อย่าเพิ่งด่า! เปิดมติ ครม.“กระเช้าภูกระดึง” ศึกษาตามแผนเดิม ครม.ยิ่งลักษณ์ เผย “บิ๊กตู่” ย้ำยังไม่อนุมัติงบประมาณ 633 ล้าน และยังไม่ให้สร้าง ชี้ อพท.ต้องทำอีไอเอเสนอ สผ.เนื่องจากภูกระดึงอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ และอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ระบะแค่ว่าจ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ 2 เอกชน กว่า 23 ล้านบาทเป็นที่ปรึกษาฯ ศึกษาความเป็นไปได้
วันนี้ (25 ก.พ.) มีรายงานว่า ภายหลัง พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยอมรับว่า มีมติรับทราบผลการศึกษาโครงการการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง จ.เลย มูลค่า 633 ล้านบาท โดยจะแบ่งใช้งบประมาณออกเป็น 3 ปี ปีละ 200 ล้านบาท แต่ยังติดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และคาดว่าจะใช้เวลา 2-3 ปีในการสร้างกระเช้า โดยอ้างผลการรับฟังความคิดเห็นว่า 99.99% มีผู้เห็นด้วย และมีไม่ถึง 1% เท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย
ผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 ก.พ. พบว่า ครม.มีมติรับทราบรายงานที่องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ที่เสนอผ่าน พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี เป็นเอกสารรายงานให้ครม.รับทราบถึงผลการศึกษาโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง จ.เลย ตามที่ ครม.เคยมีมติให้ศึกษาเมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2555 เป็นผลการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ครั้งที่ 2/2555 ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เกี่ยวกับการสนับสนุนโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงที่ตำบลศรีฐาน อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย ให้มีความคล่องตัว และการพัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการในกลุ่มพื้นที่ให้สามารถแข่งขันได้เพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่ประชุมมีมติให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) ศึกษาความเหมาะสมของโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง จังหวัดเลย
มีรายงานว่า จากนั้น อพท.ได้จัดจ้างที่ปรึกษาดำเนินโครงการศึกษาความเป็นไปได้ นำโดยศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับบริษัท แกรนด์เทค จำกัด และบริษัท ไทยซิสเทมเอนไว แอนด์ เอนจิเนียริ่ง จำกัด ใช้งบประมาณปีงบประมาณ 2557 จำนวน 23 ล้านบาท
ทั้งนี้ มติ ครม.ยังรับทราบผลการศึกษากำหนดทางเลือกของแนวเส้นทาง และตำแหน่งที่ตั้งของสถานีกระเช้าไฟฟ้า สอดคล้องกับข้อพิจารณาของคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว สภา ผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2548 ซึ่งเห็นว่าแนวกระเช้าไฟฟ้าต้องไม่มีผลกระทบต่อทัศนียภาพของทางเดินเท้า และมุมมองธรรมชาติของภูกระดึง โดยนำทางเลือกดังกล่าวเสนอในที่ประชุมสัมมนาใน อ.ภูกระดึง และได้รับการยอมรับจากประชาชนในท้องถิ่นแล้ว โดยค่าก่อสร้างรวมประมาณ 633.89 ล้านบาท กระเช้ามีความยาว ในทางราบ 4.4 กม. สถานีต้นทางและปลายทางอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูกระดึง โดยสถานีต้นทางอยู่ห่างจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวศรีฐานไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ 3.5 กม. สถานีปลายทางตั้งอยู่ห่างจากบริเวณหลังแปไปทางทิศตะวันตก 600 เมตร และมีระยะจากสถานีปลายทางไปศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวาง 3.7 กม.
ส่วนการออกแบบเป็นไปตามมาตรฐานสากล และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม การก่อสร้างจะใช้การประกอบชิ้นส่วนจากพื้นที่นอกเขตป่าไม้ และขนส่งไปติดตั้งทางอากาศ ไม่มีการตัดต้นไม้ใหญ่ตามแนวเส้นทางวางสายเคเบิล ความลาดชันเฉลี่ยของแนวกระเช้าเท่ากับร้อยละ 27 และมีเสารองรับ 7 ต้น โดยระบบกระเช้าไฟฟ้าที่เหมาะสม คือ แบบเก๋ง ชนิด 8 ที่นั่ง นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในหลายประเทศ รับแรงลมได้ 20 เมตรต่อวินาที มากกว่าแรงลมเฉลี่ยบริเวณรอบๆ ภูกระดึง
สำหรับประเด็นการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอนั้น ในรายงานระบุว่า ผลการศึกษาแยกออกเป็น 5 ประเด็น คือ 1. ชั้นคุณภาพของลุ่มน้ำ ระบุว่าพื้นที่ที่ต้องใช้เพื่อการก่อสร้างโครงการ ประกอบด้วย สถานีต้นทางตั้งอยู่ในคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 4 พื้นที่ 2.28 ไร่ สถานีปลายทางตั้งอยู่ในชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 เอ พื้นที่ 1.06 ไร่ พื้นที่ก่อสร้างเสา 7 ต้น ตั้งอยู่ในพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 เอ พื้นที่ 0.19 ไร่ และพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 4 พื้นที่ 0.03 ไร่ คิดเป็นพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงในชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 รวมทั้งสิ้นร้อยละ 0.000804 และชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 4 ร้อยละ 0.00981 และคิดเป็นร้อยละ 0.00164 ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึงทั้งหมด ดังนั้นจึงเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบต่อชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 และชั้น 4 น้อยมาก
2. การสูญเสียพื้นที่ป่า ระบุว่าในการก่อสร้างทำให้สูญเสียพื้นที่ป่าไม้ที่ปกคลุมบริเวณที่ก่อสร้างสถานีต้นทาง สถานีปลายทาง และจุดที่วางเสากระเช้า 5,700 ตารางเมตร โดยการดำเนินโครงการจะไม่ตัดต้นไม้ขนาดใหญ่ ซึ่งมีจำนวนไม้ที่จะต้องสูญเสียประกอบด้วย ลูกไม้ 394 ต้น กล้าไม้ 1,512 ต้น และไม้ไผ่ 66 ลำ 3. เขตแหล่งอาศัย หรือหากินที่สำคัญของสัตว์ป่า ระบุว่า พื้นที่โครงการไม่อยู่ในเขตแหล่งอาศัย หรือหากินที่สำคัญของสัตว์ป่า เป็นเพียงพื้นที่ที่อาจเป็นเส้นทางเดินตามธรรมชาติ โดยอาจรบกวนกิจกรรมในรอบวันของสัตว์ป่า ทั้งกิจกรรมการออกหาอาหาร ทำรัง วางไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อนของสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ตามเรือนยอดไม้ ซึ่งกิจกรรมของโครงการจะจำกัดเฉพาะแนวของกระเช้า ประกอบกับมีเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างเข้มงวด ผลกระทบจึงอยู่ในระดับต่ำ
4. ผู้มีรายได้เดิม (ลูกหาบและร้านค้า) รายงานระบุว่า ผู้ที่มีรายได้จากกิจกรรมการท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ได้แก่ ลูกหาบ 337 คน และร้านค้า 119 ร้าน ได้กำหนดแผนรองรับการเปลี่ยนแปลงอาชีพ ซึ่งได้รับการยอมรับจากลูกหาบและผู้ประกอบการ โดยได้หารือร่วมกันในกระบวนการมีส่วนร่วมโครงการ และ 5.ทัศนียภาพ ระบุว่าแนวก่อสร้างเสากระเช้าไฟฟ้าจะไม่สามารถมองเห็นได้จากเส้นทางเดินท่องเที่ยว และไม่สามารถมองเห็นได้จากถนนสายหลักที่เข้าสู่ภูกระดึงในปัจจุบัน รวมทั้งโครงสร้างรองรับสายเคเบิล ตัวกระเช้า สถานีขึ้น-ลง ได้รับการออกแบบให้มีรูปแบบที่เรียบง่ายกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม ก่อให้เกิดผลกระทบด้านบวก ด้านทัศนียภาพ เป็นการเปิดมุมมองใหม่สำหรับนักท่องเที่ยวที่นั่งกระเช้าขึ้นภูกระดึง นอกจากนี้ยังช่วยลดผลกระทบทางด้านทัศนียภาพจากขยะได้ด้วย
ครม.ยังรับทราบด้วยว่า ในส่วนของการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วมของประชาชน มีการ จัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมในระดับต่างๆ ครอบคลุมทั้งพื้นที่กว่า 30 เวที มีการรับฟังความคิดเห็นตามแนวทางของระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 รวม 3 ครั้ง การจัดประชุมกลุ่มย่อย 4 ครั้ง รวมทั้งการจัดการประชุมวิชาการเสนอข้อมูลสรุปผลการศึกษาสำหรับวิชาการและนักอนุรักษ์ที่กรุงเทพฯ การสัมภาษณ์เชิงลึกหน่วยงาน บุคคลที่เกี่ยวข้อง และสำหรับทัศนคติต่อโครงการทางเว็บไซต์รวมมีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 6,142 คน
ส่วนการศึกษาความเหมาะสมนั้น รายงานระบุว่า สรุปผลการประเมินความคุ้มค่าของการลงทุนก่อสร้างประมาณการผลประโยชน์ และต้นทุนของโครงการในระยะเวลาดำเนินการ 30 ปี โดยด้านการเงินมีความคุ้มค่าในการลงทุน ส่วนเศรษฐศาสตร์มีความคุ้มค่าในการลงทุนทุกกรณี ความคุ้มค่าส่วนใหญ่อยู่ในรูปของผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมในชุมชน การสร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ จ.เลย และพื้นที่โดยรอบ รวมถึงโอกาสให้เกิดแรงงานคืนถิ่น ตลอดจนเป็นการส่งเสริมการศึกษาเรียนรู้ทางธรรมชาติ
นอกจากนี้ยังมีการศึกษารูปแบบการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติ ด้วยรูปแบบการจัดการแหล่งท่องเที่ยว ทั้งภายในและภายนอกพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ภายใต้ขีดความสามารถที่รองรับนักท่องเที่ยวบนยอดภูกระดึง โดยไม่กระทบสิ่งแวดล้อม โดยจะจำกัดนักท่องเที่ยวในการพักแรมต่อคืนบนยอดภูกระดึง ทั้งผู้เดินทางด้วยเท้า และ ผู้ใช้บริการกระเช้าไฟฟ้าให้มีจำนวนไม่เกิน 5,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนเดียวกับที่ใช้อยู่ปัจจุบัน จะกำหนดเส้นทางการท่องเที่ยวให้เหมาะสมกับวิธีการเดินทางขึ้นและระยะเวลาที่อยู่บนยอดภูกระดึง จะมีการจำกัดช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ให้มีช่วงปิดการขึ้นให้ธรรมชาติได้ฟื้นตัว รวมถึงห้ามก่อสร้างอาคารที่พักในลักษณะถาวรเพิ่มขึ้น ห้ามขยายพื้นที่ส่วนบริเวณ นักท่องเที่ยวของศูนย์บริการนักท่องเที่ยว วังกวางออกไปจากเดิม ไม่มีการพัฒนาขยายเส้นทางถนนให้กว้างขึ้นกว่าปัจจุบัน แต่จะซ่อมบำรุงให้เดินทางอย่างปลอดภัย ห้ามพัฒนาร้านค้า หรือบริการในลักษณะของการให้สัมปทาน จะมีเพียงการให้สิทธิ์กับร้านค้าเดิมที่ได้รับการอนุญาตอยู่แล้ว หรือเพื่อการสวัสดิการของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง รวมทั้งจะปรับปรุงประสิทธิภาพและคุณภาพของระบบบำบัดน้ำเสียให้ดีขึ้น
สำหรับมติ ครม.ดังกล่าว เป็นเพียงการรับทราบเพื่อรอผลอีไอเอ ยังไม่อนุมัติก่อสร้าง โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ แสดงความคิดเห็นว่าขอให้พิจารณาให้ดี ให้เป็นความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง พร้อมสอบถามกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งรายงานว่าได้จัดทำอีไอเออย่างละเอียด ไม่ได้เป็นการตัดต้นไม้เป็นแนวยาว แต่เป็นการปักเสาลงไปในบางจุด เป็นผลให้สิ่งแวดล้อมได้รับผลกระทบเล็กน้อยมาก
จากนั้น ครม.มอบหมายให้คณะอนุกรรมการ อำนวยการโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง จ.เลย ไปพิจารณาความเห็นของหน่วยงาน และองค์กรต่างๆ ในประเด็นสำคัญ รวมถึงข้อคัดค้านต่างๆ ด้วย รวมทั้งมอบหมายให้ อพท.ทำหนังสือตอบชี้แจงในแต่ละประเด็น รวมทั้งเผยแพร่รายงานผลการศึกษาที่สมบูรณ์ และประชาสัมพันธ์แผ่นพับสรุปสาระสำคัญของโครงการ ให้หน่วยงานและประชาชนทั่วไปที่สนใจได้ทราบด้วย เบื้องต้นนั้น อพท.ต้องทำอีไอเอ เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ และอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ด้วย หาก อพท.ส่งผลการศึกษามาแล้วก็ต้องให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมพิจารณาตามขั้นตอน ทั้งนี้ให้นำกลับมารายงานให้ ครม.ทราบอีกครั้ง