เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - สื่อจีนรายงาน (24 พ.ย.) แม้ตัวเลขการจำหน่ายสินค้าแบรนด์หรูในภายในประเทศจะซบเซา แต่นักช้อปชาวจีนก็ยังคงขึ้นแท่นจับจ่ายแบรนด์หรูอันดับหนึ่งของโลก
ฟอร์จูน คาแรคเตอร์ อินสทิว (Fortune Character Institute) สถาบันผู้ให้คำปรึกษาด้านอุตสาหกรรมสินค้าฟุ่มเฟือยในนครเซี่ยงไฮ้ เปิดรายงาน “ไชน่า ลักซูรี่ รีพอร์ท 2015” (China Luxury Report 2015) คาดการณ์ว่า ในปีนี้ นักช้อปชาวจีนจะควักกระเป๋าซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยมากขึ้น 9 เปอร์เซ็นต์ นับเป็นมูลค่า 1.17 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 4.19 ล้านล้านบาท ยังคงครองแชมป์นักช้อปอันดับหนึ่งของโลก ด้วยสัดส่วนมากถึง 46 เปอร์เซ็นต์ โดยเป็นการซื้อสินค้าในต่างประเทศมากถึง 78 เปอร์เซ็นต์
โจว ถิง ผู้อำนวยการสถาบันฯ คาดว่า ยอดขายสินค้าแบรนด์หรูภายในประเทศจีน จะครองสัดส่วนเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของการจำหน่ายทั่วโลก ลดลงจาก 11 เปอร์เซ็นต์ในปีที่แล้ว ซึ่งห้าปีก่อน ผู้ซื้อชาวจีนยินดีจับจ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยจากร้านค้าในประเทศ เนื่องจากพวกเขายังไม่ได้เดินทางไปสัมผัสตลาดในต่างประเทศ แต่ในขณะนี้ ชาวจีนแห่กันไปเที่ยวต่างประเทศ ทำให้เกิดการเปรียบเทียบราคากับตลาดโลก
ผู้อำนวยการโจว ระบุว่า ในปีที่แล้ว ผู้ประกอบการแบรนด์หรูระดับโลกมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ พากันปิดสาขาในประเทศจีน มีหนึ่งในบริษัทผู้จำหน่ายนาฬิกาชั้นนำขายนาฬิกาไม่ได้แม้แต่เรือนเดียว โดยเธอคาดว่าในปีหน้า บรรดาแบรนด์หรูมากกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ เตรียมปรับตัวรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ด้วยการยกระดับคุณภาพและลดขนาดของร้านลง โดยการปิดร้านในหลายๆสาขาลง นอกจากนี้บางแบรนด์ยังหันไปสร้างบริการใหม่ๆ เช่น "กุชชี่" (Gucci ) สินค้าแบรนด์หรูจากอิตาลี ซึ่งกำลังเล็งหั่นราคาสินค้า และเตรียมเปิดร้านอาหารแห่งแรกที่เซี่ยงไฮ้ในช่วงฤดูร้อนปีหน้า
รายงานระบุว่า “หลุยส์ วิตตอง” (Louis Vuitton) แบรนด์หรูสัญชาติฝรั่งเศส เพิ่งปิดร้านสาขาสำคัญในประเทศจีนลงสามแห่ง รวมถึงสาขาก่วงโจวซึ่งเป็นสาขาแรก และจ่อปิดอีกหลายสาขาเพื่อปรับตัวให้เข้ากับสภาพเศรษฐกิจ
โจวให้ความเห็นว่า ทางออกอีกประการของแบรนด์หรูคือ การรับผลิตสินค้าตามความต้องการของผู้ซื้อ โดยในปีที่ผ่านมา แบรนด์หรูมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ได้เริ่มจำหน่ายสินค้ารูปแบบใหม่นี้ โดยจัดว่าเป็นธุรกิจที่ยังสามารถเติบโตได้
สถาบันฯทำการสำรวจเศรษฐีจีนผู้มีทรัพย์สินมากกว่า 5 ล้านหยวน หรือราว 25 ล้านบาท จำนวน 3,800 คน และพบว่าขณะนี้เศรษฐีเหล่านี้ให้ความสำคัญกับแบรนด์น้อยมาก โดย 40 เปอร์เซ็นต์ระบุว่าแบรนด์มีความสำคัญ แต่ไม่ใช่ปัจจัยหลักในการเลือกซื้อ โดยเศรษฐีที่ให้น้ำหนักกับแบรนด์มีเพียง 10-2- เปอร์เซ็นต์เท่านั้น