“กระเช้าลอยฟ้าขึ้นภูกระดึง” โปรเจกต์เก่าถูกขุดขึ้นมาหากำไรด้วยการอธิบายใหม่อีกครั้ง ระบุชัดเวอร์ชันนี้ไม่ต้องตัดต้นไม้ขนาดใหญ่ เพราะใช้เทคโนโลยีใหม่ ไม่บดบังทัศนียภาพในเขตป่าสมบูรณ์แห่งนี้แน่นอน! อ้างหยั่งเสียง 99.99% มองเห็นแต่แง่ดี ฟากเสียงส่วนน้อยอีก 0.01% จึงทนไม่ไหว ขอออกมาค้านให้ตาสว่าง เตือน! รู้ตัวบ้างไหมว่าถ้าตัดสินใจสร้าง จะทำลาย “เสน่ห์” ของแลนด์มาร์กแห่งประเทศไทยแห่งนี้อย่างไม่มีวันหวนกลับ!! วอนคิดให้ดีว่าพร้อมรับ “หายนะ” จาก “พาหนะ” ชนิดนี้แล้วจริงหรือ?
“กระเช้าไฟฟ้า” ทำร้ายกล้าไม้ ทำลายอาชีพลูกหาบ!!
[ภาพจำลองจากเว็บไซต์ อพท. ผู้รับผิดชอบเรื่องการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และความเป็นไปได้ด้านเศรษฐกิจ]
“ขอยืนยันอีกครั้งว่า จากการหารือพบว่าคน 99.99% เห็นด้วย มีไม่ถึง 1% เท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย” พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ผู้กำกับดูแลกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พูดถึงแนวโน้มความคืบหน้าในโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง จ.เลย เอาไว้ด้วยท่าทีมั่นใจ ระบุชัด พร้อมเดินหน้าสร้างให้แล้วเสร็จในอีก 2-3 ปีต่อจากนี้ ขอเพียงให้ผ่านการพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และได้รับอนุมัติจากทางรัฐบาลเท่านั้น งบประมาณ 633.89 ล้านบาทก็พร้อมจะผันเป็นสิ่งก่อสร้างได้ในทันที!!
วางแผนชัด จะแบ่งงบประมาณออกเป็น 3 ปี ปีละ 200 ล้านบาทในการก่อสร้าง บอกเลยทุกอย่างสามารถควบคุมได้ โดยเฉพาะผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ไม่จำเป็นต้องวิตกกังวลอะไรมากมาย เนื่องจากการสร้างฐานกระเช้าครั้งนี้จะใช้พื้นที่เพียง 1 ไร่เท่านั้น และยังยืนยันว่าจะไม่มีการตัดต้นไม้ขนาดใหญ่สักต้น แต่จะใช้เทคโนโลยีใหม่ ประกอบชิ้นส่วนจากพื้นที่นอกเขตป่าไม้และขนส่งไปติดตั้งทางอากาศ โดยขุดดินแล้วใช้เฮลิคอปเตอร์หย่อนเสาหลักทั้ง 7 ต้นลงไป ไม่กระทบแนวป่าอย่างแน่นอน แถมยังจะได้เงินจากนักท่องเที่ยวกลับมาอย่างมหาศาล
“ภาพใหญ่เขาแฮบปี้กันหมด การสร้างกระเช้ามีการกำหนดแนวเขตก่อสร้างชัดเจน หากเกิดอุบัติเหตุอะไรขึ้น สามารถลงได้ด้วยกระเช้าง่ายขึ้น และจุดที่ขึ้นลงกระเช้าก็ไม่ได้รบกวนทางเดิน แต่จะมีสถานีให้ขึ้นได้
ทาง จ.เลย ถือว่ายังมีนักท่องเที่ยวสนใจมาก ย้ำว่าเราอยากให้มี และจริงๆ แล้วก็เป็นความเรียกร้องของชาวบ้านในพื้นที่ทั้งจังหวัดเลยและจังหวัดใกล้เคียงด้วย เพราะถ้ามีกระเช้า จะได้ทั้งเรื่องความปลอดภัย นักท่องเที่ยว งบประมาณ การสร้างงานและการดูแลรักษาป่า ทั้งหมดถือว่าคุ้มค่า”
[กระเช้าบรรจุ 8 คน แบบที่โปรเจกต์ต้องการ]
ถ้ามีการสร้างจริง เลือกแล้วว่าจะใช้ระบบกระเช้าไฟฟ้าแบบเก๋ง ชนิด 8 ที่นั่ง ซึ่งนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในหลายประเทศ สามารถรับแรงลมได้ 20 เมตรต่อวินาที มากกว่าแรงลมเฉลี่ยบริเวณรอบๆ ภูกระดึง ส่วนเส้นทางกระเช้านั้น จะสร้างในแนวทางราบ 4.4 กม. โดยมีสถานีต้นทางและปลายทางอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ห่างจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวศรีฐานไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ 3.5 กม. ห่างจากบริเวณหลังแปไปทางทิศตะวันตก 600 เมตร และห่างจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวาง 3.7 กม.
“ลูกไม้ 394 ต้น, กล้าไม้ 1,512 ต้น และไม้ไผ่ 66 ลำ” คือจำนวนต้นสีเขียวอย่างน้อยที่สุดที่ต้องเสียไป หากมีการอนุมัติให้สร้างกระเช้าไฟฟ้าบนพื้นที่แห่งนี้ขึ้นมาจริงๆ คำว่า “ไม่ตัดต้นไม้” ในโปรเจกต์ครั้งนี้ของฝั่งผู้เสนอ จึงไม่ได้หมายความตรงตัวอย่างที่เอ่ย แต่หมายถึง “ไม่ตัดต้นไม้ใหญ่” ตลอดแนวเคเบิลของกระเช้าต่างหาก
“ลูกหาบ 337 คน และร้านค้า 119 ร้าน” คือผู้ที่ต้องได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งทางผู้เสนอโปรเจกต์อ้างว่า ได้กำหนดแผนรองรับการเปลี่ยนแปลงอาชีพให้แก่พวกเขาเอาไว้เรียบร้อยแล้ว แต่ถึงอย่างนั้น ในสายตา “ลูกหาบ” ตัวจริงในพื้นที่อย่าง "ประดุง หอมคำ" และ "วรสิทธิ์ เจริญสวัสดิ์" แล้ว การสร้างกระเช้าในครั้งนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงแค่วิถีชีวิตพวกเขาเท่านั้น แต่ยังถือเป็นการทำลายอาชีพที่ยึดถือกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษด้วย!!
“ไม่อยากให้สร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงเลย เพราะความเป็นเอกลักษณ์ของภูกระดึงจะหมดไป อนาคตของลูกหาบจะตายและหมดลงไปทันที เมื่อมีกระเช้าแล้ว นักท่องเที่ยวจะต้องไปใช้บริการกระเช้าแน่นอน เพราะกระเช้าเดินทางแค่ 30 นาที แต่ลูกหาบต้องหาบไป 4-5 ชั่วโมง แล้วลูกหาบจะไปอยู่ตรงไหนของภูกระดึง? จะให้ไปทำงานกับกระเช้าไฟฟ้าตรงส่วนไหน เขาคงไม่ต้องการลูกหาบแล้ว
[อาชีพ "ลูกหาบ" ที่ใช้เลี้ยงชีพมาตั้งแต่บรรพบุรุษกำลังจะสูญหายไป]
ถ้าเขาจะสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นมาจริงๆ เราคงไปขัดเขาไม่ได้หรอก เพราะลูกหาบมีแค่ 300 กว่าคน ถือเป็นคนส่วนน้อย แต่ถ้าจะสร้างจริง ก็ควรจะนึกถึงกลุ่มลูกหาบบ้าง ควรจ่ายค่าชดเชย ค่าเสียโอกาสที่ต้องสูญเสียอาชีพของบรรพบุรุษของพวกเราด้วย” สองลูกหาบผู้อาบเหงื่อต่างน้ำแลกเงิน ส่งเสียงส่วนน้อย วอนขอความเห็นใจจากเจ้าของโครงการ
เสียงส่วนน้อยขอค้าน! 0.01% สะเทือนโลกออนไลน์!!
“เชิญชวน ชาว 0.01% ในความเห็นของรัฐบาลค่ะ (เขาว่าคนสนับสนุน 99.99%)” สฤณี อาชวานันทกุล นักเคลื่อนไหวหัวเอียงซ้ายคนดัง โพสต์ข้อความเชิญชวนให้เสียงส่วนน้อยทั้งหลายรวมพลังกันเข้าไปลงชื่อในเว็บไซต์ www.change.org ในหัวข้อรณรงค์ "ร่วมลงชื่อและแชร์ ร่วมคัดค้านการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงตลอดไป" ซึ่งมีผู้ร่วมลงนามคัดค้านกว่า 8,000 รายแล้วภายในเวลาไม่กี่วัน ถ้านี่คือเสียงส่วนน้อยของประชาชนที่รัฐบาลบอกเอาไว้ ก็คงต้องติดตามดูกันต่อไปว่า 0.01% ที่ว่านั้นจะน้อยได้ขนาดไหนกันเชียว!!?
“แถลงการณ์คัดค้านโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง” จากมูลนิธิสืบนาคะเสถียร คือหนึ่งใน 0.01% ที่ขอแสดงจุดยืนคัดค้านครั้งนี้เอาไว้อย่างเต็มกำลัง!! ระบุชัดว่าการที่รัฐบาลมีมติให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เป็นผู้รับไปดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้า เพื่อเพิ่มมูลค่าทางทางเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยว บวกพ่วงไปกับการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ในคราวเดียว เป็นการวิจัยที่ขาดความน่าเชื่อถืออย่างรุนแรง!! และนี่คือเหตุผลทั้ง 5 ข้อที่ได้แถลงการณ์เอาไว้
1. บนหลังแปภูกระดึง เป็นพื้นที่ราบกว้างใหญ่นับสิบตารางกิโลเมตร เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่า หากขาดการควบคุมดูแลหรือขาดการจัดการนักท่องเที่ยวที่ดีพอ หรือมีนักท่องเที่ยวขึ้นไปใช้พื้นที่เป็นจำนวนมากจนไม่สามารถควบคุมได้ ย่อมส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่า และระบบนิเวศในพื้นที่
2. เนื่องจากพื้นที่บริการท่องเที่ยวเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า คือที่ราบหลังแป โอกาสที่นักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากที่จะขึ้นไปรบกวนถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าจะสูงมากขึ้น รวมถึงอันตรายจากการถูกสัตว์ป่าทำร้ายย่อมเกิดขึ้นด้วย
3. การเดินเท้าศึกษาธรรมชาติ เป็นกระบวนการสร้างการเรียนรู้ระหว่างคนกับธรรมชาติ การสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงช่วยให้การเดินทางรวดเร็วและเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น นั่นย่อมส่งผลให้คุณค่าทางธรรมชาติถูกลดลง
4. กระเช้าไฟฟ้าจะทำลายอาชีพของลูกหาบ และร้านค้าบริเวณจุดพักระหว่างเส้นทางขึ้นภูกระดึงจากการใช้บริการกระเช้าไฟฟ้า
5. การศึกษาความเป็นไปได้ และรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ควรจัดทำพร้อมกัน เนื่องจากเนื้อหาข้อมูลและวิธีการเก็บข้อมูลมีความแตกต่างกัน กระบวนการในการพิจารณามีความแตกต่างกัน ข้อมูลที่ได้จะขาดความรอบคอบ และไม่เป็นธรรม
["ศศิน" ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร บอกเล่าจากประสบการณ์]
“ประเด็นมันอยู่ที่คุณจะใช้ภูกระดึงสำหรับทำอะไร?” ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร หนึ่งในแนวร่วมสนับสนุนแนวความคิด “ภูกระดึง เดินเองได้ ไม่เอากระเช้า” เคยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้ ในฐานะผู้มีประสบการณ์ปีนขึ้นอุทยานแห่งชาติภูกระดึงมาแล้วถึง 3 ครั้ง
“สำหรับผมเนี่ย ผมเสนอให้ใช้ภูกระดึงเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่มีเสน่ห์สำหรับการเปิดให้เข้าไปสัมผัสธรรมชาติ และลงมาอย่างมีความสุขจากการได้ซึมซับ ภูกระดึงเส้นทางทัศนศึกษาขึ้นภูเขาโดยวิธีการเดินเท้า (Trekking) ที่ดีที่สุดของประเทศไทย ที่มีเสน่ห์เย้ายวนให้คนไปสัมผัสที่ดีที่สุด
มันมีอยู่ที่เดียวที่เด็ก คนมีอายุ หรือแม้แต่คนพิการระดับหนึ่งก็ขึ้นไปได้เป็นส่วนใหญ่ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นนักเดินทางมืออาชีพ ใครๆ ก็ขึ้นได้ ไม่ได้มีอันตรายอะไร พอขึ้นไปข้างบน มันจะมีความงดงามที่จะได้เห็นมันที่คุ้ม เมื่อเทียบกับเส้นทางอื่นๆ ที่เดินแล้วอาจจะเหนื่อยกว่าแต่ขึ้นไปแล้วรู้สึกว่ามันไม่คุ้ม หรือที่อื่นๆ อาจจะต้องใช้เวลา 4-5 วัน
มันคือการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ แต่ถ้ามีกระเช้าแล้ว มันจะลดความเย้ายวนตรงนี้ลงทันที อันนี้คือสิ่งที่ผมเสียดาย สิ่งที่ทำให้รุ่นปู่ย่าตายาย ประมาณเกือบร้อยปีที่ทำหน้าที่ตรงนี้มาและทำได้เป็นอย่างดีมาตลอด กำลังจะหมดลง คนที่อยากเดินขึ้นภูกระดึงก็จะกลายเป็นคนอีกประเภทหนึ่ง มันเป็นเรื่องน่าเสียดายที่เราต้องเสียเส้นทาง Trekking ที่ดีที่สุด... โดยตัวกระเช้าไฟฟ้าแล้ว มันไม่ได้ทำลายสภาพแวดล้อมหรอก แต่กิจกรรมที่ตามมา น่าจะกระทบอีกเยอะ”
หายนะมาเยือนแน่!! เต็งพ้ง เพียรพัฒน์ ตัวแทน ชมรม "OK Nature" แกนนำต่อต้านการสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง เคยเตือนเอาไว้อย่างชัดเจน ในงานเสวนา "กระเช้าภูกระดึง มโน.. โปรเจกต์?" ตั้งแต่ครั้งรวมตัวต่อต้านเมื่อคราวก่อน บอกเลยว่ารายได้ที่หวังจะกอบโกยจากพื้นที่สีเขียวแห่งนี้ เทียบไม่ได้กับสิ่งที่ต้องสูญเสียไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ...
[ตัวแทน ชมรม "OK Nature" แกนนำต่อต้านการสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง]
“ที่บอกว่าอยากสร้างกระเช้าขึ้นเพื่อความเท่าเทียม ให้เด็กและคนแก่ขึ้นไปได้ด้วย อันนี้เราเจอทุกครั้งที่เราไป เราเจอเด็ก เจอผู้สูงอายุ เจอคนพิการ ดังนั้น การเรียกร้องว่าครั้งหนึ่งในชีวิตขอพวกเขาเหล่านี้พิชิตภูกระดึง ผมคิดว่าถ้าครั้งหนึ่งของท่านขึ้นไปแล้วทำลายป่า ขอเถอะครับ ท่านหาที่อื่นไป ยืนยันครับว่าบางที่ไม่เหมาะกับบางคน ผมมองว่าอย่าไปเอาภูกระดึงเป็นตัวตัดสินเลยครับ เพราะในโลกนี้ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกหลายที่ทั้งต่างประเทศและในประเทศ ท่านก็ไม่เคยไปแม้แต่ครั้งเดียวในชีวิต ดังนั้น อย่าเอาจุดนี้มาเป็นเงื่อนไขในการสร้างกระเช้า
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าถ้าเมื่อไหร่ที่เรามีกระเช้า มันเป็นการนำหายนะขึ้นไป ตัวกระเช้ามันไม่ผิดหรอกครับ มันเป็นเทคโนโลยีที่สามารถนำมาใช้ได้ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ขึ้นไปง่าย อะไรที่เป็นของง่าย มันหมดคุณค่าเร็วเหมือนกัน
ทุกวันนี้ป่าปิดช่วง มิ.ย.-ก.ย. เป็นเวลา 4 เดือน ป่ายังฟื้นไม่ทันเลยครับ แล้วกระเช้า ถ้าขนคนขึ้นไป ด้วยเงินลงทุนเกือบพันล้าน คิดว่าคนลงทุนไปแล้วจะกล้าหยุดกระเช้า 3-4 เดือนไหมล่ะครับ อีกอย่าง กระเช้าแค่หยุดวิ่งแค่เดือนเดียว ปัญหาทางเทคนิคมันก็เกิดแล้ว แล้วถ้าเอาคนขึ้นไปอยู่ช่วงฤดูฝนด้วยล่ะ... บรรลัยแน่ครับ"
[อาจไม่ได้เห็นอีกต่อไป... ความภาคภูมิใจเมื่อได้พิชิตภูกระดึง ด้วยสองขาของตัวเอง]
ข่าวโดย ผู้จัดการ Live
ขอบคุณภาพและข้อมูล: แฟนเพจ "มูลนิธิสืบนาคะเสถียร" และ www.seub.or.th
ข่าวที่เกี่ยวข้อง (คลิก)
- “ธนะศักดิ์” ลั่น 99.99% หนุนกระเช้าภูกระดึง! ใช้งบ 633 ล้าน 3 ปีเสร็จ รอผล EIA อนุมัติ
- อย่าเพิ่งด่า! เปิดมติ ครม. “กระเช้าภูกระดึง” อพท.ชงรับลูกแผนเดิม ครม.ยิ่งลักษณ์ เผย “บิ๊กตู่” ย้ำยังไม่อนุมัติงบฯ 633 ล้าน และยังไม่ให้สร้าง
- ราคาที่ดินภูกระดึงพุ่งรับข่าวสร้างกระเช้าไฟฟ้า
- สร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง มีทั้งคัดค้านและเห็นด้วย
- กระเช้าภูกระดึง... “พาหนะ” หรือ “หายนะ” การท่องเที่ยว!!? [ชมคลิป]
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754