ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -“ขอยืนยันอีกครั้งว่า จากการหารือพบว่าคน 99.99% เห็นด้วย มีไม่ถึง 1% เท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย”
งานนี้คนไทยทั้งประเทศงงเป็นไก่ตาแตกหลัง บิ๊กเจี๊ยบ - พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ผู้กำกับดูแลกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประกาศเสียงดังฟังชัดกล่าวอ้างเปอร์เซ็นต์สนับสนุนแนวโน้มและความคืบหน้าเรื่องการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง จ.เลย
เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่า กรณีโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง จ.เลย มีความยืดเยื้อมากว่า 34 ปี ประสบปัญหาทั้งเรื่องความเห็นต่างจากภาคประชาชน จนเกิดเสียงคัดค้านจากกลุ่มนักอนุรักษ์รวมทั้งชาวบ้านในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยมีข้อถกเถียงทั้งทางปัญหาด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นมากมาย รวมทั้งเสน่ห์การเดินทางขึ้นขุนเขารูปหัวใจ ไม่เว้นแม้กระทั่งเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนที่บางกลุ่มจะได้ไปอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
ทว่า ภาครัฐยังมีความพยายามศึกษาและผลักดันกันอย่างไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น ซ้ำรอยโครงการก่อสร้าง เขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ที่ประชาชนรวมตัวออกมาคัดค้านอย่างหนักจนเมื่อไม่กี่ปีก่อน จนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องพักไว้ชั่วคราว แต่ล่าสุดแว่วว่า บิ๊กตู่ - พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. สั่งการให้ศึกษาทบทวนถึงความเป็นไปได้ในการก่อสร้าง หวังจัดการแก้ปัญหาสถานการณ์น้ำอย่างบูรณาการ
สำหรับความเป็นมาของโครงการกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงนั้น ริเริ่มตั้งแต่ ปี 2525โดยความเห็นพ้องจากหน่วยงานภาครัฐหลายแห่งด้วยกัน และมีการตั้งคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยวเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2546 ต่อมาทาง คณะกรรมาธิการการท่องเที่ยวสภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติให้องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) เป็นเจ้าภาพในการดำเนินงานศึกษารวบรวมข้อมูลเพื่อสรุปต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)
โดยเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ทาง ครม. มีมติรับทราบผลการรายงานของ อพท. ที่เสนอผลการศึกษาโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง จ.เลย ความว่า
จากผลการศึกษาพบว่าสามารถทำได้โดยไม่กระทบป่าแม้บริเวณดังกล่าวเป็นลุ่มน้ำชั้นหนึ่ง เพราะเป็นการใช้วิธีปักต้นเสาหลัก 7 ต้น ด้วยการขุดดินแล้วใช้เฮลิคอปเตอร์หย่อนเสาลงไปซึ่งจะเสียต้นไม้รวมประมาณ 1 ไร่ และจะมีการปลูกทดแทนส่วนที่เสียไป แต่เมื่อเทียบกับสิ่งที่จะได้ตามมาถือว่าคุ้มค่า
บิ๊กเจี๊ยบ เปิดเผยต่อไปอีกว่า พร้อมเดินหน้าสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 2 - 3 ปีนับต่อจากนี้ รอแค่เพียงผ่านการพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และได้รับอนุมัติจากทางรัฐบาลเท่านั้น งบประมาณ 633ล้านบาท ก็พร้อมจะนำไปสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงในทันที
เนื่องด้วยเล็งเห็นประโยชน์จากการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง ใน 3 เรื่องหลักด้วยกัน1. สร้างงานสร้างรายได้ให้กับพื้นที่ 2. เพิ่มความปลอดภัยในการลำเลียงนักท่องเที่ยวที่เจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ3. การดูแลรักษาความปลอดภัย และการรักษาความสะอาดจะทำได้ง่าย เพราะมีความสะดวกสบาย รวมทั้งประเด็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวด้วย
“ตอนนี้มีความเป็นไปได้ที่โครงการดังกล่าวจะเกิดขึ้น ทุกคนในที่ประชุมที่คิดเรื่องนี้ทุกคนเห็นชอบหมด มีองค์กรเพียงองค์กรเดียวที่ไม่เห็นชอบแต่ไม่เคยมาเข้าประชุมเลย เป็นเหมือนเอ็นจีโอ แต่ภาพใหญ่เขาแฮปปี้หมด การสร้างกระเช้ามีการกำหนดแนวเขตก่อสร้างชัดเจน หากเกิดอุบัติเหตุอะไรขึ้นสามารถลงได้ด้วยกระเช้าง่ายขึ้น และจุดที่ขึ้นลงกระเช้าไม่ได้รบกวนทางเดินแต่จะมีสถานีให้ขึ้นได้
“ยืนยันว่าเงิน 600 กว่าล้านบาท ที่ใช้นั้นต้องคิดว่าจะสร้างงานให้คนในพื้นที่ได้จำนวนมาก และทาง จ.เลย ถือว่ายังมีนักท่องเที่ยวสนใจมาก ทั้งจากประเทศเพื่อนบ้านที่มาท่องเที่ยว ย้ำว่าเราอยากให้มีและจริงๆ แล้วเป็นความเรียกร้องของชาวบ้านในพื้นที่ทั้งจังหวัดเลยและใกล้เคียง เพราะถ้ามีกระเช้าจะได้ทั้งเรื่องความปลอดภัย นักท่องเที่ยว และงบประมาณ การสร้างงานและการดูแลรักษาป่า ทั้งหมดถือว่าคุ้มค่า” พล.อ.ธนะศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ เปอร์เซ็นต์คัดค้านอันน้อยนิดที่ บิ๊กเจี๊ยบ นำมากล่าวอ้างนั้นเป็น ผลจากการศึกษาโครงการของทางองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) อ้างอิงถึง จดหมายข่าวภูกระดึง ฉบับที่ 1/2557 โดยระบุว่า คนภูกระดึงทั้งอำเภอ รวมตัวกันเหนียวแน่น จากสำรวจประชามติจาก 9,288 คน 'เห็นด้วย' กับการสร้างกระเช้าไฟฟ้าถึง 99.37 เปอร์เซ็นต์ แต่หากเทียบสัดส่วนประชากรทั้งประเทศ ผลสำรวจจากประชาชนจำนวนเพียงหยิบมือนึง คงไม่อาจฟันธงได้ว่าประเทศไทย ต้องการ หรือ คัดค้าน การก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้ากันแน่
ด้าน มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ออกแถลงการณ์คัดค้านโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง ความว่า
22 กุมภาพันธ์ 2555 คณะรัฐมนตรี มีมติให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เป็นผู้รับไปดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง ในอุทยานแห่งชาติภูกระดึง เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยว โดยให้ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ควบคู่ไป
หลังจากจัดทำเป็นรายงานศึกษาความเป็นไปได้โครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง รายงานการศึกษาขั้นกลาง ฉบับปรับปรุงแก้ไข 20 มิถุนายน 2557 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ได้นำเสนอข้อคิดเห็นประกอบรายงานดังกล่าวในเดือนมีนาคม 2558 เสนอต่อองค์กรบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษฯ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีเนื้อหาสรุปได้ดังนี้
1. บนหลังแปภูกระดึง เป็นพื้นที่ราบกว้างใหญ่นับสิบตารางกิโลเมตร เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่า หากขาดการควบคุมดูแลหรือขาดการจัดการนักท่องเที่ยวที่ดีพอ หรือมีนักท่องเที่ยวขึ้นไปใช้พื้นที่เป็นจำนวนมากจนไม่สามารถควบคุมได้ ย่อมส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่า และระบบนิเวศในพื้นที่
2. เนื่องจากพื้นที่บริการท่องเที่ยวเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า คือที่ราบหลังแป โอกาสที่นักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากที่จะขึ้นไปรบกวนถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าจะสูงมากขึ้น รวมถึงอันตรายจากการถูกสัตว์ป่าทำร้ายย่อมเกิดขึ้นด้วย
3. การเดินเท้าศึกษาธรรมชาติ เป็นกระบวนการสร้างการเรียนรู้ระหว่างคนกับธรรมชาติ การสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงช่วยให้การเดินทางรวดเร็วและเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น นั่นย่อมส่งผลให้คุณค่าทางธรรมชาติถูกลดลง
4. กระเช้าไฟฟ้าจะทำลายอาชีพของลูกหาบ และร้านค้าบริเวณจุดพักระหว่างเส้นทางขึ้นภูกระดึงจากการใช้บริการกระเช้าไฟฟ้า
5. การศึกษาความเป็นไปได้ และรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ควรจัดทำพร้อมกัน เนื่องจากเนื้อหาข้อมูลและวิธีการเก็บข้อมูลมีความแตกต่างกัน กระบวนการในการพิจารณามีความแตกต่างกัน ข้อมูลที่ได้จะขาดความรอบคอบ และไม่เป็นธรรม
จนถึงวันนี้กลุ่มที่ปรึกษานำโดยศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับบริษัท แกรนด์เทค จำกัด และบริษัทไทยซิสเทมเอนไว แอนด์ เอนจิเนียริ่ง จำกัด ที่รับเป็นผู้ดำเนินการ และได้จัดทำรายงานผลการศึกษาแล้วเสร็จ พร้อมให้ อพท. นำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 และที่ประชุมมีมติรับทราบรายงานผลการศึกษา พร้อมกับได้ให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมที่หลากหลายทั้งในด้านของความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งจะเห็นข่าวที่รองนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีด้านการท่องเที่ยวใน ครม. ชุดนี้ออกมาสนับสนุนโครงการนี้สุดตัว ถึงกับเตรียมจะอนุมัติงบประมาณให้รีบไปดำเนินการก่อสร้าง
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ขอยืนยันการแสดงเจตนาที่จะคัดค้านโครงการกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง ดังเหตุผลที่ได้กล่าวมา โดยหลังจากนี้จะศึกษาวิเคราะห์เอกสารรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง เพื่อเสนอความเห็นไปยัง อพท. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
เพราะคุณค่าของภูกระดึง คือการได้เดินศึกษาระบบนิเวศในธรรมชาติระหว่างเส้นทางเดินขึ้นภูไปจนถึงเส้นทางบนหลังแป จึงต้องมีการจัดการพื้นที่ที่เหมาะสมทั้งการอนุรักษ์ระบบนิเวศในพื้นที่และการเปิดรับนักท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติที่เหมาะสม รวมถึงกระบวนการศึกษาที่ต้องทำอย่างรอบคอบ และพิจารณาครอบคลุมถึงการพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวบนหลังแปของภูกระดึงทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีโครงการกระเช้าไม่ใช่การศึกษาแค่พื้นที่ก่อสร้างกระเช้า จึงไม่สมควรที่จะนำเอาพื้นที่ที่มีคุณค่าทางระบบนิเวศมาทดลอง เพื่อนำร่องไปสู่การพัฒนาท่องเที่ยวในป่าอื่นๆ ของประเทศไทยต่อไป
ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้กล่าวแสดงจุดยืนคัดค้านการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าว่า
“สำหรับผมเนี่ย ผมเสนอให้ใช้ภูกระดึงเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่มีเสน่ห์สำหรับการเปิดให้เข้าไปสัมผัสธรรมชาติ และลงมาอย่างมีความสุขจากการได้ซึมซับ ภูกระดึง เส้นทางทัศนศึกษาขึ้นภูเขาโดยวิธีการเดินเท้า (Trekking) ที่ดีที่สุดของประเทศไทย ที่มีเสน่ห์เย้ายวนให้คนไปสัมผัสที่ดีที่สุด มันมีอยู่ที่เดียวที่เด็ก คนมีอายุ หรือแม้แต่คนพิการระดับหนึ่งก็ขึ้นไปได้เป็นส่วนใหญ่ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นนักเดินทางมืออาชีพ ใครๆ ก็ขึ้นได้ ไม่ได้มีอันตรายอะไร พอขึ้นไปข้างบน มันจะมีความงดงามที่จะได้เห็นมันที่คุ้ม เมื่อเทียบกับเส้นทางอื่นๆ ที่เดินแล้วอาจจะเหนื่อยกว่าแต่ขึ้นไปแล้วรู้สึกว่ามันไม่คุ้ม หรือที่อื่นๆ อาจจะต้องใช้เวลา 4 - 5 วัน
“มันคือการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ แต่ถ้ามีกระเช้าแล้ว มันจะลดความเย้ายวนตรงนี้ลงทันที อันนี้คือสิ่งที่ผมเสียดาย สิ่งที่ทำให้รุ่นปู่ย่าตายาย ประมาณเกือบร้อยปีที่ทำหน้าที่ตรงนี้มาและทำได้เป็นอย่างดีมาตลอด กำลังจะหมดลง คนที่อยากเดินขึ้นภูกระดึงก็จะกลายเป็นคนอีกประเภทหนึ่ง มันเป็นเรื่องน่าเสียดายที่เราต้องเสียเส้นทาง Trekking ที่ดีที่สุด... โดยตัวกระเช้าไฟฟ้าแล้ว มันไม่ได้ทำลายสภาพแวดล้อมหรอก แต่กิจกรรมที่ตามมา น่าจะกระทบอีกเยอะ”
เช่นเดียวกับ ทศพล พรหมเกตุ ประธานสมัชชาประชาชน จ.เลย ที่ออกมาทัดทานความพยายามเดินหน้าโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าของ บิ๊กเจี๊ยบ เพราะมีความกังวลเรื่องการจัดการพื้นที่ท่องเที่ยวในอนาคต
เขากล่าวว่า ผลการศึกษาโครงการกระเช้าภูกระดึง ของ อพท. ที่รายงานว่า จะไม่มีการตัดต้นไม้ขนาดใหญ่ และจะตัดต้นไม้จำนวนน้อยเพียง 5,700ตารางเมตร จะมีสัดส่วนไม้ที่จะต้องสูญเสียประกอบด้วย ลูกไม้ 394 ต้น กล้าไม้ 1,512 ต้น และไม้ไผ่ 66 ลำ และไม่มีผลกระทบกับแหล่งอาศัยของสัตว์ป่า พรรณพืชสิ่งแวดล้อม ประเด็นเหล่านี้ ยังไม่ชัดเจนและมีความเป็นไปได้ว่าข้อมูลครบ ตนเห็นควรว่าเรื่องผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมสัตว์ป่า พันธุ์พืชทั้งหมด ต้องมีข้อมูลชัดเจนมากกว่านี้ รวมทั้งส่วนร่วมของผู้ค้าและแรงงานลูกหาบในพื้นที่ ต้องมีข้อมูลยืนยันมากกว่านี้เพราะที่ทราบมาคนกลุ่มนี้ยังไม่มีส่วนร่วมมากเท่าที่ควร
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องตอบโจทย์ให้ครบถ้วน ภูกระดึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศที่จะดึงนักท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆได้อีกมากเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเป็นยุทธศาสตร์ ฉะนั้น จำเป็นต้องศึกษาข้อมูลและแนวทางจัดการอย่างรอด้าน ที่สำคัญอย่าเสนอข้อมูลแก่ประชาชนเพียงครึ่งเดียว
"จากยุทธศาสตร์ของหอการค้าจังหวัดเลย ระบุว่า ระยะที่ 2 ต่อจากกระเช้าลงบนยอดภูนักท่องเที่ยวเมื่อขึ้นภูกระดึง แล้วต้องเดินเท้าเข้าแหล่งท่องเที่ยวเมื่อมีกระเช้า จะมีการพัฒนาด้านบนหลังแปคือสร้างถนนเพื่อนำนักท่องเที่ยวไปสู่จุดท่องเที่ยวแต่ละแห่งโดยสะดวกด้วย รถยนต์นำเที่ยว ระยะที่ 3 ยังจะมีการสร้าง ที่พักรีสอร์ทสนามกอล์ฟบนภูกระดึง ด้วยเพราะความเจริญเกิดขึ้นสิ่งอำนวยความสะดวกก็ตามมา ต้องตอบประเด็นเหล่านี้ หากนำนักท่องเที่ยวทางรถยนต์จะเป็นการทำลายธรรมชาติด้านบนอย่างใหญ่หลวง ทำลายธรรมชาติ ต้องตอบความจริงเหล่านี้ทั้งหมด อย่าให้ข้อมูลครึ่งเดียว การมีส่วนร่วมผู้มีรายได้เดิมร้านค้า ลูกหาบ ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างไร มิใช่ให้เฉพาะกลุ่มบุคคล กลุ่มนายทุนมาจัดการ ตลอดจนประเด็นที่ 3 เรื่องปัญหาขยะ กำจัดอย่างไร นักท่องเที่ยวจำกัดจำนวนไว้หรือไม่ - เท่าไร"
อภิชิต พันธ์ชัย ผู้ประกอบการและนักอนุรักษ์ธรรมชาติ จ.เลย แสดงจุดยืนต่อโครงการก่อสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงในฐานะผู้ติดตามความเคลื่อนไหวมาตลอด 10 ปี ก่อนตัดสินใจก่อสร้างหรือมีการเปลี่ยนแปลง สิ่งใดผู้ที่เกี่ยวข้องควรเดินทางมาสัมผัสบรรยากาศด้วยตัวเองไม่ใช่อ่านจากการรายงานเท่านั้น
"เรื่องที่เป็นห่วง คือ ประชาชนคนในพื้นที่ จะไม่ได้รับประโยชน์กับอุทยานแห่งชาติภูกระดึงเหมือนเมื่อก่อนที่เขาเคยได้จากลูกหาบ จากการขายสินค้าที่ระลึกของพื้นบ้านธรรมชาติ การผจญภัย สัตว์ป่าที่เคยเห็นตอนเดินขึ้น-ลงก็ได้รับผลกระทบหนีเตลิดไปในป่าลึกและป่าอื่นๆด้วย เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวที่มากขึ้น สำหรับการก่อสร้างบริเวณฐานทางขึ้นของกระเช้าไฟฟ้านั้น ห่างจากศูนย์บริการศรีฐาน 2 ก.ม. คงไม่มีผลกระทบมาก แต่ด้านบนหลังแปบนยอดภูกระดึงกระทบแน่เชื่อว่า สร้างฐาน คงมีระบบนายทุนเข้ามาบริหารจัดการ ทั้งด้านสิ่งอำนวยความสะอวด ร้านค้า ร้านอาหารและอื่นๆ แล้วชาวบ้านจะได้อะไร”
หรืออาจเป็นเพราะโครงการยังไม่ได้สร้างภาครัฐจึงวาดฝันกันไว้อย่างสวยหรู เต็งพ้ง เพียรพัฒน์ แกนนำต่อต้านการสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง ตัวแทนจากชมรม OK Nature ได้กล่าวไว้ในเวที เสวนา กระเช้าภูกระดึง มโน.. โปรเจกต์? เขาบอกว่า ชาวบ้านในพื้นที่หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีรายได้จากการโครงการฯ ในครั้งนี้ แต่ในความเป็นจริงหากมันสร้างเสร็จเมื่อไหร่หานนะจะเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้
“ ผมยอมรับว่าผมเป็นคนนอกพื้นที่จริงๆ ครับ แต่ผมก็รักพื้นที่ไม่ต่างจากที่ท่านรัก และอยากบอกว่าทุกสถานีกระเช้า พอสร้างเสร็จแล้ว น้อยมากที่เขาจะให้ผลประโยชน์กับชาวบ้านจริงๆ ให้ใช้พื้นที่ในการทำธุรกิจ ผมมั่นใจว่าท่านจะเปลี่ยนสถานภาพทันที จากเจ้าของพื้นที่ไปเป็นอย่างอื่น แล้วแต่ว่าจะเปลี่ยนไปเป็นอะไร ท่านมั่นใจเหรอครับว่าเศรษฐกิจมันจะดีและจะถึงท่านจริงๆ พอกระเช้าเสร็จแล้ว
“เรื่องกระเช้าที่บอกว่าสร้างขึ้นเพื่อความเท่าเทียม ให้เด็กและคนแก่ขึ้นไปได้ด้วย อันนี้เราเจอทุกครั้งที่เราไป เราเจอเด็ก เจอผู้สูงอายุ เจอคนพิการ ดังนั้น การเรียกร้องว่าครั้งหนึ่งในชีวิตขอพวกเขาเหล่านี้พิชิตภูกระดึง ผมคิดว่าถ้าครั้งหนึ่งของท่านขึ้นไปแล้วทำลายป่า ขอเถอะครับ ท่านหาที่อื่นไป ยืนยันครับว่าบางที่ไม่เหมาะกับบางคน อันนี้ไม่ได้พูดถึงนิสัยนะครับ แต่พูดถึงศักยภาพในการใช้พื้นที่ บางคนขึ้นไม่ไหว ผมมองว่าอย่าไปเอาภูกระดึงเป็นตัวตัดสินครับ เพราะในโลกนี้ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกหลายที่ทั้งต่างประเทศและในประเทศ ท่านก็ไม่เคยไปแม้แต่ครั้งเดียวในชีวิต ดังนั้น อย่าเอาจุดนี้มาเป็นเงื่อนไขในการสร้างกระเช้า”
อย่างไรก็ตาม พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกมายืนยันภายหลังเกิดกระแสสังคมคัดค้านให้รัฐบาลทบทวน โครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง จ.เลย ข้อเท็จจริงนั้นเป็นเพียง มติ ครม. ที่รับทราบผลการศึกษาโครงการฯ จากทาง อพท.
รัฐบาลยังไม่ได้มีการเห็นชอบหรืออนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างใดๆ แต่สั่งการให้ อพท. ไปหารายละเอียดเพิ่มเติมทั้งด้านเทคนิคและความคุ้มค่า เน้นการพัฒนาทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพต้องควบคู่กัน
ขณะเดียวกัน เอกสารรายงานประกอบการพิจารณาผลการศึกษาโครงการฯ ของทาง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ระบุว่า เห็นควร ให้ความเห็นชอบในผลการศึกษาโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง จ.เลย ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของประเทศ เนื่องจากโครงการฯ ใช้งบประมาณในการลงทุนสูง ประกอบกับโครงการตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่ชาติภูกระดึง ซึ่งมีระบบนิเวศป่าไม้ที่มีความสมบูรณ์
ในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน บิ๊กตู่ ตัดสินใจเดินหน้า โครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ หลังจากได้ร่วมฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำและภัยแล้งระหว่างลงพื้นที่ จ.อุทัยธานี พร้อมกับรับทราบโครงการพัฒนาศักยภาพการพัฒนาโครงการเขื่อนแม่วงก์
โดยสั่งการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ เร่งทบทวนศึกษาถึงผลกระทบเพื่อ 'เดินหน้าโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์' จ.นครสวรรค์ และย้ำให้ศึกษาเรื่องผลกระทบด้านป่าไม้และสัตว์ป่า รวมทั้งลดปัญหาความขัดแย้งกับประชาชน เพราะเกิดกระแสคัดค้านจากภาคประชาชนอย่างหนักเมื่อปี 2556 จนรัฐบาลยุติไปก่อน
ในประเด็นนี้ ทางประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ศศิน เฉลิมลาภ ผู้เดินเท้ารณรงค์คัดค้านการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ระยะทาง 388 กิโลเมตร ก็ได้ออกมาทักท้วงถึงเจตนาดีของ บิ๊กตู่ ในทันที พร้อมกับเสนอแนวทางเลือกในการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ เพื่อรับมือปัญหาภัยแล้งและปัญหาอุทกภัยอย่างยั่งยืน อาทิ ซ่อมแซมฝายและประตูระบายน้ำที่ชำรุด เพิ่มเติมโครงการชลประทานที่เป็นฝาย และประตูระบายน้ำขนาดเล็ก ส่งเสริมการเปลี่ยนพืชไร่เป็นเกษตรผสมผสาน ตลอดจนการขุดลอกลำน้ำบางสาย และสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก เป็นต้น
ทั้งนี้ ทางเลือกเหล่านี้จะได้จำนวนน้ำที่ใกล้เคียงกับการก่อสร้างเขื่อน ขณะที่สร้างเขื่อนแม่วงก์จะได้น้ำประมาณ 250 ล้าน ลบ.ม. ทางเลือกเหล่าที่กล่าวไปด้านบนโดยไม่ต้องสร้างเขื่อนฯ จะได้น้ำประมาณ 200 ล้าน ลบ.ม. และจะประหยัดงบประมาณแผ่นดินถึง 6 เท่า
สำหรับเรื่องเก่าเล่าใหม่อย่างกรณี 'เขื่อนแม่วงก์' ที่คนไทยค่อนประเทศคัดค้านกันอย่างหนักนั้น ไม่รู้ว่างานนี้จะเข้าอีหรอบเดียวกับกรณี 'กระเช้าภูกระดึง' หรือไม่?
เพราะใครจะล่วงรู้ว่าวันดีคืนดีอาจมีข้อมูลมั่วซั่วป่าวประกาศต่อสาธารณชนว่า '99.99 เปอร์เซ็นต์ เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนแม่วงก์'
พอเชื่อมโยงทั้ง 2โปรเจกต์ภายใต้เงื้อมมือ 'บิ๊กตู่' เข้าด้วยกันแล้วดูไม่เข้าตาเสียเท่าไหร่ ในเมื่อเป็นอย่างนี้คงต้องบอกว่า ขอเป็น 0.01 เปอร์เซ็นต์ ไม่เอากระเช้าภูกระดึง.. ไม่เอาเขื่อนแม่วงก์..