ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกันอยู่ขณะนี้ มีประเด็นร้อนที่อยู่ในกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ คือ ข้อเสนอแบบ "ทุบโต๊ะ" จากรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีไปถึงคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) 3 ประเด็นหลักคือ
ต้องการให้มี ส.ว.สรรหา 250 คน อายุงาน 5 ปี ล็อกที่นั่งไว้ 6 ที่สำหรับ ผบ.เหล่าทัพ ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แต่มีสิทธิในการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลและโหวตคว่ำ
มีส.ส.500 คน เป็นแบบแบ่งเขต 350 คน แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน โดยแบบแบ่งเขตให้เป็นเขตใหญ่ไม่เกิน 3 คนแต่ประชาชนมีสิทธิเลือกได้คนเดียว การเลือกตั้งส.ส.ใช้บัตร 2 ใบ สำหรับการเลือกแบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ
ไม่จำกัดคุณสมบัติของผู้มี่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ว่าต้องเป็นส.ส. และพรรคการเมืองไม่ต้องส่งชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 3 ชื่อ ให้กับกกต. ในช่วงที่มีการสมัครรับเลือกตั้งส.ส.
เสียงที่วิพากษ์วิจารณ์ย่อมหนีไม่พ้นว่า การเสนอเงื่อนไขเช่นนี้ ก็เพื่อสืบทอดอำนาจของคณะคสช. ในการที่จะควบคุมรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลและคสช. ก็ยกเอาเรื่องความจำเป็นที่ต้องดูแลสงบเรียบร้อยในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพื่อให้การปฏิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี บรรลุเป้าหมาย มาเป็นเหตุผลรองรับ
แต่ถึงที่สุดแล้ว ร่าง รัฐธรรมนูญ ที่กำลังจะเผยโฉมออกมานี้ จะได้ประกาศใช้หรือไม่นั้น ไม่ได้ขึ้นกับการตัดสินใจของคสช. หรือบรรดาแม่น้ำสายต่างๆ ที่คสช.จัดตั้งขึ้นมา แต่ขึ้นอยู่กับว่าประชาชนจะเห็นด้วยหรือไม่
เพราะเมื่อร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ต้องนำไปให้ประชาชนลงมติ และทางครม.ก็ได้เคาะวันลงประชามติ ออกมาแล้วคือ วันที่ 7 ส.ค. 59
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมร่วมระหว่าง ครม.กับ คสช.ได้มีการพิจารณา ร่าง แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 เพื่อเตรียมจัดทำประชามติ โดยมีการแก้ในประเด็นสำคัญ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าการแก้ไขดังกล่าวเพื่อเอื้อต่อการผ่านร่างรัฐธรรมนูญดังนี้
กำหนดเกณฑ์ในการลงประชามติ โดยแก้ไขถ้อยคำว่าให้ยึด"คะแนนเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสียง" เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในการตีความภายหลัง โดยจะนับคะแนนเฉพาะผู้ที่ลงคะแนนว่า เห็นชอบ-ไม่เห็นชอบ กับร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น ส่วนบัตรเสีย และบัตรที่งดออกเสียง ไม่นับว่ามาใช้สิทธิ
ยกตัวอย่าง มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ 30 ล้านคน เห็นชอบ 12 ล้านคน ไม่เห็นชอบ 10 ล้านคน บัตรเสีย-งดออกเสียง 8 ล้านคน ก็จะนับเฉพาะคะแนนเห็นชอบที่ได้มากกว่าไม่เห็นชอบเท่านั้น ไม่รวมบัตรเสีย-งดออกเสียง ก็ถือว่าได้เสียงข้างมากแล้ว โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องได้คะแนนถึง 15 ล้านคน รัฐธรรมนูญจึงจะผ่าน
กำหนดอายุของผู้มีสิทธิ์ออกเสียง ที่เดิมกำหนดไว้ว่า ให้มีอายุไม่น้อยกว่า 18 ปี ในปีที่มีการเลือกตั้งครั้งหลังสุด ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อนานมาแล้ว ให้เป็น "มีอายุไม่น้อยกว่า 18 ปี ในวันที่จัดทำประชามติ" ซึ่งข้อนี้ ถือว่าเป็นการขยายฐานของผู้มีสิทธิออกเสียง ให้มากขึ้น
แก้ไขเรื่องหลักเกณฑ์ในการแจกจ่ายรัฐธรรมนูญก่อนทำประชามติ ซึ่งเดิมกำหนดไว้ว่า ต้องแจกจ่ายให้ถึง 80% ของครัวเรือนทั้งหมด เพราะในปัจจุบันมีวิธีการที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญมากกว่าในอดีต โดยไม่จำเป็นต้องพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญแจกจ่ายถึง 20 ล้านฉบับ โดยอาจจะใช้วิธีทำคู่มือสรุปเนื้อหาสาระแจกจ่าย เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ หรือ ซื้อโฆษณาหนังสือพิมพ์ ฯลฯ แทน
กำหนดให้องค์กรอื่นตั้งคำถามประชามติเพิ่มเติมได้ ซึ่งเดิมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ร่วมตั้งคำถามได้ องค์กรละ 1 คำถาม แต่เนื่องจากปัจจุบันสปช. ถูกยุบเลิกไปแล้ว เหลือเพียงสนช. กับสปท. จึงกำหนดให้ สนช.และสปท. ไปหารือกัน ในการตั้งคำถามประชามติเพิ่มเติม
สำหรับหลักเกณฑ์ในการรณรงค์ หรือชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญ ให้กกต.ไปกำหนดไว้ใน ร่าง พ.ร.บ.ประชามติฉบับใหม่ ซึ่งกกต.ทำเสร็จแล้วและได้ส่งให้ ครม. พิจารณาแล้ว โดยครม.ได้ให้ความเห็นชอบแล้วเช่นกัน ซึ่งเนื้อหาโดยรวมเรียกได้ว่า แทบปิดช่องทางของฝ่ายที่จะวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงไม่เห็นด้วย หรือฝ่ายที่คิดจะปลุกระดมให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ เพราะมีโทษหนัก โดยมีโทษสูงสุดคือ จำคุก 10 ปี
ซึ่งเรื่องที่เสี่ยงต่อการทำผิด อาทิ เรื่องการจัดเวทีเสวนาแสดงความคิดเห็น ที่กกต. จะเป็นผู้รับผิดชอบจัดเวที คนอื่นจัดได้ แต่ก็สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย ส่วนเรื่องฐานความผิดต่างๆ เช่น ฉีกบัตร ขัดขวางการทำประชามติ ปลุกระดมล้มประชามติ และ 7 วันสุดท้ายก่อนทำประชามติ ห้ามทำโพล และเปิดเผยผลโพล เป็นต้น
จากการออกกรอบกติกาการทำประชามติดังกล่าว ทำให้รัฐบาล และคสช. ค่อนข้างมั่นใจว่า ร่าง รัฐธรรมนูญจะได้รับความเห็นชอบจากประชาชน แม้ว่าโดยเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ถอยหลังลงคลอง ไม่เป็นประชาธิปไตยในระดับที่สากลยอมรับ หรือ มีการหมกเม็ดเพื่อสืบทอดอำนาจ แต่รัฐบาลก็ยกเอาเหตุผลในเรื่องเสถียรภาพ และความสงบสุขของบ้านเมือง เรื่องการคืนประชาธิปไตย เร่งให้มีการเลือกตั้งตามโรดแมป มาหักล้างในจุดบกพร่องข้างต้น
เมื่อประกอบกับการโหมระดมสรรพกำลังทั้งสื่อของรัฐ ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ กระทั่งนักศึกษาวิชาทหาร (นศท.) ในการโฆษณาชวนเชื่อว่า ร่าง รัฐธรรมนูญนี้ เป็นสิ่งที่ดีสำหรับประชาชนและสังคมไทย เป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ ไม่ใช่ไปลอกเลียนมาจากต่างประเทศ ซึ่งมีวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ที่แตกต่างจากเรา
ขณะเดียวกัน ก็ชี้ให้เห็นว่า คนที่คัดค้าน คือ พวกนักการเมือง ที่เป็นตัวยุ่งของบ้านเมือง ตัวทำประเทศชาติเสียหายมานักต่อนัก เมื่อถูกจำกัด ลดทอนอำนาจที่เคยได้รับจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆหน้านี้ ที่ให้อำนาจพรรคการเมือง และนักการเมืองเป็นใหญ่ในแผ่นดิน คนพวกนี้ย่อมต้องคัดค้าน โดยเอาคำว่า ประชาธิปไตยที่เป็นสากล มาเป็นข้ออ้างเพื่อให้ตัวเองและพวกพ้องได้เสวยสุขกันต่อไป
เมื่อฝ่ายรัฐบาลโฆษณาตอกย้ำเช่นนี้ทุกวัน และก็ปิดช่องทางฝ่ายต่อต้านที่จะออกมาโต้แย้ง หรือถ้ายังมีพวกที่ขัดขืน รัฐบาลก็ยังมีไม้เด็ดที่จะงัดออกมาจัดการได้ทุกเมื่อ คือ มาตรา 44 ในที่สุดก็จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่เห็นคล้อยไปกับรัฐบาล ยอมที่จะถูกจำกัดสิทธิ เสรีภาพ ยอมที่จะอยู่ภายใต้การนำของรัฐบาลเผด็จการซ่อนรูป โดยเอาความอยู่รอดของบ้านเมือง มาเป็นเครื่องปลอบใจ ซึ่งรัฐบาลเชื่อว่า ยิ่งนานวันคนกลุ่มนี้ก็จะยิ่งขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งนี้จากผลสำรวจของ เว็บไซต์ประชามติ (www.prachamati.org) เปิดให้โหวตคำถามว่า “คุณจะไปออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญของ คสช.หรือไม่?” ผ่านเพจเฟซบุ๊ก Prachamatiเมื่อวันที่ 7-15 มี.ค.ที่ผ่านมา ผลปรากฏว่า มีผู้ร่วมโหวตจำนวน 4,484 คน เสียงส่วนใหญ่จำนวน 3,828 คน หรือ 85% บอกว่าจะ "ไป" ใช้สิทธิออกเสียงประชามติ ส่วนอีก 656 คน หรือ 15% บอกว่าจะ "ไม่ไป" ออกเสียงประชามติครั้งนี้
โดยเหตุของผู้ที่จะไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติครั้งนี้ แม้ว่าจะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย กับเนื้อหาและกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ แต่หลายคนเห็นตรงกันว่า การไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติ เป็นการใช้สิทธิอย่างถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตย แม้บ้างส่วนจะกังวลว่า ผู้มีอำนาจอาจสามารถควบคุมผลได้ แต่ก็เห็นว่าการออกไปใช้สิทธิ คือการแสดงพลังที่มีอยู่ ดีกว่าให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจอนาคตประเทศฝ่ายเดียว
มีเหตุผลที่น่าสนใจ เช่น "ในเมื่อประชามติ คือ โอกาสที่ประชาชนจะได้เลือกว่า จะรับร่างหรือไม่ ? เราย่อมไม่ปล่อยให้โอกาสในการตัดสินอนาคตประเทศไปตกอยู่ในมือผู้อื่นอีกต่อไป ไปแน่นอน"
"เราเรียกร้องประชาธิปไตย การลงประชามติ ก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบประชาธิปไตย แม้ส่วนตัวจะไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หลายมาตรา แต่กาช่องไม่รับเพราะมันจะมีผลต่อประชามติ ... อีกทั้งฝั่งเผด็จการจะได้รู้จักพลังของประชาชนที่แท้จริง"
"ไปค่ะ ให้มันรู้ว่าดิฉันเป็นประชาธิปไตย และยอมรับเสียงส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ดิฉันว่าคนไทยที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ควรแสดงพลังทางประชาธิปไตยอย่างถูกต้อง อย่าทำเป็นนิ่งเฉยเหมือนที่ผ่านมาเลยค่ะ ดิฉันต้องการให้คสช. รู้ว่าดิฉันไม่รับร่างอย่างถูกต้องตามกฏเกณฑ์ที่ตั้งไว้"
ขณะที่เหตุผลของผู้ที่จะไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติ โดยรวมเห็นว่า การไปใช้สิทธิครั้งนี้จะเป็นการเข้าไปสร้างความชอบธรรมให้กับร่างรัฐธรรมนูญของคสช. นอกจากนี้ กระบวนการจัดทำประชามติ ยังดำเนินภายใต้บรรยากาศที่ขาดเสรีภาพในการแสดงออก ทำให้ผลประชามติไม่น่าจะสะท้อนความต้องการที่แท้จริงของประชาชนได้
สำหรับเหตุผลที่น่าสนใจ เช่น "สิ่งที่จะเรียกว่าประชามติ ไม่น่าจะใช่ประชามติจริงครับ แค่การโหวตว่าจะรับหรือไม่รับ ก็ไม่ถูกแล้วครับ เพราะถ้าไม่รับก็ต้องเจอกับอะไรไม่รู้ มันไม่ใช่การเลือกระหว่างสองสิ่งที่แฟร์ๆ "
"มีประชามติ แต่ไม่เปิดให้วิพากษ์วิจารณ์อย่างเสรี แล้วคนร่าง และคนให้ร่าง ก็ยังตั้งเป้าว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญได้รับการตอบรับจากประชามติ ก็ถือเป็นความสำเร็จของรัฐบาล..."
"มันไม่ใช่ประชา(ชน)มติ ค่ะ ถ้าเป็นประชามติ ที่ให้ประชาชนได้ออกไปลงคะแนน ต้องไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขของเผด็จการ ม. 44 หรือ รัฐบาลทหาร"
"คนคำนวณ มิสู้ฟ้าลิขิต" ความคิดของรัฐบาล และคสช. ที่วาดไว้สวยหรูว่ารัฐธรรมนูญจะต้องผ่านประชามตินั้น อาจจะถูกคว่ำอย่างไม่เป็นท่าก็ได้ ถ้าประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า เป็นรัฐธรรมนูญ ที่ไร้ความชอบธรรม ร่างขึ้นด้วยความลุแก่อำนาจ สวนทางประชาธิปไตย เอาตัวเองและพวกพ้องเป็นใหญ่ แล้วไปลิดรอนสิทธิ การมีส่วนร่วมของประชาชน
อย่างไรก็ตาม จากภาพที่เห็นว่า รัฐบาลมีความมั่นอกมั่นใจว่า รัฐธรรมนูญจะผ่านความเห็นชอบจากประชาชนนั้น ลึกๆ แล้วก็ยังมีความกังวลอยู่เช่นกัน จึงเป็นที่มาของการให้ สปท.และ สนช. ไปหารือเพื่อตั้งคำถามพ่วงไปกับการทำประชามติ อีก 1 คำถาม
แม้ว่าในขณะนี้ จะยังไม่ได้ข้อยุติว่า คำถามพ่วงนั้น จะถามว่าอย่างไร แต่ก็เป็นที่คาดหมายกันได้ว่า จะต้องเป็นคำถามที่ผูกพัน หรือเป็นทางออก ที่ คสช.สามารถนำมาใช้ประโยชน์ ไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติ หรือไม่
เป็นต้นว่า ต้องการมีรัฐบาลแห่งชาติในช่วงเปลี่ยนผ่าน หรือไม่