ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ท่ามกลางกระแสการอนุรักษ์ความเป็นไทยในมิติต่างๆ ที่กำลังเป็นที่สนอกสนใจของผู้คนอยู่ในขณะนี้ บ่อยครั้งที่เราพบว่า ความพยายามในการอนุรักษ์จะจบอยู่ที่การคงสิ่งที่มีอยู่เดิมเอาไว้เพียงเท่านั้น แต่มิติของการพัฒนาต่อเพื่อล้อไปกับความเปลี่ยนแปลงของกาลเวลาและเพิ่มมูลค่าให้กับความเก่าเหล่านั้น กลับมีให้เห็นได้น้อย
จากสี่แยกคอกวัวบนถนนราชดำเนินกลาง ถนนที่อัดแน่นไปด้วยประวัติศาสตร์ทางการเมืองและสังคม เดินตัดเข้าไปยังซอยดำเนินกลางใต้ด้านหลังอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ไม่ไกลนัก เราจะพบกับ “บ้านนพวงศ์” บ้านไม้สีขาวสไตล์โคโลเนียลที่ดูเงียบสงบและงดงาม บ้านเก่าอายุกว่า 70 ปี ที่ปัจจุบันได้รับการปรับปรุงจนกลายเป็นโรงแรมบูติกชื่อดังที่ยังคงเอกลักษณ์บ้านเก่าไว้ได้อย่างครบถ้วน
บ้านนพวงศ์เป็นบ้านเก่าของสกุลนพวงศ์ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7ราวๆ พ.ศ.2488 อันเป็นช่วงปลายของสงครามมหาเอเชียบูรพา เพื่อใช้เป็นบ้านพักของหม่อมหลวงดิศพงศ์ นพวงศ์ และสาลี่ นพวงศ์ ณ อยุธยา ได้รับการออกแบบโดย “หลวงบุรกรรมโกวิท” หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งและอดีตนายกสมาคมสถาปนิกสยาม ซึ่งถือเป็นบุคคลสำคัญในวงการสถาปัตยกรรมไทย
โครงสร้างบ้านเป็นเรือนไม้สักทรงไทยสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นในยุคอาณานิคม และเริ่มแพร่ขยายเข้าสู่ประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 5-6 อันจะเห็นได้จากลวดลายการตกแต่ง ลายฉลุ ช่องแสง การกลึงไม้แบบตะวันตก ผสมกับบ้านไทยที่เน้นช่องลม มีบานกระทุ้ง บานเกล็ด เรือนหลังหน้าเป็นเรือนสำหรับอยู่อาศัย ส่วนเรือนด้านหลังเป็นห้องน้ำและห้องครัวตามลักษณะของบ้านไทยสมัยก่อน
จากบ้านพักอาศัยของตระกูล นานวันเข้าก็ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ความคิดในการอนุรักษ์บ้านเก่าของตระกูลนพวงศ์จึงเกิดขึ้น เพื่อคงคุณค่าและเก็บรักษาความทรงจำของบ้านหลังนี้ไว้ แต่นอกเหนือจากการอนุรักษ์ “กันตศม นพวงศ์ ณ อยุธยา” ทายาทรุ่นที่ 3 ของบ้านนพวงศ์ ยังเพิ่มเติมมิติที่น่าสนใจมากกว่านั้น คือ “การพัฒนา” ปรับปรุงจนกลายมาเป็นโรงแรมบูติกสุดคลาสสิกในชื่อ “บ้านนพวงศ์” อย่างในปัจจุบัน
แน่นอนว่างานยากที่สุดในการเปลี่ยนบ้านเก่าให้กลายเป็นโรงแรมที่มีมาตรฐานแต่ยังคงเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมเดิมและยังได้รับกลิ่นอายความรู้สึกของบ้านไทยสมัยก่อนไว้ได้คือ นั่นคือ “การออกแบบ” จากเดิมที่เป็นมุ้งลวดต้องเปลี่ยนเป็นติดกระจกเพราะต้องติดเครื่องปรับอากาศตามมาตรฐานโรงแรม ซึ่งทำอย่างไรถึงจะกลมกลืน จะปรับปรุงอย่างไรให้ทุกห้องพักมีห้องน้ำในตัว เพราะบ้านไทยสมัยก่อนห้องน้ำจะอยู่นอกตัวบ้าน รวมถึงรูปร่างหน้าตาเมื่อปรับปรุงแล้วเสร็จ ภายนอกต้องดูเป็นบ้านที่มีเอกลักษณ์ แต่ภายในต้องคงความเป็นมาตรฐานของโรงแรมไว้
กันตศมในฐานะเจ้าของและสถาปนิกผู้ออกแบบปรับปรุงบ้านนพวงศ์ใช้เวลา 1 ปี ในการศึกษาค้นคว้าเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการอนุรักษ์บ้านไทย การบูรณะพระราชวังต่างๆ อาทิ พระราชวังบางปะอิน พระที่นั่งวิมานเมฆที่ทรงคุณค่า โดยนำมาประยุกต์และปรับให้มีความร่วมสมัยเข้ากับตัวบ้านเดิมที่มีอยู่ และใช้เวลากว่า 2 ปีในกระบวนการก่อสร้าง
แนวคิดหลักของบ้านนพวงศ์คือการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยทั้งในด้านสถาปัตยกรรม วิถีชีวิต และความเป็นอยู่ และต้องทำหน้าที่ถ่ายทอดคุณค่าและความงดงามเหล่านี้ให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ โดยคงเอกลักษณ์บ้านเดิมไว้ทั้งหมด ทั้งรูปลักษณ์ภายนอก สัดส่วนของบ้าน รวมถึงการตกแต่งภายใน
ทันทีที่ก้าวเข้าไปยังบริเวณบ้านนพวงศ์สิ่งที่สัมผัสได้คือความมีเอกลักษณ์งดงามของตัวบ้านและบรรยากาศที่เงียบสงบ บ้านไม้สไตล์โคโลเนียลสีขาวสะอาดตาประดับด้วยลายฉลุสวยงาม มีไม้ยืนต้นและไม้พุ่มอีกทั้งบ่อน้ำที่ออกแบบให้น้ำไหลเวียนตลอดเวลาช่วยเพิ่มความร่มรื่น ชานพักหน้าบ้านจัดวางชุดรับแขกเล็กๆ เรียบง่ายคอยต้อนรับผู้มาเยือน ก่อนที่จะเข้าสู่บริเวณที่เป็นล็อบบี้ด้านในตัวบ้าน
แม้ว่าพื้นที่ของบ้านจะไม่ได้ใหญ่โตมากมายนัก แต่สามารถปรับปรุงให้สามารถใช้งานได้อย่างดี โดยการตีทะลุเพดานระหว่างชั้นล่างกับชั้นบนในส่วนที่เป็นห้องพระเดิมออก ผนวกกับการดีไซน์ช่องแสง จึงทำให้ภายในดูโปร่งและโอ่โถงมากยิ่งขึ้น
ปัจจุบันบ้านนพวงศ์มีห้องพักทั้งหมด 7 ห้อง ซึ่งชื่อห้องแต่ละห้องได้รับแรงบันดาลใจจากอัญมณีของไทย พร้อมตกแต่งห้องตามสีของอัญมณีนั้นๆ โดยตัวเรือนหลักมีอยู่ด้วยกัน 5 ห้อง ได้แก่ ห้องไพฑูรย์สีครีม ห้องเพทายสีส้ม ห้องนิลสีเทา ห้องมรกตสีเขียว ห้องโกเมนสีแดง และเรือนหลังเล็กอีก 2 ห้อง ได้แก่ ห้องบุษราคัมซึ่งเป็นห้องจูเนียร์สวีทสีเหลือง และห้องมณีสีแดงเข้มเป็นห้องซีเนียร์สวีทที่เพิ่มความลักชัวรี่ด้วยอ่างจากุชชี่ส่วนตัว
แต่ละห้องมีห้องน้ำในตัวซึ่งถือเป็นงานยากสำหรับการทำบ้านเก่าให้เป็นโรงแรม แต่กันตศมสามารถทำออกมาได้อย่างลงตัว และไม่เสียสัดส่วนของบ้าน มีการปรับปรุงช่องลม ช่องแสง ให้สามารถรับลมและแสงแดดได้จากทุกทิศเหมือนสมัยก่อน พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกแบบมาตรฐาน
เฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ตกแต่งกว่า 80% เป็นเฟอร์นิเจอร์เก่าของบ้านนพวงศ์ในอดีตแทบทั้งสิ้น ส่วนชิ้นไหนที่ไม่สามารถนำมาใช้ได้ ก็จะนำไม้เก่าไปทำใหม่ในดีไซน์และรูปลักษณ์เดิม เพื่อเป็นการรักษางานช่างฝีมือในอดีตและถ่ายทอดออกมาให้แขกผู้มาพักได้สัมผัส อีกทั้งยังเพิ่มเสน่ห์ความเป็นไทยเล็กๆ ด้วยการนำ “เสื่อรำแพน” ที่บ้านไทยสมัยก่อนจะนำเสื่อรำแพนนี้มาแปะบนฝ้าเพดาน นำมาตกแต่งให้บรรยากาศที่แปลกตาออกไป
นอกจากความเป็นไทยและเรื่องราวในอดีตที่ถ่ายทอดผ่านตัวบ้านแล้ว การเติมเต็มด้านความรู้สึกและสร้างประสบการณ์แปลกใหม่เป็นอีกสิ่งสำคัญที่บ้านนพวงศ์มอบให้กับผู้มาพัก โดยการนำเสนอผ่านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นการให้แขกได้ใส่บาตรพระสงฆ์ในวันพระ หรือเที่ยวงานลอยกระทงที่ภูเขาทองก็ตาม ทำให้ผู้มาพักได้ซึมซับประเพณีและวัฒนธรรม รวมถึงวิถีชีวิตแบบไทยผ่านการบริการที่อบอุ่นเป็นกันเอง อันเป็นธรรมเนียมการต้อนรับผู้มาเยือนของคนไทย
นับจากวันที่เริ่มเปิดให้บริการ ผ่านมาจนก้าวเข้าสู่ปีที่ 5 บ้านนพวงศ์ยังคงเป็นโรงแรมบูติกที่อยู่ในใจของนักท่องเที่ยวหลายๆ คน ที่มีโอกาสได้มาพักในสถานที่แห่งนี้ แถมท้ายด้วยรางวัลชนะเลิศจากการประกวด “Thailand Boutique Awards” ปี 2014-2015 ในหมวด Basic Thematic City Hotel เป็นอีกหนึ่งเครื่องการันตีถึงความสำเร็จในการอนุรักษ์สิ่งที่มีอยู่และพัฒนาต่อจนกลายเป็นสิ่งที่สร้างมูลค่าและสามารถถ่ายทอดคุณค่าความเป็นไทยเหล่านั้นให้กับผู้มาเยือนได้อีกด้วย