xs
xsm
sm
md
lg

รู้แล้ว 99% เห็นด้วย “เดินหน้าสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง” มาจากไหน?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รู้แล้ว 99% เห็นด้วย “เดินหน้าสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง” มาจากไหน? อ้างผลสำรวจปี 57 คนภูกะดึง 9,288 คน เห็นด้วยสร้างกระเช้าไฟฟ้าถึง 99.37% เผยความเห็นจากหลายหน่วยงาน ก่อนมติ ครม. หนุนงบฯ 633.89 ล้านบาท “มหาดไทย-ทรัพยากรฯ-คมนาคม-สภาพัฒน์” ไฟเขียว เผยสำนักงบประมาณเชื่อมีความคุ้มค่าในการลงทุนและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ

วันนี้ (29 ก.พ.) มีรายงานว่า สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบผลการศึกษาโครงการการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง จ.เลย จนทำให้ภาคประชาชนออกมาแสดงความคิดเห็นให้รัฐบาลทบทวนโครงการดังกล่าว และต่อมา พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกมายืนยันว่า มติ ครม.เป็นเพียงแค่รับทราบผลการศึกษาโครงการที่องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) เสนอมาเท่านั้น ยังไม่ได้มีการเห็นชอบหรืออนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างใดๆ แต่ ให้ อพท.ไปหารายละเอียดเพิ่มเติมทั้งด้านเทคนิคและความคุ้มค่า โดยรัฐบาลเห็นว่าไม่ควรให้น้ำหนักไปที่เรื่องมูลค่าของตัวเงินที่จะได้รับจากนักท่องเที่ยวเท่านั้น เพราะเมื่อขึ้นภูสะดวกขึ้นก็จะทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวมากขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อความสมบูรณ์ของธรรมชาติ และเกิดความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมได้ ดังนั้นการพัฒนาจึงต้องพิจารณาทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพควบคู่กัน

ขณะที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เนื่องจากยังมีความเห็นที่ยังไม่ตรงกันของหลายฝ่าย แม้ส่วนหนึ่งต้องการให้ก่อสร้าง แต่หลายส่วนยังอยากให้คงสภาพแบบเดิมๆ ไว้เพื่อความเป็นธรรมชาติและทดสอบกำลัง อย่างไรก็ตาม หากใครอยากขึ้นภูแต่สุขภาพไม่แข็งแรง ก็ยังสามารถไปท่องเที่ยวตามสถานที่อื่นที่มีลักษณะใกล้เคียงกันได้ นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังจำเป็นต้องรอผลการพิจารณาเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ซึ่งต้องใช้เวลาอีกกว่า 6 เดือน จึงขอให้ประชาชนได้เข้าใจตามข้อเท็จจริงนี้ เพื่อลดความสับสนตามที่มีการกล่าวอ้างกัน

มีรายงานว่า ขณะที่เอกสารประกอบการพิจารณาผลการศึกษาโครงการฯ เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ได้มีความเห็นว่า เห็นควรให้ความเห็นชอบในผลการศึกษาโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง จังหวัดเลย ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของประเทศ เนื่องจากโครงการนี้ใช้งบประมาณในการลงทุนสูง ประกอบกับโครงการตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่ชาติภูกระดึง ซึ่งมีระบบนิเวศป่าไม้ป่าไม้ที่มีความสมบูรณ์ มีความโดดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ทั้งกายภาพและชีวภาพ มีสัตว์ป่าที่สำคัญอาศัยอยู่หลากหลายชนิด รวมทั้งเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญจึงมีความเปราะบางต่อการถูกรบกวน

สภาพัฒน์เห็นว่าเจ้าของโครงการต้องดำเนินการขออนุญาตการใช้พื้นที่ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และจัดทำรายงานการวิเคราะห์สิ่งแวดล้อม ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดประเภทและขนาดโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เนื่องจากพื้นที่โครงการก่อสร้างฯ บางส่วนอยู่ในพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ ชั้น 1 เอ รวมทั้งจะต้องผ่อนผันการใช้พื้นที่ลุ่ม 1 เอ ต่อ ครม. โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการชำนาญการฯ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

ให้ความสำคัญกับแผนการบริหารจัดการพื้นที่และการท่องเที่ยวในทุกมิติเพื่อให้เกิดความสมดุลทางธรรมชาติ และมุ่งเน้นการอนุรักษ์และพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะมาตรการควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยวเพื่อไม่ให้เกิดขีดความสามารถในการรองรับ ตลอดจนติดตามประเมินผล เพื่อรักษาระบบนิเวศ โดยให้สอดคล้องกับ เขตพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำโขง (จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม และมุกดาหาร) เน้นเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน

นอกจากนี้ ควรพิจารณาบูรณาการการดำเนินโครงการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการทำประชาคม เพื่อนำไปสู่การจัดทำแผน/โครงการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบและไปในทิศทางเดียวกัน และศึกษาเพิ่มเติมกลุ่มเป้าหมายในการสัมภาษณ์เพื่อให้มีความเหมาะสมและประโยชน์ต่อการวิเคราะห์อุปสงค์ ได้แก่ กลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุ และเด็ก เป็นต้น และทบทวนความเป็นไปได้เส้นทางกิจกรรม สำหรับนักท่องเที่ยวที่ไม่ประสงค์พำนักในพื้นที่อุทยานฯ รวมทั้งวิเคราะห์เพื่อประเมินผล จุดเด่นและข้อจำกัดของแหล่งท่องเที่ยวบนภูกระดึง ตลอดจนตรวจสอบข้อมูลการศึกษาให้มีความถูกต้องตามข้อเท็จจริง อาทิ สถิติจำนวนนักท่องเที่ยวของออุทยานฯ

ด้าน พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงนามในหนังสือให้ความเห็นว่า การก่อสร้างฯ ต้องดำเนินการให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและธรรมชาติน้อยที่สุด คำนึงถึงความกลมกลืนธรรมชาติของสิ่งก่อสร้างที่จะเกิดขึ้น และมีแผนจัดการการท่องเที่ยว การจัดการขยะและน้ำเสียที่ชัดเจนและให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและธรรมชาติให้น้อยที่สุด โดยคำนึงถึงหลักการจัดการอุทยานแห่งชาติและความยั่งยืน

ขณะที่หนังสือกระทรวงมหาดไทยลงนาม โดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ให้ความเห็นว่า เห็นด้วยกับหลักการกับการศึกษา เนื่องจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน นำไปสู่การท่องเที่ยวที่มั่นคงและยิ่งยืน เพื่อเกิดความสมบูรณ์ขึ้น ควรมีการศึกษาในประเด็นการปฏิบัติเกี่ยวกับข้อกฎหมาย กฎ ระเบียบ ที่เกี่ยวข้องด้วย และในการชับเคลื่อนแผนการดำเนินการตามผลการศึกษาฯ ควรให้มีกลไกล การกำกับดูแล ตรวจสอบ และติดตามอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนสร้างการบูรณาการแบบการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ท้องถิ่น ชุมชน และประชาชนในพื้นที่อย่างใกล้ชิด

ส่วนสำนักงบประมาณให้ความเห็นว่า การก่อสร้างฯ มีความคุ้มค่าในการลงทุนและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ ประมาณการค่าก่อสร้างภายในวงเงิน 633.89 ล้านบาท โดยคุ้มค่าผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและชุมชน การสร้างอาชีพคนจังหวัดเลย การสร้างโอกาสให้แรงงานคืนถิ่น การศึกษาการเรียนรู้ทางธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม ในรายละเอียดที่รองนายกรัฐมนตรีระบุว่ามีผู้เห็นด้วย 99% และไม่เห็นด้วย 1% ไม่ปรากฏในเอกสารดังกล่าว มีเพียงหัวข้อการดำเนินการแบบมีส่วนร่วมของประชาชน ระบุว่าได้จัดกิจกรรมกว่า 30 เวที รับฟังคาวมคิดเห็นตามแนวทางของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 รวม 3 ครั้ง กลุ่มย่อย 4 ครั้ง ประชุมสรุปผลสำหรับภาควิชาการและนักอนุรักษ์ที่กทม. การสัมภาษณ์เชิงลึกหน่วยงานบุคคลที่เกี่ยวข้อง และสำรวจทัศนคติผ่านเว็บไซต์ รวมมีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 6,342 คน

ผู้สื่อข่าวตรวจสอบเว็บไซต์ขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ที่เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นผู้นำชุมชนและประชาชนใน จ.เลย ต่อการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง เมื่อปี 2557 พบว่า ร้อยละ 85 ของชาว จ.เลย สนับสนุนให้มีการก่อสร้างโครงการนี้ โดยผู้ที่ให้ความคิดเห็นประกอบด้วยประชาชนใน 4 ตำบลของ อ.ภูกระดึง จ.เลย ลูกหาบและผู้ประกอบการธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง นอกจากนี้ยังมีการสอบถามความคิดเห็นนักท่องเที่ยวที่ภูกระดึง 400 คน และสอบถามความเห็นนักท่องเที่ยวทางอินเทอร์เน็ตอีกประมาณ 1,000 คน

ขณะที่ข้อมูลจากจดหมายข่าว “ภูกระดึง” ฉบับที่ 1/2557 โดยคณะกรรมการรณรงค์ขอกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง ระบุว่าคนภูกระดึงทั้งอำเภอ รวมตัวกันเหนียวแน่น จากสำรวจประชามติจาก 9,288 คน เห็นด้วยกับการสร้างกระเช้าไฟฟ้าถึง 99.37%

นอกจากนั้นยังมีการอ้างถึงผู้เข้าร่วมประชุมระดับผู้นำชุมชนและประชาชน (ครั้งหนึ่ง) ใน จ.เลย ที่ลงทะเบียน 483 คน ส่งคืน 218 คน พบว่าเห็นด้วยกับการมีการศึกษาในครั้งนี้ 84.86% ไม่เห็นด้วย 3.21% คิดว่าการก่อสร้างกระเช้ามีประโยชน์ 81.65% และมีผู้คิดว่าชาวเลยส่วนใหญ่จะเห็นด้วย 78.9%

ยังสำรวจด้วยว่า หากมีกระเช้าจะเดินขึ้น 4.59% ขึ้นกระเช้า 40.37% และใช้ทั้ง 2 วิธี ทั้งนี้ขึ้นกับโอกาส 44.04% มีผู้เห็นว่ากระเช้าเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม 69.27% ผลดีต่อสภาพธรรมชาติ 54.59% ผลดีต่ออาชีพลูกหาบ 45.87% ผลดีต่อรายได้ท้องถิ่น 72.02% เพิ่มโอกาสการท่องเที่ยวทุกกลุ่ม 86.70% และขยายเวลาการท่องเที่ยว 79.36% ทั้งนี้ มีความพึงพอใจในการประชุม 77.52% และสิ่งที่กังวลมากที่สุดคือการคัดค้านของคนนอกจังหวัด 43.12% ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 32.57% ผลกระทบจากการก่อสร้าง 26.61% และผลต่ออาชีพและรายได้ท้องถิ่น 23.85%
















กำลังโหลดความคิดเห็น