ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หลังจากที่ “สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์(ช่วง วรปุญฺโญ)” เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ ต้องเผชิญ “วิบากกรรม” จากการครอบครองรถยนต์โบราณยี่ห้อ Mercidez Benze รุ่น W186 ปี ค.ศ.1951-1957 ผิดกฎหมายในทุกขั้นตอน ทั้งการนำเข้า การจดประกอบ การเสียภาษีสรรพสามิต และการจดทะเบียน
วันนี้ ผู้เป็นลูกศิษย์อย่าง “พระเทพญาณมหามุนี(ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)” ก็ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ต่างกัน เผลอๆ จะหนักหนาสาหัสกว่าเสียด้วยซ้ำไป โดยเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ก็ได้ฤกษ์งามยามดีออก “หมายเรียก” เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ในข้อหา “ฟอกเงิน” และ “รับของโจร” จากคดีทุจริตและยักยอกเงินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นของ “นายศุภชัย ศรีศุภอักษร” อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ผู้เป็น “ศิษย์เอก” ระดับ “อัครสาวก” ของวัดพระธรรมกาย
เป็นอัครสาวกที่ลงทุนลงแรงปลูก “ดอกดาวรวย” ขนาดใหญ่ในไร่ของตัวเองเพื่อนำไปโปรยขณะวัดพระธรรมกายจัดกิจกรรมธุดงค์ธรรมชัย และเคยเป็น “ไวยาวัจกร” ของวัดพระธรรมกายนานถึง 15 ปี
ที่สำคัญ การตั้งข้อกล่าวหาและถูกดำเนินคดีของ พระเทพญาณมหามุนี(ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย นั้น รุนแรงกว่าผู้เป็นอุปัชฌาย์หลายเท่าตัว เพราะถ้าหาก “คดีถึงที่สุด” และ “ผิดจริง” ก็ต้องใช้คำว่าเป็นอาบัติที่ถึงขั้น “ปาราชิก” ต้องพ้นจากสมณเพศและไม่สามารถกลับมาบวชได้ใหม่อีกตลอดชีวิต
นี่คือความสั่นสะเทือนครั้งสำคัญของ “ลัทธิธรรมกาย”
ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้…
พระธัมมชโยเผชิญคดีในทำนองนี้มาแล้วหลายต่อหลายรอบ แต่ก็สามารถหลุดรอดจากข้อกล่าวหา เพราะมี “ตัวช่วย” ให้การอุปถัมป์ค้ำชูมาได้ ตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีที่ถ้าจะว่าไปแล้วจะต้อง “อาบัติปาราชิก” ตามพระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในข้อหาอวดอุตริมนุสธรรม และยักยอกเงินวัด จน “ได้ไปต่อ” เรื่อยมา
แต่ในรอบนี้ ดูเหมือนว่า เส้นทางสมณเพศอันเพริศแพร้วเลิศหรูอลังการของ เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย จะหนักหนาสาหัสที่สุด เมื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ได้ออกหมายเรียกพระธัมมชโยโดยระบุเอาไว้ชัดเจนว่า “กระทำความผิดฐานสมคบกันฟอกเงินและร่วมกันฟอกเงินและร่วมกันรับของโจร”
ทั้งนี้ พ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวกุล ผู้บัญชาการสำนักงานคดีการเงินการธนาคาร กรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 27/2559 ได้กำหนดให้พระธัมมชโยเดินทางให้ไปพบพนักงานสอบสวน ณ สำนักคดีการเงินการธนาคาร กรมสอบสวนคดีพิเศษ อาคารรัฐประศาสน์ภักดี (ศูนย์ราชการ อาคาร B) ชั้น 8 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ ในวันที่ 8 เมษายน 2559 เวลา 09.00 น.
“เป็นการออกหมายเรียกในฐานะผู้ต้องหา เพื่อให้เข้ารับทราบข้อหา โดยคดีนี้ในชั้นสอบพยาน พระธัมมชโยให้พระรูปอื่นมาให้ปากคำแทน แต่คดีนี้มีผู้มาแจ้งข้อกล่าวหา โดยระบุให้ดำเนินคดีกับพระธัมมชโย ดีเอสไอจึงต้งอออกหมายเรียก”พ.ต.ท.ปกรณ์อธิบาย
นอกจากนี้ ทีมโฆษกของกรมสอบสวนคดีพิเศษยังได้ออกมาสำทับในวันถัดมาคือวันที่ 31 มีนาคม 2559 ว่า ที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่าทางคดีมี “พยานหลักฐานเพียงพอ” ที่จะแจ้งข้อหาต่อนายศุภชัย ศรีศุภอักษร พระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ในความผิดฐานสมคบกันฟอกเงิน, ร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจร
เหตุที่ต้องบอกว่า สาหัสก็เพราะคดีนี้มีหลักฐานที่สามารถเอาผิดพระธัมมชโยอย่างชัดเจนจนยากที่จะปฏิเสธความเชื่อมโยงได้ ที่สำคัญคือตัวนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นก็ถูกดำเนินคดีและศาลมีคำพิพากษาให้ติดคุกติดตะรางไปสดๆ ร้อนๆ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมานี้นี่เอง
กล่าวคือ คดีของนายศุภชัยนั้น อัยการโจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2558 โดยสามารถสรุปความผิดได้ว่า นายศุภชัยได้กระทำการทุจริต โดยให้เจ้าหน้าที่บัญชีเบิกเงินสดของสหกรณ์ ผู้เสียหาย หลายครั้งหลายหนรวม 8 ครั้ง ครั้งละระหว่าง 184,000-6 ล้านบาท รวม 22,132,000 บาทเข้าบัญชีของจำเลย หรือบุคคลที่ 3 โดยทุจริต
และที่ต้องขีดเส้นใต้เอาไว้ก็คือ ก่อนเริ่มกระบวนพิจารณา นายศุภชัย ได้แถลงต่อศาลขอกลับคำให้การเดิมที่ปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี เป็นยินยอมให้การรับสารภาพ
ดังนั้น ศาลจึงพิเคราะห์แล้วเห็นว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องจริง พิพากษาว่า จำเลยผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก, 353, 354 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันรวม 8 กระทง จำคุกกระทงละระหว่าง 3-5 ปี รวมจำคุก 32 ปี คำให้การจำเลยรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยไว้ 16 ปี พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วนับเป็นเรื่องร้ายแรง โทษจำคุกจึงไม่มีเหตุให้รอลงอาญา
คดีนี้ถือเป็นคดีแรกที่ศาลมีคำพิพากษา จากทั้ง 6 คดีที่ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ ซึ่งคดีนี้ทำให้นายศุภชัยต้องอยู่ในเรือนจำตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2558 เพราะศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว
นี่เป็นความเชื่อมโยงที่สำคัญยิ่ง เพราะในช่วงระหว่างวันที่ 5 มีนาคม 2552 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554 สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นที่มีนายศุภชัยเป็นประธานได้ “สั่งจ่ายเช็ค” อันเป็นเงินที่เกิดจากการทุจริตให้กับพระธัมมชโยและวัดพระธรรมกาย รวมจำนวน 15 ฉบับ มูลค่ากว่า 800 ล้านบาท โดยพนักงานสอบสวนดีเอสไอชุดเดิมสรุปไว้ว่า พระธัมมชโยยอมรับว่ารับเช็ค 13 ฉบับ ซึ่งจากการตรวจสอบพบเช็คบางฉบับมีการสลักหลังและโอนเงินหลักร้อยล้านบาทกลับไปยังบัญชีบุคคลอื่นแทน ทั้งนี้ รายชื่อ กลุ่มพระที่มีชื่อเป็นผู้รับโอนเงินจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนฯ เช่น พระวิรัช 100 ล้านบาท พระมนตรี 100 ล้านบาท พระครูปลัดวิจารณ์ฯ 119 ล้านบาท เป็นต้น
จากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า คดีนี้ดีเอสไอแยกการสอบสวนออกเป็น 7 กลุ่ม ตามความสัมพันธ์ของธุรกรรมการเงิน ประกอบด้วย 1.นิติบุคคลที่มีมูลหนี้ต่อกัน 2.วัดพระธรรมกาย 3.สหกรณ์อื่นๆ 4.ผู้ต้องหาและผู้ที่เข้าข่าย 5.บุคคลธรรมดา 6.นายหน้าค้าที่ดิน และ 7. นิติบุคคลที่ไม่มีมูลหนี้ต่อกัน
โดยกลุ่มที่จะถูกดำเนินคดีข้อหารับของโจรและฟอกเงินนั้น อยู่ในกลุ่มบุคคลและกลุ่มนิติบุคคลใน 7 กลุ่มที่รับเช็คจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น รวมเป็นเงินราว 7,000-8,000 ล้านบาท และเป็นกลุ่มที่รับเช็คโดยไม่มีมูลหนี้ต่อกัน ซึ่งรวมถึงกลุ่มวัดพระธรรมกายและเครือข่ายที่มีการรับบริจาคโดยไม่มีมูลหนี้รวมกว่า 2,000 ล้านบาท
ในจำนวนนี้แบ่งออกเป็นเงินบริจาคให้วัดผ่านบัญชีพระธัมมชโยจำนวนประมาณ 800 ล้านบาท และพระรูปอื่นในเครือข่ายวัดพระธรรมกายประมาณ 20 รูปที่ได้รับเช็คจากนายศุภชัย ศรีศุภอักษรอีกรวมประมาณ 1,200 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี หลังดีเอสไอออกหมายเรียก 1 วัน วันถัดมาคือ วันที่ 30 มีนาคม 2559 วัดพระธรรมกาย ได้ออกหนังสือปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและยืนยันความบริสุทธิ์ของพระเทพญาณมหามุนี โดยมีรายละเอียด ดังนี้
“กรณีปรากฏข่าวในสื่อมวลชนบางฉบับ ในวันที่ 29-30 มีนาคม พ.ศ. 2559 ที่มีหมายเรียกโดยระบุชื่อ พระเทพญาณมหามุนี โดยมีผู้กล่าวหา คือนายธรรมนูญ อัตโชติ สมาชิกสหกรณ์ฯ คลองจั่นนั้น ทางวัดพระธรรมกายขอยืนยันในความบริสุทธิ์ของพระเทพญาณมหามุนี และขอปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และขอชี้แจงว่า
1.หลวงพ่อธัมมชโย รับบริจาคเหมือนพระสงฆ์ทั่วไป ไม่ทราบถึงที่มาของเงินบริจาค
2.ปัจจัยที่ได้มานำไปสร้างศาสนสถานตามประกาศไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว การบริจาคโดยมีวัตถุประสงค์และการรับบริจาคเป็นนิติกรรมสัญญา ซึ่งมีมูลหนี้ที่มีผลผูกพันตามกฎหมาย
3.ที่ผ่านมา เพื่อให้ยุติ ข้อกล่าวหาที่ใส่ร้ายบิดเบือนต่อวัด หลวงพ่อธัมมชโย และพระพุทธศาสนา ทางกลุ่มลูกศิษย์วัดพระธรรมกาย จึงได้รวมตัวกันลงขันระดมเงิน "กองทุนเยียวยาช่วยเหลือ" ให้สหกรณ์ต้องคืนเงินเยียวยากลับให้กลุ่มลูกศิษย์ โดยทางสหกรณ์ได้ทำจดหมายขอบคุณ และมีความเข้าใจอันดีของทุกฝ่ายจึงไม่เข้าใจว่าทำไมถึงมีหมายเรียกออกมาในลักษณะนี้ ซึ่งทางวัดจักได้ทำการตรวจสอบข้อแท้จริง และจะแจ้งความคืบหน้าในโอกาสต่อไป”
ด้านพระสนิทวงศ์ วุฑฺฒิวํโส ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย เปิดแถลงข่าวชี้แจงเพิ่มเติม โดยย้ำว่า วัดพระธรรมกายไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับกรณียักยอกเงินดังกล่าว เมื่อมีเหตุเกิดขึ้นทางวัดได้สอบถามนายศุภชัยว่าเงินที่นำมาทำบุญมาจากไหน ได้รับคำตอบว่ากู้ยืมมาจากสหกรณ์ฯ คลองจั่น และได้คืนแล้ว โดยมีหลักฐานคือการตรวจสอบบัญชีประจำปีและรายงานต่อที่ประชุมใหญ่สหกรณ์ฯ
“จากยอดเงินบริจาคมากถึงหลายร้อยล้านบาท ทำไมถึงไม่สงสัยบ้าง จึงขอตอบว่านายศุภชัยไม่ใช่ผู้ทำบุญมากที่สุดของวัด ยังมีผู้ทำบุญมากกว่านายศุภชัยอีกหลายท่าน ดังนั้น เมื่อเจ้าตัวมาทำบุญจำนวนมากและบอกว่าทำธุรกิจ ทำเหมืองหลายอย่าง ได้ผลกำไรดีมากจึงมาทำบุญ ทางวัดจึงไม่ได้สงสัยอะไร
ส่วนวัดพระธรรมกายนำเงินคราวนี้ไปทำอะไร ก็นำไปใช้ก่อสร้างศาสนสถานตามเจตนาของผู้บริจาค เนื่องจากมีประชาชนมาปฏิบัติธรรมที่วัดจำนวนมาก คราวละนับล้านคนในงานบุญใหญ่ จึงจำเป็นต้องมีศาสนสถานขนาดใหญ่รองรับ”
“ถามว่า เพราะเหตุผลใดทางวัดพระธรรมกายจึงคืนเงินบริจาค จำนวน 684 ล้านบาทให้แก่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ของชี้แจงว่า ทางวัดได้รับบริจาคโดยเปิดเผยและสุจริต และนำเงินบริจาคไปสร้าง ศาสนสถานตามเจตนาของผู้บริจาคหมดแล้ว ทางวัดไม่สามารถนำเงินของผู้บริจาครายอื่นในวัตถุประสงค์อื่นมาคืนให้แก่สหกรณ์ฯ ได้เมื่อเกิดเป็นคดีความขึ้น ทางคณะศิษย์ของวัดพระธรรมกายเห็นว่าหากมีการต่อสู้คดีกันต่อไปก็จะกินเวลานาน และเกิดความเสียหายทั้งต่อชื่อเสียงของวัด และต่อประชาชนผู้ฝากเงินที่เดือดร้อน จึงได้ตั้งกองทุนรวบรวมเงินเพื่อช่วยเหลือเยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนแก่สมาชิกผู้ฝากเงินสหกรณ์”พระสนิทวงศ์อธิบายรายละเอียด
ถามว่า สิ่งที่วัดพระธรรมกายชี้แจงมีเหตุผลหรือไม่
ผู้ที่จะให้คำตอบในเรื่องนี้คงจะเป็นกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้ที่แจ้งข้อกล่าวหากับพระธัมมชโยเป็นลำดับแรก จากนั้นคดีก็จะดำเนินไปสู่ขั้นตอนของอัยการ ซึ่งก็ต้องรอคอยกันต่อไปว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ และสุดท้ายศาลจะมีคำพิพากษาออกมาอย่างไร เพราะต้องไม่ลืมว่า “สงครามยังไม่จบอย่าเพิ่งนับศพทหาร” เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยมีตัวอย่างให้เห็นในคดียักยอกที่ดินวัดมาแล้ว ซึ่งสุดท้ายคดีจบแบบแฮปปี้เอนดิ้งสุดๆ เมื่อ “อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง” ในแทบจะวินาทีสุดท้าย
แต่ที่แน่ๆ คือ สังคมได้รับรู้ว่า นายศุภชัยไม่ใช่บุคคลที่ทำบุญจำนวนมากที่สุดให้วัดพระธรรมกาย เพราะพระสนิทวงศ์ประกาศชัดว่า “ยังมีผู้ที่ทำบุญมากกว่านายศุภชัยอีกหลายท่าน” ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า “กระสุนดุนดำ” ของวัดพระธรรมกายไม่ธรรมดา
อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแค่การแถลงข่าวชี้แจงอย่างเป็นทางการเท่านั้น เพราะหากติดตามความเคลื่อนไหวในโลกสังคมออนไลน์ก็จะพบว่า “ทีมธรรมกาย” มีการเคลื่อนไหวอย่างเป็นระบบโดยพร้อมเพรียงเพื่ออธิบาย เพื่อตอบโต้ข้อกล่าวหาจากดีเอสไอ รวมทั้งสาธยายคุณงามความดี “หลวงพ่อธัมมชโยของพวกเขา” อย่างเป็นระบบ
ถ้าจะใช้คำว่า “นักรบไซเบอร์ของวัดพระธรรมกาย” ก็คงจะไม่เกินเลยไปจากความเป็นจริงเท่าใดนัก
กระนั้นก็ดี สิ่งที่ต้องจับตาเป็นพิเศษก็คือ การตั้งข้อกล่าวหาและออกหมายเรียกพระธัมมชโยในครั้งนี้ จะลุกลามบานปลายออกไป และบานปลายออกไปเชื่อมกับกลุ่มก๊วนทางการเมืองแห่งระบอบทักษิณซึ่งกำลังปลุกระดมมวลชนหรือไม่ เพราะสถานการณ์ของพวกเขาก็มิสู้จะดีเท่าใดนัก เนื่องจากทั้ง “ลูก” ทั้ง “น้อง” มีคดีความที่งวดเข้ามาทุกที
รวมกระทั่งถึงการเคลื่อนไหวในประเด็นเรื่องการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ล่าสุดออกโรงข่มขู่ให้มีการปลด “บิ๊กต๊อก-พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา” ให้พ้นจากเก้าอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
เพราะพิสูจน์ให้เห็นชัดแจ้งแล้วว่า พวกเขาคือครอบครัวเดียวกัน และเมื่อขุมกำลังทั้ง 3 ผนึกเข้ามาหากันเมื่อใด รัฐบาล คสช.ก็ไม่อาจกะพริบตาได้
นี่เป็นสถานการณ์ที่แหลมคมยิ่ง