคมได้รับรู้อยู่บ่อยครั้ง
“บิ๊กน้อย” พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ซึ่งได้รับมอบหมายภารกิจสำคัญยิ่งประการหนึ่งคือการตรวจสอบปมการทุจริตต่างๆ ในหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงศึกษาฯ ได้เริ่มปฏิบัติการปราบโกงสางทุจริตที่เกิดขึ้นในกระทรวง โดยดำเนินการมาแล้วปีเศษ และเริ่มมีความคืบหน้าเริ่มชัดขึ้นเรื่อยๆ
พล.อ.สุรเชษฐ์ เปิดเผยกับ “สื่อเครือผู้จัดการ” ว่าการแก้ปัญหาทุจริตและคอร์รัปชันถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ซึ่ง พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้ตนเองเป็นประธานดำเนินการแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการทุจริตภายในกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีตนเองนั่งเป็นประธาน โดยได้ให้หน่วยงานในสังกัดทั้ง 10 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.), สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.), สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.), สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.), สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.), สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.), สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) และองค์การค้าของ สกสค. ตรวจสอบและรายงานการทุจริตภายในหน่วยงาน โดยรวมแล้วพบจำนวน 610 เรื่อง
“ภาพรวมของเรื่องทุจริตที่มีการร้องเรียนเข้ามานั้น มีทั้งเรื่องของการใช้งบประมาณที่ไม่โปร่งใส เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง การบริหารงานบุคคลในการสรรหา การแต่งตั้งโยกย้าย การสอบบรรจุครู การบริหารงานทั่วไปที่ไม่โปร่งใส มีพฤติกรรมส่อทุจริต ซึ่งขณะนี้สามารถปิดคดีทุจริต มีการสอบสวนและลงโทษแล้ว รวมไปถึงการดำเนินคดีผู้ที่เกี่ยวโยงทั้งทางแพ่งและอาญาได้แล้วจำนวน 298 เรื่อง หรือเกือบครึ่งหนึ่งของคดีทั้งหมด ส่วนคดีที่ยังค้างอยู่ จากนี้ไปผมจะไล่เป็นคดีๆ ไปว่ามีความคืบหน้าอย่างไร และจะสิ้นสุดได้เมื่อไร” รมช.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยน้ำเสียงเข้มแข็งพร้อมกับบอกด้วยว่า ทุกคดีจะให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
ส่วนคดีที่ยังค้างอยู่อีกราวครึ่งหนึ่งนั้น พล.อ.สุรเชษฐ์ ตั้งใจว่าจากนี้จะเร่งสางปมการทุจริตที่เป็นประเด็นใหญ่ โดยเฉพาะประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ ซึ่งภายในปี 2559 คาดว่าจะสามารถปิดได้ 4 เรื่องสำคัญ 1.คดีการทุจริตสอบครูผู้ช่วยของ สพฐ. ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของ อ.ก.พ.กระทรวง เพื่อให้ความเห็นชอบและพิจารณาลงโทษ ซึ่งยังต้องมีการสอบสวนบางประเด็นเพิ่มเติม เชื่อว่าใช้เวลาไม่นานจะทราบผลการพิจารณา
2.คดีทุจริตสลากกินแบ่งรัฐบาลในสหกรณ์ออมทรัพย์ครู มีทั้งหมด 11 แห่ง มูลค่าความเสียหายรวมมากกว่า 1พันล้านบาท โดยขณะนี้สิ้นสุดแล้วสองสหกรณ์คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ครูกาฬสินธุ์ และสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนนทบุรี ซึ่งมีคณะกรรมการออมทรัพย์ครูทั้ง 2 แห่งเข้ามาเกี่ยวข้องจำนวน 15 คน โดยให้มีการลงโทษทางวินัย ทั้งถูกให้ออก ปลดออก และถูกดำเนินการทางวินัย ทั้งนี้ผู้ถูกลงโทษอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ ส่วนที่เหลืออีก 9 แห่ง จะเร่งรัดให้คดีทั้งหมดสิ้นสุด ภายในปี 2559 3.คดีทุจริตการก่อสร้างสนามฟุตซอลโรงเรียน ขณะนี้ได้เร่งให้ สพฐ.สรุปว่าโรงเรียนที่มีสนามฟุตซอลนั้นยังมีแห่งใดอีกบ้างที่มีปัญหาเรื่องการทุจริต
และ 4.คดีการใช้เงินอุดหนุนรายหัวของโรงเรียนเอกชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่องนี้เป็นการใช้งบประมาณผิดวัตถุประสงค์ โดยพบว่ามีรายชื่อนักเรียนซ้ำซ้อน ทำให้โรงเรียนเอกชนบางแห่งได้รับงบอุดหนุนรายหัวเกินจริง ซึ่งปัญหานี้เกิดจากการที่ยังไม่มีระบบตรวจสอบรายชื่อ ทั้งนี้จากการตรวจสอบย้อนหลังตั้งแต่ปีงบประมาณ 2556 พบว่า มีโรงเรียนเบิกเงินผิดวัตถุประสงค์ 256 แห่ง จากทั้งหมด 400 กว่าแห่ง โดยแนวทางในการแก้ปัญหาตามระเบียบแล้ว ต้นสังกัดจะต้องเรียกเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยรวม 43 ล้านบาท ซึ่งได้มีการเรียกเงินคืนคลังแล้ว ส่วนของปี 2557 พบว่ายังเกิดปัญหา โดยจะเรียกเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยรวม 82 ล้านบาท ส่วนปี 2558 อยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบ เชื่อว่าจากนี้ไปจะไม่มีปัญหานี้อีก เพราะจะนำระบบไอทีเข้ามาตรวจสอบ ทำให้จะรู้ได้ทันทีว่ามีรายชื่อซ้ำซ้อน และหากพบรายชื่อเด็กอยู่ซ้ำกัน 2 แห่งก็จะตรวจสอบได้ว่าเด็กเรียนที่ไหน
“โรงเรียนเอกชนที่ผิดซ้ำๆ ปัญหาเดิมๆ หลายปี ตรงนี้จะมีผลกระทบต่อการไม่ต่อใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียนได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการตรวจสอบรายชื่อในการเบิกเงินอุดหนุนรายหัวว่ามีรายชื่อซ้ำซ้อนหรือไม่ ซึ่งในปีการศึกษา 2559 จะต้องไม่เกิดปัญหาขึ้นอีก” รมช.ศธ. กล่าว
ใช้โปรแกรมประเมินผลคืบหน้าคดีทุจริต
พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวด้วยว่า ล่าสุดในการประชุมเมือเดือนมีนาคม นายพิษณุ ตุลสุข ประธานคณะทำงานจัดทำและดำเนินการแผนปฏิบัติขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กระทรวงศึกษาธิการ ได้เสนอให้มีการใช้โปรแกรมเข้ามาบริหารจัดการเอกสารคดีทุจริตต่างๆ ที่ยังค้างคาอยู่ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยโปรแกรมตัวนี้จะช่วยประเมินผลได้ว่า คดีแต่ละคดีนั้นยังติดค้างปัญหาอยู่ที่ขั้นตอนใด หรือมีความคืบหน้าในแต่ละขั้นตอนเป็นอย่างไรบ้าง ทำให้สามารถคาดได้ว่าคดีนั้นๆ จะสามารถสิ้นสุดหรือจบได้เมื่อไร ซึ่งในการประชุมเรื่องการแก้ไขปัญหาการทุจริตใน ศธ. ประจำเดือน เมษายน จะมีการนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมเพื่อพิจารณาด้วย ซึ่งหากโปรแกรมดังกล่าวใช้งบประมาณไม่มากก็มีความเป็นไปได้ที่จะอนุมัติให้ดำเนินการได้ทันที โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาโปรแกรมอยู่
พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ถึงแม้ว่าปี 2559 จะเร่งสะสางคดีที่สังคมให้ความสนใจแต่คดีอื่นๆ ก็ไม่ได้วางมือ คงติดตามอย่างใกล้ชิดทุกคดี พร้อมกำชับให้ทุกหน่วยงานต้องรายงานผลคืบหน้าอย่างละเอียดทุกเดือน โดยก่อนหน้าที่ตนจะเข้ามาดูแลเรื่องนี้จะมีการประชุม 3 เดือนครั้ง เนื่องจากรัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องแก้ปัญหาทุจริต แต่ตนได้เร่งการทำงานโดยสั่งให้ประชุมทุกเดือน ซึ่งทั้งสิบหน่วยงานก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ทำให้ในระยะเวลาเพียงปีเศษมีการปิดดคีทุจริตใน ศธ. ที่มีการร้องเรียนไปเกือบครึ่ง ทั้งนี้เชื่อว่าคดีที่ค้างอยู่จะค่อยๆ ทยอยเกิดความกระจ่างต่อไป
เร่งเครื่องการศึกษาเด็กใน 3 จชต.
พบคะแนนโอเน็ตต่ำกว่าภาคอื่นๆ
ในส่วนของความรับผิดชอบในเรื่องการยกระดับการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พล.อ.สุรเชษฐ์ มองว่า เหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการศึกษาของนักเรียนในพื้นที่อย่างมาก ถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญที่ตนได้รับมอบหมายให้เร่งดำเนินการแก้ไข
“ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ทำให้เกิดผลกระทบต่อการศึกษาในพื้นที่อย่างมาก เพราะทำให้เกิดการเรียนที่ไม่พร้อมแบบภาคอื่นๆ ของประเทศไทย เกิดความขาดแคลนในบุคลากรครู โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กที่มีครูไม่ครบชั้น หรือมีครูที่ไม่ตรงกับวิชาที่สอน ที่เห็นได้ชัดเจนคือผลการสอบโอเน็ตนั้น คะแนนเฉลี่ยของภาคใต้จะต่ำกว่าภาคอื่นๆ ของประเทศ และต่ำกว่าระดับของประเทศ ถือเป็นปัญหาที่น่าห่วง” รมช.ศธ. กล่าว
ในการแก้ปัญหา พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า เริ่มจากการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม หรือ “ครูตู้” ในโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งหลังจากดำเนินการไปแล้ว 1 ภาคเรียน ก็พบว่า ผลการเรียนของนักเรียนดีขึ้น โดยผลการสอบโอเน็ตหลังภาคเรียนที่ 2 ในปีการศึกษา 2557 พบว่าคะแนนสูงขึ้นทั้ง 3 ช่วงชั้นคือ ป.6 ม.3 และ ม.6 แต่ไม่มาก ต่อไปจะมีการขยายการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในกลุ่มโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นด้วย และมั่นใจว่าผลการเรียนของนักเรียนในภาคใต้จะขยับดีขึ้นอีก ที่สำคัญคือผู้ปกครองก็มีความพึงพอใจในการจัดการเรียนการสอนในระบบนี้ด้วย
การดำเนินการดังกล่าวถือว่าสอดคล้องกับผลการสำรวจโดยสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เรื่องโครงการครูตู้ ครูพระราชทานสัญญาณจากฟ้า ระหว่างวันที่ 3-10 มี.ค. 2559 ซึ่งทำการสำรวจความเห็นนักเรียน ครู ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป รวม 2,983 คน พบว่า ร้อยละ 79.32 เห็นว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์มากต่อการเรียนการสอน ช่วยแบ่งเบาภาระครูในวิชาที่ไม่ถนัด ร้อยละ 84.98 ระบุว่า นักเรียนได้ความรู้มากขึ้น ร้อยละ 80.52 เห็นว่าเป็นการให้โอกาสทางการศึกษา ร้อยละ 72.46 พึงพอใจมากต่อโครงการการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม อย่างไรก็ตามโครงการครูตู้ยังมีจุดอ่อนที่ต้องปรับปรุงคือไม่สามารถตอบโต้กับครูได้ทำให้บางครั้งเด็กเรียนไม่ทัน แต่ปัญหาเหล่านี้ก็สามารถแก้ไขได้ด้วยการจัดให้ครูปลายทางที่อยู่กับนักเรียนเข้าช่วยเหลือให้เด็กเกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้น
พล.อ.สุรเชษฐ์ เปิดเผยด้วยว่าที่ผ่านมา ศธ.ให้ความช่วยเหลือนักเรียนที่เรียนดี มีความประพฤติดี ฐานะยากจน และครอบครัวได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ ด้วยการให้ทุนภูมิทายาทแก่นักเรียนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ 11 เขต ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล โดยเมื่อปี 2557 ได้มีการขยายโอกาสทางการศึกษาเพิ่มให้กับนักเรียนที่มีทักษะทางด้านกีฬา ภายใต้นโยบาย “สานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้” ซึ่งเป็นการรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ในแผนการเรียนวิทยาศาสตร์-กีฬา
รมช.ศธ.กล่าวว่าที่ผ่านมามีการดำเนินการโครงการสานฝันการกีฬาฯ ในโรงเรียน 2 แห่ง ซึ่งแผนการเรียนวิทยาศาสตร์-กีฬานั้น มีคณะกรรมการจัดทำหลักสูตรโดยเฉพาะ แต่ในปีการศึกษา 2559 ที่จะถึงนี้ จะมีการขยายโครงการดังกล่าวในโรงเรียนอีก 4 แห่ง รวมเป็น 6 แห่งในพื้นที่ 5 จังหวัด และจะมีการเปิดแผนการเรียนเพิ่มเติมอีกหนึ่งสายคือ ศิลป์-กีฬา (เน้นการสื่อสารภาษาอังกฤษ) โดยปีการศึกษา 2559 จะรับนักเรียนทุนกีฬาดังกล่าวนี้จำนวน 432 คน แบ่งเป็น
1.โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ยะลา เปิดเฉพาะแผนการเรียนวิทยาศาสตร์-กีฬา จำนวน 80 คน ประเภทกีฬาที่เปิดสอนคือ ฟุตบอล วอลเลย์บอล ตะกร้อ มวยไทย และปันจักสีลัต
2.โรงเรียนรือเซาะชินูปถัมภ์ จ.นราธิวาส เปิดทั้งสองแผนการเรียน จำนวน 80 คน ประเภทกีฬาที่เปิดสอนคือ ฟุตบอล วอลเลย์บอล ฟุตซอล และฮอกกี้
3.โรงเรียนมัธยมสุไหงปาดี จ.นราธิวาส เปิดทั้งสองแผนการเรียน จำนวน 70 คน ประเภทกีฬาที่เปิดสอนคือ ฟุตบอล วอลเลย์บอล และบาสเกตบอล
4.โรงเรียนโพธิ์คีรีราษฎร์ศึกษา จ.ปัตตานี เปิดทั้งสองแนการเรียน จำนวน 72 คน ประเภทกีฬาที่เปิดสอนคือ ฟุตบอล วอลเลย์บอล ตะกร้อ และเทควันโด
5.โรงเรียนนาทวีวิทยาคม จ.สงขลา เปิดเฉพาะแผนการเรียนวิทยาศาสตร์-กีฬา จำนวน 86 คน ประเภทกีฬาที่เปิดสอนคือ ฟุตบอล วอลเลย์บอล มวยไทย ตะกร้อ และกรีฑา
6.โรงเรียนละงูพิทยาคม จ.สตูล เปิดเฉพาะแผนการเรียนวิทยาศาสตร์-กีฬา จำนวน 43 คน ประเภทกีฬาที่เปิดสอนคือฟุตบอล วอลเลย์บอล และมวยไทย
การรับนักเรียนในโครงการดังกล่าวประจำปีการศึกษา 2559 นั้น ในวันที่ 20-24 มี.ค. 2559 เป็นช่วงรับสมัคร วันที่ 27 มี.ค. 2559 สอบข้อเขียนพร้อมสัมภาษณ์ วันที่ 28 มี.ค. 2559 ทดสอบความสามารถด้านกีฬา วันที่ 29 มี.ค.2559 ตรวจร่างกาย 2 เม.ย. 2559 ประกาศผล และวันที่ 3 เม.ย. 2559 วันรายงานตัวเข้าเรียน
“โครงการนี้ถือเป็นการให้โอกาสนักเรียนที่เก่งด้านกีฬาได้มีโอกาสเรียนต่อในชั้น ม.4 ซึ่งถือเป็นแนวทางหนึ่งในการช่วยป้องกันการเดินทางผิดของเยาวชนในพื้นที่ แต่จะเห็นได้ว่าไม่ใช่แค่เก่งกีฬาเท่านั้น แต่จะต้องมีการเรียนที่ดีด้วย จึงมีการสอบทั้งข้อเขียนและการสัมภาษณ์ ซึ่งการเรียนในโครงการดังกล่าวจะเป็นลักษณะของโรงเรียนประจำ มีครูพี่เลี้ยงดูแล ช่วงเช้าก็จะเรียนวิชาการเหมือนนักเรียนทั่วไป ส่วนช่วงบ่ายจะสอนด้านกีฬาที่เลือกไว้” พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าว
นอกจากจะให้โอกาสนักเรียนได้เรียนต่อชั้น ม.4- ม.6 แล้ว รมช.ศึกษาธิการ ยังระบุด้วยว่า กำลังจะขยายโอกาสให้นักเรียนทุนโครงการดังกล่าวได้รับการศึกษาต่อเนื่องไปจนถึงระดับปริญญาตรี รวมถึงด้านอาชีวะด้วย ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการหารือกับ สกอ. และ สอศ. เพื่อลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) ในการรับเด็กนักเรียนเข้าศึกษาต่อ ซึ่งทุนดังกล่าวไม่มีสัญญาผูกมัดว่าจะต้องมาทำงานชดใช้ทุนแต่อย่างใดพร้อมมั่นใจว่าเมื่อเรียนจบแล้วจะมีงานทำและมีรายได้ โดยเฉพาะอาชีพนักกีฬา หรือเป็นครูสอนกีฬา ซึ่งทาง ศธ.จะเปิดช่องให้มีตำแหน่งที่รับบุคคลากรที่จบจากโครงการนี้เข้าทำงานด้วย
“ทั้งหมดถือเป็นกลไกหนึ่งในการให้โอกาสและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” พล.อ.สุรเชษฐ์กล่าวทิ้งท้ายถึงความคืบหน้าภารกิจในการพัฒนาการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ถือว่าหนักหนาและสำคัญยิ่งต่ออนาคตของชาติ
(พื้นที่ประชาสัมพันธ์)